สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ) # 42-08

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
DRIVE
“Drive” เป็นคำสุดท้ายของสำนวนอเมริกันอักษร “D”ที่จะแนะนำกันในคอลัมน์นี้ ซึ่งอาจดูเป็นการรวบรัดอยู่สักหน่อย แต่เนื่องจากที่ปีนี้ทั้งปีหมดสิ้นไปแล้วกับ “D” เพียงตัวเดียว จึงคิดว่าเป็นการสมควรที่จะต้องเดินหน้าไปยังอักษร “E” ซึ่งเป็นตัวถัดไปเสียที
ผู้เขียนอดคิดไม่ได้ว่า เนื่องจากได้ใช้เวลาไปแล้วถึงสี่ปีเศษ กับอักษรสี่ตัว คือ A, B, C, และ D ดังนั้นก็อาจเป็นได้ว่า คอลัมน์นี้คงจะใช้เวลาอีกกว่า 20 ปี เพราะยังมีอักษรเหลืออยู่กว่า 20 ตัวทีเดียวเชียว
คิดอย่างนี้ แล้วก็ต้องร้องว่า “แม่โว้ย”
เรารู้จักกับคำว่า “Drive” กันอยู่แล้วในความหมายทั่วไปที่ว่าขับรถยนต์ อย่างเช่นเรากล่าวว่า “I drive to work.” คือฉันขับรถไปทำงาน ซึ่งหมายความว่าขับรถยนต์ไปเอง โดยมิได้ใช้รถเมล์หรือโดยสารรถประจำทางอื่น ๆ หรือเราจะกล่าวว่า “Don’t stop -- drive on !” คืออย่าเพิ่งจอดรถตรงนี้ ขับเลยไปก่อน ฯลฯ
สำนวนแรกของคำว่า “Drive” น่าจะเป็นถ้อยคำว่า “Drive at” หรือ “Be driving at something” ซึ่งหมายถึงการกล่าวเรื่องอะไรซึ่งมีจุดประสงค์มุ่งไปที่ประเด็นใด ๆ โดยเฉพาะเจาะจง อย่างเช่นเขากล่าวว่า “My father was driving at how important it is to get an education.” คือพ่อฉันกำลังกล่าวเน้นถึงประเด็นที่ว่าการศึกษาเล่าเรียนเป็นเรื่องที่สำคัญจำเป็นสำหรับคนเราถึงเพียงใด
“Drive a hard bargain” แปลว่าต่อรองราคาหรือเงื่อนไขที่ได้เปรียบมากกว่าปกติทั่วไป (To work hard negotiating prices or agreement in one’s favor) เช่น “I saved $ 500 by driving a hard bargain when I bought my new car.”
“Drive someone crazy” หรือ “Drive someone mad” แปลว่าทำให้ใครคนหนึ่งแทบจะเป็นบ้าตาย เช่นกล่าวว่า “John was so strange sometimes that he actually drove his wife crazy.” คือเจ้าจอห์นมันบางครั้งก็ผิดไปจากปกติจนทำให้เมียของเขาแทบจะเป็นบ้าตายทีเดียว หรือ “This itch is driving me crazy.” คือไอ้เจ้าอาการคันคะเยอนี้มันทำให้ผมแทบจะบ้าตายอยู่แล้ว
“Drive someone up the wall” สำนวนนี้มีความหมายใกล้เคียงกับถ้อยคำข้างต้น เช่น “John drove his wife up the wall.” หรือจะกล่าวว่า “Stop whispering that tune. You’re driving me up the wall.” เลิกผิวปากเพลงนั่นเสียทีเถอะ เอ็งกำลังทำให้กูประสาทเสีย (หรือบ้าตาย) อยู่แล้ว
“Drive something home” หมายความว่าพูดเรื่องราวอะไรให้แจ่มกระจ่าง ให้คนฟังสามารถเข้าใจได้โดยชัดแจ้ง (To make something clearly understood) เช่น “Sometimes you have to be forceful to drive home a point.” คือ บางครั้งท่านจำเป็นต้องเน้นประเด็นของเรื่องให้ชัดแจ้งเพื่อคนฟังจะสามารถเข้าใจได้อย่างชัดแจ้งเลยทีเดียว
“To be a driving force” หมายถึงคนหรือสิ่งใดซึ่งผลักดันให้เกิดพลังหรือความคิดอ่านอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นมา เช่นว่า “Love is the driving force behind Tom.” คือ ความรักเป็นสิ่งผลักดันหรือมีอานุภาพที่ทำให้นายทอมเขามีมานะที่จะต่อสู้กับปัญหาชิวิตของเขาต่อไป
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ) # 41-08

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
DRINK
คำว่า “Drink” (ดริงค) ซึ่งเมื่อใช้เป็นคำกริยาแปลว่า “ดื่ม” ถ้าใช้เป็นคำนามก็เป็นเครื่องดื่ม และเมื่อเรียงกันตามตัวอักษรในภาษาอังกฤษหรืออังกฤษมะกันกล่าวได้ว่าใกล้จะสุดท้ายของอักษร “D” แล้ว
อีกทั้งประจวบกับที่เราได้มาถึง “Drink” นี้ ในเทศกาลสิ้นปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ ซึ่งฝรั่งเขาถือว่า เป็นเทศกาลพักผ่อน(Holiday season)เพื่อเฉลิมฉลองกันตามประเพณี ที่ได้บำเพ็ญกันมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายร้อยปีขึ้นไปแล้ว
ฉะนั้น จึงถือได้ว่า เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการแนะนำถ้อยคำและประโยคต่าง ๆ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์แก่บรรดาผู้ที่สนใจเรียนรู้ได้พอสมควรเลยทีเดียว
“What would you like to drink?” คุณอยากดื่มอะไรครับ? เป็นคำถามที่บุรุษจะใช้กับเพื่อน ๆ หรือโดยเฉพาะมิตรหญิง โดยที่เป็นประโยคคำถามที่ถือว่าสุภาพ และคำตอบจะเป็นว่า “Orange juice, please.” หรือ “A glass of red wine for me.” ก็ยังไหว สุดแท้แต่ชั่วโมงการบินของฝ่ายผู้ตอบ ส่วนจะระบุประเภทหรือยี่ห้อของไวน์ต่อท้ายไปอีกด้วยเพื่อข่มขวัญผู้ร่วมโต๊ะก็ยังได้ จะเป็นอะไรไป
“Let’s stop for something to drink.” เป็นประโยคที่ใช้ชักชวนผู้ร่วมโดยสารรถไปด้วยกัน เพื่อจอดและหาอะไรดื่มแก้คอแห้ง และไอ้เจ้าเครื่องดื่มที่ว่านี้ จะเป็นเพียงน้ำอัดลม หรือเป็นน้ำเมากันเลยทีเดียวก็แล้วแต่ตัวใครตัวมันก็ยังไหว อนึ่ง ขณะที่กำลังติดพันอยู่กับเพื่อนฝูงและท่านเกิดอยากได้เหล้ามากลั้วคอสักแก้วหนึ่ง ท่านจะถามเพื่อน ๆ ว่า “How about a quick drink?” คือถามว่าเอาเหล้ามาดื่มสักคนละแก้วไหม?
ถ้าคิดจะเลี้ยงเพื่อนฝูงสักรอบหนึ่ง ท่านก็อาจกล่าวว่า “Drinks are on me.” ซึ่งหมายความว่า “I will pay for them.. คืออั๊วจะเป็นคนจ่ายตังค์เอง
ในเรื่องน้ำเมา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์นั้น ตามธรรมเนียมก็มักนิยมที่จะดื่มอวยพรให้กันและกัน ซึ่งเราก็เพียงแต่กล่าวสั้น ๆ ว่า “To us.” และว่าแล้วก็จะจิบ (Take a sip) หรือกระดกแก้วให้เกลี้ยงไปเลย (Gulp it down) ก็สุดแต่อีกนั่นแหละ
หรือถ้าจะดื่มเพื่ออวยพรให้แก่ใครสักคนหนึ่ง ก็กล่าวว่า “Let us drink to Mr. So & so.” และถ้าจะกล่าวให้เป็นกิจลักษณะหรือเป็นทางการสักหน่อย ก็ใช้คำว่า “I would like to propose a toast to the bride and groom.” คือ ผมขอเชิญชวนดื่มอวยพรให้แก่เจ้าบ่าวเจ้าสาว (ขอให้สังเกตว่าในภาษาฝรั่งเขาให้คำว่าเจ้าสาวขึ้นหน้า)
นอกจากนั้นแล้ว ยังมีถ้อยคำที่น่าทำความรู้จักอีกมากมายก่ายกอง แต่เนื้อที่ของคอลัมน์จำกัด จึงขอเลือกเฉพาะที่ให้ประโยชน์มากกว่า อย่างเช่น “That guy drinks like a fish.” คือไอ้หมอนั้นดื่มหัวราน้ำเลยทีเดียว ซึ่งประโยคนี้เปรียบเทียบกับปลา แต่ของไทยเราเพียงแต่ว่าเอาหัวจุ่มน้ำเท่านั้นเอง
“Come on, drink up and we’ll go home.” เอาละ ดื่มให้หมด ๆ จะกลับบ้านเสียทีแล้ว
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ) # 40-08

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
DREAM
“I dreamed about you last night.” เมื่อคืนวานนี้ผมนอนฝันถึงคุณครับ หรือถ้าจะพูดในสำนวนไทยว่า “เมื่อคืนนี้พี่นอนฝันถึงน้อง” ก็ยังไหว ขอให้สังเกตด้วยว่า ประโยคตัวอย่างนี้เป็นประโยคอดีตกาล ซึ่งใช้คำว่า “Dreamed” หรือจะเปลี่ยนไปใช้เป็น “Dreamt” ก็ได้ ไม่ผิดกติกาของเขา
อย่างไรก็ดี คำว่า “Dreamed” ซึ่งเป็นอดีตกาลและเขียนแบบที่นิยมในด้านอังกฤษอเมริกัน ส่วน “Dreamt” นั้น เป็นแบบของทางอังกฤษซึ่งเรียกว่า “British English” มากกว่า
“I dreamed that I could fly.” ฉันฝันไปว่าฉันบินได้
“Did I talk in my sleep? I must have been dreaming.” ผมละเมอตอนผมหลับนั้นหรือเปล่า? ผมคงกำลังฝันอะไรอยู่แน่ ๆ เลยทีเดียว
“I never promised to lend you my car; you must be dreaming.” อั๊วไม่เคยให้สัญญิงสัญญากะลื้อไว้ก่อนเลยว่าจะให้ยืมรถของอั๊วไปใช้ ลื้อฝันไปเองต่างหากว๊อย
“My brother dreamed his life away, never really achieved anything.” เฮียของอะฮั้นเอาแต่นั่งฝัน ฝันเอา ๆ ไม่เคยทำอะไรเป็นเรื่องเป็นราวได้สักอย่างเล้ย
“Going to Paris is the kind of trip that most of us only dream about. คือ การไปเที่ยวถึงนครปารีสนั้นเป็นการเดินทางเที่ยวซึ่งพวกเราส่วนมากได้แต่ฝันถึงเท่านั้นเอง (to dream about)
“To dream up a crazy idea” คือการฝันเฟื่องเรื่องไร้สาระ หรือเรื่องบ้าบอคอแตก (To dream up)
ประโยคต่าง ๆ ข้างต้นเป็นตัวอย่างของการใช้คำว่า “Dream” ในความหมายและใจความที่ใช้แล้วสามารถทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเข้าใจเราได้ง่าย ๆ และเป็นภาษาที่ถูกต้อง น่าจดจำเอาไว้ใช้ในภายภาคหน้า ส่วนประโยคต่อไปนี้เป็นการใช้คำว่า “Dream” ในลักษณะที่เป็นคำนามและเป็นถ้อยคำสำนวนอันน่าเรียนรู้ต่อไปอีกด้วย เช่น
“I had a vivid dream about my old school.” ผมเคยฝันถึงโรงเรียนเก่าของผมด้วยความทรงจำที่ชัดเจนเลยจริง ๆ (Vivid dream)
ถ้าเพื่อนมันคุยโม้ขึ้นมาว่า “I will be the manager before I’m 30.” คือมันว่าจะขึ้นเป็นผู้จัดการได้ก่อนอายุถึงสามสิบ และถ้าอยากจะขัดคอ ให้มันโกรธเล่นก็สวนไปได้ว่า “In your dreams.” ขอให้สังเกตว่ามีตัว “S” ท้าย “Dreams” ซึ่งแปลว่า “เธอจะฝันไปกระมัง”
“If he thinks it is easy to get to that position, he is living in a dream world.” ถ้าเขาคิดว่าจะขึ้นไปถึงตำแหน่งนั้นได้อย่างง่าย ๆ ละก้อ เขามีชีวิตอยู่กับแค่ความฝันเท่านั้นเอง (A dream world)
“You must be in dream-land if you think he’ll pay that much for you.” เธอได้แต่ฝันไปเท่านั้น ถ้าเธอคิดว่าเขาจะทุ่มเงินถึงแค่นั้นเพื่อเธอ (Dream-land)
“You can’t be leaving me -- this is a bad dream!” คุณจะทิ้งผมไปเลยไม่ได้น๊ะครับ โอ้ย นี่เป็นฝันร้ายเลยทีเดียว (A bad dream)
“Wet dream” ฝันเปียก A wet dream หมายถึงการฝันในเรื่องเซ็กของพวกหนุ่ม ๆ และเกิดอาการหลั่งโดยไม่รู้สึกตัวในยามหลับ
“Sweet dreams” ฝันดีเถิดน๊ะคนดี ……….
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ) # 39-08

