HAPPY HOLIDAYS

HOLIDAY SEASON
“วันแทงค์สกีววิ่ง” ซึ่งเป็นวันสำคัญประจำปีของชาวอเมริกันได้ผ่านพ้นไปเมื่อสัปดาห์ก่อน ก็เป็นอันว่ายังเหลือเวลาอีกเพียงหนึ่งเดือนเศษ ๆ เท่านั้นที่ปีปัจจุบันจะสิ้นสุดลง และในช่วงเวลานี้ถือกันว่าเป็นการเตรียมเนื้อเตรียมตัวเพื่อ “รื่นเริงเถลิงศกใหม่” หรือขึ้นศักราชใหม่กันได้แล้ว
ฝรั่งเขาเรียกช่วงเวลานี้ว่าเป็น “ฮอลิเดย์ ซีซั่น” คือเป็นระยะเวลาที่ควรผ่อนคลายสมองจากการคิดอ่านทำกิจการอะไรซึ่งเป็นเรื่องหนัก ๆ ลงไปเสียบ้าง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า อะไรที่สมควรจะชลอไว้ก่อนเพื่อไปเริ่มต้นหรือไปสานต่อในปีหน้าฟ้าใหม่ก็ย่อมได้
ใครจะใช้เวลาในช่วงฮอลิเดย์ซีซั่นนี้ทำอะไร ก็ย่อมขึ้นอยู่กับการตัดสินใจตามความนิยมชมชอบหรือตามอัธยาศัยของแต่ละบุคคลไป และส่วนมากของคนเรามักมุ่งไปในเรื่องคิดจับจ่ายซื้อของขวัญให้แก่บุคคลที่รักใคร่นับถือ และให้แก่ผู้ที่สามารถจะให้คุณหรือให้โทษแก่เราได้ในภาคหน้า ดังนั้นเราต้องกัดฟันยอมลงทุนซื้อข้าวของแพง ๆ นำไปให้เป็นของขวัญปีใหม่เพื่อเอาอกเอาใจ หรือไปติดสินบนล่วงหน้าไว้ก่อน และส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นของประเภทที่ผู้ให้ไม่เคยรู้รสและผู้รับก็ไม่เคยต้องซื้อเองเสียละมากต่อมาก
หลายต่อหลายท่านก็คิดซื้อหาข้าวของชิ้นพิเศษให้เป็นของขวัญแก่ตัวเองในช่วงเวลาฮอลิเดย์ซีซั่นนี้ด้วยเหมือนกัน
ถัดจากเรื่องการจับจ่ายซื้อของขวัญให้แก่กันและกันแล้ว การส่งบัตรคริสต์มาสหรือ ส.ค.ส.ปีใหม่ ให้แก่ญาติพี่น้องและมิตรสหายที่อยู่ห่างไกล ก็เป็นกิจที่นิยมปฏิบัติกันอยู่ทั่วไป
ผู้เขียนมีคนที่รู้จักมักคุ้นหลายท่าน ที่เขามีความคิดเก๋ไก้จัดทำบัญชีรายชื่อ “หางว่าว” สำหรับการส่งของขวัญ และบัตร ส.ค.ส. ไว้ใช้ประจำปี ซึ่งแน่ละ ย่อมจะต้องมีการเพิ่มเติมและตัดทอนรายชื่อในบัญชีนั้นอยู่เรื่อย ๆ ไป และการกระทำเช่นนั้นฝรั่งเขาก็เรียกว่า To update (ทู อัปเดท) กล่าวได้ว่าเป็นความคิดที่เข้าท่ามากทีเดียว เพราะจะช่วยทำให้ทุ่นเวลาและป้องกันการขาดตกบกพร่องไปได้มากเลยทีเดียว
การลงทุนลงแรงตบแต่งคริสต์มาสก็เป็นเรื่องจำเป็นประจำเทศกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับครอบครัวที่มีลูกหลานเด็ก ๆ ถ้าไม่ต้องการถูกรบเร้าเซ้าซี้ให้รำคาญหู และถ้าจะว่าไปแล้ว การตบแต่งต้นคริสต์มาสขึ้นไว้ในบ้านก็เป็นเรื่องที่ช่วยสร้างอารมณ์ให้เบิกบานตามเทศกาลได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
นอกจากนั้นแล้ว ในช่วงเวลาแห่ง “ฮอลิเดย์ซีซั่น” นี้บางท่านชอบที่จะรีบจัดการกับเรื่องหยุมหยิมที่คั่งค้างมานมนานนั้น ๆ ให้เสร็จสิ้นลงไปเสียเพื่อมิให้ต้องรกหูรกตาไปถึงปีหน้าฟ้าใหม่ ก็เป็นเรื่องที่น่านิยมอยู่มิใช่น้อย
สรุปความว่า เรื่องอะไรที่เป็นเรื่องหนัก ต้องใช้หัวคิดมาก ๆ นั้น ถ้าเราผลัดไปว่ากันหลังจากวันขึ้นปีใหม่ได้ผ่านพ้นไปแล้ว ก็ย่อมได้ และเพราะฉะนั้น เรื่องการแนะนำสำนวนอเมริกัน อันเป็นเรื่องหนักหัวสักหน่อยนั้น ก็จะไปเริ่มต้นกันใหม่หลังวันขึ้นต้นปีใหม่เหมือนกัน 555
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

Recharge batteries # 36-05

ลาพักผ่อนเพื่อชาร์จไฟใหม่
ผู้เขียนต้องขอลาไปพักผ่อนเพื่อชาร์จแบตเตอรี่ และจะกลับมาเขียนคอลัมน์นี้ต่อไปเมื่อเทศกาล Thanksgiving ได้ผ่านพ้น โดยเริ่มตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม ศกนี้ เป็นต้นไป

ผู้เขียนได้ใช้คำว่า “ชาร์จไฟใหม่” ซึ่งเป็นวลีที่เลียนแบบภาษาอังกฤษโดยที่ทางเขาใช้คำว่า “Recharge batteries” = To have a period of rest and relaxation during which one’s energy is built up again. นั่นเอง

การพักผ่อนด้วยการเดินทางออกไปตามป่าเขาลำเนาไพรแถบเมืองหนาวในช่วงฤดูใบไม้ร่วง หรือฝรั่งมะกันเรียกว่า Fall แทนที่จะใช้คำว่า Autumn ซึ่งมะกันบอกว่ายืดยาดมากกว่า ใบไม้ต่างพรรณพากันเปล่งสรรพสีสลับกันมองดูสวยเหลือแสนแต่ก็แฝงความเศร้าเพราะเขากำลังร่วงหล่นตามกาลเวลา อันเป็นสัจธรรมในชีวิตคนเราประการหนึ่งในแง่ “เกิด แก่ เจ็บ ตาย” ซึ่งไม่มีใครจะหนีพ้นได้

เป็นระยะเวลาแรมปีที่ผู้เขียนมีคอลัมน์นี้อยู่ใน “เสรีชัย” ซึ่งปัจจุบันภายใต้การถือบังเหียนของคุณบุญญลักษณ์ เจริญกิจการ ได้รุ่งเรืองรุดหน้าด้วยความเชื่อถือของคนไทยทั่วสหรัฐ ฯ ในฐานะที่เป็น “เสาหลัก” ของสื่อสารมวลชนอันอุดมด้วย ข่าวสาร ความรู้ ความบันเทิง ครบถ้วน “ล้นขอบ” เป็นที่แจ้งประจักษ์อยู่แล้ว และผู้เขียนเองก็พลอยปีติไปด้วยในฐานะที่มีส่วนร่วม ถึงแม้แต่น้อยนิด ในกระแสแห่งความเจริญก้าวหน้าของ “เสรีชัย” อันย่อมเป็นผลงานที่น่าภาคภูมิใจของคณะผู้ร่วมงานถ้วนทั่วทุกตัวบุคคลแน่นอน

ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

By and large # 35-05

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เราได้ว่ากันถึงวลีในภาษาอังกฤษที่ว่า “By a long shot” ซึ่งเป็นวลีที่นำหน้าด้วยคำว่า “By” และคำนี้ยังใช้นำหน้าวลีที่น่าสนใจอีกมากมาย ดังจะได้ยกขึ้นมาแนะนำกันต่อไปเรื่อย ๆ ในคอลัมน์นี้
อนึ่ง ท่านผู้อ่านคงจะสังเกตเห็นว่า เมื่อใดที่มีการแนะนำวลีซึ่งเป็นสำนวนอันน่าเรียนรู้และน่าสนใจแล้ว ก็จะมีคำภาษาอังกฤษอธิบายความหมายไว้ให้พร้อมกันไป คือให้คำเป็นภาษาอังกฤษหลังเครื่องหมาย “เท่ากับ = ” ซึ่งนอกจากที่จะเพิ่มความกระจ่างและชัดเจนมากขึ้นให้แก่สำนวนนั้น ๆ แล้ว ยังเป็นการแนะทางเลือก ( Options) ให้อีกด้วย ซึ่งหมายความว่า ถ้าจะไม่ใช้สำนวนดังกล่าวนั้นก็ย่อมได้
การเรียนรู้เรื่องสำนวนนั้น ผลดีข้อแรกก็คือ เราจะมีความรู้ความเข้าใจเมื่อได้ยินใครเขาพูดถ้อยคำซึ่งเป็นสำนวนขึ้นมาประการหนึ่ง และอย่าลืมว่าการนำวลีซึ่งเป็นสำนวนมาใช้นั้นมักจะมีความหมายกระทัดรัดมากกว่าถ้อยคำธรรมดาสามัญซึ่งมักจะยืดยาวมากกว่าประการหนึ่ง และยังเป็นการใช้คำพูดซึ่งส่อท่าทีให้เห็นได้ว่า ผู้ที่สามารถนำวลีที่เป็นสำนวนมาใช้ได้อย่างถูกต้องด้วยนั้น ย่อมเป็นผู้ที่เคยผ่านหรือเคยมีการศึกษามาชนิดที่ไม่น้อยหน้าเพื่อนฝูงทั้งหลายเลยอีกประการหนึ่งด้วย
ถัดจากเครื่องหมาย “เท่ากับ” นั้นแล้ว ก็จะเป็นประโยคตัวอย่างเพื่อแสดงให้เห็นว่าสามารถนำสำนวนนั้น ๆ ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไรต่อไป

“By and large” = As it more often happens; more often than not; taking everything into consideration; usually or mostly. คือ เป็นสำนวนที่หมายความว่า “โดยมากแล้ว หรือ เมื่อได้พิจารณาเรื่องราวโดยตลอดแล้ว หรือ ตามปกติ แล้ว หรือ ส่วนมากแล้ว ก็ได้
สำนวนนี้มาแปลก กล่าวคือ ตามลำพังแต่ละคำมีความหมายไปอีกทางหนึ่ง แต่เมื่อเอาทั้งสามคำมาต่อกันกลายเป็นสำนวนแล้ว กลับมีความหมายไปอีกทางหนึ่งดังอธิบายมาข้างต้นนี้ ซึ่งเรานำมาใช้ในประโยคตัวอย่างเช่น

“By and large, the company has been pretty good to me.” คือ “กล่าวโดยทั่วไปแล้ว ทางบริษัทเขาก็ดีกะผมอยู่พอสมควรเลยทีเดียว”
“By and large, women can bear pain better than men.” คือ “โดยปกตินั้นเรากล่าวได้ว่า สตรีมักจะทนต่อความเจ็บปวดได้ดีกว่าผู้ชาย”
“By and large, the papers greeted the government’s new policy document with a certain amount of skepticism” คือ “เมื่อได้พิจารณาดูแล้วจะเห็นได้ว่า หนังสือพิมพ์ทั้งหลายแสดงข้อคิดเห็นออกไปทางแคลงใจในเจตนาของรัฐบาลที่มีอยู่ในสารแถลงนโยบายใหม่อยู่มิใช่น้อย” ขอให้สังเกตว่าสำนวนนี้มักจะใช้นำหน้าประโยคทุกครั้งเลยทีเดียว

คารม-คม-ระคาย (Quips & quotes)

 Some people treat life like a slot machine -- putting in as little as possible while hoping for the jackpot. คนเราบางคนคิดว่าชีวิตนั้นมันก็เหมือนสะล็อตแมชชีน คือไม่ต้องทำอะไรให้มากมายยุ่งยาก แต่หวังที่จะถูกรางวัลใหญ่ ๆ

 A good neighbor is one who doesn’t expect you to return the things you borrow. อันว่าเพื่อนบ้านที่ดีนั้นคือคนประเภทไม่ทวงคืนข้าวของที่เรายืมมาใช้แค่นั้นเอง

ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

By a long shot #34-05

สำนวนอังกฤษในหมวดอักษร B ได้ดำเนินเรื่อยมา จวบจนถึงตัวสะกดด้วยอักษร Bu ซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่า ใกล้จะสิ้นสุดหมวดนี้ในอีกไม่กี่วาระข้างหน้านี้แล้ว
วันนี้ ขอให้เรามาว่ากันถึงสำนวนที่ยังคงเหลือและน่าสนใจต่อไป คือ
By a long shot: กลุ่มคำทั้งสามนี้ มีคำแปลหรือความหมายว่า “เมื่อเปรียบเทียบกันโดยทั่วไปแล้ว” และตามหลักไวยากรณ์ถือว่าเป็นคำวลีที่ทำหน้าที่เป็นกริยาวิเศษณ์ (Adverbial phrase) ซึ่งทำหน้าที่ขยายประโยคใดประโยคหนึ่งนั้นให้ได้ใจความมากยิ่งขึ้น
By a long shot = By far, used when you are comparing something or someone with others of the same kind, in order to emphasize how great the difference is between them. ทั้งนี้ใช้บางครั้งก็มีการเติมคำนำหน้าเข้าไปอีกคำหนึ่ง ซึ่งจะเป็น “Not by a long shot.” สุดแต่ความหมายและการสร้างประโยค อาทิเช่น
“Bert was the best swimmer in the race, by a long shot.” คือ “เบิร์ตเป็นนักว่ายน้ำเก่งที่สุดในการแข่งขัน จะเอาไปเปรียบเทียบกับที่ไหนก็ได้ทั้งนั้น”
“Our team didn’t win -- not by a long shot.” คือ “ทีมของเราต้องพ่ายแพ้เขาสิ้น คือเอาชนะเขาไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเอาไปเทียบตัวกับเขาที่ไหนก็ตามที”
ถัดไปนี้เป็นตัวอย่างประโยคที่มีคำน่าสนใจพ่วงเข้ามาด้วย คือ
“Tom is not the kind who would be fresh to a teacher, by a long shot.”
คือ “ทอมมิใช่คนประเภทที่มีท่าว่าจะทำทะลึ่งหรือล่วงเกินครูบาอาจารย์ ถ้าจะว่ากันโดยทั่วไปแล้ว”
คำที่น่าสนใจในประโยคนี้คือคำว่า “Fresh” ซึ่งเราคุ้นกับคำนี้ตั้งแต่ก่อนร่อนชะไรมาแล้ว และชื่นชอบยินดีกับคำนี้เพราะมีความหมายว่าเป็นของใหม่ ของสด หรือ “ชี ๆ แป๊ะ ๆ” กล่าวโดยทั่วไปแล้วก็เป็นที่นิยมกันมากกว่า แต่แน่ละ สนนราคาก็ย่อมสูงกว่าของแห้งหรือที่แช่แข็งมาเป็นธรรมดา
ผักสด ผลไม้สด มีราคาเป็นหลายเท่าตัวของผักและผลไม้กระป๋อง ปลาสด ๆ มีราคาเป็นหลายเท่าของปลาแช่แข็ง ปลาทีเลเปียสด (Fresh Tilapia) ราคาเป็นสี่เท่าของทีเลเปียแช่แข็งมาก่อน ฯลฯ แต่คำว่า Fresh นี้ซึ่งเป็นคำคุณศัพท์ที่อาจแฝงความหมายในทางลบ ในทำนองว่า “ทำอะไรไม่เข้าท่า หรือหมื่นทะลึ่ง” และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหมายแฟงไปถึงการลามปามทางด้านเพศ อย่างเช่นเมื่อใช้คำที่ว่านี้ในประโยคเช่น
“Don’t get fresh with me!” คือ “นี่เธออย่ามาทำหมื่นกะฮะหันน๊ะ”

คารม-คม-ระคาย (Quips & quotes)

 A man who has made a mistake and doesn’t correct it is committing another mistake. บุคคลผู้ที่ได้กระทำความผิดไปแล้วไม่ยอมแก้ไขความผิดนั้น ก็ถือได้ว่าเขาได้กระทำความผิดผิดเพิ่มเข้าไปอีกครั้งหนึ่งนั่นเอง
 Rain is what makes flowers grow and taxis disappear. ฝนเป็นตัวที่ทำให้ต้นไม้งอกงาม แต่กลับทำให้รถแท็กซี่หายไปโม็ด

ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

Body language # 33-05

ภาษากลางของโลก
เป็นเวลาถึง ๔ สัปดาห์เต็มที่ผู้เขียนได้พาท่านผู้อ่านออกไป “ชมนกชมไม้” ในเรื่องของภาษาอังกฤษอเมริกันซึ่งกำลังเป็นภาษากลางของโลกในปัจจุบัน และตั้งใจว่าเริ่มแต่มื้อหน้าเป็นต้นไปจะขอกลับเข้าแนวเดิมของคอลัมน์นี้ซึ่งเป็นเรื่องการใช้สำนวนอย่างที่เคยเขียนไปแล้วในอดีต
คำว่า “ภาษากลาง” ของโลกมนุษย์เรานี้ ผู้เขียนหมายถึง ภาษาที่เราใช้เป็นสื่อกลางเพื่อช่วยในการติดต่อพูดจาต๊ะอ้วยให้สามารถเข้าใจกันรู้เรื่องยิ่งไปกว่าการชี้มือชี้ไม้ “ชี้โบ๊ชี้เบ๊” หรือใช้ “ภาษาใบ้” ซึ่งต่างฝ่ายต้องออกท่าออกทางมากมายถึงขนาดที่กล่าวได้ว่า “พูดกันเสียเมื่อยมือ” และยังความเหน็ดเหนื่อยให้แต่ละฝ่ายมากไปกว่าการแสดงออกด้วยการเคลื่อนไหวแต่บางส่วนของร่างกายเพียงเล็กน้อย ซึ่งในภาษาอังกฤษเขาใช้คำว่า "Body language – บอด’ดี่ แลง’ เกว๊จ” อย่างเช่นการยักคิ้วหลิ่วตา หรือแม้แต่การที่สาวเดินทิ้งสะโพกให้ ก็อยู่ในความหมายของคำว่าบอด’ดี่ แลง’เกว๊จ นั้นแล
เพียงแต่จะละความเป็นชาตินิยมไปเสียให้สิ้นในเรื่องการติดต่อสนทนากันกับคนต่างชาติ ทิ้งความรู้สึกทุเรศทุรังและทุลักทุเลที่คนไทยในกรุงเทพฯ ต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการติดต่อพูดจากันกับคนชาวเขมรที่มาจากกรุงพนมเปญ ทั้ง ๆ ที่สองประเทศก็เป็นเพื่อนบ้านกัน อยู่ติดกัน และใช่ว่าต่างฝ่ายต่างจะคล่องในภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษากลางนั้นก็หาไม่
ในอันที่จริงนั้น นอกจากภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาอันยิ่งใหญ่ของพวกเราชาวไทยแล้ว ในโลกนี้มีภาษาซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นภาษาสำคัญ ๆ อยู่มากมายหลายภาษา เช่น ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาสเปน ภาษาเยอรมัน ภาษาอิตาลี่ ฯลฯ แต่เมื่อเอามาเปรียบเทียบกันในแง่อักขรวิธีโดยถ่องแท้แล้ว อักขรวิธีของภาษาอังกฤษและปัจจุบันนี้นิยมกันในแบบภาษาอเมริกันนั้น เห็นได้ว่ามีความกระทัดรัดมากกว่า เพราะไม่มีส่วนประกอบซึ่งเป็นสระห้อยบนโหนล่างให้รุงรัง อย่างเช่นภาษาฝรั่งเศส และภาษาไทยเรา แม้แต่การออกเสียงหรือเปล่งเสียงของภาษาอังกฤษก็ไม่ต้องทรมานด้วยการรัวลิ้นให้หนักหนาสาหัสเท่าใดนัก
และที่เป็นเรื่องจริงอันมิได้อิงนิยายก็คือ มีเพียงชนชาติเดียวเท่านั้นที่ในอดีตได้ชื่อว่ามีความยิ่งใหญ่เป็น “จักรภพ” คือจักรภพอังกฤษ ซึ่งยุคหนึ่งเขาคุยโวได้ว่าพระอาทิตย์ไม่ตกดินในเครือจักรภพของเขา เพราะเมื่อตะวันจะลับฟ้าไปจากดินแดนหนึ่งซึ่งขึ้นธงอังกฤษไว้นั้น ตะวันดวงนั้นก็ทอแสงขึ้นในดินแดนหรือเมืองขึ้นของเขาที่อยู่ถัดไปอีกแล้ว แต่ลงท้ายก็ไม่สามารถหนีสัจธรรมได้พ้น คืออะไรที่ขึ้นไปแล้วก็ต้องตกลงมา “What goes up must come down.”
ปัจจุบันนี้ ภาษาอังกฤษแท้ ๆ กำลังเสื่อมโทรมและถอยเข้าคลองจะกลายเป็นอดีต (A hasbeen – เอ แฮสบีน ซึ่งเอาสองคำ คือ คำว่า “แฮส คำหนึ่ง และ “บีน” อีกคำหนึ่ง มาต่อกันแล้วถือเป็นคำใหม่คำเดียวขึ้นมา หมายถึงอะไรก็ตาม ไม่ว่าคนหรือสิ่งของ ซึ่งตกกระป๋องไปแล้ว ก็เป็น “เอ แฮสบีน”)
และปัจจุบันนี้ภาษามะกันก็กำลังมาแรง เพราะอเมริกากำลังเป็นประเทศอภิมหาอำนาจ เป็นกระบี่ไร้เทียมทาน ส่วนจะหนีสัจธรรมของโลกพ้นไปได้หรือเปล่า ก็สุดแต่ท่านจะคิดอย่างไร
อย่างไรก็ตาม สำหรับท่านที่สวรรค์ได้ให้ลงมาเกิด และมีชีวิตอยู่ทุกวันนี้แล้ว จงก้มหน้าก้มตารับกรรม เอ๊ย ขอโทษ จะพูดว่าตั้งหน้าตั้งตาเรียนภาษามะกันต่อไปเถอะ เพราะภาษานี้จะยังมีประโยชน์สุดพรรณาได้ตราบจนกว่าชีวิตท่านจะหาไม่แน่นอน
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

