สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ) # 31-08

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
DOUBLE
การใช้คำว่า “Double” ในฐานะเป็นคำคุณศัพท์ตามที่ได้เริ่มไปบ้างแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อนนั้น ยังมีอีกมากมายก่ายกอง แทบจะจดจำกันไม่ไหว แต่ก็ควรที่จะทำความรู้จักกันไว้เพื่อประโยชน์ภายภาคหน้า และ/หรือจะตัดเก็บเอาไว้ทบทวนอ้างอิงในวันหน้าก็ย่อมได้
“Double date” (To have a double date) หมายความว่าการมีนัดไปด้วยกันของคนสองคู่ หรือสี่คนเพื่อไปหาความบันเทิง หรือพักผ่อนหย่อนอารมณ์ด้วยกัน ซึ่งในสมัยก่อนมักจะเป็นเรื่องของชายหญิงสองคู่ แต่มาถึงยุคนี้ที่รักร่วมเพศกำลังระบาด ก็อาจดูลำบากว่าอะไรเป็นอะไร หรือทั้งสี่คนมีเพศตามธรรมชาติเหมือนกันทั้งหมดก็เป็นไปได้
“Double dealer” สองคำนี้เมื่อใช้ร่วมกันหมายถึงเรื่องที่ไม่ดี คือหมายถึงคนไม่ซื่อ ประเภทปากอย่างหนึ่ง และใจอย่างหนึ่งนั่นแล
“Double decker” (ดับ’เบิล เดก’เกอร์) ถ้อยคำนี้ในประเทศอังกฤษเขาหมายถึงรถเมล์ซึ่งมีที่นั่งผู้โดยสารสองชั้น คือชั้นล่างตามธรรมดา และยังมีบันใดให้ขึ้นไปนั่งชั้นบนได้อีกด้วย ส่วนในสหรัฐ ฯ กลับหมายถึงอาหารที่เขาเรียกว่า “แซนด์วิชซึ่งทำหนาและซ้อนกันมาถึงสองชั้น”
“Double-digit” (ดับ’เบิล ดิจ’จิท) หมายถึง “เลขสองหลัก”โดยนับตั้งแต่ 10 ถึง 99 และถ้ากล่าวถึงเลขหลักเดียว (1 ถึง 9) ก็ใช้คำว่า “Single digit” (ซิง’เกิล ดิจ’จิท) ซึ่งถ้อยคำนี้ส่วนมากใช้กันในเรื่องของสถิติพยากรณ์ อย่างเช่น “Double-digit unemployment rates” (อัตราว่างงานของประชากรได้ขึ้นไปถึงตัวเลขสองหลักแล้ว) หรือ “Double-digit inflation rates” (อัตราเงินเฟ้อไปถึงเลขสองหลัก) คือสถานการณ์แย่แล้ว เป็นต้น ขอให้สังเกตด้วยว่าในทางไวยากรณ์นั้นถ้อยคำนี้ทำหน้าที่เป็นคุณศัพท์ แต่จะใช้เป็นคำนามก็ย่อมได้ สุดแต่การสร้างประโยค
“Double duty” (Do double duty) คือการทำงานควบสองหน้าที่หรือสองตำแหน่งไปพร้อมกันเลย เช่นว่า “The lids on the pots do double duty as plates when we’re camping.” คือเจ้าฝาที่ครอบอยู่บนหม้อนั้นทำงานได้สองหน้าที่ คือเอามาใช้เป็นจานอาหารด้วยก็ได้ในเมื่อเรากำลังเดินทางพักแรมอยู่กลางป่า
“Double entry” ถ้อยคำนี้เป็นศัพท์ที่รู้จักและใช้กันในวงการบัญชีซึ่งใช้ระบบลงรายการสองตลบ คือ ทั้งด้านลูกหนี้ (Dr.) และเจ้าหนี้ (Cr.) เพื่อสะดวกต่อการตรวจสอบและประกันความถูกต้องของการทำบัญชีอีกด้วย
“Double-faced” เป็นคำคุณศัพท์ที่ใช้ประกอบคำนาม แล้วหมายถึงคนที่ตีสองหน้า หรือที่เรียกว่าจำพวกหน้าไหว้หลังหลอก (Two-faced, or hypocritical, or insincere)
“Double glazing” เป็นคำนาม หมายถึงประตูหรือหน้าต่างที่ติดตั้งบานกระจกสองชั้นเพื่อป้องกันความหนาวเย็นของอากาศ หรือเพื่อหวังป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอกด้วยก็ได้ และถ้าจะใช้เป็นคำกริยาหรือคุณศัพท์ก็เป็นว่า “Double-grazed”
“Double standard” หมายถึงระเบียบข้อบังคับซึ่งใช้กับคนบางคนอย่างเคร่งครัดแต่ปล่อยให้หละหลวมกับคนอื่น ๆ ซึ่งถ้อยคำนี้มักจะนำมาใช้ในการกล่าวหาว่าไม่ได้รับความยุติธรรมจากฝ่ายผู้ทรงอำนาจที่สามารถให้คุณและให้โทษแก่บุคคลอื่น ๆได้ตามความลำเอียง หรือตามอำเภอใจของเขาเองเสียมากกว่า
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

No comments:

Post a Comment