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
DRAW
วันนี้เป็นการต่อในสำนวนซึ่งใช้คำว่า “Draw” นี้ ดังที่ได้เริ่มไว้บ้างแล้วในสัปดาห์ที่แล้ว กล่าวคือ
“Draw somebody’s fire….” ถ้อยคำภาษามะกันสำนวนนี้แปลว่า “ออกรับหน้าเสียแทนเพื่อแบ่งเบาช่วยเหลือผู้อื่นมิให้ต้องเดือดร้อนหนัก” ในภาษาของเขาเองก็ให้คำอธิบายว่า “To make somebody direct their anger, criticism, etc. at you so that others do not have to face it.” เราใช้ถ้อยคำนี้ในประโยคตัวอย่างเช่น “I just drew our angry customer’s fire so that our other coworkers wouldn’t have to waste time with him.” คือผมได้ออกรับหน้าเจ้าลูกค้าที่ขุ่นเคืองอยู่นั้นเสียเอง เพื่อเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ จะได้ไม่ต้องไปเสียเวลากับเขาไปเปล่า ๆ
“Draw the line at something/doing something” หมายความว่าจะกำหนดขอบเขตหรือวงเขตไว้ว่าจะทำให้หรือยอมให้ได้แค่ไหนเท่านั้น และสำนวนนี้ใช้ได้ในประโยคเช่น “The line has to be drawn somewhere -- I can’t go on lending you money.” คืออั๊วจะให้ลื้อมายืมเงินต่อไปเรื่อย ๆ นั้นไม่ได้ มันต้องมียุติลงบ้างสักวันหนึ่งซิ
“Draw oneself up to one’s full height” หมายความว่ายืดตัวขึ้นอย่างทรนง คือยืดอกยืนขึ้นด้วยความรู้สึกพร้อมที่จะต่อสู้ ในภาษาของเขาเองก็ใช้คำอธิบายว่า “Stand as tall and straight as possible (as a sign of determination”) เช่นในประโยคที่ว่า “Never!” Hillary replied, drawing herself up to her full height. แปลว่า ฮิลลารี่กล่าวว่า “เมินเสียเถิด” ว่าแล้วหล่อนก็ยืดอกพร้อมลุกยืนขึ้นอย่างเป็นสง่าเลยทีเดียว
“Draw something up” ตรงกับคำไทยที่ว่า เขียนเอกสารอะไรซึ่งต้องการความพิถีพิถันสักหน่อยขึ้นมา อย่างเช่น “To draw up an agreement” คือร่างหนังสือสัญญาอะไรขึ้นมาสักฉบับหนึ่ง ฯลฯ และ ณ ที่นี้ขอให้สังเกตด้วยว่า “To draw something up” นั้น มีคำว่า “Something” มาต่อในฐานะเป็นคำกรรม (Object) แต่ถ้าจะกล่าวเพียงว่า “Draw up” เฉย ๆ เช่น “the cab has drawn up outside the house.” ก็แปลได้ว่า รถแท็กซี่ได้มาจอดเทียบรออยู่หน้าบ้านแล้ว
ทั้งสิ้นเท่าที่ได้แนะนำไปแล้วนั้น เป็นการใช้คำว่า “Draw” ในฐานะเป็นคำกริยา และคำเดียวกันนี้ยังสามารถทำหน้าที่เป็นคำนาม (Noun) ได้อีก ในความหมายต่าง ๆ อีกหลายรูปแบบ อาทิเช่น
“The draw of the raffle takes place on Saturday.” คือจะมีการจับฉลากชิงรางวัลกันในวันเสาร์ หรือ “The match ended in a draw 2-2.” คือการแข่งขันลงท้ายเสมอกันสองต่อสอง คือไม่มีใครแพ้ใครชนะ (อาจต้องมีการแข่งขันกันต่อไปอีกหนึ่งครั้ง ฯลฯ)
และยังมีอีกคำหนึ่งที่ว่า “Drawback” ซึ่งสามารถใช้เป็นคำนาม และมีความหมายว่า ข้อเสียหรือผลเสียของอะไรสักอย่างหนึ่ง เช่น “The great drawback to living on the main road is the constant noise.” แปลว่าข้อเสียประการสำคัญที่มีบ้านเรือนอาศัยอยู่ติดถนนใหญ่ก็คือเสียงยวดยานซึ่งมีมารบกวนอยู่ตลอดเวลาเลย
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ) # 38-08

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
DRAW
คำที่น่าสนใจถัดไปจากคำว่า “Down” ก็คือ “Draw” (ดรอออ์ -- ออกเสียงยาว) ซึ่งในด้านไวยากรณ์นั้นสามารถใช้ได้ทั้งที่ฐานะเป็นคำนาม และกริยาในเบื้องต้น และเมื่อนำเข้ารวมกับคำอื่น ๆ ก็จะใช้เป็นถ้อยคำที่มีความหมายเป็นสำนวนในภาษาอังกฤษอเมริกันได้อีกมากมาย
“Draw” นี้ เมื่อใช้เป็นคำกริยาแล้ว ก็มีความหมายได้ต่าง ๆ ดั่งในประโยคตัวอย่างเช่น “Your daughter draws beautifully คือ ลูกสาวของคุณวาดรูปได้สวยงามดีจริง ๆ หรือ “The car is drawing slowly away from the curb” คือรถคันนั้นก็ค่อย ๆ เคลื่อนออกไปจากขอบทางเท้า หรือ “I draw my chair up (to the table).” คือผมไปลากเก้าอี้ (มานั่งที่โต๊ะ)
“Can you draw the cork out for me?” คือคุณจะช่วยเปิดจุดขวดนี้ให้ดิฉันหน่อยไดๆไหมคะ? หรือ “What conclusions did you draw from your study?” คือจากที่เธอได้ศึกษาเรื่องนั้นแล้ว พอจะสรุปให้เป็นเนื้อถ้อยกระทงความอะไรได้บ้างไหม?
“The flue should draw better once it has been swept.” คือปล่องควันนั้นควรดูดลมขึ้นไปได้ดีขึ้นมากเลยทีเดียวหลังจากที่ได้จัดการปัดกวาดเสียจนสะอาดหมดจดแล้ว หรือ “My wife drew inspiration from her childhood experiences.” คือภรรยาของผมเขาได้แรงดลใจมาจากประสบการณ์สมัยที่ยังเด็ก ๆ นั้นเป็นอย่างมากเลยทีเดียว หรือ “It is good to be drawing a monthly salary again.” คือนี่ดีน๊ะที่พอได้เงินเดือนเงินดาวไปเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้อีกหนหนึ่ง (ในความหมายที่ว่า ไม่งั้นก็แย่เลยทีเดียว)
“Draw an analogy” แปลว่าเอามาเปรียบเทียบกัน ในลักษณะที่เราเรียกว่า “อุปมาอุปไมย” ซึ่งถ้อยคำนี้เราจะใช้ในประโยคตัวอย่างเช่น “The teacher drew an analogy between the human heart and a water pump.” คือคุณครูได้เอาลักษณะของหัวใจมนุษย์ขึ้นมาเปรียบเทียบกับปั๊มน้ำเข้าทำนองอุปมาอุปไมย (คือมีความคล้ายคลึงกันอยู่เป็นอันมาก) ดังนั้นคำว่า “Draw an analogy” ก็แปลว่าการเปรียบเทียบกันในลักษณะอุปมาอุปไมยนั่นเอง (A comparison of one thing with another thing that has similar features.)
“Draw (sb’s) attention to something” ถ้อยคำนี้เป็นสำนวนซึ่งมีความหมายว่า เรียกให้หันมาสนใจ หรือพูดง่าย ๆ ว่า “ชี้ให้เห็น” ซึ่งเราจะใช้ในประโยคตัวอย่างเช่น “My secretary drew my attention to an error in the report.” คือแม่เลขาของผมได้ชี้ให้ผมเห็นข้อผิดพลาดประการหนึ่งในรายงานฉบับนั้น
“Draw a blank” ถ้อยคำนี้ก็เป็นสำนวนซึ่งแปลว่า หาอะไรไม่เจอ หรือหาไม่พบ (= Get no response or result) ซึ่งเราจะใช้สำนวนนี้ได้ในประโยคตัวอย่างเช่น “I tried looking John D. Mar up in the telephone directory but I drew a blank.” คือผมได้พยายามค้นหาชื่อของนายจอห์น ดี มาร์ ในสมุดโทรศัพท์แล้ว แต่หาชื่อของเขาไม่เจอ
“Draw breath” (ดรอออ์ เบรธ) หยุดพักหายใจได้บ้าง หลังจากที่ทำงานอย่างเร่งรีบ แทบจะหายใจหายคอไม่ทัน ซึ่งสำนวนนี้ใช้ได้ในประโยคตัวอย่างเช่น “She talks all the time and hardly stops to draw breath.” คือ สาวเจ้าเอาแต่พูดแทบจะไม่ได้หยุดหายใจบ้างเลยทีเดียว
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ) # 37-08

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
DOWN
เป็นสัปดาห์ที่สี่แล้วกับ “Down” เพียงคำเดียว ดังนั้นก็จะรวบรัดเลือกเอาแต่เพียงสำนวนที่เป็นประโยชน์แท้ ๆ มาเสนอเป็นการสรุปให้เสร็จสิ้นเพื่อเดินหน้ากันต่อไป คือ
“Down on luck” หรือ “Down on One’s luck” (ดาวนนน ออน ลักค์) ส่วนคำว่า “One’s” นั้น หมายถึงใครก็ได้ และวลีนี้หมายความว่ากำลังดวงตก หรือตกอับก็ว่าได้ (without any money, unlucky) ซึ่งเราใช้ในประโยค เช่น “Can you lend me twenty dollars? I’ve been down on my luck lately.” คือถามว่าให้อั๊วขอยืมตังค์สักยี่สิบดอลล์ได้ไหม? ตอนนี้อั๊วกำลังตกอับ (หรือถังแตกอยู่สักหน่อย)
“Down-size” (ดาวนนน ไซดด์) เป็นคำซึ่งบรรดาผู้ที่เป็นลูกจ้างของบริษัทห้างร้านเสียวสันหลัง เพราะหมายถึงการลดจำนวนคนทำงานให้น้อยลง เพื่อตัดรายจ่าย (To reduce the number of people who work in a company, business, etc.)
“Down’s syndrome” (ดาวนนนส ซินโดรมม์) หมายถึงอาการผิดปกติหรือเฉี่อยชาในด้านสมองของบุคคลซึ่งน่าสงสารคนหนึ่งที่เกิดมามีกรรม และเป็นอาการของโรคซึ่งในปัจจุบันก็ยังไม่มีทางแก้ไขหรือรักษาให้หายเป็นปกติได้ ลักษณะอาการของผู้ป่วยมักจะเป็นผู้ที่มีใบหน้าแบนและกว้างผิดปกติ ประกอบทั้งลูกตาทั้งสองข้างเอียงหรือเฉผิดไปจากธรรมดา พร้อมด้วยอาการผิดปกติทางสมองด้วยอย่างว่า
“Down the drain” (ดาวนนน เธอะ เดรนน) วลีนี้เป็นสำนวนซึ่งหมายถึงการเสีย หรือสูญเสียอะไรไปเปล่า ๆ ปลี้ ๆ เสียอย่างไร้ประโยชน์ และเป็นสำนวนที่ติดปากฝรั่ง คือมักจะพูดกันอยู่เป็นประจำวันเลยทีเดียว เช่นกล่าวว่า “I just hate to see all that money go down the drain.” ซึ่งแปลว่าไอ้อั๊วน๊ะเสียดายเหลือเกินที่ต้องเห็นว่าลงท้ายก็ต้องทิ้งเงินก้อนนั้นไปเปล่า ๆ (เสมือนโยนเงินลงท่อน้ำทิ้งไปอย่างนั้นแหละ) หรือในประโยคที่ว่า “Well, there goes the whole project, right down the drain.” คือไอ้โครงการบ้าบอคอแตกนั้น ลงท้ายก็ไร้ประโยชน์สิ้นเชิง เหมือนกะโยนเงินลงท่อน้ำทิ้งไปเท่านั้นเอง
“Down the tube” หรือ “Down the tubes” (ดาวนน เธอะ ทูวบ์ หรือทูวบส์) คำนี้ออกเสียงตัว “ท” กับ “ว” กล้ำกัน และในภาษามะกันเขานั้น จะออกเสียงตัวเอส ซึ่งแสดงเป็นพหูพจน์หรือไม่ก็ใช้ได้ทั้งสองทาง โดยที่วลีนี้เป็นคำตลาด ที่มีความหมายคล้ายกัน หรือทำนองเดียวกันกับที่กล่าวว่า “Down the drain” เช่นกล่าวว่า “His political career went down the tubes after the scandal.” คือสภาพการที่เป็นนักการเมืองโดยอาชีพของเขาก็เป็นอันจบเห่กันเพราะเรื่องที่ฉาวโฉ่น่าอดสูนั่นเอง
“Down-to-earth” (ดาวนนน ธู เอิร์ธ) เป็นคำคุณศัพท์และเป็นสำนวนซึ่งหมายความว่า ให้ทำอะไรซึ่งเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล ไม่ใช่เรื่องที่เพ้อฝันเลื่อนลอย (Practical & not dreaming) เช่นกล่าวว่า “The committee’s plans for the village are anything but down-to-earth.” คือ โครงการของคณะกรรมการเพื่อหมู่บ้านนั้นเป็นเรื่องฝันหวานทั้งเพ
และขอจบกับคำว่า “Down” นี้เพื่อที่จะขึ้นคำใหม่ต่อไป
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ) # 36-08

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
DOWN
เอาเป็นว่า ไม่ต้องพูดพล่าม ไม่ต้องทำเพลง ให้เสียเวลา และเสียเนื้อที่หน้ากระดาษไปเปล่า ๆ แต่ให้เรามาเริ่มด้วยถ้อยคำซึ่งใช้ “Down” ในความหมายที่เป็นสำนวนกันเลยทีเดียว เช่น
“Downgrade” (ดาวนนน เกรด) คำนี้ใช้เป็นคำกริยา ซึ่งสามารถผันไปเป็น “Downgrades, downgrading, downgraded” ได้ตามกฎเกณฑ์ไวยากรณ์ และหมายความว่า โดนลดฐานะลง หรือมีลักษณะการย่ำแย่ลง เช่น “The patient’s condition has been downgraded from critical to serious.” คืออาการของผู้ป่วยทรุดหนักลง จากน่าเป็นห่วง เป็นอาการหนักมาก หรือจะใช้กริยาคำนี้เมื่อหมายถึงการลดขั้นหรือลดตำแหน่งให้ต่ำลงไปจากเดิมก็ได้
“Downhearted” (ดาวนนน ฮาร์ทเทด) ซึ่งมักจะใช้เป็นคำคุณศัพท์เมื่อต้องการหมายถึงอาการหรือความรู้สึกที่ท้อถอย หมดแรงใจ หรือสิ้นกำลังใจ อย่างเช่นจะกล่าวว่า “You are feeling sad and discouraged.”
“Downhill” (ดาวนนน ฮิลลล) เป็นคำใช้เป็นคุณศัพท์หรือกริยาวิเศษณ์ก็ได้ หากแต่ความหมายอาจก่ำกึ่ง ซึ่งจะต้องทำความเข้าใจกันให้ดีสักหน่อย กล่าวคือ เมื่อใช้ในบางลักษณะ ก็อาจหมายความถึงลักษณะการที่เสื่อมโทรมลงไปจากเดิม อย่างเช่นในประโยคว่า “This part of the town used to be fashionable, but it is starting to go downhill.” แปลว่า บ้านเมืองซีกนี้เคยเป็นที่ ๆ ขึ้นหน้าขึ้นตา เป็นที่นิยมของชาวบ้าน แต่เดี๋ยวนี้เริ่มจะโทรมไปเสียแล้ว อย่างไรก็ตาม คำว่า “Downhill” ณ ที่นี้หมายความว่า เสื่อมถอย แต่คำเดียวกันนี้อาจหมายความว่าเป็นการง่าย เข้าลักษณะ สะดวกโยธิน ไปก็ได้ สุดแต่การสร้างประโยค เช่นว่า “The difficult part is learning the new computer codes -- after that it’s all downhill.” คือเรื่องยากมันอยู่ที่ตอนต้องเรียนรู้ระหัสคอมพิวเตอร์คำใหม่ ๆ แต่หลังจากนั้นแล้วก็เป็นเรื่องง่าย ๆ เปรียบประหนึ่งการไหลเลื่อนลงเขาไปได้เองทีเดียว
“Downing Street” (ดาวนนนิ่ง สะตรีทท) หรือ “No. 10 Downing St.” เป็นชื่อทำเนียบของนายกรัฐมนตรีของประเทศอังกฤษ จัดได้ว่าเป็นชื่อซึ่งมีความหมายและประวัติมากมายก่ายกองในอดีตกาล เป็นชื่อซึ่งคนทั่วโลกเอ่ยถึงด้วยความยำเกรงในสมัยที่อังกฤษยังเป็นประเทศมหาอำนาจแต่มาปัจจุบันนี้ กลับต้อง “ชิดซ้าย” ให้กับคำว่า “The White House” หรือทำเนียบขาว ไปเสียแล้ว เข้าทำนอง “What goes up must come down.” และแม้แต่คำว่า “ทำเนียบขาว” ก็คงจะเข้าทำนองเดียวกันอย่างหนีไม่พ้นนั่นเอง
“Download” (ดาวนนน โหล์ดด) เป็นศัพท์ทางเรื่องการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งป่านนี้ถ้ายังมีผู้ใดที่ไม่เข้าใจอยู่อีก ก็ต้องปล่อยเขาไปตามลำพังก็แล้วกัลลล์
“Downmarket” (ดาวนนน มาร์เก็ต) เป็นได้ทั้งคำคุณศัพท์และกริยาวิเศษณ์ หมายความถึงสินค้าหรือบริการที่ด้อยในด้านคุณภาพ และคำนี้มักใช้ได้ในประโยคตัวอย่างเช่น “Our company is now going downmarket.” ซึ่งแปลว่า บริษัทของเราดำเนินการจำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพด้อยลงกว่าเมื่อก่อนเสียแล้ว
“Down payment” (ดาวนนน เปย์เม้นท์) หมายถึงการแบ่งชำระค่าสินค้าเป็นงวดแรกเพียงแต่บางส่วนก่อน และขอผลัดไปชำระให้ครบถ้วนในงวดหลัง
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ) # 35-08