ENGLISH VOCABULARY (ต่อ) #32-05

ENGLISH VOCABULARY (ต่อ)

ในเรื่องของการเรียนภาษา ไม่ว่าจะเป็นภาษาพ่อแม่ของเราเอง หรือเป็นภาษาที่สอง อย่างที่เรากำลังถือว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง (English as the Second Language = ESL) ตามที่เราได้ว่ากันอย่างต่อเนื่องในสามสี่สัปดาห์ที่ผ่านไปแล้วนั้น
ชาวอังกฤษชื่อ Oscar Wilde (1854-1900) เคยกล่าวไว้ว่า “ชีวิตคือการเดินทาง - Life is a journey.” ท่านผู้นี้เป็นนักประพันธ์ นักเขียนนามกระเดื่องแห่งยุคโน้นและมีผลงานเป็นที่ชื่นชอบมาถึงทุกวันนี้ และท่านพูดของท่านถูกในประเด็นที่ว่าชีวิตของคนเรานั้นเปรียบได้เสมือนการเดินทางที่มีจุดเริ่มต้นเมื่อถือกำเนิดเกิดมาเป็นมนุษย์ และไปสิ้นสุดเอาเมื่อตาย ซึ่งในแง่นี้เขามีสำนวนในภาษาอังกฤษว่า “From the cradle to the grave.” คือ “จากตอนที่นอนเปล ไปจนถึงหลุมฝังศพ หรือทางไทยเราก็เรียกว่า เชิงตะกอนก็ย่อมได้” = from birth to death.
ชีวิตคนเราเป็นการเดินทาง ซึ่งจะผิดแผกแตกต่างกันไปก็อยู่ที่จะสั้นหรือยาวกว่ากันประการหนึ่ง และจะต้องระหกระเหินลุ่มดอน หรือราบรื่นสุขโขสโมสรผิดกันแค่ไหนอีกประการหนึ่ง ฯลฯ เป็นต้น
ในทำนองเดียวกันผู้เขียนอยากตั้งสมมุติฐาน (Hypothesis= ไฮพอธ’ ธิซิส)ขึ้นมาเพื่อถือเสียว่าการเรียนภาษาซึ่งไม่ว่าจะเป็นในเรื่องภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ตามนั้น เปรียบได้เสมือนว่าเราลอยละล่องลงว่ายในสายน้ำ และถ้าจะสมมุติว่า เราเริ่มเรียนรู้แต่เพียงน้อยคำเมื่ออยู่ในชั้นประถมนั้น ถือเสมือนว่าเราเริ่มต้นตั้งแต่แคว “ปิง วัง ยม น่าน” พอล่องเรื่อยจนผ่านปากน้ำโพ จนลงเข้าแม่น้ำเจ้าพระยาก็สมมุติว่า จากชั้นประถมไปขึ้นชั้นมัธยม และเมื่อออกปากอ่าวไทยได้เมื่อใด ก็ถือเสียว่าเป็นนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยแล้ว ใกล้จะเป็นบัณฑิตกันเข้าไปแล้ว แต่จะเป็นทางด้านภาษา ก็ยังเป็นปัญหาอยู่
แน่ละ ทิวทัศน์ทั้งสองฝั่งน้ำ ตั้งแต่ต้นทางเรื่อยมา จะสวยสดงดงามสักเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับสายตาของผู้ดูผู้ชมโดยแท้ ทั้งนี้ในภาษาอังกฤษเขามีสุภาษิตกล่าวไว้ว่า “Beauty is in the eye of the beholder.” ซึ่งถ้าจะแปลตรงตัวก็เป็นว่า อันว่าความสวยหรือความงามจะแค่ไหน หรือหาไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับสายตาของผู้ที่ดูชมอยู่นั้นโดยแท้ อันนี้คล้ายคำพังเพยในภาษาไทยของเราที่ว่า “สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งเห็นแต่โคลนตม อีกคนกลับเห็นเพชรแพรวพราย” อะไรทำนองนั้นแล
ตามที่ว่ามาข้างต้นนี้เป็นฉันใด เรื่องของภาษา ไม่ว่าไทยหรืออังกฤษ ก็ฉันนั้น กล่าวคือ มีทั้งผู้ที่มองเห็นความดีงาม น่าสนใจ น่าเรียนรู้มาก ๆ ในเรื่องของภาษา ในขณะที่มีจำนวนมิใช่น้อยมีความท้อถอย เดินทางมาได้เพียงแค่ลำน้ำเจ้าพระยา หรือเรียนเพียงแค่ชั้นมัธยมเท่านั้นเองก็เกิดเหม็นเบื่อ และเลิกที่จะสนใจต่อไปอีกเสียแล้ว
แต่ก็มีคนเป็นจำนวนอีกมากมายที่สนุกสนานในเรื่องของภาษา เปรียบได้เสมือนว่า เพียงออกปากอ่าวไทยได้เท่านั้นก็ยังหาเป็นที่พอใจไม่ แต่กลับโลดแล่นเลยไปในทะเลจีน และเรื่อยออกทะเลลึก ท่องมหาสมุทร “อันลึกล้ำเหลือกำหนด” เสียด้วยซ้ำ ก็มีออกถมไป ซึ่งนั่นก็หมายถึงว่า เขาพวกนั้นมีความพากเพียรพยายามที่จะเพิ่มพูนความรู้ในด้านศัพท์แสง (Vocabulary) เพื่อให้สามารถใช้ถ้อยคำต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง และเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจในถ้อยคำซึ่งเป็นสำนวน (Idioms) ต่อไปอย่างไม่ยอมหยุดยั้งเลยสักนิด

คารม-คม-ระคาย (Quips & quotes)
 Weak men wait for opportunities; strong men make them. คนพวกอ่อนหัดมักเอาแต่คอยให้ราชรถมาเกย หากแต่ผู้ที่เข้มแข็งนั้นเขาย่อมออกใฝ่แสวงหาทางเอาเอง
 Whoever gossips to you will gossip of you. ไอ้พวกที่เอาเรื่องของชาวบ้านมานินทาให้เราฟังได้นั้น มันก็เอาเรื่องของเราไปนินทาให้ชาวบ้านฟังได้เหมือนกัน

ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

ENGLISH VOCABULARY (ต่อ) # 31-05

ENGLISH VOCABULARY (ต่อ)

คอลัมน์นี้ได้ว่างเว้นจากการแนะนำเรื่องสำนวนภาษาอังกฤษอเมริกันไปเสียหลายสัปดาห์ แต่กลับไปกล่าวถึงเรื่องการเรียนภาษาอังกฤษโดยพื้นฐานทั่ว ๆ ไป ซึ่งผู้เขียนเห็นว่ามีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเรื่องสำนวน ฯ
และถ้าจะว่ากันโดยแท้จริงแล้ว การเรียนมุ่งลงไปถึงพื้นฐานนั้น น่าจะมีน้ำหนักมากกว่าทางด้านสำนวนเสียด้วยซ้ำ กล่าวคือ การใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาที่สองของคนไทยผู้มิได้เกิดมาในสหรัฐ ฯ หรือประเทศซึ่งใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาพื้นเมืองของเขานั้น เพียงแต่จะอาศัยว่า “ย่อมรู้เองเป็นเอง” เช่นภาษาซึ่งดั้งเดิม (Mother tongue – โปรดสังเกตว่าไม่ต้องมี ‘s ต่อท้ายคำว่า Mother) นั้นย่อมไม่ได้
ยิ่งไปกว่านั้น คนพื้นบ้านผู้ใช้ภาษาพื้นเมือง แต่ถ้าเขามิได้ใช้เวลาและพยายามเรียนรู้ในภาษาของเขาเองนั้นอย่างจริงจังแล้ว ก็เป็นได้แต่เพียง “ผู้ด้อยการศึกษา” อยู่เท่านั้นเอง
แต่ทว่า ถ้าเราสามารถเรียนรู้จนทำตัวให้เก่งใน “ภาษาที่สอง” ของเราได้ ก็น่าเป็นการสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ตนเอง (Self Esteem - เซลฟ’ เอสทีม) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยเสริมสร้างสุขภาพกายและสุขภาพจิต ให้ไปสู่ความเป็นผู้มีลาภอันประเสริฐ หรือ “อโรคยาปรมาลาภา” และจะยังผลให้อยู่เย็นเป็นสุขและอายุมั่นขวัญยืนยิ่ง ๆ ขึ้นไปมิใช่หรือ
แล้วจะต้องทำอย่างไรถึงจะเก่งในภาษาที่สองหรือภาษาอังกฤษดั่งว่านี้ได้เล่า
ความเก่งกล้าในเรื่องใด ๆ ก็ตาม ย่อมได้มาจากการเรียนรู้มามากและมีความชำนิชำนาญในการใช้ศิลปศาสตร์นั้นมาก ๆ พร้อมกันไปอีกด้วย
บัณฑิตไทยมากท่านที่ได้เรียนจบจากมหาวิทยาลัยชื่อดังของเมืองไทยมีความรู้ในศัพท์แสงภาษาอังกฤษ (English vocabulary) มากมาย แต่ขาด “ทักษะ หรือ Skills” ครั้นเมื่อมีโอกาสได้มาเรียนต่อในสหรัฐ ฯ ก็ “พูดไม่ออก ต้องนั่งกรอกหน้า” ไปอยู่หลายเพลาเลยทีเดียว
อย่างไรก็ดี การที่จะเก่งในภาษาอังกฤษได้นั้น ความจำเป็นในเรื่องการเรียนรู้ศัพท์แสง และต้องรู้จักศัพท์แสงให้ได้มาก ๆ (How to increase your English vocabulary) ย่อมมีความสำคัญเป็นอันดับแรก
การที่จะทำให้รู้จักศัพท์ได้มาก ๆ ท่านก็จะต้องอ่านให้มาก ๆ และฟังให้มาก ๆ อีกด้วย
และรู้จักและเข้าใจความหมายในศัพท์แสงเพียงอย่างเดียวยังไม่พอ ท่านจะต้องใช้ศัพท์แสงในให้มาก เพื่อให้เกิดความชำนาญ และคล่องปาก คล่องมือ ด้วยการสนทนา และฝึกขีดเขียนเพื่อนำศัพท์ต่าง ๆ ที่เรียนรู้มา ออกใช้ทุกบ่อย ๆ อีกด้วย
ความเป็นจริงประการหนึ่งในเรื่องศัพท์แสงของภาษาไทยและภาษาอังกฤษนั้นก็คือ จำนวนศัพท์ไทยนั้นมีอยู่น้อยนิด เมื่อเปรียบเทียบกับภาษาอังกฤษ ดังจะเห็นได้จากขนาดของพจนานุกรมไทย ซึ่งมีศัพท์ส่วนใหญ่เป็นภาษาแขก (ผมหมายถึงภาษาบาลีและสันสกฤต) เสียด้วยซ้ำ หากแต่ในภาษาอังกฤษนั้น เขามีพจนานุกรมเล่มใหญ่เล่มโต และสำหรับที่ใช้เพื่อการค้นคว้าอย่างจริงจังแล้ว ก็มีความหนาความใหญ่ สามารถนำมาใช้เป็นหมอนหนุนนอนได้อย่างสบาย ๆ เลยทีเดียว
แต่ท่านต้องไม่เบื่อ หรือขี้เกียจที่จะเปิด “ดิก” เพราะเมื่อท่านต้องการอะไรในชีวิตคนเรานั้น ท่านจะต้อง “ลงทุน” เพื่อหวังผลในวันหน้าครับ

คารม-คม-ระคาย (Quips & quotes)

 The person who looks up to God rarely looks down on people. ผู้ที่เอาแต่เงยหน้าขึ้นหาพระเจ้านั้น มักจะไม่เข้าใจในมนุษย์ด้วยกัน
 Some people have to carry their diplomas with them to prove they have a college education. คนเรานั้นมีบ้างที่ต้องแบกปริญญาบัตรติดตัวไปด้วยเสมอ เพื่อจะได้เป็นหลักฐานแสดงว่าฉันจบปริญญานะว๊อย
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

ENGLISH VOCABULARY # 30-05

ENGLISH VOCABULARY
“English vocabulary” (อิง’ลิช โวแคบ’บิวเลอรี่) แปลเป็นภาษาไทยก็หมายความถึงกลุ่มหรือประมวลคำศัพท์แสงในภาษาหนึ่ง ๆ ซึ่งในกรณีนี้หมายถึงภาษาอังกฤษ และมีความสำคัญสำหรับเราท่านที่ใช้ภาษาอังกฤษอยู่ประจำวันหรือในงานการอาชีพของแต่ละบุคคล ในทำนองว่า แต่ละบุคคลนั้นมีความรู้หรือร่ำรวยในศัพท์แสงแค่ไหน เพียงใด หรือหาไม่

ขอให้เรามาทำความเข้าใจในเรื่องของคำศัพท์แสงกันบ้างเล็กน้อยเสียก่อน นั่นคือสมมุติว่า ให้เราย้อนกลับไปคิดถึงวัยเด็กตั้งแต่แรกเกิดและเริ่มเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวเรารู้จักถ้อยคำหรือคำพูดที่พ่อแม่และคนใกล้ชิดในครอบครัวพูดกันอยู่เป็นประจำวัน ซึ่งแน่ละ แต่ละคนย่อมค่อย ๆ จดจำและหัดพูด หัดประสมคำให้เป็นประโยค ฯลฯ และในวัยของเด็กเล็ก ย่อมมีและยังรู้จักถ้อยคำหรือศัพท์แสงเพียงไม่กี่คำ ซึ่งกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า “โวแคบบิวเลอรี่” ของเขายังมีเพียงน้อยนิด และเมื่อเด็กเริ่มเติบโตขึ้น จนในที่สุดถึงวัยเข้าโรงเรียน เด็กทุกคนก็ต่างรู้จักหรือมีศัพท์แสงอยู่ในหัวสมองของเขาเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อย ๆ
นักเรียนในระดับมัธยมปลายย่อมต้องรู้จักศัพท์แสงแม้แต่ในภาษาไทยอันเป็นภาษาพ่อแม่ภาษาดั้งเดิมของเราเอง มากคำกว่าเมื่อยังเรียนอยู่เพียงชั้นมัธยมต้น ๆ
นักศึกษาในระดับอุดมศึกษาย่อมต้องรู้จักศัพท์แสงไม่ว่าภาษาไทยหรืออังกฤษ มากขึ้นไปกว่าในสมัยที่ยังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมปลายอีกโขเลยทีเดียว
และบัณฑิตหรือผู้ที่สำเร็จได้ปริญญาบัตรไปเรียบร้อยโรงเรียนจีนแล้ว ย่อมต้องรู้จักและคล่องในการใช้ศัพท์แสงในชีวิตประจำวันมากขึ้นไปกว่าผู้ที่จบมาเพียงแค่ชั้นมัธยมอีกแยะ ๆ แต่ถ้าในชีวิตจริงของใครมิได้เป็นเช่นนั้น ก็ช่วยไม่ได้ และเขาผู้นั้นอาจต้องด้อยหรือล้าหลังในอาชีพการงานและไล่ตามเพื่อนฝูงไม่ทัน ยกเว้นเสียแต่ว่าถ้าเขาผู้นั้น “รูปหล่อ พ่อรวย” หรือ “ขาว สวย หมวย อึ้ม” ก็แล้วไป
ความจริงที่คนเราต้องยอมรับในเรื่องชีวิตการงานข้อหนึ่งก็คือว่า ในการประกอบอาชีพการงานในระดับชั้น “สัญญาบัตร” ของใครก็ตาม ใครผู้นั้นย่อมต้องรู้จักและต้องใช้ศัพท์แสงในชีวิตการงานประจำวันมากกว่าผู้ที่ประกอบอาชีพในระดับชั้น “ประทวน” มากมายหลายเท่านัก
ใช่ว่าผู้เขียนนี้จะดูถูกอาชีพการงานใดว่าต่ำต้อยแต่ประการใดก็หาไม่ หากว่าความจริงก็เป็นว่า ผู้ที่ประกอบอาชีพประเภทขับรถรับจ้าง หรือนั่งแคะขนมครกขาย เพียงรู้จักใช้คำศัพท์แสงในชีวิตประจำวันของเขาไม่กี่ร้อยคำ เขาก็หากินได้อย่างสบายใจเฉิบแล้ว
ส่วนบรรดาท่านที่จัดว่าเป็นผู้มีวิชาชีพ หรือ Professional นั้น ถ้าไม่รู้จักใช้ศัพท์แสงเป็นจำนวนพัน ๆ คำขึ้นไป ก็อาจด้อยในอาชีพการงานกว่าเขาทั้งหลายไปแล้วก็ได้
ยิ่งบุคคลในอาชีพทนายความหรือนักการเมือง ถ้าไม่รู้จักศัพท์แสงเป็นหมื่น ๆ คำ ก็คงหาความเจริญก้าวหน้าได้อย่างลำบากยากยิ่งนัก ชีวิตอาชีพการงานของเขาคงไม่รู้จัก “บาน” กันเสียทีแน่นอน
พูดไปเป็นไรมี ผู้ที่ด้อยในการรู้จักใช้ และเข้าใจศัพท์แสงไม่ว่าในภาษาใด ถ้าบังเอิญหลงเข้าไปอยู่ในกลุ่มคนที่เขาพูดคุยกันอยู่ด้วยศัพท์แสงที่อยู่เหนือความเข้าใจของผู้นั้นเข้า เขาสามารถทำได้แต่เพียงยิ้มแหย ๆ และพยักหน้างึก ๆ แล้วก็ค่อย ๆ เดินเลี่ยงออกไปจากกลุ่มนั้นให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้เท่านั้นเอง

ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

ENGLISH AS A SECOND LANGUAGE #29-05

ENGLISH AS A SECOND LANGUAGE
คอลัมน์ “สนุกกับภาษาอังกฤษสำนวนอเมริกัน” ซึ่งท่านกำลังอ่านอยู่นี้ได้รับเกียรติให้ประดับหน้าหนังสือพิมพ์ “เสรีชัย” เป็นเวลานานปีดีดักมาแล้ว และตามชื่อของคอลัมน์ที่ว่าเป็นเรื่องของสำนวนอเมริกันนั้น ก็ย่อมหมายถึงทิศทางของคอลัมน์นี้ว่ามุ่งไปในด้านภาษาพูดมากกว่าภาษาเขียน ทั้ง ๆ ที่ไม่มีข้อขีดขั้นใด ๆ เลยที่จะห้ามมิให้นำสำนวนซึ่งเหมาะสำหรับภาษาพูดนั้นไปใช้ในภาษาเขียน ถ้าหากว่าสามารถใช้สำนวนนั้นให้ถูกต้องกับกาละและเทศะ มิหนำซ้ำยังช่วยทำให้เนื้อหาหรือบทความซึ่งเขียนลงบนแผ่นกระดาษนั้น ๆ มีรสชาติและเพิ่มความสนุกให้แก่ผู้อ่านขึ้นไปได้มากกว่าการเขียนซึ่งมุ่งแต่ใช้ภาษาเขียนหรือที่เรียกว่าภาษาทางการ (Formal) ล้วน ๆ ตั้งแต่ต้นจนจบเสียด้วยซ้ำไป
วันนี้ ผู้เขียนขอพักเรื่อง “สำนวนอังกฤษอเมริกันในอักษร บี” สักมื้อหนึ่งหรือสองมื้อก่อน เนื่องด้วยได้มีท่านผู้ที่ติดตามคอลัมน์นี้หลายต่อหลายท่านกรุณาโทรศัทพ์ส่ง “ลูกยอ” มากมายหลายกะบุงโกยให้เป็นอภินันทนาการเพื่อแสดงออกซึ่งความรู้สึกที่เห็นคุณค่าของคอลัมน์นี้ และมากรายก็มักจะตั้งคำถามไปด้วยว่าทำอย่างไรจึงจะเก่งภาษาอังกฤษเหมือนอย่างชาวบ้านทั้งหลายเขาบ้าง
แน่ละ คำถามอย่างเช่นว่านี้ย่อมจะมาจากบรรดาท่านที่ถือว่า ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง (English as a Second Language = ESL) ซึ่งหมายความว่าเป็นผู้ที่เกิดในประเทศไทยหรือแห่งหนตำบลใดที่ไหนก็สุดแต่ และมีภาษาของตนเองอันนับได้ว่าเป็นภาษาแรกหรือภาษาที่หนึ่งของตนเองมาก่อน หากแต่ต่อมามีต้องการที่จะเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพิ่มเติมขึ้นอีกภาษาหนึ่งซึ่งต้องนับว่าเป็นภาษาที่สอง ด้วยความหวังว่า ภาษาที่สองนี้ย่อมจะเป็นสื่อหรือช่องทางสำคัญที่จะช่วยเพิ่มพูนคุณภาพชีวิต (To enhance the quality of life) ให้แก่ตนเองสืบต่อไป
เราจะไม่พูดให้มากเรื่องเข้าไปในประเด็นที่ว่า ทำไมภาษาอังกฤษ หรือภาษาอเมริกันในยุคนี้กำลังเป็นภาษากลางของโลก แต่ให้เรามาว่ากันในความเป็นจริงที่ว่า ภาษาอังกฤษหรือต่อไปคือภาษาอเมริกันจะเป็นกุญแจดอกสำคัญสำหรับท่านที่จะใช้เปิดช่องทางไปสู่อนาคตที่ดีกว่า และช่วยเพิ่มพูนคุณภาพชีวิตของท่านให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป
เมื่อใดก็ตาม หลังจากที่ท่านได้ขวนขวายเล่าเรียนภาษาอังกฤษอันเป็นภาษาที่สองจนถึงขั้นที่ว่าใช้การได้ดี ทั้งในภาษาพูดและภาษาเขียนแล้ว หรือกล่าวในภาษาอังกฤษว่า “You have a good command of the English language.” เมื่อนั้นท่านก็ได้นำตัวของท่านเองให้หลุดพ้นไปจาก “รอยตีนควาย” ก็แทบจะว่าได้
ต้องขอโทษที่ใช้สำนวนไทยลูกทุ่งไปสักหน่อย แต่ความหมายของเรื่องนั้นก็เป็นว่าท่านได้ยกระดับภูมิรู้ของท่านขึ้นไปอยู่ในที่สูงอันทำให้เห็นขอบฟ้าได้ไกลออกไปอย่างสุดหล้าฟ้าเขียวกันเลยทีเดียว ซึ่งในภาษาอังกฤษเขาก็ใช้คำว่า “You have broadened your horizons.” (ยู แฮฟว บรอด’เดินด ยัวร์ ฮะไร’ซันส) และเมื่อแปลเป็นไทยตรงตัวก็คือ “ท่านได้ขยายขอบฟ้าของท่านให้กว้างออกไปได้สำเร็จแล้ว” (ยังมีต่อ)
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

