สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “C” (ต่อ) # 22-06

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “C” (ต่อ)
เรื่อย ๆ มาเรียง ๆ ในหมวดอักษร “C” เราก็ได้ผ่านคำว่า Call, Carry, Cart ไปแล้ว และวันนี้เราจะว่ากันถึง คำใหญ่ คำโต คำแสนสำคัญที่ใคร ๆ ใฝ่ฝันถึง นั่นคือคำว่า “CASH” หรือ “เงินสด”
เมื่อพูดกันถึงเงินสดโดยทั่วไปแล้ว เราก็มักจะหมายความถึงธนบัตรหรือแบ๊งค์ในกระเป๋า แต่ถ้าใช้คำว่า “เงิน” (“เงินทองของนอกกาย”) หรือในภาษาอังกฤษว่า “Money” (which is not everything. Who the hell says so?)
และคำว่า “เงินทองเป็นของบาดใจ” เป็นคำพังเพยภาษาไทยที่พอจะคุ้นหูกันอยู่บ้างแล้ว และก่อนที่เราจะเข้าไปในเรื่องของสำนวนอังกฤษอเมริกันอันเกี่ยวเนื่องกับคำว่า “CASH” นี้ เราก็น่าที่จะเอ่ยถึงคำไทย ๆ ซึ่งมีอยู่มากมายที่เกี่ยวเนื่องอยู่กับคำว่า “เงิน” หรือ “เงินสด” ตัวนี้เสียก่อน
กล่าวคือ ในพจนานุกรมฉบับมติชน 2547 มีการให้คำนิยาม ซึ่งแปลเป็นไทยว่า “การให้คำจำกัดความ” ไว้อย่างน่าสนุกสนานเมื่อมาถึงคำว่า “เงิน” ของเราในภาษาไทยซึ่งผู้เขียนอดที่จะข้ามไปโดยมินำความสนุกดังกล่าวนี้ มาเผื่อแผ่ให้แก่ท่านผู้อ่านของ “เสรีชัย” ไม่ได้เลย
คือในพจนานุกรม “มติชน” มีคำต่าง ๆ ต่อไปนี้เรียงกันมาเป็นทิวแถว โดยเริ่มต้นด้วยคำว่า “เงิน” ลอย ๆ แล้วตามด้วย –
เงินก้นถุง, เงินกลม, เงินก้อน, เงินกินเปล่า, เงินกู้, เงินขาดมือ, เงินคงคลัง, เงินเชื่อ, เงินดาวน์, เงินเดิมพัน, เงินเดือน, เงินแดง, เงินได้, เงินได้สุทธิ, เงินตกเบิก, เงินต้น, เงินตรา, เงินตาย, เงินถุงเงินถัง, เงินทดรอง, เงินทองตรา, เงินทองเป็นของนอกกาย, เงินทอน, เงินทำขวัญ, เงินทุนหมุนเวียน, เงินนอน, เงินน้ำหก, เงินปลีก, เงินปันผล, เงินปากถุง, เงินปากผี, เงินปี, เงินแป, เงินแป๊ะเจี๊ยะ, เงินผ่อน, เงินฝาก, เงินฝืด, เงินพลาสติค, เงินเฟ้อ, เงินฟุบ, เงินมัดจำ, เงินมุ่น, เงินยวง, เงินร้อน, เงินรายปี, เงินลอยตัว, เงินสด, เงินหนา, เงินหมัน, เงินหมุน, เงินหลวง, และเงินแห้ง. โอ้ย เหนื่อย แทบตาย
ส่วนที่เขามิได้เขียนลงไว้ในพจนานุกรมฉบับดังกล่าว แต่ก็ยังมีคำว่า “เงินกองกลาง, เงิน(ของ)กู, เงินกู้, เงิน กพ, เงินเธอ, เงินฉัน, เงินพ่อเงินแม่, เงินของลูกเค้า, เงินมรดก, เงินเกิน, เงินขาด, เงินวัดครึ่งหนึ่ง, เงินกรรมการครึ่งหนึ่ง, เงินศาลเจ้า, เงินนอกระบบ, เงินใต้โต๊ะ, เงินเก๊, เงินสินบนหรือเงินเก๋าเจี๊ยะ, ฯลฯ” อีกด้วยใช่แม๊ะ
และขอได้โปรดเถิด อย่าต้องให้ผมแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วยเลยน๊ะครับ
คารม-คม-ระคาย (Quips & quotes)
• Experience makes a person better or bitter. ประสบการณ์ชีวิตนั้นบางทีก็ทำให้คนเราดีขึ้น หรือไม่ก็ขมขื่นไปเลยทีเดียว
• Violent exercise after sixty is apt to be harmful -- especially if you do it with a knife and fork. การออกกำลังกายด้วยอุปกรณ์ที่แหลมคมนั้น สำหรับคนอายุเกินหกสิบไปแล้ว อาจก่อให้เกิดอันตรายขึ้นได้เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะถ้าใช้มีดและส้อมเป็นเครื่องมือ
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

No comments:

Post a Comment