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
DOWN
สัปดาห์ที่แล้ว คอลัมน์นี้ได้แนะนำการใช้คำว่า “Down” ในประโยคสั้น ๆ ง่าย ๆ เพียงเพื่อให้รู้จักความหมายของคำในลักษณะตรงไปตรงมา และถัดไปก็จะเป็นการแนะนำถ้อยคำซึ่งมีคำอื่น ๆ เข้ามาประกบ แล้วทำให้เกิดความหมายใหม่ กลายเป็น “สำนวน (Idioms)” ที่น่ารู้จักและทำความเข้าใจกันต่อไปอีก เช่น
“Down-and-dirty” หมายถึงการกระทำใด ๆ ที่ไร้ซึ่งจรรยาบรรณ หรือเป็นการกลั่นแกล้งและขาดคุณธรรม (Sneaky, unfair, low-down, and nasty) ใช้ในประโยคตัวอย่างเช่น “The boys played a real down-and-dirty trick on the teacher.” คือเจ้าพวกเด็ก ๆ มันใช้เล่ห์กระเท่ห์ที่ออกจะสกปรกมาแกล้งครูของมัน
“Down-at-heel” (ดาวนน-แอท-ฮีลล) หมายถึงสภาพของสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ย่ำแย่ ดูไม่ได้ ไม่เจริญหูเจริญตาต่อไปอีกแล้ว (Something that is in a bad condition because of a lack of money.) ใช้ในประโยคตัวอย่างเช่น “My house needs paint because it looks down-at-heel now.” คือบ้านของผมเห็นจะต้องทาสีใหม่เสียแล้ว เพราะดูมันย่ำแย่เต็มทีจริง ๆ
“Downbeat”(ดาวนน บีทท) หมายถึงสภาพของความเป็นไปที่ซบเซา เหงาหงอย ไม่กระปรี้กระเปร่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบรรยายถึงสภาพทางนามธรรม (Dull or depressing, not hopeful about the future.) ใช้ในประโยคตัวอย่างเช่น “The overall mood of the meeting was downbeat.” คือสภาพโดยทั่วไปของที่ประชุมเป็นไปอย่างเหงาหงอย ไม่กระปรี้กระเปร่าเลยสักนิดเดียว
“Downcast” (ดาวนน’คาสทท) หมายถึงลักษณะท่าทางของคนผู้ซึ่งไม่แช่มชื่น หรือซึ่งกำลังมีทุกข์ (You are feeling sad and pessimistic.) ใช้ในประโยคตัวอย่างเช่น “Peter seemed very downcast at the news.” คือเมื่อได้ยินข่าวนั้นมา ตาปีเตอร์ก็มีท่าว่าซึมกะทือไปเลย
“Downfall” (ดาวนน’ฟอลล) หมายถึงการสิ้นยศถาบรรดาศักดิ์ของใครสักคนหนึ่ง หรือที่เราใช้คำตลาดกันว่า “ตกกระป๋อง” ไปแล้ว (The loss of a person’s money, power, social position, etc.) ใช้ในประโยคตัวอย่างเช่น “Apparently more than half of the country gloated over the foul-mouthed politician’s downfall.” คือปรากฎว่ามากกว่าคนจำนวนครึ่งประเทศพากันชอบอกชอบใจในการที่เจ้านักการเมืองปากหมาคนนั้นได้ตกกระป๋องไปเสียแล้ว
ประโยคตัวอย่างข้างต้นมีคำที่น่าสนใจเป็นพิเศษ คือ คำว่า “To gloat over” (โกลทท โอเวอร์) ซึ่งเป็นคำกริยาและแปลว่าชอบอกชอบใจ หรือเกิดความรู้สึกหนำใจ (To express delight)
ส่วนคำว่า “Foul-mouthed” (เฟาว์ล เม้าทเทด) นี้ทำหน้าที่เป็นคำคุณศัพท์มาประกบประกอบคำว่านักการเมือง และแปลว่า ปากเสีย ซึ่งได้ผันไปเป็น “ปากหมา” อย่างที่รู้ ๆ กันอยู่นั่นแหละ
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ) # 34-08

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
DOWN
เรียงกันไปถัดจากคำว่า “Double” ก็น่าจะเป็นคำว่า “Down” ซึ่งมีฤทธิ์พิษสงส่งให้เป็นคำใหญ่ (Keyword) ในภาษาอังกฤษอเมริกันได้อีกคำหนึ่ง และแน่ละ เราท่านมักจะได้ยินคำนี้กันมาตั้งแต่เริ่มทำความรู้จักกับภาษาของเขากันเลยทีเดียว อย่างเช่นว่า “Sit down”
โอกาสนี้ขอเริ่มต้นด้วยการออกเสียง (Pronunciation) ซึ่งศัพท์ทางวิชาการเรียกว่า “Phonetics” (โฟเนท’ติกส) กันสักนิดเสียก่อน กล่าวคือ คำว่า “Down” นี้มีอักษร “n” กำกับอยู่ท้าย ดังนั้นเราควรจะออกเสียงค่อนข้างยาวว่า “ดาวนนนน์” แทนที่จะกล่าวเพียงสั้น ๆ ว่า “ดาว” และนอกไปจากนี้แล้ว เราก็ควรยึดถือหลักนี้ไว้ใช้ในการออกเสียงถ้อยคำต่าง ๆ ในภาษาของเขาต่อไปอีกด้วย
ในภาษาอังกฤษมะกันนั้น เขาใช้คำ “Down” นี้ในการสื่อสัมพันธ์กันด้วยถ้อยคำสั้น ๆ และง่าย ๆ ดังในประโยคตัวอย่างต่อไปนี้เช่น“The sun went down below the horizon.” ดวงอาทิตย์ได้เลื่อนลงต่ำลับขอบฟ้าแล้ว
“During the economic meltdown you’d see a lot of people walking down the street looking completely down and out.” ในช่วงเศรษฐกิจย่ำแย่นั้น เราจะได้เห็นผู้คนมากมายท่องถนนอยู่ด้วยท่าทางที่หมดอาลัยตายอยากเลยทีเดียว
“Peter can’t come to work tomorrow, he’s down with flu.” คุณปีเตอร์คงจะมาทำงานไม่ได้ในวันพรุ่งนี้ เพราะเขาป่วยเป็นไข้หวัดอย่างแรง
“The level of unemployment is down.” ระดับอัตราคนว่างงานลดต่ำลงไปจากเดิม
“The noise was dying down.” เสียงดังอึกทึกนั้นค่อยสงบลงไปแล้ว
“We got in the car and went down the supermarket.” พวกเราพากันขึ้นรถยนต์แล้วก็บึ่งไปซุปเปอร์มาร์เก็ต
“For that second-hand refrigerator, I’ll pay $50 down and the rest at the end of the month.” สำหรับตู้เย็นเก่าใบนั้น ผมขอจ่าย 50 เหรียญดอลล่าร์ให้ก่อนเลย และส่วนที่เหลือ ก็จะจ่ายให้เมื่อตอนสิ้นเดือน
“After paying all the bills, I found myself almost $ 200 down.” หลังจากที่ได้จ่ายบิลใบต่าง ๆหมดไปแล้ว ปรากฏว่าฉันต้องหมดไปเกือบ 200 เหรียญแน่ะ
“Now I’m down to my last dollar.” ตานี้ฉันก็กระเป๋าแฟบไปแล้วเลยทีเดียว
“Amara is terribly down on people who don’t do things her way.” ยายอมราจะเกลียดคนที่ขัดใจเธอเป็นอย่างที่สุด ถ้าไม่ทำอะไรตามใจเธอ ( To be down on someone = เป็นสำนวนซึ่งแปลว่า ไม่ชอบ หรือเกลียดใครเข้าสักคนหนึ่ง)
“The demonstrators chanted “DOWN WITH IMPERIALISM.” พวกก่อการประท้วงได้พากันตระโกนร้องว่าขอให้ลัทธิจักรพรรดินิยมจงพินาศ
“Down through the years, Thailand has seen many political changes.” เป็นเวลาแรมปีมาทีเดียวที่ประเทศไทยได้ประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายต่อหลายครั้ง
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ) # 33-08

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
DOUBLE
ระหว่างทางของคำว่า “Double” ซึ่งหมายความถึงการเพิ่มอัตราขึ้นไปเป็น “สองเท่า” อยู่นี้ ก็มีท่านผู้อ่านถามมาว่า ถ้ามากกว่าสองเท่า เช่นว่า สามเท่า สิบเท่า หรือร้อยเท่า ฯลฯ แล้ว ในภาษาอังกฤษมะกันจะว่าอย่างไร?
ความจริงประการหนึ่งซึ่งเราต้องยอมรับนั้นก็คือ ภาษาของเขาร่ำรวยถ้อยคำมากกว่าของเรา และมีคำให้สามารถเลือกใช้ได้อย่างกว้างขวาง และล้ำลึก ถ้าเรารู้จักที่จะนำคำนั้น ๆ มาใช้ให้ถูกต้อง
นอกจากนั้นแล้ว ของเขามีคำจำเพาะอันเข้าลักษณะ “จับตัววางตาย” (Specific) ไม่ดิ้นได้ในความหมาย และมิหนำซ้ำ ยังมีเครื่องหมายวรรค ตอน (Punctuation) มากมายหลายรูปแบบ มาช่วยให้ภาษาเขียนของเขาง่ายต่อการตีความ เป็นการเพิ่มความชัดเจนในถ้อยคำที่เขียนขึ้นมานั้นอีกด้วยซ้ำไป
อย่างไรก็ดี ขอย้อนกลับมาแนะนำคำที่จะใช้ในกรณีที่ต้องการหมายความถึงการเพิ่มขี้นเป็นหลาย ๆ เท่า ซึ่งกล่าวได้ว่านี่ก็อีก ที่มีคำให้เลือกใช้ได้หลายแบบ และแบบที่ง่ายที่สุดก็คือใช้คำว่า “Times” ซึ่งนอกจากแปลว่า “เวลา” แล้วยังแปลว่า “เท่าหนึ่งหรือสองเท่าของจำนวนเดิม” (One time or two times as much or as many)
“The world human population has gone up 2 times the number since 1960.” และคำว่า “2 times” ในประโยคนี้นั้น ถ้าเราจะเปลี่ยนไปใช้คำว่า “Double” หรือ “Twice” ก็ได้ใจความเหมือนกัน
เหนือขึ้นไปกว่า “2 เท่า หรือ 2 หน” เมื่อเป็นสาม ก็ใช้คำว่า “Three times” หรือ “Triple” หรือ “Thrice” และถ้าขึ้นถึง “4 เท่า หรือ 4 หน” ก็ใช้คำว่า “Four times” หรือ“Quadruple”
ถ้าจำนวนเท่าหรือหนจะขึ้นสูงต่อไปอีก ความนิยมในเรื่องการใช้ถ้อยคำก็หันไปใช้ “-fold” ซึ่งเป็นคำเสริมท้าย (Suffix) และเราสามารถใช้คำเสริมท้ายนี้ต่อเข้าไปกับจำนวนตัวเลขได้ทั้งต่ำและสูง เช่นว่า ถ้าสองเท่าหรือสองหน ก็เป็นว่า “Twofold” หรือ สิบเท่า ก็เป็นว่า “Tenfold” หรือหนึ่งร้อยเท่า ก็เป็นว่า “Hundredfold” (One hundred times as much or as many) แต่ถ้ากล่าวว่า “มากมายหลายเท่าหรือหลายรูปแบบ” ก็เป็นว่า “Manifold”
หรือจะกล่าวแต่เพียงว่า “มากมายหลายเท่า หรือหลายครั้งหลายหน” โดยไม่กำหนดจำนวนครั้งหรือหนให้ชัดเจนลงไปแล้ว ก็ยังอาจเลือกใช้คำว่า “Multiple” หรือ “Multi-” ซึ่งเป็นคำเสริมหน้า (Prefix) และเป็นคำตรงข้ามกับคำว่า “คำเสริมท้าย (Suffix)” ตามที่ได้กล่าวถึงไปก่อนแล้วอีกด้วยก็ได้
“Multipurpose” = เอนกประสงค์
“Multimillionaire” = อภิมหาเศรษฐี
โอ้ย ยุ่งตายห่า ใช่แล้ว ยิ่งเรียนก็ยิ่งยุ่ง ซึ่งเป็นธรรมดาของการศึกษาวิชาการใด ๆ ก็ตาม เปรียบได้เสมือนการล่องเรือจาก ปิง วัง โยม น่าน ลงเข้าสู่เจ้าพระยา และออกปากอ่าวไทย เลยเข้าสู่ทะเลจีน และมหาสมุทรอันลึกล้ำเหลือกำหนด ฯลฯ แต่ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่ที่ความชอบของแต่ละบุคคล เข้าลักษณะ “สองคนยลตามช่อง” และตรงข้ามกับ “ท้อถอย” ก็น่าจะเป็นว่า “ท้าทาย”
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ) # 32-08