Get down to business # 28-05

สัปดาห์ก่อนเราได้มาถึงคำในภาษาอังกฤษที่ว่า “Business” หรือ “บีช’ ซิเนส” อันเป็นคำที่เราท่านรู้จักกันดีอยู่ก่อนแล้วว่าแปลว่า “ธุรกิจ” และคอลัมน์นี้ได้แนะนำการใช้คำนี้ไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายสำนวนซึ่งผู้แนะนำเชื่อว่าคงจะสามารถให้ประโยชน์เฉพาะหน้าแก่ท่านผู้อ่านที่ได้ติดตามคอลัมน์นี้อีกได้พอสมควร ไม่ต้องพูดถึงว่าบางท่านก็อาจนำไปใช้ให้มันหยดติ๋ง ๆได้ตามกาละและเทศะที่ถูกที่ควรต่อไป
“Get down to business” ซึ่งแปลว่า “ให้เรามาว่าเรื่องงานการ หรือให้เรามาลงมือทำงานทำการกันเสียที” และเราสามารถนำไปใช้หลังจากที่กลุ่มเราได้ใช้เวลาหมดไปในเรื่องการทักทายปราศรัย หรืออย่างที่เราเรียกว่า “ปฏิสันถาร” ถามสารทุกข์สุกดิบจนหมดเวลาไปพอสมควร และถึงตอนที่จำเป็นต้องว่ากันเรื่องงานการได้แล้ว
Get down to business = start the work that must be done. และคำพูดนี้สมควรนำมาใช้ถ้าท่านเป็นผู้นำกลุ่มหรือเป็นหัวหน้างานโดยกล่าวว่า “OK หรือ C’mon หรือ Come on, let us get down to business.” ซึ่งแปลว่า “เอาล่ะ ให้เรามาว่าเรื่องงานการกันได้แล้ว” แต่ถ้าท่านเข้าอยู่ในกลุ่มเพียงฐานะตัวประกอบหรือพระอันดับ ก็ควรสงวนท่าทีไว้ก่อนจะดีกว่า มิฉะนั้นท่านอาจโดนค้อนเอาก็ได้
“Go about one’s business” ซึ่งแปลว่าต่างคนก็ต่างไปทำธุรกิจการงานหรือทำงานทำการของตนไป
Go about one’s business = occupy one’s self with one’s own affairs. สำนวนนี้สามารถนำไปใช้ในประโยคตัวอย่างเช่น “Most streets in Downtown LA are usually filled with people going about their daily business.” คือ ตามปกติแล้ว ท้องถนนแทบทุกแห่งในย่านดาวน์ทาวน์แอล.เอ. มักจะเต็มไปด้วยผู้คนที่ต่างไปทำธุรกิจประจำวันของตนกันทั้งนั้น” ขอให้สังเกตว่าวลีนี้มีความสำคัญอยู่ที่คำว่า “Go about.”
“Go out of business.” แปลว่า ทำมาค้าขายแล้วหมดตัว ขาดทุนยุบยับ หรือเจ๊งนั่นเอง = Become bankrupt!
“I mean business!” = I am serious! เมื่อใดที่ท่านได้ยินใครกล่าวคำนี้ขึ้นมาซึ่งแปลว่า “นี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ น๊ะ อั๊วเอาจริง ๆ โว้ย” ก็ต้องระวังตัวกันหน่อย หรือไม่ก็ “ตัวใครตัวมัน” ก็แล้วกัน เพราะมันอาจเป็นคำตะคอกของไอ้โจรที่เข้ามาปล้นและกำลังยกปืนขึ้นมาขู่เพื่อเอาเงินของท่านแล้วก็ได้

คารม-คม-ระคาย (Quips & quotes)
 Many divorces are caused by the marriage of two people who are in love with themselves. การหย่าร้างกันมากต่อมากรายมีสาเหตุเนื่องมาจากการร่วมหอลงโรงของคู่ที่เอาแต่รักตัวเองเพียงฝ่ายเดียวเสียละมากกว่า
 Knowing what is none of your business is just as important as knowing what is. การที่พึงรู้ว่าอะไรมิใช่กงมิใช่การของท่านนั้น ย่อมมีความสำคัญเสมอเหมือนกับการที่จะต้องรู้ว่าอะไรเป็นเรื่องของท่านเองโดยแท้

ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

Business as usual # 27-05

วันนี้ขอให้เรามาศึกษาหาประโยชน์จากคำในภาษาอังกฤษที่ว่า “Business” หรือ “บีช’ ซิเนส” อันเป็นคำที่เราท่านรู้จักกันดีอยู่ก่อนแล้วว่าแปลว่า “ธุรกิจ” แต่คำง่าย ๆ ซึ่งมีเพียงสามพยางค์นี้สามารถให้ประโยชน์ได้มากมายเมื่อเรานำมาผันใช้ให้ถูกต้องด้วยการเรียนรู้ลงไปในทางลึก ดังต่อไปนี้คือ
“Business as usual” (บีช’ ซิเนส แอซ ยูส’ชวล) เป็นวลีที่มีความหมายลึกซึ้งกว่าที่จะแปลความหมายเพียงแต่ให้ตรงกับตัวอักษรเท่านั้น หากแต่สามารถนำไปใช้เพื่อประกาศเจตนาของผู้พูดในทำนองว่า “เมื่อชีวิตยังไม่สิ้น ก็ต้องดิ้นต่อไป”
Business as usual = things will proceed normally despite difficulties or disturbances. คำในภาษาอังกฤษอันประกอบขี้นเป็นวลีดังกล่าวนี้เป็นกลุ่มคำที่น่าจดจำและพยายามนำไปใช้ให้คล่องปากเมื่อต้องการที่จะปลอบใจตนเองหรือสมัครพรรคพวกให้ดำเนินธุรกิจการงานหรือแม้แต่กิจกรรมใด ๆ ซึ่งกำลังทำอยู่นั้นต่อไปโดยไม่หยุดยั้งในยามที่มีอุปสรรคมาขัดขวางอันอาจทำให้เกิดความรู้สึกท้อใจ และเลิกล้มความตั้งใจที่มีอยู่มาแต่เดิมนั้นเสียง่าย ๆ
“Business is business” สามคำนี้แปลตรงตัวหรือตรงไปตรงมาก็หมายความว่า “ธุรกิจก็ต้องเป็นธุรกิจ” หรืองานก็ต้องเป็นงาน จะทำเป็นเล่นไม่ได้ และในแง่ของสำนวนก็ไม่มีความหมายผิดเพี้ยนไปเป็นอื่น ถ้าแต่กลับยิ่งเน้นหนักลงไปอีกเสียด้วยว่า ธุรกิจก็ต้องเป็นธุรกิจ จะเอาความเป็นเพื่อนฝูงหรือมิตรภาพเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยย่อมไม่ถูกเรื่อง
“Business is business” = In financial and commercial matters, one must not be influenced by friendship or pity!
ว่ากันในแง่ที่ถูกที่ควรแล้ว ความหมายของประโยคนี้ออกจะทารุณหรือรุนแรงเกินไปสักหน่อย เมื่อใดที่ใครนำไปใช้ก็คงจะต้องโดนประนามว่า “ไอ้นี่ยิวชิบ….เลยก็ได้ แต่ถ้าท่านจะนำไปใช้ในความหมายเพื่อแก้เผ็ดแก้แค้นอะไรสักอย่างหนึ่งก็แล้วไป
Funny business
Funny business = something that is illegal, suspicious or not approved of. คำว่า “ฟันนี่” นั้น มิได้หมายความแต่เพียงว่า “ทำเป็นตลก” อย่างเดียวเท่านั้นแต่การใช้คำนี้อาจแฝงความหมายว่าเป็นการทำอะไรที่ออกจะห่าม ๆ หรือน่าเคลือบแคลงสงสัยอยู่ด้วยก็ได้ อย่างเช่นว่าถ้าเรากล่าวว่า “Don’t be funny!” ก็หมายความว่า “อย่ามาทำเล่น ๆ น็ะ” และวลีที่ว่า “Funny business” ก็หมายความถึง “เรื่องอะไรสักอย่างหนึ่งอันออกจะไม่ชอบมาพากลนัก” ดังนั้นในประโยคที่ว่า “John is engaged in some kind of funny business.” ก็แปลว่า “ไอ้เจ้าจอห์นมันประกอบธุรกิจอะไรของมันซึ่งไม่สู้จะขาวสะอาดนัก” และในภาษาอังกฤษอเมริกันนั้น พวกมะกันมักจะใช้คำว่า “Monkey business” มาแทนคำว่า “Funny business” ซึ่งมีความหมายในทำนองเดียวกันก็ได้

คารม-คม-ระคาย (Quips & quotes)
 The only people who enjoy hearing your troubles are lawyers, and they’re paid for it. มนุษย์จำพวกที่เป็นทนายหรือทะแนะนั้น เขาชอบฟังเรื่องราวเกี่ยวกับความเดือดร้อนของท่านแล้วยังได้รับเงินตอบแทนที่เขาต้องทนฟังเรื่องเช่นนั้นอีกเสียด้วยซ้ำ
 Everybody thinks thrift is a wonderful virtue, especially in our ancestors. คนเรานั้นเชื่อว่าการประหยัดรู้จักเก็บหอมรอมริบย่อมเป็นคุณธรรมอันประเสริฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นพ่อแม่และปู่ย่าตายายของเราได้ปฏิบัติตนเช่นนั้นอย่างคร่ำเคร่งมาก่อน
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

Butter up #26-05

“Butter up” To butter up เป็นการใช้คำว่า “เนย” ซึ่งเป็นคำนามมาเป็นคำกริยาและถ้าแปลตรงตัวก็เป็นว่า “ทาเนยลงไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง” แต่เมื่อเป็นสำนวนแล้วก็หมายความว่าประจบประแจงด้วยคำพูดหรือการกระทำเพื่อพยายามเอาอกเอาใจใครสักคนหนึ่ง = To try to get the favor or friendship of a person by flattery or pleasantness. สามารถนำไปใช้ในประโยคตัวอย่างเช่น
“Jimmy is trying to butter up the boss in hope of a better job.” คืออีตาจิมมี่กำลังใช้ความพยายามที่จะประจบประแจงเจ้านายด้วยความหวังว่าจะมีโอกาสได้งานที่ดีขี้นไป หรือได้รับการเลื่อนตำแหน่งหน้าที่ขึ้นไปอีก

“Butt in” To butt in ออกเสียงว่า “ทู บัท อิน” และขอให้สังเกตว่ามีอักษรตัว “ที” ซ้อนกันอยู่ถึงสองตัวแทนที่จะมีเพียงตัวเดียวตามปกติทั่วไปของคำว่า “But” (บัท) ที่แปลว่า “แต่” ทั้ง ๆ ที่ออกเสียงแทบจะเหมือนกันจะผิดกันเพียงที่การลงน้ำหนักหรือเบาต่างกันนิดหน่อยเท่านั้นเอง หากมีอักษรทีสองตัวอย่างในที่นี้เมื่อเป็นคำนามหมายถึงส่วนปลายหรือส่วนท้ายของตะโพก หยั่งที่เราเรียกกันว่า “บั้นท้าย” ก็ใช่แล้ว หรือจะหมายถึงก้นบุหรี่ ( Cigarette butt ) ก็ยังไหว และในบางกรณีก็อาจเป็นการกล่าวไปถึงพานท้ายปืน หรือส่วนท้ายของตอไม้ใด ๆ สักแห่งหนึ่งก็ได้

“To butt in” เมื่อเป็นคำสำนวนก็หมายความว่า “เสือกสอดเข้าไปยุ่งกับเรื่องของชาวบ้านโดยที่ไม่ได้บอกกล่าวให้พวกเขารู้ตัวล่วงหน้า หรือพวกเขามิได้เชื้อเชิญสักนิด” = To join what other people are doing without asking or being asked; interfere in other people’s business; meddle. เราอาจนำไปใช้ในประโยคตัวอย่างเช่น “Mary was explaining to Jane how to write the tax return, when Barbara butted in.” คือ ยายแมรี่กำลังอธิบายให้แม่เจนเข้าใจว่าจะกรอกข้อความลงในใบนำส่งภาษีเงินได้อยู่นั้น อียายบาร์บาร่าก็เสือกกระโหลกเข้าไปเสียบอย่างที่ไม่มีใครเขาชวนเชิญแม้แต่น้อย
อนึ่ง คำว่า Butt in นี้ โดยที่เป็นสำนวนที่ใช้เป็นคำพูดจากัน จึงมีบางครั้งที่อาจมีคำว่า On กำกับท้ายมาด้วย เป็นว่า “Butt in on” และใช้ในประโยคอย่างเช่น “Tim butted in on Bill and Tom’s fight, and got hurt.” คือ ไอ้เจ้าทิมเสือกถลันเข้าไปตอนที่เจ้าบิลกะทอมเขากำลังฟัดกันอยู่ เลยต้องเจ็บตัวออกมา
และไหน ๆ ก็กำลังอยู่ในคำว่า Butt นี้แล้ว เมื่อใช้เป็นคำนาม และใช้กันมัน ๆ ก็มีอาทิเช่น “Get off your butts and do some work!” เฮ้ย อย่าทำเป็นก้นหนักอยู่เลย ลุกขึ้นไปทำงานบ้างซิโว้ย

คารม-คม-ระคาย (Quips & quotes)

 By nature all men are much alike, but by education they become different. ว่ากันโดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์เราย่อมละม้ายคล้ายคลึงกัน จะผิดแปลกแตกต่างกันก็อยู่ที่การศึกษาเล่าเรียนซึ่งได้มาแต่ละบุคคลเท่านั้นเอง

 All men are honest -- until they are faced with a situation tempting enough to make them dishonest. มนุษย์เราล้วนมีความซื่อสัตย์โดยพื้นฐาน ตราบจนกระทั่งเขาต้องเผชิญกับสถานการณ์อันโน้มเหนี่ยวใจให้เขากลายเป็นคนที่ไม่ซื่อไปได้เท่านั้นเอง

 It’s more fun building castles in the air than on the ground. การสร้างวิมานในอากาศนั้นย่อมสนุกกว่าที่จะมาคิดสร้างกันบนพื้นแผ่นดินเป็นไหน ๆ

ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

Butterflies in one’s stomach #25-05

สำนวนต่าง ๆ ในภาษาอังกฤษ และอังกฤษอเมริกันนั้น มีมากมายหลายกะบุงโกย เพราะอังกฤษเองเป็นชาติซึ่งมีรกรากสืบเนื่องมานมนานกาเลนับได้เป็นหลายพันปีแล้ว ทำให้มีเวลามากมายที่ช่วยอำนวยโอกาสให้มีวิวัฒนาการในด้านการใช้ภาษาทั้งด้านการพูดและเขียน และในเรื่องของสำนวนที่เป็นวลีแล้วนั้น บางสำนวนเมื่อฟังแล้วก็เข้าใจได้โดยไม่ยาก แต่ก็มีสำนวนอีกมากหลายที่ต้องเรียนรู้เพื่อให้สามารถเข้าใจความหมายอันยอกย้อนซึ่งแฝงอยู่ในสำนวนนั้น ๆ
ส่วนทางด้านภาษาไทยของเราเองนั้น ถึงแม้ว่าระยะเวลาแห่งประวัติศาสตร์ของชาติไทย และภาษาไทยเราจะสั้นมากกว่าของเขา แต่เราก็มีสำนวนไทยมากมายสุดที่จะคณานับได้เช่นกัน และเป็นที่น่ายินดีที่ปูชนียบุคคลของไทยเราท่านหนึ่งได้อุตส่าห์ลงทุนลงแรงและเวลาอันมีค่าของท่านเพื่อเก็บรวบรวมสำนวนไทยไว้เป็นมรดกอันล้ำค่าทิ้งไว้ให้เป็นคุณประโยชน์และสร้างความน่าภาคภูมิใจในภาษาไทยให้แก่อนชนรุ่นหลัง ด้วยการจัดพิมพ์เป็นเล่มขึ้นไว้อย่างน่าสรรเสริญพระคุณของท่านเป็นอย่างที่สุด
ปูชนียบุคคลท่านผู้นี้คือ ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ผู้แต่ง “สำนวนไทย” ขึ้นไว้เป็นเล่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ซึ่งในปัจจุบันกลายเป็นตำราที่หาซื้อในท้องตลาดอีกไม่ได้แล้ว แต่ก็น่าเชื่อได้ว่า คงจะได้มีการจัดพิมพ์ขึ้นใหม่ รวมทั้งมีการเพิ่มเติม หรืออาจแก้ไขให้เหมาะสมขึ้นไปอีกบ้างแล้วแน่นอน
ในหนังสือ “สำนวนไทย” เล่มดังกล่าวนี้ มีคำมากมายที่มีความหมายยอกย้อนซ่อนเงื่อนให้ต้องคิด ต้องเรียนรู้ ทำนองเดียวกันกับสำนวนของฝรั่งเขา ซึ่งเราจะได้ว่ากันในคอลัมน์นี้ต่อไป คือ
“Butterflies in one’s stomach” ตรงตัวแปลว่ามีผีเสื้อมากกมายอยู่ในท้อง แต่เมื่อเป็นสำนวนก็มีความหมายว่ามีความรู้สึกกังวลหรือไม่แน่ใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นข้างหน้า = a queer feeling in the stomach caused by nervous fear or uncertainty.
ใช้ในประโยคตัวอย่างเช่น “Having been called to the manager’s office unexpectedly, John has butterflies in his stomach because he is not sure of what will be waiting for him.” คือ เมื่อโดนเรียกตัวเข้าไปในห้องผู้จัดการโดยไม่ได้คาดฝันมาก่อน ตาจอห์นก็ออกจะปอดลอยเพราะไม่แน่ใจว่าจะมีเรื่องดีหรือร้ายอะไรคอยเขาอยู่หรือเปล่า

คารม-คม-ระคาย (Quips & quotes)

 Some people wouldn’t have anything to say if they were forbidden to speak well of themselves and evil of others. คนเราบางคนนั้น ถ้าโดนห้ามพูดให้ดีแต่ตัวเอง และให้ร้ายแก่ผู้อื่นแล้ว เขาก็จะหาเรื่องอะไรมาพูดคุยไม่ได้เลย
 A man’s work is a portrait of himself. อันว่าคนเรานั้น ย่อมสร้างรูปกายให้ชาวบ้านเห็นได้ด้วยลักษณะงานอาชีพซึ่งเขากำลังต้องทำมาหากินอยู่นั้นโคยแท้

ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

Burn up the road # 24-05

“Burn up the road,” แปลตรงตัวก็เป็นว่าเผาถนน แต่วลีนี้เป็นสำนวนซึ่งหมายความว่า ขับรถเร่งเครื่องเต็มที่ หรือในภาษาไทยเราก็มีสำนวนที่พูดว่า “ขับรถแข่งพายุ” ก็น่าที่จะนำมาใช้ได้ในความหมายทำนองเดียวกัน
“Burn up the road” = To drive a car very fast. ให้เราสร้างประโยคตัวอย่างสำหรับสำนวนนี้อาทิเช่น “In his eagerness to see his girlfriend again, John burned up the road on his way to see her. คือ ด้วยความกระตือรือร้นอย่างสุดแสนที่จะได้พบเพื่อนสาวของเขาอีกหนหนึ่ง อีตาจอห์นก็บึ่งรถเต็มสตีมเพื่อไปหาเธออย่างเร็วที่สุด

