LOST IN TRANSLATION (ต่อ) # 36-06

LOST IN TRANSLATION (ต่อ)
บทความหรือเรื่องราวซึ่งได้แปลมาจากภาษาหนึ่ง ไปเป็นอีกภาษาหนึ่งนั้น บางครั้งเราก็ใช้คำว่า “ถอดความมาจาก……” ซึ่งทำให้เราอดคิดเรื่อยเปื่อยไปไม่ได้ว่า เขาถอดความออกมาจากภาษาเดิมได้หมดจดเกลี้ยงเกลาครบถ้วนขบวนการหรือเปล่าเนี๊ยะ
สถาบันการศึกษาทั่วไปในสหรัฐ ฯ ส่วนมากนั้น มักจะมีหลักสูตรสอนภาษาอังกฤษ (อังกฤษอเมริกัน) ซึ่งเขาเรียกว่า “ESL” หรือ “English as Second Language” เพื่อให้โอกาสแก่บรรดาประชาชีต่างชาติผู้ที่ได้อพยพเข้ามาเพื่อแสวงหา “คุณภาพของชีวิตที่ดีกว่า” ได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษอเมริกันเพิ่มเติมได้ถึงไหนถึงกันสุดแต่ใจรัก โดยไม่มีข้อขีดขั้นหรือกีดกันแต่อย่างใด
อันว่าภาษาเดิมของบุคคลตามสันชาติหรือถิ่นกำเนิดนั้น เขาเรียกว่า “Native tongue” หรือ “Mother tongue” หรือ “First language” ซึ่งทั้งสามคำนี้มีความหมายหรือคำแปลเหมือนกัน สุดแต่จะเลือกใช้ตามความเหมาะสม และจาก “The First language” ของใครของมันแล้วนั้นก็มาถึง “Second language” อันจะเป็นเสมือนสะพานที่ช่วยให้แต่ละบุคคลผู้สนใจไฝ่แสวงหาความเจริญก้าวหน้าให้แก่ชีวิตตน ได้สามารถก้าวข้ามขอบรอยควาย ออกไปสู่โลกกว้างใหญ่ที่เต็มไปด้วยสิ่งอันน่าพิศมัย น่าสัมผัส รอให้ตักตวงเอาได้ สุดแต่ความสามารถและปรารถนาของแต่ละบุคคลนั้น แล
เราท่านในฐานะที่เป็นคนไทย ตราบใดที่ไม่ได้เกิดในสหรัฐ ฯ หากแต่ “จุติ” ที่เมืองไทย มีสูติบัตรออกให้โดยทางราชการไทย ก็ไม่น่าปฏิเสธว่าภาษาไทยไม่ใช้ภาษาที่หนึ่งของตน และก็มีอยู่ถมไปที่เขาพอใจที่จะเป็นเอก (To excel) ในด้านภาษาไทยซึ่งจะเป็นแม่กุญแจที่สามารถช่วยให้ไขไปสู่โอกาสที่จะได้สัมผัสกับวัฒนธรรมไทย และวรรณคดีไทยอย่างลึกซึ้งถึงแก่น โดยไม่ยอมให้ความสำคัญแก่ภาษาอังกฤษซึ่งปัจจุบันนี้ถือว่าเป็นภาษากลางของโลกแม้แต่น้อย
แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีคนไทยอีกมาก ที่ได้ดิ้นรน ขนขวาย พยายามเอาดีในด้านภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาที่สอง และผู้เขียนคอลัมน์นี้ก็เป็นคนหนึ่งซึ่งอยู่ในพวกหลังนี้ด้วยใจรัก และเข้ามาจับงานแปลด้วยใจปอง
ถึงกระนั้นก็ดี ใช่ว่าผู้เขียนจะเป็นเลิศในภาษาอังกฤษก็หาไม่ คนที่เก่งเป็นเลิศกว่าก็มีถมไป แต่เขาเหล่านั้นไม่เอาไหนในเรื่องภาษาไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการเขียน และในทางตรงข้าม ผู้ที่เชี่ยวชาญภาษาไทยยิ่งกว่าผู้เขียนก็มีเป็นจำนวนหลายร้อยกระบุงโกย แต่ท่านเหล่านั้นไม่สนใจในด้านภาษาอังกฤษทำนองเดียวกับที่ได้กล่าวมาถึงก่อนแล้วข้างต้น
ผู้เขียนตระหนักอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันว่าในเรื่องของภาษานั้น “เหนือฟ้ายังมีฟ้า และเหนือกระดาษก็ยังมีซาละเปา” (ตามที่ พล.อ.อ. หริน หงส์สกุล อดีตประธานรัฐสภาสมัยหนึ่งได้เคยกล่าวไว้เมื่อนานมาแล้ว) จึงพยายามเรียนรู้เพิ่มเติมศัพท์แสงใหม่ ๆ และพยายามตามให้ทันโลกอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน (ยังมีต่อ)

คารม-คม-ระคาย (Quips & quotes)

• To keep young stay around young people. To get old, try to keep up with older folks. ถ้าอยากเป็นหนุ่มสาวอยู่เสมอ ก็ต้องหันไปคบหาสมาคมกับคนในวัยนั้น แต่ถ้าหมั่นไปเสวนากับคนเฒ่าคนแก่ทั้งหลายแล้วก็ย่อมจะแก่ตามไปกับเขาด้วยได้สมใจแน่นอน
• There is no place like home if you haven’t got the money to go out. ที่ไหนก็สู้อยู่บ้านของเราเองไม่ได้ ตราบใดที่เรายังกระเป๋าแห้งอยู่

ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

No comments:

Post a Comment