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
DOUBLE
“Double” (ดับ’เบิล) เป็นคำที่คุ้นตาคุ้นหูของพวกเราคนไทยอยู่ก่อนแล้ว และเราก็เข้าใจว่าหมายถึงการเพิ่มจำนวนหรือสัดส่วนขึ้นไปอีกหนึ่งเท่าตัว
เราใช้เวลาไปสองสัปดาห์ก่อนแล้ว เพื่อแนะนำการใช้คำให้กว้างขวางออกไป แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีสำนวนในภาษามะกันที่ใช้คำเดียวกันนี้ซึ่งน่าเรียนรู้ในรูปของประโยคทั้งประโยค เช่น
“Usually when we work overtime, we’re paid double for the same job.” เมื่อเราอยู่ทำงานในช่วงที่เกินไปกว่าเวลาที่กำหนดไว้ก่อนแล้ว เราก็มักจะได้รับเงินค่าแรงงานเป็นสองเท่าตัวของอัตราปกติ
“Amara is the double of her mother at the same age.” อมราเขาเหมือนคุณแม่ของเขาอย่างไงอย่างงั้นเลยเมื่อตอนที่อายุเท่ากันนั่นแหละ
“You’d better get upstairs at the double.” เอ็งรีบขึ้นบันไดไปเร็วจี๋เลยจะดีกว่า ( At the double = แปลว่าโดยเร็วหรือโดยด่วน)
“The price of gasoline has virtually doubled over the past 2 years.” ราคาน้ำมันเบนซินได้สูงขึ้นไปแทบจะเป็นอีกเท่าตัวเลยทีเดียวในช่วงเวลา 2 ปีที่แล้ว ขอให้สังเกตว่า คำว่า “Virtually” (เวอ’ชวลลี่) นั้นแปลว่าแทบจะ เป็นอย่างนั้นเลยทีเดียว
“During winter, double your blankets for extra warmth.” ในฤดูหนาว เราใช้ผ้าห่มนอนซ้อนกันเป็นสองชั้นเพื่อให้อบอุ่นเป็นพิเศษ
“When we have guests, the sofa doubles as an extra bed.” เมื่อใดที่เรามีแขกมาพักอยู่ด้วย เก้าอี้ยาวนั้นก็ใช้เป็นเตียงนอนไปได้ในตัวอีกด้วยยังได้
“If you double all the quantities in the recipe, it will be enough for eight people.” ถ้าเธอเพิ่มส่วนผสมทุกอย่างตามที่กำหนดไว้ในตำราทำกับข้าวนั้นขึ้นไปเป็นสองเท่าตัวแล้ว ก็จะสามารถเลี้ยงคนได้ถึงแปดคนเลย (ตอนนี้ขอให้สังเกตด้วยว่า ตำราทำกับข้าวหรือทำอาหารของสากลหรือที่เรียกกันว่าของฝรั่งเขานั้น เขามักจะกำหนดสัดส่วนเครื่องปรุงไว้เพื่อทำเลี้ยงสี่คนเสมอ)
“The road ahead was flooded so we had to double back.” ถนนในช่วงข้างหน้านั้นมีน้ำท่วม เราก็เลยต้องย้อนกลับมาทางเดิมอีกครั้งหนึ่ง
“We have only one room left; you’ll have to double up with Somkid.” โดยที่เรามีห้องพักเหลืออยู่เพียงห้องเดียวเท่านั้นเอง เธอจะต้องใช้ห้องร่วมไปกับสมคิดน๊ะ
“Thamsin’s after-dinner stories were so funny that I doubled up with laughter.” แถมสินเล่านิยายหลังอาหารมาขันแทบตาย อั๊วต้องหัวเราะเสียงอหายไปเลย สำหรับถ้อยคำที่ว่า “Double up with….” นี้จะใช้ในความหมายว่า “Double up with pain” เจ็บปวดหรือปวดร้าวเสียตัวงออีกด้วยก็ได้
ประโยคต่าง ๆ ข้างต้นล้วนแต่เป็นตัวอย่างที่ได้เลือกสรรมาสำหรับการใช้คำ “Double” เท่าที่คิดว่าเป็นประโยชน์ ถ้าจะจดจำไปใช้ให้เหมาะกับกาละและเทศะ หรือที่เรียกกันว่า “กาลเวลาและสถานที่”
อนึ่ง ในเรื่องการเรียนภาษาต่างประเทศนั้น คอลัมน์นี้ได้ย้ำเรื่อยมาว่า ต้องพยายามจดจำ และแน่ละ เราต้องทำความเข้าใจให้ท่องแท้เสียก่อนด้วย แล้วก็จำเอาไปใช้ให้ถูกต้องต่อไปในภายภาคหน้า
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ) # 31-08

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
DOUBLE
การใช้คำว่า “Double” ในฐานะเป็นคำคุณศัพท์ตามที่ได้เริ่มไปบ้างแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อนนั้น ยังมีอีกมากมายก่ายกอง แทบจะจดจำกันไม่ไหว แต่ก็ควรที่จะทำความรู้จักกันไว้เพื่อประโยชน์ภายภาคหน้า และ/หรือจะตัดเก็บเอาไว้ทบทวนอ้างอิงในวันหน้าก็ย่อมได้
“Double date” (To have a double date) หมายความว่าการมีนัดไปด้วยกันของคนสองคู่ หรือสี่คนเพื่อไปหาความบันเทิง หรือพักผ่อนหย่อนอารมณ์ด้วยกัน ซึ่งในสมัยก่อนมักจะเป็นเรื่องของชายหญิงสองคู่ แต่มาถึงยุคนี้ที่รักร่วมเพศกำลังระบาด ก็อาจดูลำบากว่าอะไรเป็นอะไร หรือทั้งสี่คนมีเพศตามธรรมชาติเหมือนกันทั้งหมดก็เป็นไปได้
“Double dealer” สองคำนี้เมื่อใช้ร่วมกันหมายถึงเรื่องที่ไม่ดี คือหมายถึงคนไม่ซื่อ ประเภทปากอย่างหนึ่ง และใจอย่างหนึ่งนั่นแล
“Double decker” (ดับ’เบิล เดก’เกอร์) ถ้อยคำนี้ในประเทศอังกฤษเขาหมายถึงรถเมล์ซึ่งมีที่นั่งผู้โดยสารสองชั้น คือชั้นล่างตามธรรมดา และยังมีบันใดให้ขึ้นไปนั่งชั้นบนได้อีกด้วย ส่วนในสหรัฐ ฯ กลับหมายถึงอาหารที่เขาเรียกว่า “แซนด์วิชซึ่งทำหนาและซ้อนกันมาถึงสองชั้น”
“Double-digit” (ดับ’เบิล ดิจ’จิท) หมายถึง “เลขสองหลัก”โดยนับตั้งแต่ 10 ถึง 99 และถ้ากล่าวถึงเลขหลักเดียว (1 ถึง 9) ก็ใช้คำว่า “Single digit” (ซิง’เกิล ดิจ’จิท) ซึ่งถ้อยคำนี้ส่วนมากใช้กันในเรื่องของสถิติพยากรณ์ อย่างเช่น “Double-digit unemployment rates” (อัตราว่างงานของประชากรได้ขึ้นไปถึงตัวเลขสองหลักแล้ว) หรือ “Double-digit inflation rates” (อัตราเงินเฟ้อไปถึงเลขสองหลัก) คือสถานการณ์แย่แล้ว เป็นต้น ขอให้สังเกตด้วยว่าในทางไวยากรณ์นั้นถ้อยคำนี้ทำหน้าที่เป็นคุณศัพท์ แต่จะใช้เป็นคำนามก็ย่อมได้ สุดแต่การสร้างประโยค
“Double duty” (Do double duty) คือการทำงานควบสองหน้าที่หรือสองตำแหน่งไปพร้อมกันเลย เช่นว่า “The lids on the pots do double duty as plates when we’re camping.” คือเจ้าฝาที่ครอบอยู่บนหม้อนั้นทำงานได้สองหน้าที่ คือเอามาใช้เป็นจานอาหารด้วยก็ได้ในเมื่อเรากำลังเดินทางพักแรมอยู่กลางป่า
“Double entry” ถ้อยคำนี้เป็นศัพท์ที่รู้จักและใช้กันในวงการบัญชีซึ่งใช้ระบบลงรายการสองตลบ คือ ทั้งด้านลูกหนี้ (Dr.) และเจ้าหนี้ (Cr.) เพื่อสะดวกต่อการตรวจสอบและประกันความถูกต้องของการทำบัญชีอีกด้วย
“Double-faced” เป็นคำคุณศัพท์ที่ใช้ประกอบคำนาม แล้วหมายถึงคนที่ตีสองหน้า หรือที่เรียกว่าจำพวกหน้าไหว้หลังหลอก (Two-faced, or hypocritical, or insincere)
“Double glazing” เป็นคำนาม หมายถึงประตูหรือหน้าต่างที่ติดตั้งบานกระจกสองชั้นเพื่อป้องกันความหนาวเย็นของอากาศ หรือเพื่อหวังป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอกด้วยก็ได้ และถ้าจะใช้เป็นคำกริยาหรือคุณศัพท์ก็เป็นว่า “Double-grazed”
“Double standard” หมายถึงระเบียบข้อบังคับซึ่งใช้กับคนบางคนอย่างเคร่งครัดแต่ปล่อยให้หละหลวมกับคนอื่น ๆ ซึ่งถ้อยคำนี้มักจะนำมาใช้ในการกล่าวหาว่าไม่ได้รับความยุติธรรมจากฝ่ายผู้ทรงอำนาจที่สามารถให้คุณและให้โทษแก่บุคคลอื่น ๆได้ตามความลำเอียง หรือตามอำเภอใจของเขาเองเสียมากกว่า
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ) # 30-08

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
DOUBLE
สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” เท่าที่ได้แนะนำไล่เลียงกันไปแล้ว ก็มีคำศัพท์ (Words) ซึ่งเรียงกันไป คือ “Damn, Dare, Dead, Death, Deal, Deep, Dig, Direct, Dirty, และ Do, Did, Done ซึ่งถัดไปและเริ่มต้นจากวันนี้ก็เป็นคำว่า “Double” หรือ “ดับ’เบิล” ซึ่งเป็นคำที่พวกเราคนไทยได้รู้จักมักคุ้น ด้วยการใช้ทับศัพท์กันมานมนานแล้วด้วยซ้ำ
ถึงกระนั้น เชื่อได้ว่าเป็นการรู้จักใช้กันแต่เพียงผิวเผิน และน่าที่จะมาใช้เวลากับคำว่า “Double” นี้ต่อไปอีกบ้างพอสมควร เพื่อให้สามารถใช้ถ้อยคำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลักษณะที่เป็นสำนวนได้อย่างกว้างขวางและถูกต้องต่อไปอีกด้วย
นั่นคือ เมื่อกล่าวโดยทั่วไปแล้ว คำว่า “Double” เป็นคำที่ใช้กันอย่างฟุ่มเฟือยติดปาก ใช้กันอย่างพร่ำเพรื่อในชีวิตประจำวันทั้งคนฝรั่งและคนไทย ถึงขนาดที่ต้องจัดให้เป็นคำสำคัญ (Keyword) อีกคำหนึ่งในภาษามะกันเลยทีเดียว
โดยทั่วไปแล้ว คำว่า “Double” แปลว่า คู่, สองเท่า, สองหน, ทวี, ซ้ำ, ฯลฯ สุดแต่การใช้ถ้อยคำในการพูดและเขียนให้เป็นประโยค ซึ่งเมื่อกล่าวในทางไวยากรณ์แล้ว เป็นคำศัพท์ที่ทำหน้าที่ได้ทั้งเป็นคำนาม (Nouns) คำกริยา (Verbs) และคำคุณศัพท์ (Adjectives) แต่ส่วนใหญ่แล้ว มักจะเป็นการใช้คำในลักษณะที่เป็นคำคุณศัพท์เสียมากกว่า เช่น
“Double agent” (A double agent) หมายถึงผู้ที่เป็นสายลับ ลอบทำงานให้สองฝ่ายตรงข้ามกันนั้นพร้อมกันไปในเวลาเดียวกัน และคนประเภทนี้มักจะลงท้ายก็ตายด้วยเป็นไข้โป้งเสียมากต่อมากแล้ว สมัยก่อนเขาเอามาสร้างเป็นหนังประเภท 007 และเชื่อได้ว่าสมัยนี้ก็ยังมีคนทำงานอันเสี่ยงชีวิตนี้อยู่แน่นอน
“Double bass” (คำหลังออกเสียงว่า “เบส”) หมายถึงเครื่องดนตรีที่มีรูปลักษณะเหมือนไวโอลินตัวใหญ่ซึ่งผู้เล่นต้องจับตั้งขึ้นดีดเพื่อทำเสียงกังวานและต่ำประสานเสียงไปกับเครื่องดนตรีชิ้นอื่น ๆ
“Double bed” (A double bed) หมายถึงเตียงนอนขนาดใหญ่สำหรับนอนเรียงกันได้สองคน และเมื่อประกอบถ้อยคำสร้างให้เป็นประโยค เช่น เราบอกกับพนักงานต้อนรับของโรงแรมว่า “I am looking for a double-bedded room.”
“Double bind” (ดับเบิล ไบนด์) A double-bind ending หมายถึงจุดจบซึ่งแย่ทั้งนั้น หาทางออกที่ดีไม่ได้ เข้าทำนองหนีเสือปะจรเข้
“Double boiler” หมายถึงภาชนะหุงต้ม ที่ในภาษาไทยเราเรียกว่า “หม้อตุ๋น”
“Double-breasted” (ดับเบิล เบรสเตด) A double-breasted jacket หมายถึงเสื้อนอกหรือที่เรียกว่าเสื้อสากลซึ่งชิ้นหน้าเกยกันสองชั้น
“Double check” ส่วนมากใช้เป็นคำกริยา ซึ่งหมายถึงการตรวจสอบทบทวนสองตลบเพื่อให้แน่ใจในความถูกต้อง
“Double chin” หมายถึงคางสองชั้นซึ่งมักจะเป็นกับคนอ้วนหรือที่เรียกว่า “เจ้าเนื้อ”
“Double-cross” ใช้เป็นคำกริยา หมายถึงการหักหลัง ทรยศ คดต่อสัญญา
“Double edged” ใช้เป็นคำคุณศัพท์ มักจะหมายถึงมีดสองคม แต่ถ้าใช้ในความหมายเปรียบเทียบก็จะหมายถึงการกล่าวคำพูดหรือชี้แจงใด ๆ ออกเป็นสองนัยก็ได้
“Double-faced” ใช้เป็นคำคุณศัพท์ซึ่งหมายถึงผู้ที่ตีสองหน้า หรือไม่ซื่อนั่นแหละ
“Double-park” เป็นคำกริยาหมายถึงการจอดรถซ้อนคันกับคนอื่นซึ่งเป็นการเสี่ยงต่อโอกาสที่จะได้ตั๋วอยู่ไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ) # 29-08