หรือใช้อีกประโยคหนึ่งก็ได้อย่างเช่น Speed demons burning up the road often cause accidents. คือไอ้พวกนักขับรถตีนผีชอบเร่งเครื่องเต็มที่นั้นมักทำให้เกิดอุบัติเหตุอยู่เสมอ ๆ

“Burst at the seams” (เบอสท แอ็ต เธอะ ซีมส์) ถ้าแปลตรงตัวก็เป็นว่า “แน่นขนัดเสียจนจะแตกที่รอยต่อหรือรอยตะเข็บ” ขอให้สังเกตด้วยว่า คำว่าซีมส์ ซึ่งแปลว่ารอยต่อหรือตะเข็บนั้นมีตัว “เอส” เกาะท้ายเป็นพหูพจน์อยู่ด้วย และในเรื่องของเอกพจน์และพหูพจน์นี้ ในภาษาไทยเราพูดกันไม่รู้เรื่อง เพราะเราไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องนี้กันเลยแม้แต่น้อย แต่ในภาษาอังกฤษนั้น การใช้คำที่เป็นเอกพจน์หรือพหูพจน์อย่างถูกต้องนั้นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นถ้าต้องการให้พวกฝรั่งมัน “ซูฮก” ท่านขึ้นอีกสักหน่อย ก็ควรพยายามใช้คำเอกพจน์หรือพหูพจน์ให้ถูกต้องอีกด้วย
“Burst at the seams” = To be too full or too crowded เป็นวลีสำนวนซึ่งตรงกับภาษาไทยของเราที่ว่า “แน่นยัดทะนาน” ซึ่งถ้าใช้ในประโยคเรื่องเกี่ยวกับอาหารการกินก็หมายความว่า “กินเสียแทบจะจุกตาย” เช่นใช้ในประโยคที่ว่า “Jim ate too much he was bursting at the seams.” คือ ตาจิมได้เอาแต่กินเสียท้องกางหรือแทบจะจุกตายเลยทีเดียว และสำนวนอังกฤษวลีนี้ถ้านำไปใช้ในเรื่องการบรรจุหรือบรรทุกสิ่งของหรือผู้คนก็ย่อมได้ อาทิเช่น “Buses in big cities in India are so crowded that they are bursting at the seams.” คือ รถเมล์ในเมืองใหญ่ทางประเทศอินเดียบรรทุกผู้โดยสารอย่างแน่นขนัดยัดทะนานกันเลยทีเดียว

สำนวนถัดไปเป็นวลีที่น่าสนใจอีกวลีหนึ่ง คือ

“Bury the hatchet” (เบ’รี่ เธอะ แฮท’ ชิท) เบรี่ คือฝัง และแฮท’ชิทแปลว่าขวานเล็กๆ อย่างพวกอินเดียนแดงในสมัยโบราณใช้เป็นอาวุธ ซึ่งตรงตัวแปลว่า “เอาขวานไปฝังไว้ในดิน” แต่สำนวนนี้หมายถึงการหันมาปรองดองเป็นมิตรกัน หรือเลิกแล้วต่อกันซึ่งความขุ่นข้องหมองใจใด ๆ อันเคยมีมาแต่ก่อน

“The two men had been enemies a long time, but after the flood they buried the hatchet.” คือ สองคนนั้นเป็นศัตรูกันมาช้านาน แต่หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่นั้นแล้ว เขาทั้งสองก็สามารถคืนดีเป็นมิตรกันได้


คารม-คม-ระคาย (Quips & quotes)

You can buy education, but wisdom is a gift from God. เงินสามารถซื้อความรู้ได้ แต่ความเฉลียวฉลาดนั้นเป็นพรจากสวรรค์

Marriage is a case of two people agreeing to change each other’s habits.
การร่วมหอลงโรงนั้น เป็นเรื่องที่สองมนุษย์ได้ตกลงกันว่าจะเปลี่ยนสันดานของกันและกันได้สำเร็จ
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

Burn one’s fingers # 23-05

“Burn one’s fingers” แปลตรงตัวก็เป็นว่า “ได้เอานิ้วไปโดนไฟลวกเข้าแล้ว” แต่วลีนี้เป็นอีกสำนวนหนึ่งซึ่งหมายความว่า ได้ไปพลาดท่าทำอะไรที่รุ่มร่ามเข้าสักอย่างจนทำให้ตนต้องปวดกระโหลกก็เลยเข็ดขยาดไม่กล้ากระทำการเช่นนั้นอีก (To get into trouble doing something and fear to do it again; learn caution through an unpleasant experience.)
เราอาจใช้สำนวนนี้ได้ในความหมายเช่น “John got his fingers badly burnt dabbling in the stock-market once, and didn’t want to try again” คือ อีตาจอห์นเล่นหุ้นเสียจนกระทั่งพลาดท่าอย่างแสบทรวงไปแล้วก็เลยเข็ดขยาดไม่กล้าที่จะลองเสี่ยงดวงซ้ำอีก หรืออย่างในประโยคเช่น “Some people cannot be told, they have to burn their fingers to learn.” คือ คนบางคนนั้นไม่ชอบให้สอน แต่ต้องปล่อยให้เขาไปพลาดท่าเข้าด้วยตัวเองเสียก่อนถึงจะลู่ซึก
สำนวนที่ใช้คำว่า To burn อีกวลีหนึ่งก็คือ “Burn the candle at both ends “ แปลตรงตัวว่า “เผาแท่งเทียนมันทั้งหัวท้าย คือจุดไฟเข้าที่ปลายเทียนทั้งสองข้างเลย” แต่เมื่อเป็นสำนวนแล้วหมายความว่า โหมการทำงานหรือการละเล่นอะไรก็ตามหนักข้อเกินไป หรือ ทำจนเกินไปไม่มีเวลาพักผ่อนที่พอเพียง = To work or play too hard without enough rest; get too tired. ทั้งนี้เราสามารถนำสำนวนนี้ไปใช้ในประโยคตัวอย่างเช่น “Smith worked hard every day as a lawyer and went to parties and dances every night; he was burning the candle at both ends.” คือนายสมิธในฐานะที่เป็นทนายความก็ทำงานหนักทุก ๆ วัน และมิหนำยังไปงานปาร์ตี้และออกเต้นรำทุกคืน เช่นนี้เป็นการเร่งรัดตัวเองหนักจนเกินไปเสียแล้ว (นั่นหมายความว่าเขาเสี่ยงต่อการที่จะต้องล้มพับเข้าสักวันหนึ่งแน่นอน)
วันนี้ขอให้เราได้ทำความรู้จักกับสำนวนอังกฤษอีกสำนวนหนึ่งคือ “Burn the midnight oil” ซึ่งแปลตรงตัวก็เป็นว่า “เผาน้ำมันกลางดึก” แต่เป็นสำนวนซึ่งหมายความว่า ตั้งหน้าตั้งตาดูหนังสือเรียนจนดึกดื่นหรือหามรุ่งหามค่ำ = To study late at night. ตัวอย่างการใช้ให้เป็นประโยคก็เช่นว่า “Exam time is near; more and more students are burning the midnight oil.” คือ เมื่อจวนเวลาสอบไล่เข้าไปแล้ว นักเรียนทั้งหลายต่างก็พากันตั้งตาดูหนังสือหนังหากันอย่างหามรุ่งหามค่ำกันเลยทีเดียว
ก่อนที่จะยุติคอลัมน์ประจำสัปดาห์นี้ลง ผู้เขียนอยากขอแนะนำอีกด้วยว่า การเรียนภาษาต่างประเทศซึ่ง ณ ที่นี้เป็นภาษาอังกฤษอเมริกันนั้น ลำพังแต่ที่จะพยายามจดจำเพียงลูกเดียวนั้นหาพอไม่ ท่านควรต้องพยายามฝึกฝนนำไปใช้พูดอย่างถูกต้องคล่องปากอีกด้วย ให้เข้าทำนองสุภาษิตอังกฤษที่ว่า “Practice makes perfect.” (แพรค’ทิส เมคส เพอ’ เฟคท) คือการฝึกฝนย่อมนำไปสู่ความสมบูรณ์แบบนั่นแล
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

To Burn # 22-05

To Burn = ทู เบิร์น
To burn (v) = ทู เบิร์น เป็นคำกริยาซึ่งตามปกติก็แปลว่า เผาให้ไหม้ หรือทำให้ลุกเป็นไฟ ฯลฯ ในความหมายทำนองเดียวกัน หรือแม้แต่ใช้เป็นคำกริยาที่แสดงออกซึ่งอารมณ์ในลักษณะโกรธจัด หรือเดือดดาลในอารมณ์ก็ย่อมได้ สุดแต่การสร้างประโยค แต่กริยาคำนี้ถ้านำมาประกอบเป็นวลีก็กลายเป็นคำสำนวนซึ่งมีความหมายเฉพาะตัวออกไป และน่าเรียนรู้กันพอสมควร อาทิเช่น
“Burn a hole in one’s pocket.” ซึ่งถ้าแปลตรงตัวก็หมายความว่ามีไฟมาเผากระเป๋าให้เป็นรู แต่เป็นคำสำนวนที่หมายความว่า มีเงินในกระเป๋าแล้วมันร้อนรุ่มกลุ้มอกกลุ้มใจหรือคันคะเยอ อยู่ไม่เป็นสุข อยากออกไปช้อปปิ้งหรือผลาญมันเสียเลยโดยไม่สามารถรีรออยู่ได้แม้แต่ชั่วครู่ชั่วยามเลยทีเดียว
และในความหมายภาษาอังกฤษก็แปลว่า “To make one want to buy something quickly.” ทั้งนี้ ถ้าจะนำมาใช้ในประโยคสมมุติก็ได้อย่างเช่น “Money is burning a hole in my pocket.” คือ มีสตางค์อยู่ในกระเป๋าแล้วมันทำให้ฉันรุ่มร้อนเหลือแสน หรือในประโยคว่า “The dollar that Jim got for his birthday is burning a hole in his pocket, and he hurried to a store.” คือดอลลาร์ซึ่งจิมได้มาเมื่อวันเกิดของเขานั้นกำลังสร้างความร้อนรุ่มกลุ้มใจให้เขา ถึงขนาดที่ต้องรีบออกไปจับจ่ายใช้มันอย่างที่จะรอช้าไม่ได้เลยทีเดียว
วลีต่อไปก็คือ “Burn one’s bridges” = to make a decision that one cannot change; remove or destroy all the ways one can return from a position; or do something that makes it impossible to go back to a previous position. แปลตรงตัวก็เป็นว่าเผาสะพานที่ตนต้องใช้เดินเหินอยู่ก่อนนั้นมันเสีย แต่มันเป็นสำนวนซึ่งหมายความว่าทำให้หมดทางเลือก ไม่สามารถย้อนทางไปสู่ที่เดิมซึ่งเป็นการทำให้ตนเองต้องจนแต้มหรือสิ้นหนทางไปเสียเปล่า ๆ
เราใช้สำนวนนี้ได้ในประโยคตัวอย่างเช่น “Think carefully before you resign -- if you do that you will have burnt your bridges.” คือ “คิดเสียให้ดีน๊ะเธอก่อนที่จะตัดสินใจลาออกไป เพราะเมื่อเธอทำเช่นนั้นแล้วก็จะย้อนกลับเข้ามาของานนั้นทำใหม่อีกไม่ได้แล้วแน่นอน”
อนึ่งบางครั้งหรือบางคนเขาก็ใช้คำว่า“Boats”มาแทนคำว่า “Bridges” ก็ได้ และถือว่ามีความหมายเหมือนกันหรือเช่นเดียวกันนั่นเอง
สัปดาห์หน้าจะแนะนำต่อไปถึงสำนวนอังกฤษที่มีคำว่า “Burn one’s fingers” ซึ่งแปลตัวตรงว่า “เอานิ้วของตัวไปโดนไฟไหม้เข้าแล้ว” แต่เป็นสำนวนหมายความว่าได้ทำพลาดจนเจ็บกระดองใจไปครั้งหนึ่งแล้วและเข็ดขยาดไม่ต้องการเจ็บช้ำเป็นยกสอง หรือ “เจ็บแล้วต้องจำ” ก็ยังได้
“ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข”

BULLSHIT ARTIST #21-05

BULLSHIT ARTIST
“Bullshit artist” (บูลชิท อาร์’ทิสท) เป็นสำนวนอีกคำหนึ่งซึ่งควรที่จะ “รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม”
และมิใช่เป็นเพราะผู้เขียนยังอาลัยอาวรณ์อยู่กับคำ “บูลชิท” ซึ่งไม่ใช่คำดีที่จะนำมาใช้ให้ติดปากก็หาไม่ แต่ไหน ๆ เป็นคำที่ต้องมาถึงเพราะเรียงกันตามตัวอักษรเรื่อยมาและผู้เขียนเห็นว่าไม่ควรที่จะผ่านเลยไปโดยไม่แนะนำให้รู้จักเข้าใจความหมายของสำนวนนี้กันพอสมควรไว้ด้วย
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เราได้อธิบายไปแล้วสำหรับคำว่า “Bullshit” แปลว่า อุจจาระ และคำว่า “Artist” แปลว่า ศิลปิน หรือช่างศิลป์ แต่เมื่อจับเอาสองคำนี้มาต่อรวมกันกับกลายเป็นสำนวนที่มีความหมาย ไปในทางลบเป็นอย่างมากเลยทีเดียว
ในภาษาอังกฤษ เขาอธิบายความหมายของคำ “Bullshit artist” นี้ไว้ว่า = A person who habitually makes exaggerated or insincerely flattering speeches designed to impress others. คือหมายถึงคนที่มีสันดานชอบพูดจายกยอปั่นใครต่อใครในทำนองที่มักจะเกินเลยความจริง หรือไม่มีความจริงใจ เพียงเพื่อหวังสร้างความประทับใจให้เขาไว้เท่านั้นเอง คนประเภทนี้ในภาษาไทยเรามักจะเรียกว่า “คนปากหวาน” ส่วนที่จะ “ก้นเปรี้ยว” ด้วยหรือหาไม่ก็ย่อมสุดแล้วแต่บุคคลไป แต่ยังดีกว่าคนอีกประเภทหนึ่งที่เขาเรียกกันว่า “คนปากหมา” ซึ่งตนเองก็ต้องเสี่ยงกับอันตรายในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว
Bullshit artist นี้ อาจนำมาผูกเป็นประโยคใช้ได้ในความหมายตัวอย่างเช่น
“Johnny is a regular bullshit artist; small wonder he keeps getting promoted ahead of everyone else.” คือ ไอ้เจ้าจอห์นนี่คนนี้มันเป็นมนุษย์ประเภทลิ้นกระดาษทรายน้ำลายแชลแล็คคนหนึ่งเลยทีเดียว มิน่าเล่า มันถึงได้รับการเลื่อนขั้นเลื่อนเงินเดือนเกินหน้าชาวบ้านเขาอยู่เรื่อย ๆ
อนึ่ง เมื่อมาถึงคำว่า Artist แล้ว ก็ทำให้นึกถึงคำว่า Con artist หรือ Con man ไปด้วย ซึ่งคำนี้เมื่อแปลเป็นภาษาไทยก็หมายถึงคนจำพวกมิจฉาชีพประเภท “นักต้มมนุษย์” คือคนที่หากินด้วยการหลอกลวงชาวบ้านร้านถิ่นเพื่อประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทองหรือผลประโยชน์ซึ่งตัวมันไม่ควรมีควรได้
โดยเฉพาะคำว่า “Con” เองเป็นคำมาจากภาษาลาติน คือภาษาดั้งเดิมทางทวีปยุโรป มีความหมายหรือแปลว่า อะไรที่ไม่ดีไม่งาม หรือข้อเสีย ซึ่งมีความหมายตรงกันข้ามกับคำว่า “Pro” ซึ่งมาจากภาษาลาตินเช่นเดียวกัน มีความหมายหรือแปลว่า ข้อดี หรือการสนับสนุน อย่างเช่น “Pro-life” ซึ่งแปลว่าชอบหรือสนับสนุนให้ดำรงชีวิตไว้ หรือ “Pro-choice” ซึ่งแปลว่าชอบหรือสนับสนุนให้มีทางเลือกในเรื่องการวางแผนครอบครัว ซึ่งสองคำนี้ในปัจจุบันกลายเป็นปัญหาด้านการเมืองในสหรัฐ ฯไปอย่างที่นับวันที่มีทีท่าว่าจะรุนแรงยิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ

BULL SESSION / BULLSHIT #20-05

BULL SESSION / BULLSHIT

Bull session (บูล เซส’ชัน) และ Bullshit (บูลชิท) เป็นคำตลาดหรือคำที่ใช้พูดกันลำลอง คือมิใช่เป็นทางการหรือคำที่ใช้กันอย่างสุภาพ ๆ ในภาษาเขียน
คำแรกที่ว่า “Bull session” นั้น คำว่า “Bull” แปลว่า “วัว” และคำว่า “Session” แปลว่า “การนั่งประชุมกัน” แต่เมื่อนำสองคำนี้มาใช้ติดกันแล้วก็เป็นคำสำนวนที่หมายความถึงการสนทนาในกลุ่มซึ่งประกอบด้วยสมาชิกเพียงไม่กี่คน และมีการอภิปรายกันถึงเรื่องอันออกจะมีสาระสำคัญเรื่องใดสักเรื่องหนึ่ง ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีการโต้เถียงกันอย่างเผ็ดร้อนแต่ก็เป็นการถกปัญหากันในฉันท์เพื่อนฝูง เราอาจใช้คำนี้ในประโยคตัวอย่างเช่น
“Last night we had a bull session with a bunch of old friends on the meaning of the word “love.” คือเมื่อคืนวานนี้ เราได้จับกลุ่มอยู่กับเพื่อนเก่า ๆ เพื่อถกกันถึงคำว่า “รัก” นั้นเป็นฉันใด เป็นต้น
ส่วนคำว่า “Bullshit” นั้น เป็นการเอาสองคำ คือ “Bull” คำหนึ่ง และ “Shit” ซึ่งแปลว่า “อุจจาระ” อีกคำหนึ่ง มาสมาสเข้าด้วยกัน แล้วก็กลายเป็นคำตลาดคำใหม่ซึ่งถือกันว่าไม่สุภาพหรือหยาบคาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ความหมายจะเป็นไปในทำนองใด ย่อมขึ้นอยู่ที่กาลเทศะในการใช้พูดหรือสนทนา หรือแม้แต่ใช้เพียงในความหมายว่าเป็นคำอุทาน ทำนองอย่างที่ในภาษาไทยเรา เมื่อใครอุทานออกมาว่า “ไอ้ห่า” ซึ่งผู้ที่อุทานนั้นมิได้มุ่งหมายที่จะด่าหรือว่าร้ายคนหนึ่งคนใด เพียงแต่เป็นคำอุทานที่ติดปากของเขา หรือคำที่เขามักจะพลั้งหลุดปากออกมาด้วยความเคยชินเท่านั้นเอง
อนึ่ง ผู้เขียนใคร่ขอกล่าวไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า คำนี้เป็นคำที่ไม่สุภาพ ที่เราท่านไม่ควรใช้พูด แต่ที่ได้หยิบยกขึ้นมาแนะนำให้รู้จักไว้ด้วยนั้น ก็เพียงประสงค์ให้ท่านได้เข้าใจความหมาย เผื่อว่าเมื่อใดมีใครเขาพูดใส่หน้าท่าน ๆ ก็จะได้เข้าใจว่าเขากำลังเล่นงานท่านเข้าแล้ว อย่ามัวแต่ยิ้มเข้าใส่ลูกเดียวอยู่เลย
คำว่า “Bullshit” นี้ เมื่อใช้เป็นคำกริยา สามารถแปลว่า “พูดเล่นเรื่อยเปื่อย หรือล่อหลอก หาสาระหรือความจริงอะไรไม่ได้” เช่น “Stop bullshitting me, John, I can’t believe a word you’re saying.” คือ “ไอ้จอห์นเอ๋ย มึงเลิกหลอกล่อกะกูเสียทีซิโว้ย กูไม่ยอมเชื่อถือมึงเลยแม้แต่คำเดียว” หรือในประโยคเช่น “He tried to bullshit his way out of his problem.” คือ มันพยายามเอาสีข้างเข้าถูเพื่อให้พ้นปัญหาไปได้เท่านั้นเอง
และถ้าจะใช้เป็นคำนามก็ทำได้ เช่นในประโยคตัวอย่างต่อไปนี้เช่น “John, this is a lot of bullshit, and you know it.” คือ “ไอ้จอห์นเอ๋ย ที่เอ็งว่ามานั้นมันเป็นเรื่องเฮงซวย เอ็งก็รู้อยู่นี่หว่า” หรือในประโยคเช่น “I’m afraid your theory is chiefly bullshit.” คือ กูว่าทฤษฎีของมึงเป็นเรื่องเหลวไหลเป็นส่วนใหญ่เชื่อถือไม่ได้ว๊อย

