สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “C” (ต่อ) # 17-06

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “C” (ต่อ)
ได้เกริ่นไว้ในตอนท้ายของคอลัมน์นี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ในกลุ่มคำ Carry + prepositions ที่มีความหมายเป็นสำนวนนั้น ยังมีคำว่า Carry on, Carry one’s cross, Carry out, Carry over, Carry the ball, Carry the day, Carry through, etc. ซึ่งเราจะมาทำความรู้จักกันในวันนี้ คือ
“Carry on” = กล่าวโดยทั่วไปแล้ว ย่อมหมายถึงให้กระทำต่อไปในเรื่องอะไรก็ตามซึ่งกำลังดำเนินอยู่ก่อนแล้วนั้น แต่ความหมายที่แท้จริงจะขึ้นอยู่กับการสร้างหรือผูกประโยคขึ้นมาเป็นสำคัญ และทั้งนี้ทั้งนั้น การใช้ภาษาในลักษณะใด ๆ ก็ตามย่อมเป็นเรื่องอันละเอียดอ่อน จึงจะต้องใช้ความระมัดระวังกันสักหน่อย ถ้าไม่อยากให้มีเรื่องเข้าใจผิดอันจะนำไปสู่ความเดือดร้อนในภายหลัง
การใช้คำกริยาว่า “Carry on” มีตัวอย่างและความหมายเห็นได้จากประโยคต่าง ๆ ต่อไปนี้คือ
“Somkid and his father have been carrying on their hardware business for years.” คือ สมคิดกะพ่อของเขาได้ประกอบธุรกิจในด้านค้าขายอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ มาเป็นเวลานานปีแล้ว
“The boys carried on in the swimming pool until the life guard ordered them out.” เจ้าพวกเด็กนั่นเล่นน้ำกันอยู่ในสระไม่ยอมเลิกจนกระทั่งพนักงานดูแลความปลอดภัยประจำสระต้องสั่งให้เลิกนั่นแหละ
“Tom carried on for ten minutes after he hit his thumb with the hammer.” คือตาทอมใช้ค้อนและพลาดไปทุบเอาหัวแม่มือตัวเองเข้า ถึงกระนั้นก็ยังทำงานต่อไปอีกร่วมสิบนาทีจึงยอมพักงาน
“Please carry on with your good work,” the manager said to one of his employees.” คือผู้จัดการได้กล่าวขึ้นกับลูกจ้างของเขาคนหนึ่งว่า “งานของลื้อดีแล้ว และจงทำดีต่อไปนะ” (เป็นงั้นไป)
“The whole town knew that Bill was carrying on with a neighbor girl.” คือพวกชาวบ้านร้านถิ่นรู้กันโหมดว่าอีตาบิลนั้นกำลังติดพันมีอะไร ๆ อยู่กับสาวในละแวกบ้านอยู่
ขอให้ใช้ความสังเกตกับสองประโยคหลังนี้ด้วยว่าเมื่อใช้คำว่า “Carry on with” เหมือนกัน แต่พอใช้กับอีสาวเข้า กลับกลายเป็นเรื่องชู้สาวไปได้ก็ไม่รู้
“Carry one’s cross” คำหรือวลีในภาษาอังกฤษนี้เป็นสำนวนอันค่อนข้างจะโบราณสักหน่อย หรือใช้กันติดปากในหมู่พวกเคร่งศาสนาคริสต์ แต่ก็น่ารู้จักไว้เผื่อฝรั่งเขาเอ่ยสำนวนนี้ขึ้นมาจะช่วยให้เราเข้าใจได้อย่างถูกต้อง
“Cross” หมายถึง “ไม้กางเขน” คือไม้สองชิ้นไขว้กันเป็นกากบาท ชาวโรมันสมัยก่อนใช้ตรึงผู้ต้องโทษ โดยจับผู้ต้องโทษนั้นกางแขนออกแล้วตอกตะปูใหญ่ตามส่วนของร่างกายมนุษย์คนนั้นให้ติดอยู่กับไม้กางเขน แล้วจับตั้งขึ้นเพื่อประจาน ฯลฯ ดังนั้น คำว่า “Carry one’s cross” กลายเป็นสำนวนซึ่งหมายความว่า “แบกทุกข์” อยู่ และเขาใช้กันในประโยค อย่างเช่น
“We didn’t know that the cheerful woman was carrying her cross, a son in prison.” คือ พวกเราไม่รู้เรื่องมาก่อนเลยจริง ๆ ว่า ผู้หญิงที่ร่าเริงและแจ่มใสเสมอคนนั้นเขาต้องแบกทุกข์อยู่ในใจ เพราะเธอมีลูกชายคนหนึ่งกำลังต้องโทษอยู่ในคุก
“Weak ankles are a cross that Tom carries while the other boys play basketball.” คือเจ้าทอมแบกทุกข์ไว้อยู่มากทีเดียวที่ข้อเท้าของเขาไม่ดี ขณะที่เด็กอื่น ๆ เล่นบาสเก้ตบอลล์กันอยู่นั้น
อนึ่ง บางครั้ง เราก็อาจได้ยินคำพูดในทำนองว่า “Have a (heavy) cross to bear” ซึ่งมาในประโยค เช่น “We all have our crosses to bear.” คือ “เราทุกคนย่อมต้องมีภาระผูกพันต่างๆ ที่หลีกเลี่ยงไม่พ้นด้วยกันทั้งนั้น”
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

No comments:

Post a Comment