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
DONE
ด้วยคำว่า “Done” ในมื้อนี้ ก็เป็นอันว่าเราได้มาถึงปลายทางของคำว่า “Do” แล้ว เพราะเราได้ว่ากันไปแล้วพอสมควรและเพื่อมิให้เป็นเรื่องเกินพอดี ดังนั้นจึงใช้คำว่า “Done” ซึ่งนอกจากจะเป็นช่องที่สามของ “Do” แล้ว ยังใช้ได้ในความหมายและรูปแบบต่าง ๆ อีกโขทีเดียว เช่นว่า
“I’ll give you $ 500 for the car.” คือผมขอเสนอราคา 500 เหรียญสำหรับรถคันนี้ ซึ่งหมายความว่าขอซื้อรถในราคาดังกล่าว และถ้าหากว่าเจ้าของรถเขาตอบว่า “Done” ก็แปลว่า “ตกลง” หรือโอเคนั่นเอง ฉะนั้น คำนี้ก็น่าจดจำไว้ใช้ในกรณีที่มีการต่อรองราคาซื้อขายระหว่างกัน แต่ถ้าเราเป็นฝ่ายเจ้าของรถและต้องการขอราคาเพิ่มขึ้นไปอีก ก็อาจตอบไปว่า “Give me one hundred more, and the car is yours.” คือขอเพิ่มให้ผมอีกหนึ่งร้อย แล้วรถคันนี้ก็เป็นของคุณเลย และขอให้สังเกตว่าประโยคนี้ไม่ต้องมีคำว่า “ดอลล่าร์” ก็เป็นที่เข้าใจและใช้ได้เสมอ
“The fish is not quite done yet.” เราใช้คำว่า “Done” ในเรื่องของการหุงต้มหรือประกอบอาหาร และประโยคนี้ก็หมายความว่า ปลาจานนี้หรือปลาตัวนี้ยังไม่สุกพอเลย
“Smoking is this room is not done.” คือ “เขาห้ามสูบบุหรี่ในห้องนี้” ขอให้สังเกตว่าเป็นการสร้างประโยคที่ใช้คำว่า “Is not done” ในความหมายที่ถือว่าสุภาพและนุ่มนวลมากกว่าการที่จะพูดว่า “No smoking in this room !”
ถ้อยคำซึ่งใช้ “Do” พูดกันอยู่เป็นประจำวันก็มีดังต่อไปนี้
“I’ll do what I can to help.” คือถ้ามีอะไรซึ่งผมช่วยได้ ผมก็จะทำให้
“Are you doing anything tomorrow evening?” คือถามว่าพรุ่งนี้ตอนหัวค่ำคุณว่างหรือเปล่า? (ในความหมายเข้าทำนองอยากชวนเค้าออกเที่ยว)
“Sorry, there is nothing we can do.” คือเราเสียใจที่ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรท่านได้
“How are you doing?” เป็นประโยคซึ่งชาวมะกันชอบใช้ในการปฏิสันถารหรือทักทายปราศรัยกัน ซึ่งบางคนพูดแต่เพียงว่า “How are you?” ก็ได้เช่นกัน
“Nothing doing” แปลว่า ไม่มีทาง ถ้อยคำนี้จะใช้ได้ในความหมายทำนองเช่นเมื่อมีคนถามว่า “Can you lend me ten dollars?”
“That will do.” แปลว่า พอแล้ว หรือพอกันเสียทีแล้ว หรือมากไปแล้ว ใช้ในความหมายเช่นพวกเด็ก ๆ เล่นกันเอะอะ อึกทึก รำคาญหู “That will do, children -- you’re getting far too noisy.”
“Do away with” แปลว่าเลิกล้ม หรือยกเลิก (Abolish) ใช้ในความหมายเช่นว่า “Some people think it’s time we did away with monarchy.” คือมีคนบางพวกเขาคิดว่ามันถึงเวลาที่จะต้องเลิกล้มระบบราชาธิปไตยได้แล้ว
“Do’s and don’ts” (ออกเสียงว่า “ดูสสส์” แอนด์ ด้อนสสส์) แปลว่าข้อพึงปฏิบัติและละเว้น เช่น “If you want to lose weight, here are some do’s and don’ts. คือถ้าเธออยากที่จะลดน้ำหนักตัวลงละก็ มีข้ออันพึงปฏิบัติและละเว้นดังนี้คือ……”
ก็หยั่งที่เคยกล่าวไว้แล้วว่า เรื่องการเรียนภาษานั้น เป็นเรื่องต้องจดจำเสียเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นควรจะถือว่าเป็นเรื่องบริหารสมองไปด้วยในตัวเพื่อป้องกันโรคสมองฝ่อ (Alzheimer’s disease) อันน่ากลัวซึ่งกำลังระบาดอย่างกว้างขวางมากขึ้นทุกวี่ทุกวันก็จะเป็นไรไปน๊ะ
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ) # 28-08

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
DO, DID, DONE
ในเรื่องภาษานั้น ไม่ว่าจะเป็นภาษาของชาติใด ๆ ก็ตาม ถ้าเรารู้จักถ้อยคำพื้น ๆ แล้วใช้ให้ถูกต้องแล้ว ย่อมทำให้ฝ่ายผู้ฟังเข้าใจเราได้ง่าย ๆ ดีกว่าที่จะพยายามไปสรรหาคำยาก ๆ มาใช้ เพราะย่อมเป็นการลำบากทั้งฝ่ายผู้ฟัง และผู้ใช้คำนั้น ๆ เองอย่างช่วยไม่ได้เลย
คำว่า “Do” และรูปอื่นคือ “Does,” “Did, & “Done” ด้วยนั้นเมื่อนำมาใช้เป็นกริยาช่วยแล้ว ยังสามารถสร้างน้ำหนักของประโยคหรือคำพูดนั้นให้เป็นการเน้นความหมายลงไปได้อีกมากด้วย
ขอให้เรามาดูประโยคทั้งสามต่อไปนี้ก่อน คือ
“I like to have fish.” ประโยคนี้เป็นประโยคบอกเล่าที่ไม่มี “Do” มาเป็น “Auxiliary verb” มีความหมายแต่เพียงว่า “ฉันชอบรับประทานปลา”
“I don’t like to have fish.” ประโยคนี้เป็นประโยคปฏิเสธซึ่งมี “Don’t” มาเป็น “Auxiliary verb” เพื่อบอกว่า “ฉันไม่ชอบรับประทานปลา”
“I do like to have fish.” แต่ประโยคนี้มี “Do” มาแทรกในหน้าที่ “Auxiliary verb” ทำให้ความหมายของประโยคเน้นหนักไปว่า “ฉันชอบรับประทานปลาเหลือเกิน หรือโปรดปรานการกินปลาเป็นอย่างที่ซู้ดเลย”

และเราใช้ “Do,” หรือ “Did” เป็นกริยาช่วยเพื่อเน้นคำพูดได้อีก เช่น
“Do shut up!” แปลว่า “อย่าได้พูดออกมาโดยเด็ดขาดทีเดียวน๊ะ (โว้ย)”
“Do say you’ll stay for supper!” แปลว่า “ต้องรับปากน๊ะว่าเธอจะอยู่ร่วมทานอาหารว่างด้วย (คือจะไปไหนไม่ได้น๊ะ)”
“She does look tired.” แปลว่า “เธอคนนั้นดูช่างอ่อนระโหยโรยแรงจริง ๆ เล้ย” อนึ่ง ขอให้สังเกตอีกด้วยว่า ตามหลักไวยากรณ์นั้นประโยคนี้มีประธานเป็นเอกพจน์ จึงต้องเติม “S” ที่กริยา หากแต่ย้าย “S” นั้นไปไว้ที่กริยาช่วยแทนที่จะอยู่ที่กริยาตัวจริง
“I did write to say thank you.” แปลว่า “ผมได้เขียนจดหมายไปแสดงความขอบคุณแล้วจริง ๆ (ให้ดิ้นตาย)”
“My dear, I do understand.” แปลว่า “เธอที่รักจ๋า ฉันเข้าใจ๊ เข้าใจจริง ๆ เข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร”
“I do love you.” ผมรักคุณจริง ๆ
“I do hate you!” อะฮั้นเกลี๊ยดเกลียดคุณ
“Preecha hasn’t been here in a while, but he does come to visit us most weekends.” แปลว่า “ปรีชาไม่ได้แวะมาเป็นเวลาโขอยู่เหมือนกัน แต่จริง ๆ แล้ว เขามาเยี่ยมเราแทบทุกสุดสัปดาห์เลย”
ทุกประโยคตัวอย่างที่ยกมาไว้ข้างต้นนี้ล้วนแต่เป็นถ้อยคำที่มีความหมายเป็นการย้ำน้ำหนักของคำพูดสั้น ๆ ทั้งสิ้น และเพื่อความเข้าใจอันดี และลึกซึ้ง ให้สามารถเข้าใจคำกล่าวของผู้อื่นได้อย่างถูกต้องและแท้จริง อีกทั้งให้สามารถนำไปใช้ได้เองด้วยความมั่นใจอีกด้วย ก็ลองย้อนไปอ่านทวนอีกสักครั้งหรือสองครั้ง จะเป็นไรมี?
มาถึงตอนนี้ ทำให้นึกถึงการใช้คำว่า “Done” หรือช่องสามของ “Do” ซึ่งก็ไม่ยาก เช่น คำกล่าวที่ว่า “It’s a done deal!” คือ “มันเป็นเรื่องที่เสร็จสิ้นเรียบร้อยโรงเรียนจีนไปแล้ว อย่ามาร่ำพิไรให้เสียเวลาต่อไปเล้ย”
งวดต่อไป จะเป็นการแนะนำการใช้คำในแบบสำนวนและสุภาษิตอันน่ารู้จักและเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง ใจเย็น ๆ ไว้ และทบทวนเรื่องที่ว่าไปแล้วข้างต้นให้ขึ้นใจไปพลาง ๆ ก่อนแล้วกัน
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ) # 27-08

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
DO, DID, DONE

ในช่วงนี้ ต้องขอออกนอกเรื่องของ “American Idioms” สักนิดหน่อย ด้วยต้องการที่จะให้ข้อคิดและข้อแนะนำในเรื่องการสนทนาภาษามะกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการตั้งคำถามขึ้นมาในระหว่างที่พูดจาปราสัยกันอยู่นั้น
ถ้าเราจะกล่าวว่า เรือกับพายเป็นของคู่กันฉันใด การสร้างประโยคกับการใช้สำนวนต่าง ๆ ก็เป็นของที่คู่กันฉันนั้นด้วย ดังนั้นถ้าหากว่าลำเรือมีรูปร่างเพรียวลมสมส่วน และใช้พายที่ถูกต้องเหมาะสม เรือลำนั้นก็วิ่งได้สวยน่าดูชมแน่นอน
การตั้งคำถามต่าง ๆ ก็เป็นการสร้างประโยคขึ้นมาในลักษณะหนึ่ง และเมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้กล่าวถึงเรื่องที่ว่า ในภาษาอังกฤษและมะกันนั้นมีการนิยมใช้คำถามแบบที่เรียกว่า “Tag question” หรือ “Question tag” ก็เรียกได้ ซึ่งควรจะแปลได้ว่า “ใช่ไหม” หรือ “ใช่ไหมล่ะ โดยมีกริยาช่วย (Auxiliary verbs) มาพ่วงท้ายหรือห้อยท้ายให้เป็นคำถามขึ้นมา
ตัวอย่างของ “Tag question” ก็เช่นว่า “He said half price, didn’t he?” คำว่า “Didn’t he?” คือวลีสั้น ๆ นี้แหละที่เขาเรียกว่า “A tag question”
เราคงจะคุ้นเคยกับคำว่า “Tag” นี้อยู่ก่อนแล้ว เช่นคำว่า “Price tags” ซึ่งหมายถึงป้ายบอกราคาสินค้า หรือถ้าใช้เป็นคำกริยา อย่างเช่นในประโยคว่า “If you’re going to the cinema, do you mind if I tag along with you?” คือ ถ้าเธอจะไปดูหนังละก็ จะรังเกียจไหมถ้าฉันขอติดตามพ่วงท้ายไปด้วยคน?
การสร้างวลีพ่วงท้ายให้เป็นคำถามในลักษณะนี้นั้น “Auxiliary verbs” มีบทบาทสำคัญโดยเฉพาะคำว่า ‘Be,’ ‘Have,’ ‘Do,’ และรวมไปถึง ‘Can,’ และ ‘Will’ อีกด้วย
ประโยคต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของการใช้ “Tag questions” ซึ่งมีข้อที่น่าสังเกตและจดจำไปด้วยพร้อม ๆ กัน เช่น
“Now, you don’t love me any more, do you?” คือถามว่า “เดี๋ยวนี้เธอไม่รักฉันอีกแล้ว ใช่ไหม?” ขอให้สังเกตด้วยว่า เมื่อประโยคนำเป็นปัจจุบันกาลและเป็นประโยคบอกเล่าที่ว่า “ไม่” วลีตามก็ต้องใช้กริยาช่วยเป็นปัจจุบันกาลเช่นกันแต่ลงท้ายด้วยคำถามที่กลับกัน คือเป็นการยืนยัน
“You still love me, don’t you?” ขอให้สังเกตว่า เมื่อประโยคนำเป็นปัจจุบันกาลและมีความหมายในทางยืนยันแล้ว วลีตามก็กลับไปเป็นคำถามที่ปฏิเสธ แต่ก็ต้องใช้ปัจจุบันกาลเช่นเดียวกัน
“You swim, don’t you?” เธอว่ายน้ำเป็น ใช่ไหม ขอให้สังเกตว่าในภาษาอังกฤษหรือมะกันนั้น เขาไม่ถามว่าเป็นหรือเปล่า ในแบบของไทยเราที่มักจะถามว่า “ว่ายน้ำเป็นหรือเปล่า” และในทำนองเดียวกัน เขาจะถามว่า “Do you dance?” ในความหมายของไทยเราที่จะถามว่า “เธอเต้นรำเป็นหรือเปล่า?”
“You will be here tomorrow, won’t you?” ขอให้สังเกตว่า ในภาษามะกันหรือฝรั่งอังกฤษนั้น แทนที่เขาจะถามอย่างไทย ๆ เราว่า พรุ่งนี้จะมาหรือเปล่า เขามักจะถามว่า “พรุงนี้จะอยู่ที่นี่ ใช่ไหม?” เสียละมากกว่า ซึ่งก็หมายความว่า “มา” แหละ ไม่งั้นจะอยู่ตรงนี้ได้ไง และคำว่า “Won’t” นั้นเป็นการเขียนแบบย่อของคำว่า “Will not”
“Your husband has left for Bangkok already, hasn’t he?” ขอให้สังเกตว่าทั้งประโยคนำและวลีตามใช้ ‘Tense’ แบบ ‘Present perfect’ เช่นเดียวกัน
หยั่งว่าแหละครับ ยุ่งตายห่า
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ) # 26-08