BULL IN A CHINA SHOP # 19-05

A BULL IN A CHINA SHOP
“A bull in a China shop,” = person who is rough and clumsy when skill and care are needed. “เอ บูล อิน เอ ไชน่า ซอพ” เป็นคำสำนวนในภาษาอังกฤษที่แปลว่า “คนที่มีความเซ่อซ่าและซุ่มซ่ามในสันดาน ไม่ว่าจะเข้าไปที่ไหน หรือทำอะไรก็มักจะก่อเรื่องที่ทำให้ข้าวของต่าง ๆ รอบข้างต้องชำรุดเสียหายโดยไม่ตั้งใจแต่เป็นเพราะเขามีกริยามารยาทเป็นเช่นนั้นเอง แก้ไขไม่ได้”
เราอาจสร้างประโยคขึ้นมาใช้สำนวนนี้ได้เป็นต้นว่า “Jimmy is a bull in a China shop out of habit; so better watch out when he is around. ” คืออีตาจิมมี่เป็นคนซุ่มซ่ามโดยสันดาน ต้องระวังกันหน่อยน็ะเมื่อเขาเข้ามาป้วนเปี้ยนอยู่แถวนี้
คำว่า “China” นอกจากจะเป็นที่รู้จักและเข้าใจกันว่าหมายถึง “ประเทศจีน” อยู่แล้วนั้น พวกฝรั่งขาวโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวอังกฤษใช้คำว่า “China” นี้เมื่อหมายถึงถ้วยชามที่ทำจากกระเบื้องเคลือบ และเรียกว่า “Chinaware” และเรียกร้านที่ขายเครื่องถ้วยชามซึ่งทำจากกระเบื้องเคลือบนั้นว่าเป็นร้าน “China shop” เสียด้วยเลย
ต่อจากสำนวนที่กล่าวมาข้างต้นที่ใช้คำว่า “Bull” หรือวัวกระทิงนั้นแล้ว ยังมีอีกสำนวนหนึ่งที่ว่า “Take the bull by the horns” ซึ่งแปลตรงตัวก็เป็นว่า “กระโดดเข้าล้มวัวด้วยการเผ่นเข้าไปขืนเขาวัวเพื่อที่จะหักคอวัว” ซึ่งอาจถึงอันตรายขนาดตัวเองต้องตายลงก็ได้ แต่เมื่อใช้เป็นสำนวนก็หมายความว่า “กระทำการใด ๆ ซึ่งเสี่ยงต่ออันตรายเป็นอย่างยิ่ง” นั่นเอง
ดังนั้น “Don’t take the bull by the horns if you don’t want to get hurt.” คือ “อย่ามีการกระทำที่ต้องเสี่ยงอันตราย ถ้ายังไม่ต้องการเจ็บตัว”





คารม-คม-ระคาย (Quips & quotes)

 To marry a second time represents the triumph of hope over experience. การแต่งงานครั้งที่สองนั้นหมายความว่าความหวังยังมีชัยเหนือความจำ
 To escape criticism -- do nothing, say nothing, be nothing. ถ้าต้องการให้หลุดพ้นจากการติฉินนินทาให้ได้ ก็ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องพูดอะไร และไม่ต้องแสดงท่าทีอย่างใดออกมาให้ผู้คนเขาได้รู้ได้เห็นอีกด้วย

Brush off, Brush up # 18-05

To brush off, To brush up
เมื่อเราเดินหน้ากันต่อไปในเรื่องสำนวนที่เรียงกันตามตัวอักษร เราก็จะมาถึงคำว่า “To brush off & To brush up” (ทู บรัช’ ออฟ และ ทู บรัช’ อัพ) ซึ่งเราใช้เป็นคำกริยาในความหมายตรงไปตรงมาก็แปลว่า “ใช้แปรงปัดออกไป” และ “ใช้แปรงมาทำการตบแต่งใหม่” แต่ถ้าเราใช้ในความหมายที่เป็นคำสำนวนก็สามารถทำได้ เช่นในประโยคตัวอย่างต่อไปนี้ คือ
“To brush off” = to refuse to hear or believe, quickly and impatiently. เอามาใช้ในประโยคอย่างเช่น
“John brushed off Jim’s warning that he might fall from the tree.” คือ ตาจอห์นไม่ให้ความสนใจแม้แต่น้อยเดียวที่จิมเขาเตือนว่าเดี๋ยวก็ตกจากต้นไม้ลงมาหรอก และอย่างในประโยคเช่นว่า
“Smith is very keen on Jane, but she’s always brushing him off.” คือนายสมิททำกะลิ้มกะเหลี่ยกับแม่เจนอยู่มากทีเดียว แต่หล่อนก็ทำท่าปัดสวาทอย่างไม่มีไยดีด้วยเลย
อนึ่ง เราสามารถนำคำว่า สองคำนี้มาใช้ทำหน้าที่เป็นคำนามก็ได้เช่น
“Jane gives him the brush-off.” ซึ่งย่อมมีคำแปลและความหมายในทำนองเดียวกันอยู่เองคือ “ปัดสวาทอย่างไม่สนแม้แต่น้อย” และถ้าจะใช้เป็นคำนามมากครั้งก็เป็นว่า Brush-offs (ขอให้สังเกตว่าเราใส่ตัวเอส ไว้ตรงไหน เมื่อเราทำคำนามนี้ให้เป็นพหูพจน์)
So many brush-offs เช่น “Jane has been giving Smith so many brush-offs that he finally gives up the idea of going after her any longer.” คือแม่เจนนั้นเอาแต่ทำท่าปัดสวาทครั้งแล้วครั้งเล่า จนกระทั่งตาสมิทต้องละทิ้งความคิดที่จะติดตามหล่อนต่อไปอีก
ถัดไปเราก็มาถึงคำว่า To brush up = to refresh one’s memory or skills by practice or review ซึ่งเราสามารถใช้เป็นคำกริยา ในความหมายตามประโยคตัวอย่างเช่น
“Jane spent the summer brushing up her American history as she was to teach that in the fall.” คือ แม่เจนใช้เวลาในช่วงฤดูร้อนฟื้นฟูความรู้ในเรื่องประวัติศาสตร์ชาติอเมริกัน ด้วยเหตุที่ว่าเธอจะต้องสอนวิชานี้ในฤดูใบไม้ร่วงหน้านี้แล้ว
“Smith brushed up his target shooting.” คือตาสมิทฝึกฝนการยิงเป้าให้ได้ดีเหมือนอย่างที่เคยมาก่อน
และคำว่า Brush up นี้ก็สามารถใช้เป็นคำนาม ด้วยการเติมอักษร “เอส” ต่อท้ายให้เป็นว่า Brush-ups ในทำนองเดียวกันกับคำว่า Brush-offs นั่นเอง

Bring out; Bring to & Bring upon # 17-05

To bring out; Bring to & Bring upon

“To bring out” (ทำให้ปรากฏขึ้นได้ชัด หรือทำให้เป็นที่เห็นหรือแจ้งประจักษ์) สามารถใช้เป็นคำกริยาในความหมายดังประโยคตัวอย่างต่อไปนี้เช่น -
“John’s report brought out the foolishness of the new plan.” คือ “รายงานข่าวของจอห์นได้ทำให้เห็นได้ชัดถึงความเขลาเบาปัญญาของแผนการใหม่ที่ว่านั้น” หรือ
“Brushing will bring out the beauty of your hair.” คือ “การใช้แปรงจะทำให้ผมของคุณสวยงามสามารถให้เป็นที่เห็นแจ้งชัดได้ยิ่งขึ้น”
“The teacher’s coaching is bringing out a wonderful singing voice of great power and warmth.” คือ “การฝึกฝนของคุณครูกำลังช่วยทำให้เสียงของนักร้องอันทรงพลังและกล่อมใจได้อย่างน่าพิศวงนั้นเป็นที่ประจักษ์ชัดได้ดีจริง ๆ”

“To bring to” (เพียงสามคำสั้น ๆ นี้แต่มีความหมายกระจายออกไปได้หลายรูปแบบและหลายกระทงความ) ดังจะเห็นได้จากการใช้เป็นคำกริยาในความหมายที่แตกต่างกันออกไปได้มากมายดังประโยคตัวอย่างต่อไปนี้เช่น
“Smelling salts will often bring a fainting person to.” คือ “ยาดมที่ผสมเกลือชนิดหนึ่งนั้นมักจะช่วยให้คนที่กำลังเป็นลมอยู่นั้นสามารถกลับฟื้นคืนสติขึ้นมาได้”
“Reaching the pier, Jim brought the boat smartly to.” คือ “เมื่อเข้าถึงท่าจอดเรือนั้นแล้ว ตาจิมก็สามารถนำเรือเข้าจอดได้อย่างเรียบร้อยเลยทีเดียว”
“The change in law was slow in coming, and it took a disaster to bring it to pass.” คือ “การเปลี่ยนแปลงในกฏหมายนั้นไม่สู้จะเป็นที่สบอารมณ์ผู้คนกันเท่าใดนัก จนกระทั่งได้เกิดวินาศภัยขึ้นมาแล้วนั่นแหละจึงได้เป็นที่ยอมรับของประชาชนทั่วไปกันได้” ขอให้สังเกตว่า สำนวนนี้อยู่ที่คำว่า “Bring to pass” ซึ่งหมายความว่า “ยอมให้ผ่าน” คือเป็นที่ยอมรับกันได้
“The war won’t end until we bring the enemy to terms.” คือ “สงครามคงจะไม่เลิกลงไปจนกว่าเราจะสามารถทำให้ข้าศึกยอมรับเงื่อนไขของเราได้”
“To bring up or upon” ต่อจากนี้ เราก็มาถึงคำสุดท้ายของ ในสำนวนของคำกริยาที่ว่า to bring up ซึ่งแปลกันตรงไปตรงมาก็ได้ความว่า “นำขึ้นมา” แต่ก็สามารถเน้นออกไปได้หลายทิศทาง ตามประโยคตัวอย่างต่อไปนี้เช่น
“John gives much attention and thought to bringing up his children.” คือ “นายจอห์นทุ่มเทความสนใจและความคิดเป็นอย่างมากให้กับการเลี้ยงดูลูก ๆ ของเขา”
“Sammy brought the car up short when the light changed to red.” คือ “แซมมี่หยุดรถลงได้สนิทหน้าแนวเส้นกำหนดเมื่อสัญญาณไฟสีแดงขึ้นมา”
“At the class meeting, Bob brought up the idea of picnic.” คือ “ เมื่อมีการประชุมกันในห้องเรียนนั้น นายบ็อบได้หยิบยกข้อเสนอที่จะให้พากันออกเที่ยวนอกสถานที่และนำอาหารไปรับประทานกันด้วย ”

คารม-คม-ระคาย (Quips & quotes)

 Diplomacy is the art of letting someone else have your way. อันว่าวิธีการทูตนั้นคือศิลปะที่ยอมให้ใครต่อใครหันมาใช้วิธีการของท่าน
 When the candles are out all women are fair. หญิงทั้งหลายย่อมงามสรรพเมื่อดับเทียน

Bring in / Bring off # 16-05

Bring in Bring off
Bring on Bring out
Bring to & Bring up or bring upon.

คำง่าย ๆ ข้างบนนี้แต่เมื่อมีคำบุรพบทมาพ่วงท้ายก็กลายเป็นคำสำนวนซึ่งมีฤทธิ์หรือความหมายเพี้ยนไปจากเดิม และก็มีประโยชน์มากหลายเพราะใช้สะดวกในการสนทนา หรือแม้แต่จะใช้ในภาษาเขียนจดหมายติดต่อส่วนตัว (อันมิใช่การเขียนในแบบที่เป็นทางการ (Formal) ซึ่งมักจะนิยมสรรหาใช้คำที่ขึงขังตรงประเด็นและกระทัดรัดมากกว่า)
เป็นอันว่าเรายังเหลืออีกเพียงหกคำดังกล่าวมาข้างต้น และเมื่อได้อธิบายแนะนำความหมายตลอดจนวิธีใช้เสร็จแล้ว เราจะได้ว่ากันถึงคำอื่น ๆ ซึ่งเรียงตามตัวอักษรต่อไปกันเสียที
“To bring in” (นำมาหรือนำพา) สามารถใช้เป็นคำกริยาในความหมายดังประโยคตัวอย่างต่อไปนี้เช่น
“Two suspicious characters are being brought in.” เขากำลังเอาตัวเจ้าคนผู้ต้องสงสัยสองคนนั่นเข้ามาแล้ว
“Experts were brought in to advise the Government.” ได้มีการนำผู้ชำนาญการพิเศษเข้ามาให้คำแนะนำแก่ทางการรัฐบาลกันแล้ว
“The jury brought in a verdict of guilty.” คณะลูกขุนได้ยื่นคำชี้ขาดว่าจำเลยมีความผิด
“John does odd jobs that bring him in about $ 220 a week.” อีตาจอห์นรับทำงานมโนสาเร่มีรายได้ตกราวสัปดาห์ละ ๒๒๐ ดอลลาร์
“Local residents were angry at not being brought in on the new housing scheme.” พวกชาวบ้านเจ้าถิ่นโกรธเคืองที่ไม่ได้ให้เข้ารับรู้เรื่องโครงการบ้านจัดสรรที่จะเกิดขึ้นใหม่นั้น

“To bring off” (ทำให้อะไรเกิดขึ้นได้สำเร็จ) ใช้เป็นคำกริยาในความหมายดังประโยคตัวอย่างต่อไปนี้เช่น
“Mr. White brought off an agreement that had seemed impossible to get.” มิสเตอร์ไวท์สามารถเกลี่ยกล่อมอีกฝ่ายหนึ่งต้องยอมตกลงทำสัญญากันได้ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นดูประหนึ่งว่าจะเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้เลยทีเดียว
“Jimmy tried several times to break the high jump record, and finally he brought it off.” อีตาจิมมี่ได้พยายามหลายครั้งหลายหนแล้วที่จะทำลายสิถิติเดิมในการแข่งขันกรีฑากระโตดสูง และเขาก็สามารถทำได้สำเร็จในที่สุด
“The goalkeeper brought off a superb save.” ผู้รักษาประตูฟุตบอล สามารถรักษาประตูไว้ได้อย่างสวยงาม (คือสามารถป้องกันไม่ให้เสียประตูไปได้สำเร็จอย่างงดงาม)

วันนี้ขอว่ากันอีกหน่อยให้ถึงคำว่า “Bring on” (นำไปสู่ หรือเป็นผลให้อะไรอย่างหนึ่งเกิดขึ้น) ซึ่งมีความหมายและนำมาใช้ได้ในประโยคตัวอย่างต่อไปนี้เช่น
“Susan has been out in the rain all day and this brings on a bad cold.” ยายซูซานออกไปตากฝนมาทั้งวันเลยทำให้ต้องเป็นหวัดไปอย่างแรงเสียแล้ว
“The hot weather is bringing the wheat on nicely.” อากาศร้อนทำให้ต้นข้าวสาลีงอกงามได้สวยมากเลยทีเดียว
“You have brought shame and disgrace on yourself and your family.” เอ็งทำความอัปยศอดสูมาให้ตัวมึงและวงศาคณาญาติของมึงเองโดยแท้

คารม-คม-ระคาย (Quips & quotes)

 Love is blind, but marriage is a real eye-opener. ความรักทำให้ตาบอด แต่การแต่งงานทำให้ตาสว่างได้อย่างประหลาด
 Whether you’re a man or not comes from your heart, not how much hair you have on your head. ปัญหาว่าใครเป็นคนจริงหรือไม่นั้นอยู่ที่น้ำใจ จะอยู่ที่ทรงผมบนกระลาหัวก็หาไม่

EVERY DAY หรือ EVERYDAY # 15-05

EVERY DAY หรือ EVERYDAY
จนถึงสัปดาห์ที่แล้ว เรายังว่ากันอยู่ถึงคำกริยาในภาษาอังกฤษที่ว่า To bring ซึ่งเป็นคำที่มีฤทธิ์มีประโยชน์มากมาย จึงมีการกล่าวถึงคำนี้อย่างต่อเนื่องกันมาหลายสัปดาห์อยู่ ซึ่งคงทำให้บางท่านที่ติดตามอยู่นั้น เกิดความรูสึกชักจะเบื่อ ๆ ขึ้นมาแล้วก็ได้
ประจวบกันมีท่านผู้อ่านท่านหนึ่งได้โทร ฯ ไปถามว่า Every Day (เอฟ’ เว-รี่ เด) ซึ่งเขียนเป็นสองคำ ไม่ติดกัน และ Everyday (เอฟ’ ริเด) ซึ่งเขียนเป็นคำเดียวติดกันนั้น อย่างไหนเป็นการเขียนที่ถูกต้อง หรือผิดถูกกันอย่างไรแน่
ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอถือโอกาสนี้พักเรื่องคำว่า To bring นั้นไว้สักมื้อหนึ่งก่อน และหันมาอธิบายหัวข้อเรื่องข้างต้นซึ่งเป็นคำน่าสนใจมิใช่น้อยเช่นกัน
คำทั้งสองคำข้างต้น มีการออกเสียงคล้ายคลึงกัน มีความหมายเหมือนกัน คือแปลว่า “ทุกวัน หรือทุกวี่ทุกวัน” แต่เขียนไม่เหมือนกัน และมีที่ใช้ผิดกันอยู่มากเลยทีเดียวเชียวล่ะ กล่าวคือ
Every Day ซึ่งแยกออกจากกันเป็นสองคำนั้น คำว่า Day เป็นคำนาม และคำว่า Every เป็นคำคุณศัพท์ซึ่งทำหน้าที่ประกอบหรือขยายใจความให้แก่คำนาม ซึ่งทั้งนี้ถึงแม้ว่าจะแปลว่า “ทุก ๆ วัน” เช่นเดียวกันกับคำที่เขียนติดกัน แต่เราจะใช้คำซึ่งเขียนแยกกันแบบนี้ สุดแต่การสร้างรูปประโยค อย่างเช่น “We have fish for dinner almost every day.” คือ “เรารับประทานปลาเป็นอาหารมื้อค่ำเกือบแทบทุกวัน” ในประโยคนี้นั้น ถึงแม้ว่าสามคำท้ายประโยคจะเป็นวลีซึ่งทำหน้าที่เป็นกริยาวิเศษณ์ แต่คำว่า Day ก็ยังเป็นคำนามซึ่งมี Every มาหน้าที่เป็นคุณศัพท์อยู่นั่นเอง
ถ้าหากว่าเราเขียนประโยคไปอีกแบบหนึ่งคือ “Our everyday dinner is mostly fish.” ซึ่งมีคำแปลหรือความหมายเหมือนกัน แต่คำว่า “everyday” นั้นมาทำหน้าที่เป็นคำคุณศัพท์ซึ่งประกอบหรือขยายความให้แก่คำ “dinner” ซึ่งเป็นคำนามนั้นให้ได้ความชัดแจ้งยิ่งขึ้นไปอีกนั่นเอง
หลักที่พึงจำก็คือ เราจะใช้ Every Day เป็นส่วนหนึ่งของประโยค (Part of the sentence) และ Everyday เป็นคำคุณศัพท์ (Adjective) นำหน้าคำนามเสมอไป
ให้คำอรรถาธิบายมาถึงตอนนี้ ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านบางท่านอาจนึกอยู่ในใจว่า “ยุ่งตายห่า” บ้างแล้วก็เป็นได้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ผู้เขียนก็ขอแนะให้ย้อนไปอ่านซ้ำอีกสักหนหรือสองหนจะเป็นไรไป ถ้ายังไม่เข้าใจแจ่มแจ้งแดงแจ๋ ก็คงจะเป็นความบกพร่องของผู้เขียนเองที่มิได้เรียนจบวิชาครูมาก่อน และถ้าเช่นนั้นผู้เขียนก็ขอแนะนำว่ายังมีคำในภาษาอังกฤษอีกคำหนึ่งซึ่งอาจใช้ได้ง่ายมากกว่า ทั้งในการเขียนก็ดี การสร้างประโยคก็ดี ตลอดจนการออกเสียงก็ดี ล้วนแต่สะดวกโยธินไปทั้งนั้น และคำนั้นก็คือ “Daily” (เด’ลี่) ซึ่งแปลว่าทุก ๆ วันเหมือนกัน และจะใช้เป็นคำคุณศัพท์ หรือกริยาวิเศษณ์ก็ได้ ไม่ผิดกติกาแต่ประการใดเลย และจากตัวอย่างประโยคทั้งสองแบบข้างต้น ถ้าเราเอาคำว่า Daily ไปแทนคำว่า Every Day หรือ Everyday ก็จะเป็นว่า
“We have fish for dinner almost daily.” หรือ “Our daily dinner is mostly fish.” ซึ่งมีความหมายเหมือนกัน แต่ง่ายกว่าตั้งเป็นกอง