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
DO, DID, DONE
เข้าสัปดาห์ที่สามแล้วสำหรับคำว่า “Do” ซึ่งมีความหมายและความสำคัญในภาษาอังกฤษแท้ รวมทั้งภาษามะกัน เป็นอย่างมากสุด ๆ เลยทีเดียว เพราะนอกจากจะเป็นคำกริยาตัวแท้ (Verb) แล้ว คำว่า “Do” นี้ยังทำหน้าที่เป็นกริยาช่วย (Auxiliary verb) ในรูปแบบต่าง ๆ อย่างน่าเหน็ดเหนื่อยอีกด้วย
และในปัญหาที่ว่าเราจะสามารถเข้าใจภาษาอังกฤษหรือมะกันได้ลึกซึ้งถึงเพียงไหนหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการที่เรารู้จักเพียงคำว่า “Do” นี้อย่างแท้จริงแค่ไหนเสียก่อนด้วยซ้ำไป
ให้เรามาว่ากันทีละก้าว ทีละหัวข้อ เรื่อย ๆ ไป ด้วยความหวังว่า ข้อความที่ยกมาเป็นตัวอย่างต่อไปนี้ พร้อมทั้งคำอธิบายซึ่งมีกำกับมาด้วยนั้น คงจะไม่เป็นการยากที่จะเข้าใจได้จนเกินไป
อนึ่ง ตามที่ได้กล่าวนำไปแล้วในสองสามฉบับก่อนหน้านี้ ว่า “Do” ใช้เป็นทั้งคำกริยาแท้ (Verb) และกริยาช่วย (Auxiliary verb) แต่เมื่อมาทำหน้าที่กริยาช่วยในประโยคต่าง ๆ แล้ว ก็จะเป็นว่า
(1) เมื่อทำหน้าที่เป็นกริยาช่วย “Don’t,” “Didn’t,” ทำให้เป็นประโยคปฏิเสธ ขึ้นมาก็ได้ อาทิเช่น “I don’t like fish.” ฉันไม่ชอบกินปลา (ประโยคปฏิเสธ) หรือ “They didn’t go to Paris.” พวกเขาไม่ได้ไปถึงนครปารีส (ประโยคปฏิเสธ) หรือ “Don’t forget to write.” อย่าลืมเขียนมาคุยกันบ้างน๊ะ (การห้ามปรามว่า “อย่าลืม” ในทางไวยากรณ์ก็ถือว่าเป็นประโยคปฏิเสธเหมือนกัน)
(2) ในหน้าที่กริยาช่วย “Do,” “Don’t,” “Didn’t” ทำให้เป็นประโยคคำถามก็ได้ เช่น “Do you speak French?” คุณพูดภาษาฝรั่งเศสได้ไหมครับ หรือ “Do you believe him?” แล้วลื้อหลงเชื่อมันด้วยหรือเปล่า หรือ “Did they take you home?” เขาพาเธอไปส่งถึงบ้านหรือเปล่า
(3) พอมาถึงตอนนี้ เรามาถึงการสร้างคำถามภาษาอังกฤษในแบบที่มักจะไม่เป็นที่คุ้นเคยกับพวกเราคนไทย ซึ่งใช้ภาษาของเขาเป็นภาษาที่สองนัก เช่นว่า “You live in LA, don’t you?” เธอมีบ้านอยู่ในแอล เอ ใช่ไหมล่ะ ขอให้สังเกตว่าเป็นการถามด้วยการนำโดยประโยคบอกเล่า แล้วติดตามด้วยคำถามสั้นว่า “Don’t you?” ทั้งนี้ในภาษาอังกฤษนั้น คำถามสั้น ๆ นี้เขาเรียกว่า “Tag question” (คำว่า “Tag” แปลว่าเกาะติด หรือที่เกี่ยวเกาะอยู่ด้วย) การสร้างประโยคบอกเล่าขึ้นมาก่อนเป็นการเน้นคำพูดให้อีกฝ่ายหนึ่งได้ฟังให้ถนัดเสียก่อน แล้วจึงตามด้วยคำถาม อย่างนี้ พวกเราคนไทย อาจยังไม่คุ้น แต่ขอให้พยายามศึกษา และพยายามใช้การสร้างคำถามตามแบบของเขา ซึ่งพอท่านสามารถใช้ได้จนคล่องแคล้วแล้ว จะทำให้ท่านสนุกกับการสนทนาในภาษามะกันมากขึ้นอีกมากมายเลยทีเดียว ตัวอย่างประโยคที่มีคำถามสั้น ๆ อย่างเช่น “Your brother married his boss’s daughter, didn’t he? คือ พี่ชายเธอแต่งงานกับลูกสาวของเจ้านาย ใช่ไหม? “She doesn’t work here, does she?” สาวเจ้าไม่ได้ทำงานอยู่ที่นี่ ใช่ไหม?
ขอให้สังเกตว่า การสร้างประโยคคำถามซึ่งใช้ “Tag question” ตามตัวอย่างข้างต้นนี้ ถ้าประโยคนำเป็นประโยคบอกเล่า ก็ต้องตามด้วย “Tag question” ซึ่งเป็นคำถามที่ว่าไม่ (Negative) เสมอไป หรือกลับกันคือ ถ้าประโยคนำเป็นว่าไม่ ก็ต้องตามด้วยประโยคสั้นที่ห้วนกลับหรือกลับทวนกันเสมอไป
ใช่แล้ว ยุ่งตายห่า
แต่ก็ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ) # 25-08

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
DO, DID, DONE
ต่อจากที่ได้เริ่มต้นไปแล้วในสัปดาห์ที่แล้ว คำว่า “Do” นี้มีความหมายและความสำคัญในภาษาอังกฤษแท้ รวมทั้งภาษามะกัน เป็นอย่างมากสุด ๆ เลยทีเดียว นอกจากจะเป็นคำกริยาตัวแท้แล้ว คำว่า “Do” นี้ยังทำหน้าที่เป็นกริยาช่วย (Auxiliary verb) ในรูปแบบต่าง ๆ ด้วยอีกอย่างน่าเหน็ดเหนื่อยอีกด้วย
คำว่า “Auxiliary” นี้แปลว่า “ช่วย” และเป็นคำที่น่าศึกษาให้เข้าใจได้อย่างลึกซึ้งเพื่อที่จะนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง แต่ในที่นี้ ขอให้คำความเข้าใจกันไว้แต่เพียงว่าเมื่อใดเห็นคำนี้ก็ให้เข้าใจไว้ในขั้นต้นว่าเป็นเรื่องอะไรที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือไว้ก่อน ส่วน ณ ที่นี้ จะกล่าวถึงเพียงที่ “Do” ทำหน้าที่เป็นกริยาช่วย แต่ประการเดียวเท่านั้น
ในภาษาอังกฤษและมะกันนั้น บรรดาคำที่จัดไว้ว่าเป็น “กริยาช่วย” ก็มีดังต่อไปนี้คือ “Be,” “Have,” “Do,” “Can,” และ “Will”
ความสำคัญของกริยาช่วยก็คือ เมื่อได้ถูกนำเข้าไปประกอบเป็นประโยคต่าง ๆ เข้าแล้ว ก็จะช่วยเพิ่มความชัดเจนขึ้นมาให้กับความหมายของประโยคต่าง ๆ เหล่านั้น เป็นต้นว่า บ่งให้เห็นถึง กาลเวลา (Tense) ว่าเป็นเรื่องในปัจจุบัน (Present) หรืออดีต (Past) หรืออนาคต (Future) ก็ดี หรือช่วยคำให้ประโยคนั้น ๆ เป็นประโยคคำถาม (Questions) และยังสามารถแสดงถึงความเป็นไปได้ หรือความปรารถนา (Mood) ได้อีกด้วย
ความจริงข้อหนึ่งในเรื่องของภาษา ซึ่งเราต้องยอมรับอย่างดุษฎีนั้นก็คือ ภาษาอังกฤษ (ตั่งเดิม) เป็นภาษามนุษย์เพียงหนึ่งในไม่กี่ภาษาที่มีประวัติ์เก่าแก่เป็นเวลานับได้หลายพันปี และได้ผ่านการขัดเกลา ตลอดทั้งเพิ่มถ้อยคำขึ้นไปเป็นหมื่นเป็นแสน รวมไปถึงสำนวนมากมายซึ่งถ้าจะเรียนการให้ครบถ้วนขบวนความก็คงจะหัวเป็นสิงโตตรุษจีน ไม่ต้องพูดถึงว่า เรียนกันไม่รู้จบ
แต่ผลนั้นคือ ทำให้ภาษาของเขาสามารถผูกขึ้นใช้เป็นประโยคที่มีความหมายชัดเจน ไม่กำกวมหรือเคลือบคลุม และแน่ละ สำหรับผู้ที่สามารถใช้ถ้อยคำของเขาได้อย่างถูกต้องเท่านั้น ถึงจะทำเช่นนั้นได้
อนึ่ง ตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าคำที่ถือว่าเป็นกริยาช่วย คือ “Be,” “Have,” “Do,” “Can,” Will” นั้น ดูประหนึ่งว่ายังมิหนำใจ เพราะทุกคำที่กล่าวมานี้ยังสามารถผันออกไปได้อีก เป็นว่า
“B” (verb to be) = Am, are, was, were. “Have” = had & Have. “Do” - did และ “Will” = would ฯลฯ และที่น่าปวดหัวขึ้นไปอีกสำหรับผู้ที่ใช้อังกฤษเป็นภาษาที่สอง (English as a Second Language – ESL) ก็คือว่า เมื่อใดถึงจะใช้ “Verb to be” หรือ “Verb to do” แต่สำหรับผู้ที่เกิดมาโดยมีภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่มาตั้งแต่อ้อนแต่ออกนั้น ภาษามันซึมทราบเข้าสมองไปเองด้วยความเคยชิน กว่าจะโตเป็นผู้ใหญ่ก็สามารถจำขึ้นใจไปเองได้โดยไม่ลำบากยากเข็นเลย
แต่ก็อีกนั่นแหละ ถึงแม้ว่าจะมีภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ แต่ไม่ได้เล่าเรียนเพิ่มเติม มันก็จัดได้ว่ามีภูมิทางภาษาแค่ “หางอึ่ง” หรือเด็กชั้นประถมเท่านั้นเอง
อีตานี้ สำหรับท่านที่เรียนอังกฤษเป็นภาษาที่สอง (ESL) แล้ว จะรู้ว่าตอนไหนใช้ “Verb to be” หรือ “Verb to do” นั้น ปัญหานี้ต้องขอผลัดไปงวดหน้า จึงค่อยว่ากันต่อไป
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ) # 24-08

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
DO, DID, DONE
ในที่สุด เมื่อเรียงกันไปตามตัวอักษรอังกฤษ เราก็ได้มาถึงคำสำคัญ ที่มีค่าอย่างใหญ่หลวงในเรื่องภาษาของเขา ถึงแม้ว่าคำนี้มิใช่คำเดียวที่ปรารถนาก็ตามที
ท่านทั้งหลายก็พอทราบกันอยู่บ้างแล้ว ว่า “Do” เป็นคำกริยา และจะผันไปตามกาล เป็น “Did” และ “Done” (มาเรื่องไวยากรณ์อันน่าเบื่ออีกแล้ว แต่เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทบทวนเพื่อความเข้าใจอันดี) นอกไปจากนั้นแล้ว ยังมีคำว่า “Does” และ “Doing” อีกด้วยซ้ำไป
หยั่งที่ได้เกริ่นขึ้นไว้แล้ว ว่า “Do” เป็นคำสำคัญที่มีค่าใหญ่หลวง เพราะคำนี้มิได้เป็นแต่คำกริยาธรรมดาสามัญเท่านั้น ยังต้องทำหน้าที่เป็นกริยาช่วย (Auxiliary verb) ซึ่งเหน็ดเหนื่อยสายตัวแทบขาดรอน ๆ อีกด้วย
อนึ่ง สำหรับท่านที่มีพื้นฐานภาษาอังกฤษหรือมะกันมาบ้างแล้ว ก็คงจะ นึกออกว่า “Auxiliary verb” นั้นเป็นอะไร ทำหน้าที่อย่างไร และยังมีคำไหนอีกที่ถือว่าเป็นคำ “Auxiliary verbs” เช่นเดียวกัน ถึงท่านยังนึกไม่ออก ก็จะขอแกล้งอุบไว้ก่อน
เอาล่ะ ประโยคนี้ “How do you do?” ซึ่งมีคำว่า “Do” ถึงสองตัว ขอยกมาเป็นตัวอย่างเพื่อทบทวนความจำของท่านว่า “Do” คำหน้านั้นทำหน้าที่เป็นกริยาช่วย (Auxiliary verb) ส่วนคำหลังทำหน้าที่เป็นกริยาตัวจริง (Verb)
แต่ก่อนที่จะผ่านต่อไป ขอชี้แนะตรงนี้เสียหน่อยก่อนว่า ถ้อยคำที่ยกมาเป็นตัวอย่าง ที่ว่า “How do you do?” นั้น สมัยนี้ใครนำมาใช้ หรือนำมาพูดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองมะกัน ชาวบ้านร้านถิ่นเขาถือว่า “เฉิ่ม” หรือ เชย หรือโบราณคร่ำครึเหลือหลาย เนื่องจากภาษามันเดินหน้าอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และท่านมักจะได้ยินคนมะกันเขาทักทายปฏิสันถารกันด้วยคำว่า “How are you doing?” หรือใช้เพียงคำว่า “Hi” เสียละมากกว่า
นี่ละครับ โลกของเราทุกวันนี้ อะไรต่อมิอะไรก็ดูเสื่อมโทรมลงไปหมด ศิลปะ วัฒนธรรม รวมทั้งดนตรี และวรรณคดีทั้งหลายที่เคยได้ชื่อว่าเป็นสิ่งอมตะ ซึ่งจะไม่มีวันเสื่อมสูญนั้น เยาวชนทุกวันนี้มีสักกี่คนที่บิดามารดามีเวลาแนะนำให้เขาได้รู้จักและซาบซึ้งกับสิ่งที่เคยขึ้นชื่อว่าเป็นอมตะเหล่านั้น?
คำว่า “Do” นี้ ลำพังคำเดียวเมื่อแปลเป็นไทยก็หมายถึง ทำ, กระทำ, ก่อให้เกิด, ให้, ใช้ได้, เล่นเป็นตัว, แปล, ทำเสีย, เดินทาง, ฯลฯ โอ้ย อีกบานตะเกียง เพียงแต่เอาคำนามตามความหมายที่ต้องการมาต่อเข้าหน่อยเท่านั้นเอง
เป็นต้นว่า “Do your teeth.” แทนที่จะพูดว่า “Brush your teeth” (แปลงฟัน) หรือ “Do the dishes” แทนที่จะพูดว่า “Wash the dishes (ล้างถ้วยชาม) หรือ “Do the kitchen floor” แทนที่จะพูดว่า “Clean the kitchen floor” (ทำความสะอาดพื้นครัว) และ “Do the table” แทนที่จะพูดว่า “Set the table” (เตรียมจัดโต๊ะอาหาร) ฯลฯ
“There is nothing to do.” (ตอนนี้ว่าง) ไม่รู้จะทำอะไร

“There is nothing we can do.” จะให้เราทำอะไรได้เล่า
“Both mother and baby are doing well.” ทั้งมารดาและทารกเรียบร้อยปลอดภัยทั้งคู่ (หมายถึงสภาพภายหลังการคลอด)
ตัวอย่างข้างต้นล้วนแต่เป็นการใช้คำ “Do” ในฐานะเป็นกริยาตัวจริง ซึ่งจะแสดงให้เห็นได้ว่ามีความหมายไปได้มากมายสุดแต่การใช้สร้างประโยคขึ้นมา
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ) # 23-08

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
DIRTY
คำว่า “Dirty” ซึ่งมองดูเป็นคำสั้น ๆ ง่าย ๆ และได้แนะนำไปเมื่อสัปดาห์ก่อนในการใช้คำนี้เป็นคุณศัพท์ไปบ้างแล้วนั้น และในฐานะที่เป็นคำคุณศัพท์นั้นเอง ก็ยังสามารถนำไปผันให้เป็นว่า
“Dirty” คือสกปรก, “Dirtier” สกปรกมากกว่า, และ “Dirtiest” สกปรกเป็นอย่างที่สุดได้อีกด้วย
ต่อไปนี้จะกล่าวถึงการใช้คำเดียวกันนี้ในรูปคำกริยา, คำนาม และเรื่อย (แต่ไม่เปื่อย) ไปจนถึงการใช้เป็นถ้อยคำสำนวนที่ควรเรียนรู้และทำความเข้าใจกัน เท่าที่ผู้เขียนพอมีภูมิอันพึงนำมาเสนอกันได้ในคอลัมน์นี้ด้วย
จริงอยู่เราสามารถใช้คำ “Dirty” นี้ในรูปของคำกริยา และเมื่อใช้เป็นอดีตกาลก็เป็นว่า “Dirtied” ตัวอย่างเช่น “White gloves dirty easily.” คือถุงมือสีขาวนั้นสกปรกเปรอะเปื้อนได้ง่าย ๆ (ขอให้สังเกตว่าใช้เป็น Intransitive verb) และ “Don’t dirty your new dress.” คืออย่าเอาเสื้อผ้าใหม่ ๆ ไปทำเปื้อนเสียหมดน๊ะ (ใช้เป็น Transitive verb) อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัตินั้น เขามักไม่นิยมใช้คำว่า “Dirty” นี้เป็นคำกริยาโดยตรง แต่นิยมกันที่พูดว่า “To make something dirty.” เสียละมากกว่า
ต่อไปนี้เป็นสำนวนที่ใช้คำว่า “Dirty” ที่น่ารู้จัก คือ
“A dirtbag” (= Scumbag) เป็นคำด่ากัน ซึ่งหมายถึงคนถ่อย ๆ หรือคนเฮงซวย
“Dirt cheap” = “Something is dirt cheap.” หมายถึงอะไรก็ตามที่สนนราคาถูก ๆ เปรียบเสมือนว่าถูกเป็นขี้ (ผง) อนึ่ง สำหรับคำว่า “Cheap” ซึ่งแปลว่าของถูก ๆ หรือของซื้อขายกันในราคาไม่แพงเลยนั้น เป็นคำที่แฝงความหมายไปในทางดูหมื่นดูแคลนด้วยว่าเป็นของสตึ ๆ ไม่มีคุณค่าอันน่านิยมแต่อย่างใดเลย ฉะนั้น ในบางโอกาส เราควรที่จะหันไปใช้คำว่า “Inexpensive” เสียจะดีกว่า
“Dirt road” หรือ “Dirt track” หมายถึงถนนหรือเส้นทางจราจรซึ่งยังเป็นผิวดินเดิมที่เต็มไปด้วยขี้ฝุ่นเพราะยังมิได้ทำผิวหน้าเป็นคอนกรีตหรือลาดยางไปแล้ว
“Throw dirt enough, and some will stick.” ประโยคนี้เป็นสุภาษิตฝรั่ง ซึ่งแปลตรงตัวก็เป็นว่า “เอาฝุ่นผงสาดเข้าไปให้พอแรงเถิด มันจะต้องติดตรึงที่เป้าหมายนั้นได้แน่นอน” ซึ่งความหมายนั้นเป็นว่าผู้ที่โดนใส่ความอยู่เรื่อย ๆ นั้น บางทีก็พังไปจนได้ เข้าทำนองของไทยที่ว่า “ไม่มีมูลฝอย หมาไม่ขี้”
“Wash one’s dirty linen in public.” ถ้อยคำนี้เป็นสำนวนที่ถือได้ว่าเป็นสุภาษิตฝรั่งเขา ซึ่งแปลตรงตัวก็เป็นว่า “เอาผ้าปูที่นอนหรือผ้าปูโต็ะซึ่งเปื้อนเปรอะเลอะเทอะไปซักในที่สาธารนะให้ชาวบ้านร้านถิ่นเขาเห็น” แต่ความหมายของสุภาษิตบทนี้ของเขาเข้าทำนองสุภาษิตไทยเราที่ว่า “สาวไส้ให้กากิน”
อันว่า “สาวไส้ ฯลฯ “ ของไทยเรานี้ หมายความว่า เอาความลับมาแฉเปิดเผยให้คนทั้งหลายรู้เรื่องโดยที่ตนเองไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย
“ไอ้พิเภกพูดจาว่าพ้อตัด ไปช่วยกันจับมัดมาให้ได้
จะใคร่เฆี่ยนขับทำให้หนำใจ มันมีแต่สาวไส้ให้ไพรี”
รามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ ร. 2

ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ) # 22-08

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
DIRTY
คำว่า “Dirty” นี้ถือได้ว่าเป็นคำที่ใคร ๆ ก็รู้จักกันมาตั้งแต่เริ่มเรียนภาษาอังกฤษกันเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าท่านจะเป็นผู้ที่ใช้อังกฤษเป็นภาษาแม่ (Mother tongue) หรือเป็นภาษาที่สอง (ESL) และหลายท่านคงจะคิดอยู่ในใจว่า เขารู้จักคำนี้กันมานานแล้วละลุง
แต่ที่กำลังนำมาเสนอในคอลัมน์นี้นั้น มิใช่แต่เพียงที่เป็นคำถัดไปจากคำว่า “Direct” ซึ่งเพิ่งผ่านไปหยก ๆ เท่านั้น ยังมีประเด็นที่น่าเรียนรู้กันอย่างจริงจังอีกมากมายถึงแม้ว่าจะดูเป็นคำสั้น ๆ ง่าย ๆ ก็ตาม
ดังนั้น ในเบื้องต้น อยากจะเอ่ยไปถึงความเกี่ยวพันระหว่างคำว่า “Dirty” กับ “Dirt” ในทางไวยากรณ์ ซึ่งถือว่า “Dirty - สกปรก” นั้นเป็นคำคุณศัพท์ (Adjective) ของ “Dirt - ขี้ฝุ่น หรือผง หรือสิ่งสกปรก” ซึ่งถือว่าเป็นคำนาม (Noun) แต่แล้วทั้ง ๆ ที่เป็นคำนามก็ดี ในบางโอกาสยังกลับไปทำหน้าที่เป็นคำคุณศัพท์ในภาษาตลาด (Slang) ของฝรั่งเขาเอาเฉย ๆ อย่างนั้นก็มี ซึ่งในเรื่องนี้ ขอรอไปเอาไว้ว่ากันในตอนหลังของการเรียนรู้คำว่า “Dirty” นี้ได้ผ่านไปเรียบร้อยเสียก่อน
ในเรื่องความหมายที่มีอย่างมากมายกว้างขวางของคำ “Dirty” นี้ ใคร่ขอแนะนำประโยคต่าง ๆ อันน่าเรียนรู้ และจดจำไว้ เพื่อช่วยให้ท่านที่สนใจ สามารถใช้ถ้อยคำที่ถูกต้องตามความเข้าใจและความนิยมของฝรั่งเจ้าของภาษาเขาอย่างแท้จริง เช่น
“Dirty” -- “How did your shoes get so dirty?” เกิดอะไรขึ้น ถึงทำให้รองเท้าเธอเปรอะเปื้อนสกปรกอย่างนั้น?
“Dirty jobs -- “I always get given the dirty jobs.” ผมมักโดนใช้ให้ไปทำงานที่ไม่สู้จะดีอย่างนั้น ซึ่งใคร ๆ เขาไม่อยากทำกันแล้วเสมอเชียว (คำว่าไม่สู้จะดีนั้นอาจหมายความรวมไปถึงงานที่ไม่ต้องด้วยสัมมาอาชีพก็ได้)
“Dirty jokes -- “After dinner, people like to hear dirty jokes.” หลังอาหารค่ำจนอิ่มหนำสำราญกันไปแล้ว คนเรามักชอบฟังนิยายตลกแกมลามก
“Dirty lie -- “That is a dirty lie!” ที่ว่านั่นมันเป็นการโกหกที่ชั่วช้าเลวทรามสิ้นดี
“Dirty look” -- “Why did you give him a dirty look, what’s wrong? ทำไมลื้อมองเจ้าหมอนั่นยังกะจะกินเลือดกินเนื้อมัน มีอะไรไม่ชอบมาพากลอยู่เหรอ?
“Dirty mind -- “He’s got a dirty mind.” เขาคิดอยู่แต่เรื่องสกปรก
“Dirty old man” -- “Age gracefully and don’t end up being so called a dirty old man!” ถึงจะแก่ก็ให้มีศักดิ์ศรี อย่าได้กลายเป็นอย่างที่เขาเรียกว่าเฒ่าหัวงูก็แล้วกัน


“Dirty trick” -- “What a dirty trick to play!” ช่างเป็นเล่ห์ที่ชั่วช้าสามานย์เหลือหลาย โดยเฉพาะตรงนี้ บ่อยครั้งเราอาจเห็นว่าฝรั่งเขาใช้คำว่า “Dirty tricks” ไปประกอบคำนาม เช่น “A dirty tricks campaign” ซึ่งมักจะหมายถึงการรณงค์หาคะแนนเสียงโดยใช้เล่ห์กระเท่ห์หักล้างกันในด้านการเมือง
“Talk dirty” -- “As a waitress I often hear some customers talking dirty to me.” ทำงานในหน้าที่บริกรหญิง ฮะหั่นมักโดนลูกค้าบางคนพูดจาลวนลามเอาเสมอทีเดียว
“A dirty weekend” -- “A weekend spent intimately with a sexual partner.” ถ้อยคำนี้ในภาษามะกัน หมายถึงการใช้ช่วงวันสุดสัปดาห์ไปซุกซ่อนมั่วโลกีย์กับใครคนหนึ่งอย่างสุขโขสโมสรนั่นเอง
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ) # 21-08

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
DIRECT
ครั้งนี้เป็นสัปดาห์ที่ 4 ของคำว่า “Direct” หรือ “ไดเร็คท” ซึ่งส่วนมากมักจะใช้ในรูปของคำคุณศัพท์ที่มีความหมายว่า โดยตรง หรือลักษณะการที่ตรงไปตรงมา และในภาษาอังกฤษนั้น เพียงแต่เติม “ly” เข้าไปเท่านั้น คำนี้ก็จะกลายเป็นคำกริยาวิเศษณ์ แต่ก็ยังมีความหมายคงเดิมอยู่นั่นเอง
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เรามาถึงถ้อยคำว่า “Direct route” และสำหรับวันนี้ก็ยังเหลือ “Direct question” คือคำถามที่มุ่งตรงเข้าเป้าหมายอย่างไม่อ้อมค้อมให้เสียเวลา “Direct speech” หมายถึงคำปราศรัยของใครคนหนึ่งซึ่งจดบันทึกไว้คำต่อคำ และ “Direct tax” คือภาษีทางตรง ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับภาษีทางอ้อม แต่ความหมายของภาษีดังกล่าวทั้งสองประเภทนั้นอยู่นอกวัตถุประสงค์ของคอลัมน์นี้ จึงขอข้ามไปเพื่อมิให้ต้องเสียเวลาและเนื้อที่ของคอลัมน์อีกด้วย
คำว่า “Direct” นี้เป็นคำใหญ่อันมีที่ใช้กันอยู่ประจำวันอย่างกว้างขวางและมากโอกาสหรือ “Keyword” ซึ่งมีฤทธิ์เกินตัว กล่าวคือนอกเหนือไปจากการใช้ในฐานะเป็นคำคุณศัพท์ดังกล่าวแนะนำไปแล้วข้างต้น ก็ยังสามารถใช้เป็นคำกริยา (Verb) ในความหมายว่า ชี้ทาง, นำทาง, ชี้แนว, แนะแนว. ควบคุม, สั่ง, อำนวยการ ฯลฯ อย่างในประโยคต่อไปนี้ เช่น
“Could you direct me to Dr. Suwat’s office in Long Beach, please? สำนักงานคุณหมอสุวัฒน์ที่ลองบีชนั้น คุณโปรดช่วยแนะผมหน่อยว่าจะไปทางไหนได้ไหมครับ?
“My remark was directed at Somkid, not you.” ฉันตั้งข้อสังเกตไปที่คุณสมคิด มิใช่ที่คุณ
“The movie was directed by Steven Spielberg.” ภาพยนต์เรื่องนั้นสตีเวน สปิลเบอร์กเป็นผู้กำกับการถ่ายทำ
“The judge directed that the mother should be given custody of the children.” ผู้พิพากษาศาลได้สั่งให้ฝ่ายมารดาเป็นผู้มีอำนาจปกครองบุตรตามที่กล่าวถึงในคดีนั้น
“Please direct any complaints to the Customer Services department. โปรดติดต่อแผนกบริการลูกค้าโดยตรงถ้ามีข้อขัดข้องร้องเรียน หรือข้อซักถามใด ๆ ก็ตาม
อนึ่ง ก่อนที่จะสิ้นสุดกับคำว่า “Direct” เพื่อขึ้นคำใหม่ต่อไป ยังมีคำต่าง ๆ ที่เกี่ยวพันอยู่ในเครือและในฐานะคำนามซึ่งควรนำมาแนะนำไว้ด้วย เช่นว่า “Direction” ซึ่งตรงตัวแปลว่าทิศทาง เช่น “I lost all sense of direction” คือผมงงไปหมด ไม่รู้เหนือรู้ใต้เอาเลยทีเดียว แต่ถ้าเติม “S” เป็น “Directions” แล้ว ความหมายก็จะกลายเป็นคำแนะนำ คำสั่งหรือคำบงการ เช่น “Could you give me directions to the airport?” คือกรุณาผม ช่วยบอกทางไปท่าอากาศยานสักหน่อยได้ไหมครับ?
“Directive” เมื่อใช้เป็นคำนาม ย่อมหมายถึงคำสั่งหรือคำบัญชาการของผู้บังคับบัญชาชั้นสูง
“Director” หมายถึงกรรมการ หรือผู้อำนวยการ หรือผู้กำกับ สุดแต่เรื่องหรือกิจการที่เกี่ยวข้อง หรือ “Director-General” ซึ่งทางไทยเรามักจะหมายถึง “อธิบดีกรม” ในราชการงานเมือง
ท้ายสุดคือ “Directory” คือหนังสือที่รวบรวมรายการหรือข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งจัดไว้เป็นระบบเพื่อการค้นหาหรือค้นคว้า อย่างเช่น “Telephone directory” หรือที่เราเรียกกันว่า “สมุดโทรศัพท์” ทั้ง ๆ ที่ความจริงเป็นหนังสือเล่มใหญ่
แต่ทำไมเราจึงใช้คำว่า “ห้องสมุด” ทั้ง ๆ ที่เต็มไปด้วยหนังสือหนังหา จะมีสมุดสักเล่มเดียวก็หาไม่ แปลกแท้ ๆ
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ) # 20-08