To Bring or To Take # 14-05

To Bring or To Take

สัปดาห์ที่แล้ว เราได้พูดถึงคำในภาษาอังกฤษที่ว่า To bring = เอามา และ To take = เอาไป แต่โดยทั่วไปแล้วการใช้คำทั้งสองนี้ขึ้นอยู่ที่ว่า เรากำลังพูดกันอยู่ที่ไหน กล่าวคือ ถ้าเรากำลังอยู่ “นอกบ้าน” และกำลังจะนำสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปบ้านเรา ในกรณีเช่นนั้นเราก็พูดว่า To take home เหมือนอย่างที่เราจะพูดว่า My take-home pay คือเงินที่เราหาได้แล้วนำไปบำรุงบำเรอความสุขให้แก่ครอบครัวของเรา
ในทางตรงข้าม ถ้าเรากำลังอยู่ “ในบ้าน” และเมื่อพูดถึงเรื่องราวใด ๆ ก็ตาม ในกรณีนี้คำว่า To bring home ก็แปลว่า นำอะไรหรือสิ่งของใด ๆ เข้ามาในบ้านเรา และตามที่ได้กล่าวในสัปดาห์ที่แล้วว่า ภาษาอังกฤษคำนี้ถ้าใช้ในความหมายที่เป็นสำนวนก็จะแปลว่า “ทำให้เห็นความสำคัญ หรือทำให้ตระหนักถึงความจริงของเรื่องใด ๆ สักเรื่องหนึ่ง”
ทั้งนี้ เรากล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ในความหมายที่ตรงไปตรงมา ก็เป็นในเรื่องของ “รูปธรรม” คือสิ่งของที่จับต้องได้ แต่ถ้าใช้คำว่า To bring home ในความหมายที่เป็นสำนวนก็จะเป็นในเรื่องของ “นามธรรม” ไปอีกประเด็นหนึ่ง
เมื่อกล่าวถึงคำว่า “รูปธรรมและนามธรรม” ขึ้นมาแล้ว ไม่รู้ว่าผู้เขียนกำลังจะพาท่านผู้อ่านเตลิดกระเจิดกระเจิงไปเที่ยวในป่าในรกเสียแล้วกระมัง เพราะคำไทยคำนี้ก็เป็นสำนวนมาแต่โบร่ำโบราณที่โดยทั่วไปแล้วมักจะหมายความว่า “รูปร่างหน้าตาที่เป็นมาแต่กำเนิดสุดแต่บุญกรรมในปางก่อน จะเลือกให้สวยงามเอาเองนั้น ย่อมกระทำมิได้” เว้นไว้เสียแต่ว่าท่านจะคิดลงทุนไปทำศัลยกรรมตบแต่งเอาเองต่อไปในภายหลังนั้นก็แล้วแต่อาซ้อก็แล้วกัน
ในเรื่องของคำว่า To bring home something นั้น ก็มาถึงคำสำนวนว่า “To bring home the bacon.” (ทู บริง โฮม เธอะ เบ-คอน) = to support one’s family or to earn the family living. แปลในความหมายของนามธรรมว่า “หาเลี้ยงครอบครัว หรือประกอบอาชีพเพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว” และมิได้มีความหมายตรงไปตรงมาในรูปธรรมว่า “ให้ไปหาเนื้อหมูเค็มเบคอนมาไว้กิน” เป็นอาหารเช้าสักน้อยก็หาไม่
เราใช้สำนวนนี้ได้ในประโยคตัวอย่างเช่น “Somkid is a steady follow, who always brings home the bacon.” คือนายสมคิดเป็นคนที่ความมานะพากเพียร เป็นผู้ที่ทำมาหาเลี้ยงครอบครัวได้เรียบร้อยเสมอมา
อนึ่ง ในความหมายของคำว่า “หาเลี้ยงครอบครัว” นี้ ยังมีคำในภาษาอังกฤษอีกคำหนึ่งซึ่งเป็นคำนาม คือ “Breadwinner” (เบรด วินเนอร์) ซี่งแปลตรงตัวก็หมายถึงผู้ที่ประสบชัยชนะได้ขนมปังเอาไปกิน แต่ในภาษาอังกฤษคำนี้เป็นสำนวนที่หมายความว่า “เป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว” เช่นกัน เพียงแต่ว่าคำนี้จะต้องใช้เป็นคำนาม ส่วนคำว่า “To bring home the bacon” นั้นเราจะใช้ในรูปของคำกริยาเท่านั้น

คารม-คม-ระคาย (Quips & quotes)
 Change your thoughts and you change your world. เมื่อท่านสามารถเปลี่ยนแนวความคิดของท่านได้เมื่อใด ท่านก็จะสามารถเปลี่ยนโลกทั้งโลกใบนี้ได้เมื่อนั้น
 A critic is a legless man who teaches running. คนที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์ชาวบ้านนั้นคือคนขาด้วนที่ชอบสอนผู้อื่นให้วิ่งได้นั่นแหละ

BRING or To Bring (V. ) : บริง (ต่อ) # 13-05

BRING or To Bring (V. ) : บริง (ต่อ)

คำว่า “Bring” เมื่อมี Preposition มาต่อท้ายก็มีอยู่มากหลายและกลายเป็นคำสำนวน เช่น
Bring about Bring around
Bring down Bring home
Bring in Bring off
Bring on Bring out
Bring to & Bring up or bring upon.

สำหรับคำว่า Bring or To bring ซึ่งเป็นคำกริยาในภาษาอังกฤษง่าย ๆ คำนี้ เราได้ใช้เวลาไปแล้วพอสมควรในสัปดาห์ก่อน ๆ และก็เพิ่งมาถึงคำว่า Bring down เท่านั้นเอง
กล่าวโดยทั่วไปแล้ว คำว่า To bring นี้ออกจะมีฤทธิ์พอสมควรเลยทีเดียวเมื่อมีคำบุรพบทหรือ Preposition เข้ามาพ่วงท้าย
ถัดจากที่เราได้ผ่านกันไปแล้วในปลายเดือนมีนาคม และมีช่วงที่ว่างเว้นไปหนึ่งเดือนเต็มที่ผู้เขียนขอเวลาไปพักผ่อนหย่อนอารมณ์แล้วนั้น ตอนนี้เราก็มาถึงคำว่า Bring home ซึ่งก็เป็นคำที่มีฤทธิ์พิษสงอีกนั่นแหละ
และขออย่าเพิ่งรีบด่วนทึกทักว่า “To bring home” แปลว่า “เอาอะไรติดไม้ติดมือกลับไปบ้าน” ซึ่งถ้าจะกล่าวว่า เอาอะไรกลับไปบ้านนั้นเราจะใช้คำว่า “ Take home” ถึงจะถูกต้อง และในภาษาอังกฤษนั้น คำว่า “Take-home pay” ก็เป็นคำสำนวนซึ่งแปลว่า “เงินสุทธิที่เหลือหลังจากการหักภาษีต่าง ๆ ณ ที่จ่ายเรียบร้อยโรงเรียนจีนไปแล้ว”
บ้านไหนช่องไหนซึ่งสมาชิกในครอบครัวนั้นมีความสามารถหาเงินอย่างที่เรียกว่า “เท็ค-โฮม-เปย” นี้ได้มาก ๆ ก็จัดว่าเป็นครอบครัวที่มีฐานะ (การเงิน) ดี และยิ่งมีสมาชิกจำนวนมากตัวช่วยกันขนเงินเข้าบ้านได้มาก ๆ ก็จะยิ่งสบายไปแปดอย่างเลยทีเดียว แต่สมาชิกในครัวเรือนนี้ถ้าเมื่อใดกลายสภาพไปเป็นอย่างที่สำนวนไทยเราเรียกว่า “นาคให้น้ำหลายตัว” ก็อาจเกิดสภาพแห้งแร้งทางการเงินขึ้นมาแทนก็เป็นได้
คำว่า “Take” หรือ To take ก็เป็นคำกริยาที่ยิ่งใหญ่ไม่น้อยหน้าคำว่า To bring เช่นเดียวกัน และวันหนึ่งข้างหน้าเราก็จะไปถึงคำนั้นหลังจากที่ได้ผ่านคำอื่น ๆ เรียงกันไปตามตัวอักษรซึ่งในภาษาอังกฤษเราเรียกว่า Alphabetical order (ออกเสียงว่า “แอล-ฟา-เบท’-ทิ-กัลล์ ออร์เดอร์”) คือจากอักษร เอ, ไป บี, ซี, ฯลฯ หรือในภาษาไทยก็จาก ก. ไก่ แล้วก็ ข. ไข่ ฯลฯ นั่นแหละ
ในขั้นนี้ขอให้จำหลักง่าย ๆ สั้น ๆ ไว้เพียงว่า “To bring” = “เอามา” “To take” = “เอาไป” ไว้ก่อนก็แล้วกัน
และให้เรามาว่ากันในสำนวนคำว่า To bring home ต่อไป
“ทู บริง โฮม” เป็นคำสำนวน ซึ่งหมายความว่า “ทำให้เกิดความเข้าใจชัดแจ้ง หรือทำให้เห็นถึงความสำคัญ หรือทำให้ตระหนักถึงความจริง” และเราจะใช้คำสำนวนนี้ในประโยคตัวอย่างเช่น “A parent or teacher should bring home to children the value and pleasure of reading.” คือ “บิดามารดาหรือครูบาอาจารย์ควรสอนให้เด็ก ๆ เห็นคุณค่าและความสุขจากการอ่านหนังสือให้มาก ๆ” หรือ “The accident caused a death in Jimmy’s family, and it brought home to him the evil of drinking while driving.” คือ “อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนั้นทำให้เกิดการเสียชีวิตขึ้นในครอบครัวของนายจิมมี่ และทำให้เขาตระหนักถึงความเลวร้ายของการดื่มสุราแล้วขับรถลงจนได้”

BRING (V. ) : บริง (ต่อ) # 12-05

BRING (V. ) : บริง (ต่อ)

คำว่า Bring เมื่อมี Preposition มาต่อท้ายก็มีอยู่มากหลาย เช่น
Bring about Bring around
Bring down Bring home
Bring in Bring off
Bring on Bring out
Bring to & Bring up or bring upon.

สัปดาห์ที่แล้ว เรามาถึงกริยาคำว่า Bring และได้ชี้แจงคำว่า Bring about ไปแล้ว ดังนั้นเราจะว่ากันต่อไปถึงคำว่า Bring around
Bring Around: ซึ่งแปลว่า “หันเห” หรือเปลี่ยนให้เป็นไปในทิศทางที่ต้องการ และเราสามารถนำไปใช้ในความหมาย อย่างเช่นว่า
John is quite ill, but good nursing will bring him around. คือ นายจอห์นป่วยหนักมากทีเดียว แต่เมื่อได้การรักษาพยาบาลที่ดีก็จะสามารถทำให้เขากลับฟื้นคืนดีขึ้นมาใหม่ได้อีก (คือเปลี่ยนจากการเจ็บไข้ให้หายเป็นปกติต่อไปได้)
คำว่า Bring around นี้ยังสามารถใช้ในความหมายว่า “เปลี่ยนความคิดเห็น หรือเปลี่ยนใจ” ก็ได้ เช่นใช้ในตัวอย่างประโยคว่า After a good deal of discussion, Smith brought Jane around to his way of thinking คือ หลังจากที่ได้ถกเถียงเรื่องราวกันอย่างหนักแล้ว ตาสมิธก็สามารถทำให้ยายเจนหันเหคล้อยตามแนวความคิดของเขาได้สำเร็จ

Bring down: แปลว่า ทำให้คว่ำไป หรือทำให้ไปไหนต่อไปไม่ได้ ตัวอย่างเช่น John brought Jim down very cleverly with his remarks. คือ จอห์นได้ตั้งข้อสังเกตอย่างชาญฉลาดขึ้นมาโต้แย้งจนทำให้นายจิมต้องสิ้นประตูสู้เสียแล้ว หรืออย่างเช่นในประโยคที่ว่า The funeral brought me down completely. งานศพนั้นทำให้ผมมีความรู้สึกหมดอยากกับชีวิตไปโดยสิ้นเชิงเลยทีเดียว
และอาจใช้ในประโยคที่มีความหมายอย่างตรงไปตรงมาก็ได้ อย่างเช่นในประโยคที่ว่า The pilot brought his crippled plane down in a field. คือ นักบินได้นำเครื่องบินของเขาซึ่งอยู่ในสภาพที่ไม่สมประกอบนั้นลงจอดในทุ่งหญ้าได้แล้ว
อย่างไรก็ตาม ในความหมายที่ว่า เป็นการนำลง หรือทำให้ไปไหนไม่รอด ฯลฯ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่ถ้ามาในรูปของคำที่ว่า “Bring down the house.” แล้ว ความหมายจะกลายเป็นว่า “สร้างความพึงพอใจให้แก่บรรดาผู้ชมผู้ฟังเป็นอย่างมากที่สุด” คือถึงขนาดที่คนทั้งห้องต้องตะโกนส่งเสียงแสดงความพึงพอใจกันอย่างแผ่นดินแทบถล่มทลายกันเลยทีเดียว เช่นในประโยคว่า The president made a fine speech that brought down the house. คือประธานาธิบดีได้กล่าวสุนทรพจน์ที่ยอดเยี่ยมจนผู้ที่รับฟังอยู่นั้นปรบมือและส่งเสียงร้องต้อนรับกันอย่างอึงคะนึงเลยทีเดียว

อนึ่ง ในเทศกาลวันปีใหม่ไทยนี้ ผู้เขียนขอลาไปพักผ่อนระยะยาว ตลอดทั้งเดือนเมษายน และจะกลับมาเขียนใหม่ตั้งต้นเดือนพฤษภาคม พร้อมกันนี้ ขอให้ทุกท่านอยู่เย็นเป็นสุขและอายุมั่นขวัญยืนยิ่ง ๆ ขึ้นไป

BRING : บริง # 11-05

BRING : บริง

วันคืนเดินหน้าเรื่อยไป ชีวิตของเราท่านก็เดินรุดหน้าต่อไปไม่มีโอกาสย้อนหวนทวนหลัง เข้าทำนอง “น้ำไหลไป….. มักไม่ไหลทวน…..ชีวิตเราก็ไม่มีหวน…ไม่กลับทวนเหมือนกัลล์ ฯลฯ”
การแนะนำภาษาอังกฤษมะกันก็ดำเนินต่อไป และถัดจากกริยาคำว่า Break แล้วก็มาถึงคำว่า Bring ซึ่งเป็นคำที่ใช้กันอย่างอุตลุดอย่างเช่น Bring me this; bring me that, etc. etc. ซึ่งแปลได้ว่า “เอาไอ้นั่นมาถี่ หรือเอาไอ้โน้นมาให้หน่อย”โดยที่ถ้าพูดกันห้วน ๆ เช่นนั้นก็ออกจะมีลักษณะเป็นคำสั่งไปด้วยซ้ำ และถ้าจะให้ดี ก็ควรมีคำว่า Please ซึ่งแปลว่า “โปรด หรือกรุณา” ในภาษาไทย นำหน้าก็จะเข้าท่ามากกว่า
อย่างไรก็ตาม ทั้ง ๆ ที่คำว่า Please นั้นเราสามารถนำมาใช้ในความหมายว่าโปรดหรือกรุณาในภาษาไทย แต่คำว่า “โปรด” และ “กรุณา” เองนั้น ในภาษาไทยแท้ ๆ ถือว่ามีความหมายผิดกันอยู่มากเลยทีเดียว หากแต่ในยุคปัจจุบันนี้ดูเสมือนผู้คนส่วนมากพากันเข้าใจไปในทำนองว่า ถ้าต้องการขอร้องกันอย่างสุด ๆ ก็ต้องใช้คำว่า “กรุณา” แทนคำว่า “โปรด” กันเลย ซึ่งเป็นการใช้ภาษาไทยอย่างผิดความหมายที่แท้จริง และเป็นภาษา “วิปริต” ไปด้วยซ้ำ หรือท่านว่าไง?
คำว่า “บริง” เมื่อใช้เป็นคำกริยาและมี “กรรม” มาต่อท้ายโดยตรงก็มีความหมายเข้าใจได้ง่าย ๆ ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่เมื่อใดมีคำบุรพบทหรือ Preposition มาต่อท้ายแล้ว คำนี้ก็เริ่มมีฤทธิ์มากขึ้น และกลายเป็น “สำนวน” ขึ้นมาทันที
คำว่า Bring เมื่อมี Preposition มาต่อท้ายก็มีดังต่อไปนี้คือ
Bring about Bring around
Bring down Bring home
Bring in Bring off
Bring on Bring out
Bring to & Bring up or bring upon.

ดังกล่าวมาข้างต้นนี้ ล้วนแต่เป็นคำง่าย ๆ และเคยได้ยินได้ฟังกันอยู่อย่างคุ้นหูแล้วทั้งนั้น แต่พอมาถึงตอนที่เราจะนำไปใช้พูดใช้ประโยชน์อย่างถูกต้องให้ได้แล้ว ก็อยากให้คำแนะนำกัน ณ ที่นี้บ้างพอสมควร และวันนี้ขอให้เราเริ่มต้นด้วยคำว่า
Bring about = ทำให้เกิดขึ้น หรือติดตามมาด้วยอะไรสักอย่างหนึ่ง คำนี้มีความหมายคล้ายคำว่า Cause แต่คำว่า Cause นี้มักจะเป็นที่นิยมใช้กันในคำพูดจาสนทนากันน้อยกว่าคำว่า Bring about ซึ่งประโยคตัวอย่างของคำว่า Bring about ก็มีเช่น
“Drink is bringing about Jimmy’s downfall.” คือ การดื่มเหล้ากำลังทำให้ชีวิตของตาจิมมี่ต้องเสื่อมสลายลง
“The 2nd world war brought about great changes in people’s living. คือ สงครามโลกครั้งที่สองนั้นได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในการดำเนินชีวิตของผู้คนทั่วไป (ยังมีต่อ)
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

คำว่า “BREAK” เมื่อใช้เป็นสำนวน (ต่อ) #10-05

คำว่า “BREAK” เมื่อใช้เป็นสำนวน(ต่อ)
ในกรณีที่ใช้คำว่า Break นี้เป็นคำกริยาและในความหมายที่เป็นสำนวนด้วยซึ่งยังเหลืออยู่อีกเพียง ๔ สำนวนก่อนที่จะเดินหน้าไปสู่คำอื่น ๆ ในอักษร B และคงจะไม่นานเกินรอแล้ว ดังนั้นขอให้เรามาว่ากันในส่วนที่เหลืออยู่นี้ต่อไป
Break out Break through
Break up Break with, etc.
Break out = มักใช้ในความหมายว่า มีสีหน้าหรือท่าทางเปลี่ยนไปอย่างฉับพลันทันที อย่างเช่น “John breaks out into a cold sweat.” คืออีตาจอห์นก็เหงื่อแตกซิกทันที หรือ “Susan breaks out into a rage.” คือซูซานก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟขึ้นมาทันทีเลย หรือเพื่อให้สามารถเข้าใจความหมายสำนวนนี้ได้ดีขึ้นจึงให้ประโยคตัวอย่างอีกประโยคหนึ่งเช่น “When John’s first son was born, he broke out the cigars he had been saving.” คือเมื่ออีตาจอห์นได้ลูกคนหัวปีเป็นชายได้อย่างสมใจ เขาก็รีบไปงัดเอาบุหรี่ซิการ์ออกมาแจกเพื่อนฝูงเพื่อฉลองโชคชัยในชีวิตเขาทันที
Break through = หมายถึงสามารถฝ่าฟันทะลุอุปสรรค์ที่เคยขัดขวางอยู่ก่อนนั้นได้สำเร็จ ใช้ในประโยคอาทิเช่น “Dr. Salk failed many times but he finally broke through to find a successful polio vaccine.” คือหลังจากที่ต้องล้มเหลวในความพยายามหลายครั้งหลายหนไปแล้ว ในที่สุด ดร. ซอล์กก็ประสบความสำเร็จในการค้นพบยาฉีดป้องกันโรคโปลิโอขึ้นมาได้แล้ว “The sun breaks through at last in the afternoon.” คือในที่สุดก็มีแสงแดดออกในตอนบ่าย ๆ (คือสามารถส่องทะลุเมฆหมอกลงมาได้)
Break up = หมายถึงการเลิกลากันไปในเรื่องที่ได้กระทำกันอยู่แล้วนั้น ใช้ในตัวอย่างประโยคเช่น “The meeting broke up at eleven o’clock คือการประชุมได้ยุติลงเมื่อเวลา ๑๑ น. หรือ “The ship broke up on the rocks.” คือเรือได้เกยหินแล้วแตกลง หรือ “Their marriage is breaking up.” คือ ชีวิตสมรสของเขาก็กำลังต้องอับปางลงเสียแล้ว
Break with = เลิกลากันไป สำนวนนี้มีความหมายละม้ายคล้าย Break up ข้างต้น แต่มักจะใช้ในความหมายหนักไปในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรือกลุ่มชน หรือแม้แต่การกระทำในเรื่องที่เคยชินมาก่อน เช่น “Jimmy broke with his girl friend.” คือนายจิมมี่ได้เลิกลาจากเพื่อนหญิงคนนั้นของเขาเสียแล้ว หรือว่า “Jimmy broke with the Democratic Party on the question of civil rights. คือนายจิมมี่ได้ผละจากพรรคประชาธิปัตย์ที่เขาสังกัดอยู่เสียแล้วเนื่องด้วยปัญหาขัดแย้งในเรื่องการใช้สิทธิประชาราษฏร์

ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

คำว่า “BREAK” เมื่อใช้เป็นสำนวน(ต่อ) # 9-05

คำว่า “BREAK” เมื่อใช้เป็นสำนวน(ต่อ)
Break ground Break in
Break into Break off
Break out Break through
Break up Break with, etc.

Break ground = เริ่มต้นโครงการ หรือดำเนินการขั้นต้น ทำนอง “วางศิลาฤกษ์” และเราสามารถนำสำนวนนี้ไปใช้ในโอกาส เช่น “City officials and industrial leaders were there as the company president broke ground for its new building.” คือ เจ้าหน้าที่จากฝ่ายรัฐ ฯ และบรรดาบุคคลชั้นนำด้านอุตสาหกรรมได้ไปร่วมงานกับประธานกรรมการของบริษัทนั้นต้นที่ดำเนินพิธีการเริ่มงานก่อสร้างตึกหลังใหม่

หรือ “The school broke new ground with reading lessons that taught students to guess the meaning of new words.” คือ ทางโรงเรียนได้เริ่มต้นบทสอนการอ่านหนังสือในระบบใหม่ซึ่งฝึกหัดให้นักเรียนสามารถทายความหมายของคำศัพท์ใหม่ ๆ ให้ได้อย่างถูกต้อง

Break in = บุกรุกเข้าไปในสถานที่ หรืออาคารใด ๆ โดยไม่มีการพูดพล่ามทำเพลงให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้ตัวล่วงหน้า สำนวนนี้ใช้ได้ในโอกาสเช่น “Thieves broke in while the family was away.” คือ ไอ้พวกหัวขโมยบุกเข้าไปในบ้านเขาตอนที่ไม่มีใครในครอบครัวอยู่บ้านกันเลย หรือ “The secretary broke in to say that a telegram had arrived,” คือ เจ้าเลขาหน้าห้องบุกเข้ามาขัดจังหวะเพื่อแจ้งว่ามีโทรเลขมาถึงแล้ว

คำว่า Break in นี้ ยังสามารถนำไปใช้ในความหมายว่ามีการเริ่มต้นฝึกหัดหรือฝึกสอนให้ใครรู้จักทำอะไรให้ได้สักอย่างหนึ่ง เช่น “The chief engineer broke in a new employee as a machine operator.” คือ หัวหน้าช่างได้ฝึกหัดลูกจ้างคนใหม่ให้สามารถทำงานเป็นพนักงานประจำเครื่องจักร์กลต่อไป หรือ “John broke in a new pair of shoes.” คืออีตาจอห์นพยายามใส่รองเท้าคู่ใหม่ของเขาให้คุ้นเพื่อป้องกันมิให้มันกัดเท้า ก็ได้

Break into หรือ break in เป็นสำนวนที่มีความหมายค่อนข้างคล้ายกัน สามารถใช้แทนกันได้ในหลายกรณี แต่เราจะใช้ Break into ในความหมายทำนองว่า “Jimmy broke into a sweat.” คือ นายจิมมี่ถึงกับเหงื่อตกทีเดียว

Break off = ใช้ในความหมายว่า “พอกันทีขอเลิกแค่นี้ดีกว่า” อย่างเช่นในประโยคตัวอย่างว่า “The speaker was interrupted so often that he broke off and sat down.” คือองค์ปาฐกโดนคนขัดจังหวะบ่อยมากจนแกทนไม่ไหวเลยเลิกพูดและกลับไปนั่งยังที่ของแกเสียแล้ว “Jane broke off with her best friend.” คือยายเจนได้เลิกลาจากเพื่อนคนที่สนิทชิดเชื้อไปเสียแล้ว
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

คำว่า “BREAK” เมื่อใช้เป็นสำนวน # (ต่อ) # 8-05

คำว่า “BREAK” เมื่อใช้เป็นสำนวน
Break away Break down
Break even Break from
Break ground Break in
Break into Break off
Break out Break through
Break up Break with, etc.

“Break away” = ตีจาก, ผละจาก หรือ อาการที่ทำให้หลุดออกไปโดยฉับพลันทันที อาทิเช่น “Several Democratic MPs have decided to break away to join the richer Republicans.” คือ พวกผู้แทนฝ่ายพรรคประชาธิปไตยหลายคนได้ตัดสินใจตีจากเพื่อไปเข้าพวกกับฝ่ายริพับลิคันซึ่งร่ำรวยมากกว่า

“Break down” = คำนี้เมื่อใช้เป็นคำกริยา สามารถมีความหมายแตกต่างกันออกไปได้หลายสถาน สุดแต่การสร้างประโยค อาทิ ในความหมายว่า “เกิดขลุกขลักหรือขัดข้องลง” เช่น “The telephone system has broken down.” คือ ระบบงานโทรศัพท์ได้เกิดขัดข้องลงเสียแล้ว
หรือในความหมายว่า “เอามาแยกออกเป็นส่วนย่อย ๆ” เช่น “Water can be broken down into hydrogen and oxygen.” คือน้ำนั้นสามารถเอามาแยกออกให้เป็นก๊าซไฮโดรเจนและออกซิเจนได้

หรือในความหมายว่า “เสียหรือชำรุดไปแล้ว หรือเกิดขัดข้องลงใช้งานไม่ได้เสียแล้ว” เช่น “The car broke down after only half an hour’s driving.” คือรถยนต์คันนี้ต้องมาขัดข้องไม่สามารถใช้ได้เสียแล้วทั้ง ๆ ที่วิ่งมาได้เพียงครึ่งชั่วโมงแค่นั้นเอง

“Break even” = พอถัวกันไปได้ คือได้หรือเสียพอกัน ไม่ขาดทุนหรือกำไรผิดกันเท่าใด หรือพอสมน้ำสมเนื้อ เราเอามาใช้ได้ในประโยคเช่น “If you gamble you are lucky when you break even.” คือถ้าลื้อเล่นการพนัน ลื้อก็โชคดีแล้วที่ไม่ได้ไม่เสีย หรือในตัวอย่างอีกประโยคหนึ่งเช่น “The storekeeper made many sales, but his expenses were so high that he just broke even.” เจ้าของร้านนั้นขายสินค้าได้มากแต่ค่าโสหุ้ยของเขาสูงเหลือเกิน เมื่อหักกลบลบกันแล้วก็ถัวกันไปพออยู่ได้แค่นั้นเอง

“Break from” = ทำให้หัก หรือแยกออกจากกัน เช่น “He broke a piece of bread from the loaf.” เขาบิขนมปังชิ้นหนึ่งออกมาจากก้อนใหญ่นั้น
******************
คารม-คม-ระคาย (Quips & Quotes)
 Quarrels would not last long if the fault were only on one side. เรื่องที่ถึงกับต้องทุ่มเถียงทะเลาะกันนั้นไม่ยืดเยื้อนักหรอก ถ้าความผิดมันเป็นของฝ่ายเดียวเท่านั้น
 Success is an accident….. well placed. ความสำเร็จของคนเรามักเป็นเรื่องบังเอิญที่เกิดขึ้นมา ได้จังหวะอันเหมาะเหม็งเท่านั้นเอง
*****

BREAK (เบรก) คำง่าย ๆ หลายประโยชน์ (ต่อ)# 7-05

BREAK (เบรก) คำง่าย ๆ หลายประโยชน์ (ต่อ)
นับตั้งแต่วันขึ้นปีใหม่ศกนี้ที่ได้ผ่านไปแล้ว ผู้เขียนมีความรู้สึกปลื้มปีติเป็นอย่างมาก ที่ได้รับฟังเสียงสะท้อนหรือที่ฝรั่งเขาใช้คำว่า “Feed-back” จากท่านผู้อ่านเป็นจำนวนมาก ๆ ยิ่งกว่าที่เคยได้รับมาในปีก่อน ๆ
สืบเนื่องจากเหตุการณ์เช่นนั้น ความคิดในเบื้องต้นของผู้เขียนประการแรกก็คือ ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะหนังสือพิมพ์ “เสรีชัย” กำลังประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงแน่นอน เนื่องจากมียอดจำหน่ายและจำนวนผู้อ่านเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามที่แจ้งประจักษ์กันอยู่ทั่วไปแล้ว
อันว่าเสียงสะท้อน ไม่ว่าจะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ อันเป็นคำกล่าวขวัญถึงด้วยการติหรือชม ไม่ว่าจะเป็นก้อนอิฐหรือช่อดอกไม้ ใหญ่หรือเล็กเท่าใดก็ตาม ย่อมเป็นสิ่งที่นักเขียนบทความทุกคนปรารถนาที่จะได้ยินได้ฟัง เพื่อจะได้มีโอกาสที่จะปรับปรุงงานของตนให้มีคุณค่ามากยิ่งขึ้นในสายตาของผู้อ่านส่วนใหญ่

จดหมายฉบับล่าสุดที่เพิ่งได้รับจากท่านผู้อ่านอีกรายหนึ่งอย่างสด ๆ ร้อน ๆ ในตอนเช้าวันนี้เองก็มาจากคุณจำลอง แห่งรัฐเท็กซัส (San Antonio, TX 78251) ซึ่งนอกจากส่ง “ยาหอม” มาแจกให้ผู้เขียนขนานใหญ่แล้ว ยังขอร้องให้เพิ่มการแนะนำภาษาอังกฤษในแต่ละสัปดาห์ให้มากขึ้น
ขอขอบคุณเป็นอย่างมากครับในคำชมเชย แต่เรื่องการขยายข้อความให้มากขึ้นไปอีกนั้น คงยังทำไม่ได้ เพราะเนื้อที่หน้ากระดาษของหนังสือพิมพ์ย่อมมีจำกัด และขึ้นชื่อว่าเป็นหนังสือพิมพ์แล้ว ก็จำเป็นต้องมีหลายคอลัมน์หลายรส นอกจากนั้นแล้วปริมาณคำแนะนำเรื่องภาษาอังกฤษแต่ละสัปดาห์เท่าที่เป็นอยู่แล้วนี้น่าจะพอเหมาะพอเจาะสำหรับการศึกษาในเวลาเพียงชั่วเจ็ดวัน และผู้ที่สนใจติดตามศึกษาย่อมจำเป็นที่จะต้องค้นคว้าเพิ่มเติมจากแหล่งอื่น ๆ ไปด้วยพร้อมกัน เพราะคอลัมน์นี้มีแต่เพียงข้อแนะนำในลักษณะหลักการซึ่งค่อนข้างสั้น ๆ แต่ละสำนวนเท่านั้นเอง
สัปดาห์ที่แล้ว เรามาถึงการใช้คำว่า “Break” เป็นคำกริยาที่มีกรรมมาต่อท้ายโดยตรง พร้อมทั้งได้ให้ประโยคตัวอย่างไปบ้างแล้วพอสมควร ต่อไปนี้เราก็มาถึงเรื่องที่มีคำบุรพบท (Preposition) หรือกริยาวิเศษณ์ (Adverb) มาพ่วงท้าย และเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ส่วนมากมักจะมีความหมายไปในทางเป็น “สำนวน” ที่ต้องเรียนรู้กันก่อนที่จะนำไปใช้อย่างถูกต้องต่อไป
Break away Break down
Break even Break from
Break ground Break in
Break into Break off
Break out Break through
Break up Break with, etc.
สัปดาห์หน้า เราจะจับเอาคำต่าง ๆ ข้างบนนี้มาเข้าประโยคตัวอย่างเพื่ออธิบายความหมาย และวิธีการใช้ถ้อยคำที่ถูกต้องต่อไป
คารม-คม-ระคาย (Quips & Quotes)
 Often we have no time for our friends but all the time in the world for our enemies. คนเรามักจะไม่มีเวลาให้กับเพื่อนฝูง แต่กลับมีเวลาเหลือเฟือสำหรับศัตรูคู่อาฆาต
 People change and don’t tell each other. คนเรานั้นย่อมเปลี่ยนไปจากเดิมบ้างเป็นธรรมดา เสียแต่ว่าไม่บอกกล่าวเล่าสิบให้เพื่อนฝูงได้รู้ตัวล่วงหน้าเท่านั้นเอง

BREAK (เบรก) คำง่าย ๆ หลายประโยชน์ (ต่อ) # 6-05

BREAK (เบรก) คำง่าย ๆ หลายประโยชน์ (ต่อ)
เราได้ผ่านการใช้คำว่า “เบรก” เมื่อทำหน้าที่เป็นคำนามกันไปพอสมควรแล้ว ต่อไปนี้ก็ควรศึกษากันถึงเรื่องการใช้คำเดียวกันนี้เป็นคำกริยากันให้เป็นที่เข้าใจกันอีกโสดหนึ่งด้วย
การใช้คำว่า “เบรก” เป็นคำกริยานี้อาจเป็นในรูปประโยคที่สร้างขึ้นตามหลักไวยากรณ์ให้มีกรรมมาต่อท้ายโดยครงก็ได้แบบหนึ่ง และอาจมีบุรพบทหรือกริยาวิเศษณ์มาต่อท้ายก็ได้ซึ่งนับว่าเป็นอีกแบบหนึ่งต่างหาก และแบบหลังซึ่งมีบุรพบทหรือกริยาวิเศษณ์เข้ามาช่วยขยายความนี่แหละมักจะเป็นคำที่เกิดเป็นสำนวนขี้นมาได้เป็นอันมากในภาษาพูด
ในตอนต้นนี้ ขอให้เราว่ากันในแบบที่ใช้เป็นคำกริยาชนิดที่มีกรรมมารับโดยตรงนั้นก่อน
ตามที่เราพอทราบกันอยู่แล้วว่าคำว่า Break นี้สามารถผันออกไปเป็น Broke และ Broken และนำมาใช้ในประโยคง่าย ๆ ได้อาทิเช่น
Susan fell off a ladder and broke her arm. คือยายซูซานพลาดท่าพลัดตกบันไดเลยแขนหักไปเสียแล้ว หรือ You are breaking the speed limit. คือ ลื้อกำลังฝ่าฝืนกฎหมายที่ห้ามไม่ให้ขับรถเร็วเข้าแล้วน๊ะ หรือใช้ในประโยคที่เรามักได้ยินกันอย่างคุ้นหูที่ว่า Please don’t break my heart. คืออย่าทำให้ฉันต้องอกหักน๊ะจ๊ะเธอ
ขอให้สังเกตอย่างหนึ่งถึงเรื่องการใช้คำพูดที่ฝรั่งพูดถึง Heart หรือหัวใจ ในขณะที่ไทยใช้คำว่าอก หรือทรวงอกซึ่งในภาษาอังกฤษหมายถึง Chest ซึ่งย่อมหมายถึงส่วนของร่างกายคนทั้งสิ้นจากต้นคอลงมาถึงส่วนท้องหรือหน้าท้องของคนเราซึ่งภายในเป็นที่ตั้งของหัวใจ ปอด และท่อทางลมหายใจตลอดจนเส้นเลือดทั้งหลายอีกด้วยเบ็ตเสร็จ
ดังนั้นเมื่อฝรั่งกล่าวว่า Broken heart และทางไทยเราว่า “อกหัก” นั้น แสดงว่าคนไทยเราถือว่าอกหักเป็นเรื่องใหญ่ที่มีอาการปางตายมากหว่าฝรั่งที่เขาเอ่ยถึงแต่เพียงส่วนที่เป็นหัวใจเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ว่าฝรั่งหรือคนไทยก็ตาม ความจริงที่มีสถิติยืนยันอยู่ก็เป็นว่า ผู้ชายมักจะอายุสั้นกว่าผู้หญิงแทบทั้งนั้น
จะเป็นเพราะผู้หญิงส่วนมากมีความอดทนและสามารถปรับตัวให้อยู่รอดปลอดภัยได้มากกว่าผู้ชายกระนั้นหรือ ผู้ชายไม่รู้จักที่จะกระเด้งตัวให้พ้นทุกข์จากการ “อกหัก” ได้เท่าผู้หญิงกระนั้นหรือ
หรือว่าผู้ชายส่วนมากเคร่งเครียดหรือเก็บกดอยู่กับปัญหาชีวิตมากเกินไปเลยอายุสั้นกว่าผู้หญิงกระนั้นหรือ
หรือจะเป็นเพราะผู้ชายไม่รู้จักหาทางออกเพื่อช่วยตัวเองให้มีชีวิตอยู่รอดปลอดภัยและยาวนานได้มากเท่าผู้หญิงเช่นนั้นกระมัง
ขณะที่ในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับลงข่าวสังคมซึ่งเต็มไปด้วยภาพประกอบข่าวอันคร่ำคร่าไปด้วยผู้หญิงหน้าระรื่นทั้งนั้น แทบหาผู้ชายไม่ได้เลย และถ้าพอมีบ้างก็ขอให้สังเกตว่าล้วนแต่หน้าตาเอางานเอาการ หรือ “เคร่งเครียดเหลือเกิน” กันร้อยทั้งร้อย ถ้าไม่เชื่อก็ลองไปเปิดหนังสือพิมพ์ฉบับไหนก็ได้ ทบทวนดูซี
อีกทั้งในบรรดาคอลัมน์ตามหน้าหนังสือพิมพ์ที่รับปรึกษาปัญหาหัวใจ อย่างคอลัมน์ “ฝากใจไว้ที่นี่” ของ “น้ำผึ้งป่า” หรือแก้ปัญหาหัวใจของศิราณีย์ที่โด่งดังค้างเป็นแรมปีนั้น ผู้ที่เขียนไปปรึกษาปัญหาหัวใจล้วนแต่เป็นผู้หญิงยิงเรือแทบร้อยทั้งร้อย หาข้อปรึกษาปัญหาจากผู้ชายทำยาไม่ได้เลย
คงจะเป็นเพราะผู้หญิงเก่งกว่าที่รู้จักหาทางออกในรูปแบบต่าง ๆ อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ส่วนผู้ชายเอาแต่เก็บกดมากเกินไป เลยม่องเท่งไปก่อนเป็นส่วนใหญ่นั่นเอง
และขณะที่ผู้เขียนกำลังเตรียมส่งคอลัมน์นี้ให้ “เสรีชัย” อยู่นี้ ข่าวล่ามาเร็วทั้งทางอินเทอร์เนตและทีวีก็แจ้งว่า คณะแพทย์ที่ Johns Hopkins Medical Center ได้ออกคำเตือนเรื่อง Broken heart syndrome หรืออาการอกหัก ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิงอันมีลักษณะคล้าย Heart attack หรือหัวใจวายเฉียบพลัน และเตือนให้ผู้คนพึงระวังโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์สนี้ไว้ด้วย ดังนั้นผู้เขียนจึงรีบนำความมาแจ้งให้ทราบ เพื่อจะได้ไม่ต่อว่า เข้าทำนอง “แล้วทำไมหล่อไม่บอก” นั่นแหละ
ขอให้ท่านผู้อ่านทุกท่านจงเกษมสำราญในเทศกาลวันวาเลนไทน์สนี้โดยถ้วนทั่วหน้ากัน เทอญฯ

BREAK (เบรก) คำง่าย ๆ หลายประโยชน์ (ต่อ)# 5-05

BREAK (เบรก) คำง่าย ๆ หลายประโยชน์ (ต่อ)
สัปดาห์ที่แล้วเราได้มาถึงคำว่า “เบรก” นี้เมื่อทำหน้าที่เป็นคำนาม และเป็นคำที่เรามักจะใช้กันเมื่อหมายถึงช่วงเวลาการพักระยะสั้น ๆ อย่างเช่น Lunch break หรือการพักเพื่อรับประทานอาหารเที่ยง, Coffee break พักเพื่อดื่มน้ำชากาแฟ, the mid-morning break พักครึ่งเวลาภาคเช้า ฯลฯ
นอกจากนั้นแล้ว ในภาษาอังกฤษยังมีคำให้เลือกใช้ได้อีกหลายคำในความหมายว่า “พัก” คล้าย ๆ กัน แต่มีแง่หรือลักษณะการใช้แตกต่างกันออกไป เช่น
“Pause” (พอช) ใช้ในกรณีที่หมายถึงการหยุดชะงักลงชั่วขณะหนึ่ง อย่างเช่น “Pause of breath” คือการหยุดหายใจหรือกลั้นหายใจ และ “Pause in the conversation” คือการพักลงชั่วขณะหนึ่งในระหว่างการสนทนาที่ติดพันอยู่ เป็นต้น
“Recess” (รีเซส) คำนี้ออกจะเป็นคำในจำพวกที่เรามักจะเรียกว่าคำสูง ซึ่งใช้ในภาษาทางการ อย่างเช่น “The Parliament is in recess.” คือรัฐสภาอยู่ในระหว่างช่วงที่ว่างเว้นการประชุม และในภาษาอังกฤษอเมริกันก็นิยมใช้คำนี้ในความหมายว่าโรงเรียนกำลังปิดภาคเรียน The school is in recess. ซึ่งเป็นคำที่มักจะพบกันอยู่บ่อย ๆ เหมือนกัน
“Interval” (อินเทอวัล) และ “Intermission” (อินเทอมิชชัน) หมายถึงช่วงเวลาการพักครึ่งทางสำหรับการแสดงสดบนเวที เพื่อให้บรรดาผู้ที่เข้าชมการแสดงได้ลุกขึ้นจากที่นั่งออกไปยืดเส้นยืดสาย เข้าห้องน้ำห้องท่า ตลอดจนซื้อหาเครื่องดื่มมาแก้คอแห้งกันบ้างนิดหน่อย
“Interlude” (อินเทอลูด) หมายถึงการพักระหว่างฉาก หรือการแสดงสลับฉาก หรือการพักที่เน้นหนักไปว่าเป็นช่วงที่หยุดการกระทำใด ๆ ที่ต่อเนื่องยาวนาน เข้าทำนองประโยคตัวอย่างเช่น “His time in Paris was a happy interlude in his tedious career.” คือการที่เขาได้ใช้เวลาอยู่ในกรุงปารีสถือได้ว่าเป็นการพักผ่อนอันสุขสันติ์จากอาชีพที่ต้องตรากตรำหนักของเขาเลยทีเดียว
“Rest” (เรสท) คำนี้เป็นที่คุ้นปากคุ้นหูกันอยู่มากแล้วเมื่อหมายถึงการพักผ่อนจากการกระทำอะไรที่ทำให้เหนื่อยอ่อน และหมายถึงการพักผ่อนเพียงชั่วขณะโดยไม่เน้นหนักในด้านกำหนดเวลา คำนี้เป็นคำง่าย ๆ ซึ่งเรามักใช้กันอยู่เป็นประจำในประโยคเช่น “You look tired. You need a good rest.” คือ มองดูคุณเห็นได้ว่าคงเหน็ดเหนื่อยเอาเรื่องทีเดียว น่าจะพักผ่อนจริง ๆ กันสักหน่อยแล้วกระมัง
อย่างไรก็ดี ตามที่ได้นำเอาคำต่าง ๆ ซึ่งมีความหมายในทำนองว่า “พัก” นี้ขึ้นมากล่าวไว้ข้างต้น ก็เพื่อให้เห็นว่าในภาษาอังกฤษนั้น มีคำซึ่งมีความหมายคล้ายคลึงกันอยู่พอสมควร แต่ย่อมจำเป็นที่จะต้องศึกษาให้ลึกซึ้งก่อนที่จะเลือกใช้คำไหน เพื่อจักได้ใช้ถ้อยคำที่ถูกต้องกันจริง ๆ

คารม-คม-ระคาย (Quips & Quotes)

 Before criticizing your wife’s faults, you must remember it may have been these very defects which prevented her from getting a better husband than the one she married. คนที่ชอบนินทาเมียของตัวเองว่าไม่ดีอย่างโง้นอย่างงี้ จะต้องไม่ลืมว่าชะรอยจะเป็นเพราะข้อบกพร่องเทือกนั้นของเธอก็ได้ ที่ทำให้เธอไม่สามารถหาสามีซึ่งดีกว่าที่เธอมีอยู่นั้นได้
 We judge ourselves by what we feel capable of doing, while others judge us by what we have already done. คนเรามักวัดความสามารถของตนด้วยความรู้สึกว่าเราคงทำได้ หากแต่คนอื่นเขามองว่าเราเคยทำอะไรมาได้แค่ไหนบ้างแล้วหรือเปล่าต่างหาก
*****

BREAK (เบรก) คำง่าย ๆ หลายประโยชน์ (ต่อ) # 4-05

BREAK (เบรก) คำง่าย ๆ หลายประโยชน์

ใช้ได้ทั้งในรูปของคำนามและคำกริยา ออกเสียงเหมือนกับคำว่า Brake ที่แปลว่า “เครื่องห้ามล้อรถ แต่ตอนนี้ตรงนี้เราจะว่ากันในเรื่องของคำว่า Break เมื่อใช้เป็นคำนามกันก่อน
เนื่องจากความนิยมในการพูดคำไทยกล้ำอังกฤษ จึงทำให้คำว่า “เบรก” นี้ กลายเป็นคำที่คุ้นปากคุ้นหูกันอยู่มากแล้วทีเดียว และเราก็พูดว่า
A break time = ช่วงเวลาพัก
Career break = ช่วงเวลาพักจากทำงานอาชีพ เพื่อไปทำอะไรสักอย่างก่อน อาทิเช่น
ไปบวช หรือไปคลอดบุตร
Coffee break = ช่วงเวลาพักสั้น ๆ เพื่อไปดื่มน้ำชากาแฟ ฯลฯ
Commercial break = ช่วงเวลาหากินของสถานีวิทยุหรือสถานีทีวี เพื่อโฆษณาสินค้า
หรือโฆษณาให้นักการเมืองในเทศกาลแข่งขันเลือกตั้ง
Summer break = การพักผ่อนตามฤดูกาล ซึ่งอาจเป็นฤดูร้อน หรือ เมื่อใดก็ได้ถ้า
เปลี่ยนคำหน้าให้เป็นไปตามที่ต้องการ
Break of the day = ยามฟ้าเริ่มสาง หรือเวลาใกล้รุ่ง
“Give me a break.” = เป็นคำพูดที่ใช้เมื่อเกิดความรำคาญในการกระทำหรือคำพูด
ของอีกฝ่ายหนึ่ง หรือเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งกำลังพูดเรื่องซึ่งไม่น่า
เชื่อถือเสียแล้ว
“Give somebody a break” = เป็นคำพูดที่ใช้เมื่อต้องการขอร้องใครคนหนึ่งเพื่อให้
โอกาส หรือความกรุณาต่อใครอีกคนหนึ่ง

ฯลฯ
คำว่า “เบรก” คำเดียวกันนี้ เมื่อใช้ในรูปของคำกริยา ก็สามารถกระจายความหมายออกไปอีกมากมายหลายด้าน ซึ่งเราจะได้ว่ากันในโอกาสต่อไป

คารม-คม-ระคาย (Quips & quotes)
 Don’t limit a child to your own learning, for he was born in another time. อย่าขีดวงให้ลูกหลานต้องเดินวนอยู่เพียงแค่ที่เราได้เคยรู้เคยเห็นมาเท่านั้น เขากับเราต่างเกิดมาคนละยุคคนละสมัย ไกลกันคนละฟากฟ้า
 Many people look ahead, some look back, but most look confused. คนเรามักคำนึงถึงวันในอนาคต ขณะที่บางคนก็มัวคิดหวนทวนหลังถึงวันคืนในอดีต แต่ส่วนใหญ่แล้วทำเสมือนงงก๊ง จะเอาไหนก็ไม่เอาสักท่าเลยทีเดียว

*****

สำนวนไทย สำนวนอเมริกัน (ต่อ) # 3

คำในสำนวนภาษาอังกฤษอเมริกันที่เรียงมาตามอักษร A, B, C, D, หรือที่เรียกว่า Alphabetical order และเรากำลังอยู่ในอักษร B ถึงคำว่า Brazen แล้วนั้น คำนี้เป็นคำที่ผันมาจากคำนามคือ Brass ซึ่งแปลว่า ทองเหลือง อันเป็นธาตุโลหะผสมของทองแดงและสังกะสี ต่อจากนั้นเมื่อมาในรูปคำว่า Brazen ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งคำกริยา (Verb) หรือคำคุณศัพท์ (Adjective) หรือแม้แต่เป็นกริยาวิเศษณ์ (Adverb) ก็ยังได้ สุดแท้แต่การสร้างประโยค
BRAZEN IT OUT: (เบร’ ชิน อิท เอาท) = To pretend one did nothing wrong; be suspected, accused or scolded without admitting one did wrong; act as if not guilty. ใช้เป็นคำกริยาในความหมายว่า “ยืนยันอยู่คำเดียว” หรือตามสำนวนไทยที่ว่า “ยืนกระต่ายขาเดียว” และออกจะกระเดียดไปในทำนอง “ด้านได้ อายก็อด” เอาเลยทีเดียว ทั้งนี้อาจนำมาใช้ในประโยคตามตัวอย่างต่อไปนี้ เช่น
“The teacher found a stolen pen that the girl had in her desk, but the girl brazened it out; she said someone else must have put it there.” คือ “ครูได้ไปเจอปากกาที่แจ้งว่าสูญหายไปนั้นในโต๊ะเรียนของนักเรียนหญิงคนนั้นเข้า แต่หล่อนกลับให้คำแก้ตัวโดยยืนกระต่ายขาเดียวว่าใครคงนำปากกานั้นมาใส่ไว้ต่างหาก” คือนักเรียนทำหน้าด้านเถียงครูว่ามิใช่เป็นความผิดของเขาตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเลย

คำว่า Brazen สามารถใช้เป็นคำคุณศัพท์ และผันต่อไปให้เป็นคำกริยาวิเศษณ์
ซึ่งก็จะเป็นว่า Brazenly = Shamelessly ซึ่งแปลว่า “อย่างหน้าด้าน ๆ หรือปราศจากความอดสูใจ” และอาจใช้ได้ในประโยคตัวอย่างเช่น
“That man simply grabbed the tip money someone left on that table, and brazenly walked away with it. Just like that!” คือ “เจ้านั่นจู่ ๆ ก็คว้าเงินทิปซึ่งมีคนเขาวางไว้บนโต๊ะนั้น แล้วก็เดินหนีไปอย่างหน้าด้าน ๆ เอากะมันซิ”

คารม-คม-ระคาย (Quips & quotes)
 Among life’s mysteries is how a two-pound box of candy can make a woman gain five pounds. ปริศนาพาฉงนในชีวิตของคนเราข้อหนึ่งก็คือ ทำไมไอ้ขนมหวาน ๆ จากกล่องเพียงสองปอนด์นั้นสามารถทำให้ผู้หญิงอ้วนขี้นไปได้ถึงห้าปอนด์ก็ไม่รู้ซี
 A good wife laughs at her husband’s jokes, not because they are clever, but because she is. ศรีภริยานั้นย่อมหัวเราะร่าไปกับเรื่องตลก ๆ ที่สามีเธอเอามาเล่าให้เพื่อนฝูงได้ยินได้ฟังซ้ำซาก แต่ใช่ว่าเรื่องเหล่านั้นจะสืบเนื่องมาจากสติปัญญาหลักแหลมแต่อย่างใดก็หาไม่ หล่อนเองต่างหากที่ฉลาดล้ำ และแกล้งทำเป็นหัวเราะไปด้วยเท่านั้นเอง

*****

สำนวนไทย สำนวนอเมริกัน (ต่อ) # 2

สำนวนไทย สำนวนอเมริกัน (ต่อ)

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้นำ “บทนำ” จากหนังสือเรื่อง “สำนวนไทย” ของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ผู้แต่ง โดยที่ท่านได้เขียนไว้อย่างให้ความรู้และน่าอ่านน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง จึงขอนำส่วนที่เหลืออยู่อีกหน่อยมาเสนอต่อเพื่อให้ได้ใจความสมบูรณ์……
“ตื่นแต่ไก่โห่” คือธรรมชาติของไก่ย่อมขันในเวลาเช้ามืดเสมอ ดังนั้นตื่นแต่ไก่โห่ก็คือตื่นแต่ไก่ขัน หมายถึงตื่นแต่เช้า ที่เกิดจากการกระทำก็เช่น “ไกลปืนเที่ยง” คือเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๐ ในรัชกาลที่ห้า เริ่มยิงปืนใหญ่เวลา ๑๒.๐๐ นาฬิกาในพระนครให้รู้ว่าเป็นเวลาเที่ยงวัน คนในพระนครได้ยิน คนอยู่ไกลออกไปก็ไม่ได้ยิน จึงเกิดเป็นสำนวนพูดหมายไปถึงข่าวคราวต่าง ๆ ที่เกิดในพระนคร คนอยู่ไกลไม่ได้ยินได้ฟังไม่รู้ เลยว่า “อยู่ไกลปืนเที่ยง” และหมายเลยไปถึงว่าเป็นคนบ้านนอกคอกนาด้วย ที่เกิดจากเครื่องแวดล้อมเช่น “ก้นหม้อไม่ทันดำ” คือการหุงข้าวนั้น กว่าก้นหม้อจะติดเขม่าดำก็กินเวลานาน โบราณผัวเมียอยู่ด้วยกันก็ต้องมีครัวมีเครื่องครัวใหม่ เช่นหม้อสำหรับหุงข้าวกิน บางคู่หุงข้าวกินกัน ก้นหม้อยังไม่ทันมีเขม่าจับดำก็เลิกกันเสียแล้ว จึงเกิดเป็นสำนวนพูดหมายถึงว่าเลิกกันง่าย คืออยู่กินด้วยกันไม่ทันก้นหม้อดำก็เลิกกันแล้ว ที่เกิดจากอุบัติเหตุ เช่น “ตกกระไดพลอยโจน” คือคนหนึ่งตกกระได คนที่อยู่ในที่นั้นด้วยก็มักจะโจนเข้าไปช่วย หรือเมื่อรู้ว่าจะตกกระได แต่มีสติดีอยู่ก็เลยรีบกระโจนไปให้มีท่ามีทาง จึงเรียกว่า “ตกกระไดพลอยโจน” ที่เกิดจากระเบียบแบบแผนประเพณี เช่น “ฝักรกฝังราก” มาจากพิธีทำขวัญทารกเกิดได้สามวัน เอารกกับมะพร้าวแห้งแทงหน่อไปฝังดิน ที่เกิดจากลัทธิศาสนา เช่น “ขนทรายเข้าวัด” มาจากทำบุญก่อพระทรายที่วัด ที่เกิดจากความประพฤติ เช่น “กินข้าวร้อนนอนสาย” หมายถึงมีชีวิตอยู่อย่างสบาย ที่เกิดจากการเล่น เช่น “สู้จนเย็บตา” มาจากการชนไก่ “ขึ้นซัง” มาจากการดวด “ไข่แตก” มาจากการเล่นเอาเถิด “สายป่านสั้น” มาจากว่าว ที่เกิดจากเรื่องแปลก ๆ เช่น “กุ” หมายถึงพูดไม่เป็นความจริง ที่เกิดจากนิยายนิทานเช่น “มาก่อนไก่” หรือ “เอาไก่ผูกตูดมาหรือเปล่า” มาจากนิทานเรื่องศรีธนนชัย “ทำมิชอบเข้าลอบตัวเอง” มาจากพงศาวดารเหนือ “ปล่อยม้าอุปการ” มาจากรามเกียรติ์ ฯลฯ เหล่านี้เป็นตัวอย่างมูลที่มาของสำนวนต่าง ๆ”
และ ณ ที่นี้ ขอจบบทนำ จากหนังสือ “สำนวนไทย” ของขุนวิจิตรมาตรา ไว้เพียงแค่นี้ก่อน
สำนวนไทย เป็นเรื่องที่น่าศึกษาและนำมาประดับไว้เป็นความรู้เป็นอย่างยิ่งสำหรับคนไทยทุกคน และพูดไปเป็นไรมี พวกเราคนไทยทั้งผองสามารถภาคภูมิใจได้อย่างเต็มที่ ๆ เราเป็นชาติที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งในท่ามกลางจำนวนประเทศนับร้อย ๆ โดยเฉพาะประเทศที่เพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ในกึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่แล้วนี้เอง กล่าวได้ว่า มีชนชาติจำนวนเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้น ทีมีภาษาพูด ภาษาเขียน และมีอักขระ เป็นภาษาไทยโดยแท้ของเราเอง
ในทำนองเดียวกัน สำหรับบรรดาท่านที่ใช้ภาษาอังกฤษมะกันเป็นภาษาที่สองอยู่แล้ว การเรียนรู้สำนวนมะกันซึ่งคอลัมน์นี้จะได้นำเสนอต่อไป ก็เป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์ ไร้โทษ ให้เข้าทำนอง “รู้ไว้ใช้ว่าใส่บ่าแบกหาม” นั่นแล

*****

สำนวนไทย สำนวนอเมริกัน

สำนวนไทย สำนวนอเมริกัน

คอลัมน์ “สนุกกับภาษาอังกฤษสำนวนอเมริกัน” นี้ ได้มีส่วนร่วมในการประดับหน้า “เสรีชัย” อย่างต่อเนื่องเรื่อยมาเป็นเวลาหลายปีดีดักแล้ว และในช่วงเวลาที่ผ่านไปนี้ ผู้เขียนได้รับการติดต่อซักถามจากท่านผู้อ่านเป็นอันมาก ซึ่งบ้างก็ขอความรู้หรือข้อแนะนำในการใช้ภาษาอังกฤษ บ้างก็ต้องการทราบว่าเมื่อใดจะพิมพ์เป็นเล่ม ฯลฯ และผู้เขียนก็ให้เวลากับบรรดาท่าน ๆ ที่ติดต่อไปนั้น อย่างเหลือเฟือและด้วยความยินดี เสมอมา
และเมื่อใกล้จะสิ้นปีเก่าซึ่งเพิ่งผ่านไปหยก ๆ นี้ ได้มีคำถามจากท่านผู้อ่านถึงสามสี่ท่านที่บังเอิญเป็นคำถามที่พร้องจองกันในแง่ที่ว่าคำว่า “สำนวน” นั้น หมายความว่าอะไร?
คำว่า “สำนวน” นี้ ตามพจนานุกรมฉบับของราชบัณฑิตยสถานได้ให้คำอธิบายไว้ว่า “สำนวน” น. โวหาร, คารม, ทำนองพูด, ถ้อยคำที่เรียบเรียง, ถ้อยคำที่มีความหมายไม่ตรงตัว แต่ก็เข้าใจกัน เช่น ขี่ม้า = (ชาย) นุ่งผ้าขาวม้า = (หญิง) มีประจำเดือน ต้องใช้ผ้ารั้ง ฯลฯ และยังให้คำอธิบายต่อไปอีกด้วยว่า สำนวน น. ถ้อยคำหรือประโยคภาษาอังกฤษ มีความหมายไม่ตรงตัว เช่น Green thumb แปลตรงตัวว่า “หัวแม่มือสีเขียว” แต่ความหมายที่แท้จริงว่า “มือเย็น ปลูกต้นไม้ได้งามดี (English Idioms)
นอกจากนั้นแล้ว บทนำในหนังสือ “สำนวนไทย” ของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักงานภาษาและวัฒนธรรม ได้อธิบายคำว่า “สำนวน” นี้ไว้อย่างน่าฟังเป็นอย่างยิ่ง จึงขออนุญาตอัญเชิญส่วนหนึ่งของบทนำนั้น มาเผยแพร่เป็นวิทยาทานต่อไปดังนี้คือ
“คำพูดของมนุษย์เราไม่ว่าชาติใดภาษาใด แยกออกได้กว้าง ๆ เป็นสองอย่าง อย่างหนึ่งพูดตรงไปตรงมาตามภาษาธรรมดา พอพูดออกมาก็เข้าใจกันได้ทันที อีกอย่างหนึ่งพูดเป็นชั้นเชิงไม่ตรงไปตรงมาแต่ให้มีความหมายในคำพูดนั้น ๆ คนฟังอาจเข้าใจความหมายทันทีถ้าคำพูดนั้นใช้กันแพร่หลายจนอยู่ตัวแล้ว แต่ถ้าไม่แพร่หลายคนฟังก็ไม่อาจเข้าใจได้ทันที ต้องคิดจึงเข้าใจ หรือบางทีคิดแล้วเข้าใจไปอย่างอื่นก็ได้ หรือไม่เข้าใจเอาเลยก็ได้ คำพูดเป็นชั้นเชิงนี้ เราเรียกกันว่า “สำนวน” คือคำพูดเป็นสำนวนอย่างชาวบ้านเขาเรียกว่า “พูดสำบัดสำนวน” คำ “สำบัด” ที่ใช้เป็นคู่กับ “สำนวน” ไม่ทราบว่าจะเขียนกันอย่างไร ในที่นี้เขียน “สำบัด” โดยเข้าใจว่าจะมาจากคำ “สะบัด” เช่นใครพูดจาห้วน ๆ เราก็ว่า “พูดสะบัด” หรือว่า “พูดจาสะบัดสะบิ้ง” “สำบัด” จึงน่าจะเพี้ยนมาจากคำ “สะบัด” คือเมื่อใช้คู่กับ “สำนวน” คำ “สะบัด” ก็กลายเป็น “สำบัด” ไป ไม่ใช้ “สมบัติ” พวกทรัพย์สมบัติอย่างที่พูดเพี้ยน ๆ ไปเป็น “สม” ก็มีนั้น คำพูดเป็นสำนวน คำเป็นชั้นเชิง หรือจะว่าพูดสะบัดสะบิ้งก็ได้นี้ เราเคยเรียกว่า “พูดเล่นสำนวน” บ้าง หรือ “พูดสำบัดสำนวน” บ้างดังกล่าวมาแล้วคนโวหารจัด ๆ สมัยนี้ เขามักจะใช้โวหารว่า “พูดคารม อมสำนวน”
สำนวนนั้นเกิดจากมูลเหตุต่าง ๆ เป็นต้นว่าเกิดจากธรรมชาติ เกิดจากการกระทำ เกิดจากเครื่องแวดล้อม เกิดจากอุบัติเหตุ เกิดจากแบบแผนประเพณี เกิดจากลัทธิศาสนา เกิดจากความประพฤติ เกิดจากการเล่น เกิดจากเรื่องแปลก ๆ ที่ปรากฏขึ้น เกิดจากนิยายทนทานตำนาน ตลอดจนพงศาวดารหรือประวัติศาสตร์ และอะไรต่ออะไรอื่น ๆ อีกมากแล้วแต่สมัยเวลา มูลเหตุต่าง ๆ ดังกล่าว ใครช่างคิด ช่างนึก ช่างสังเกตและเป็นคนมีโวหารก็นำเอาแต่ใจความมาพูดสั้น ๆ เป็นการเปรียบบ้างเทียบบ้างเปรยบ้าง กระทบบ้าง ประชดประชันบ้าง พูดเล่นสนุก ๆ ก็มี พูดเตือนสติให้คิดก็มี ต่าง ๆ กัน ที่เกิดจากธรรมชาติก็เช่น “ตื่นแต่ไก่โห่” คือธรรมชาติของไก่ย่อมขันในเวลาเช้ามืดเสมอ”
(ยังมีต่อ)

About the author - VIPAT DHARAPAK




VIPAT DHARAPAK was a former senior Thai/English translator for the World Bank { The International Bank for Reconstruction & Development (IBRD), Washington D.C., USA, in the early 1980's. }

His team of professionals undertakes to translate all types of text - Thai/English or vice versa - incl. papers in support of immigration applications and related documents and high-impact resumes.

AREAS OF EXPERTISE IN TERMINOLOGY: Banking, commercial, computer-related, financial, legal, medical, pharmaceutical, etc.
Accuracy, Confidentiality, Promptitude, Punctuality, & Satisfaction Guaranteed.

You may reach him at:
(562) 531-9422 U.S.A.
E-mail address:
Vipat777@yahoo.com