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
DIRECT
ต่อจากที่ได้แนะนำค้างไว้เมื่อสัปดาห์ก่อน ยังมีการใช้คำว่า “Direct” เข้านำหน้าในฐานะเป็นคุณศัพท์ เข้าสมาสกับคำนามอีกมากซึ่งน่าสนใจที่จะเรียนรู้ต่อไปอีก คือ
“Direct mail” หรือบางครั้งเราอาจเห็นว่าเขาเขียนติดกันไป “Direct-mail” นั้นเป็นถ้อยคำซึ่งโดยมากแล้วใช้กันในวงการค้าขายหรือพานิชย์ที่หมายถึงการที่บริษัทการค้าส่งจดหมายจ่าหน้าโดยตรงถึงลูกค้าหรือบรรดาผู้ที่เขาหวังว่าจะสนใจในสินค้าตัวใหม่ของเขา ซึ่งแน่ละ คงต้องส่งกันในแบบจดหมายเวียน ซึ่งหมายถึงการส่งตรงเป็นจำนวนมากในแต่ละครั้ง และทุกวันนี้ ก็กำลังนิยมส่งกันทางอินเทอร์เนตมากขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนกัน
“Direct marketing” ถ้อยคำนี้หมายถึงการจัดส่งผู้แทนของบริษัทหรือที่เรียกกันว่า “เซลส์แมน” ออกไปติดต่อเสนอขายหรือเชิญชวนให้ตลาดรู้จักสินค้าตัวใหม่ และทั้งนี้เซลส์แมนนั้นอาจทำหน้าที่รับสั่งการซื้อสินค้านั้น ๆ ไปพร้อมกันเลยก็มีเช่นกัน และนอกไปจากนั้น คำว่า “Direct mail” ที่แนะนำไปก่อนนั้นโดนจัดให้อยู่ในส่วนหนึ่งของ “Direct-marketing” ก็มี
“Direct method” ตามหนังสือพจนานุกรม “Reader’s Digest Oxford Wordfinder” ได้ให้คำนิยามไว้ว่า หมายถึงแบบการสอนภาษาต่างประเทศด้วยวิธีการรวบรัดที่มุ่งไปในเนื้อหาของถ้อยคำและสำนวนกันล้วน ๆ โดยไม่เสียเวลาไปกับข้อปลีกย่อยชายเฟือย หรือแม้แต่เรื่องไวยากรณ์ก็ทิ้งไว้ให้ไปเรียนรู้ทำความรู้จักกันในภายภาคหน้าก็แล้วกัน
“Direct object” เพิ่งว่าไปหยก ๆ ถึงเรื่องไวยากรณ์ และถ้อยคำนี้ก็เป็นเรื่องของไวยากรณ์อังกฤษทั้งดุ้นเลย ซึ่งหมายถึงคำนามที่ทำหน้าที่เป็นกรรมหลังคำกริยาโดยตรง และเมื่อมี “Direct object” ก็มี “Indirect object” แต่เรื่องไวยากรณ์นั้นอยู่นอกแนวของคอลัมน์นี้ จึงไม่ขอบุกเข้าไปถึงให้ปวดหมองท่านผู้อ่านโดยถือว่ายังไม่จำเป็น
“Direct opposition” หรือ “Direct opposite” เป็นถ้อยคำที่หมายถึงการกระทำซึ่งเป็นไปในทางตรงข้ามหรือ “กลับตาลปัตร” ผิดไปจากอะไรก็ตามที่ได้มีกำหนดไว้แต่เดิมมา
“Direct proportion” เรื่องของวิธีการคำนวณตัวเลข หาความสัมพันธ์ระหว่างสองจำนวน หรืออัตราเปรียบเทียบซึ่งเรียกว่า “เรโช” (Ratio) อันเป็นเรื่องของคณิตศาสตร์โดยแท้
“Direct route” สำหรับคำหลัง คือ “Route” นี้คนอังกฤษเขาออกเสียงว่า “รู๊ท” (ออกเสียงยาว) แต่ชาวมะกันออกเสียงว่า “เร้าท์” อย่างไรก็ตาม ถ้อยคำว่า “Direct route” นี้หมายถึงเส้นทางสันจรที่ต้องการให้ย่นย่อหรือรวบรัดตัดตรง และโดยมากแล้วก็หมายถึงการเดินทางไกลระหว่างเมืองหนึ่งไปยังอีกเมืองหนึ่ง
เมื่อมาถึงตอนนี้แล้ว อยากแนะนำไปถึงคำว่า “Bee-line” ซึ่งจะแปลว่าการบินของตัวผึ้งก็ยังไหว และถ้อยคำนี้แปลว่าเดินรี่เข้าใส่หรือเข้าหา เช่นในประโยคที่ว่า “As soon as John arrived he made a bee-line for the bar.” คือ “พอมาถึงปุ๊ป เจ้าจอห์นก็เดินตรงรี่ไปที่เค้านเตอร์บาร์” ไม่สนใจอื่นใดเล้ย
พึงสังเกตว่า “Direct route” นั้นหมายถึงการเดินทางไกล ๆ ขณะที่ “make a bee-line” นั้นเป็นสำนวนมะกัน หมายถึง “การเดินตรงรี่ไปที่ใดที่หนึ่งนั่นเอง”
“ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข”

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ) # 19-08

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
DIRECT
Direct access Direct action Direct answer
Direct current Direct debit Direct deposit
Direct flight Direct hit Direct mail
Direct marketing Direct method Direct object
Direct opposition Direct proportion Direct route
Direct question Direct speech Direct tax
เพียงคำง่าย ๆ สั้น ๆ ว่า “Direct”ซึ่งแปลว่า “ทางตรง” หรือ “โดยตรง” นิยมใช้กันในรูปของคำคุณศัพท์ และเนื่องจากเป็นคำที่เข้าใจได้ง่าย ๆ จึงเป็นที่นิยมในการนำมาสมาสเข้ากับคำอื่น ตามที่ยกมาไว้ให้เห็นข้างต้น แล้วกลายเป็นถ้อยคำซึ่งใช้กันในการติดต่อพูดจาประจำวันตามโอกาสต่าง ๆ และน่าที่จะทำความรู้จักไว้บ้าง กล่าวคือ
“Direct access” แปลตรงตัวก็หมายถึงช่องทางซึ่งเปิดให้เข้าถึงเป้าหมายได้โดยตรง ไม่ต้องอ้อมค้อมเลี้ยวลดให้เสียเวลา ซึ่งอย่างไทย ๆ ของเรามักจะหมายถึงการเข้าตีท้ายครัวเลยก็ยังไหว กล่าวคือไม่ต้องเสียเวลาผ่านด่านต่าง ๆ ตลอดจนพิธีรีตรองใด ๆ ให้เยิ่นเย้อเสียหัวไปเปล่า ๆ ปลี้ ๆ อย่างไรก็ดี ในภาษาอังกฤษมะกันทุกวันนี้แล้ว ถ้อยคำนี้มักจะหมายถึงการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อค้นหาเรื่องราว หรือข้อมูลอย่างหนึ่งอย่างใดเสียมากกว่า
“Direct action” ถ้อยคำนี้ในภาษาฝรั่งมักจะหมายถึงมีการกระทำที่รวบรัดเพื่อผลฉับพลัน แทนที่จะต้องใช้เวลาไปในการเจรจาต๊ะอ้วยให้เสียน้ำลายเปล่า ๆ และโดยทั่วไปแล้วจะกระเดียดไปในทางมุ่งร้ายหมายขวัญอีกฝ่ายหนึ่งเป็นสำคัญ
“Direct answer” หมายถึงการโต้ตอบหรือคำตอบที่ตรงไปตรงมา ไม่ต้องอ้อมค้อมเกรงใจว่าจะกระเทือนซางกันแค่ไหน หรือหาไม่ก็ตาม
“Direct current” โดยปกติทั่วไปแล้ว เป็นศัพท์แสงที่หมายถึงไฟฟ้ากระแสตรง (D.C.) ซึ่งตรงข้ามกับกระแสสลับ (Alternating Current – A.C.) หากแต่ศัพท์ตลาดไทย ๆ เราในบางวงการเขาอาจหมายถึงรักต่างเพศและรักร่วมเพศไปเสียเลยก็ได้
“Direct debit” เป็นศัพท์ที่ใช้วงการบัญชีและธนาคารซึ่งหมายถึงการตกลงกันไว้ในเรื่องการหักจ่ายบัญชี อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ที่สนใจ ก็ขอให้ไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเฉพาะทางเอาเองก็แล้วกัน
“Direct deposit” ทุกวันนี้กำลังเป็นที่นิยมกันอยู่แทบทุกวงการ ที่จะจ่ายเงินเดือนหรือค่าแรงงาน โดยที่ฝ่ายนายจ้างหรือต้นสังกัด จะจัดการนำเงินเข้าบัญชีให้พนักงานหรือลูกจ้างโดยตรงไปเลย ซึ่งเป็นวิธีการที่ฝ่ายผู้รับเองก็พึงพอใจมากกว่า เพราะอย่างน้อย ๆ เขาไม่ต้องเสียเวลาไปกับการคอยรับซองเงินเดือนตามงวด และเมื่อเขาต้องการใช้เงิน เขาก็สามารถไปกดเครื่อง ATM เอาเอง เมื่อไหร่ก็ย่อมได้
“Direct flight” คำนี้กำลังเป็นที่คุ้นหูกันอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งหมายถึงการเดินทางอากาศโดยเลือกใช้เครื่องบินซึ่งกำหนดการบินตรงจากจุดหนึ่งไปถึงอีกจุดหนึ่งโดยไม่แวะให้เสียเวลาระหว่างทาง แต่ก็ย่อมมีข้อดีและข้อเสียอยู่บ้างเป็นธรรมดา และพูดไปเป็นไรมี ในข้อที่ว่า อะไรก็ตามที่มีข้อดีและปราศจากข้อเสียนั้น จะมีได้อย่างไร?
“Direct hit” แปลเป็นไทยก็หมายถึงการโดนชน หรือโดนกระแทกเข้าอย่างจัง หรือเต็มแรง ซึ่งแน่ละ ย่อมหมายถึงเรื่องร้าย ๆ ทั้งนั้น ถ้าสามารถหลีกเลี่ยงได้ย่อมดีไปแปดอย่างแน่นอน
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ) # 18-08

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
DIRECT
ตั้งแต่ต้นปีนี้เรื่อยมา เราได้เริ่มแนะนำคำต่าง ๆ ในหมวดอักษร “D” จากคำว่า “Damn,” “Dare,” “Dead & Die,” “Deal,” “Deep,” จนถึงคำว่า “Dig” และวันนี้เราก็จะเดินหน้ากันต่อไปด้วยคำว่า “Direct” ซึ่งเป็นคำที่ใช้กันมากอีกคำหนึ่งในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งที่มีความหมายเป็นธรรมดา และที่เป็นสำนวนในชีวิตประจำวันเมื่อเราเจรจาต๊ะอ้วยกันทั้งในภาษาอังกฤษดั้งเดิมและแบบมะกันซึ่งกำลังนิยมกันมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ในปัจจุบันนี้
และโดยที่เราจำเป็นต้องยึดถือหลักการไว้เสมอไม่ว่าเราจะคิดหรือจะมีการกระทำด้วยประการใดก็ตาม ดังนั้นเราต้องพูดถึงเรื่องไวยากรณ์อันน่าเบื่อหน่ายนั้นกันบ้างเล็กน้อยเหมือนกัน
คอลัมน์นี้จะว่ากันถึงการใช้คำ “Direct” ในรูปของคำคุณศัพท์ก็ดี ในคำกริยาก็ดี ฯลฯ เรื่อยไปจนถึงการเสริมคำออกไปแบบคำข้างเคียง (Derivatives) อย่างเช่น “Directly” ซึ่งในทางไวยากรณ์ถือว่าเป็นคำกริยาวิเศษณ์ และคำในรูปอื่น ๆ เช่น Directness, Direction, Directive, Director, Directorate, Directory, etc. เท่าที่เห็นว่าจะเป็นคุณประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านทั้งหลายที่สนใจติดตามเรื่อยมาอีกด้วย
เริ่มด้วยการใช้คำ “Direct” ในรูปของคำคุณศัพท์ซึ่งใช้บ่อยที่สุดใช้ชีวิตประจำวันนั้น ในทางไวยากรณ์เขายังแบ่งออกไปอีกเป็นสองลักษณะคือ “Attributive adjective” และ “Predicative adjective” (เริ่มปวดหมองแล้วซิ)
“Attributive adjective” คือการใช้คำคุณศัพท์นั้นนำหน้าคำนามโดยตรง เช่น “A beautiful girl” ณ ที่นี้คำว่า “Beautiful” เป็น “Attributive adjective” เพราะนำอยู่หน้าคำว่า “Girl” ซึ่งเป็นคำนาม
ส่วน “Predicative adjective” เป็นการใช้คำคุณศัพท์ตามหลังคำกริยา อย่างเช่น “That girl is beautiful.”
ในภาษาอังกฤษหรือมะกันนั้น คำคุณศัพท์บางคำสามารถใช้ได้ทั้งสองรูปแบบอย่างคำว่า “Beautiful” ตามที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น แต่ยังมีคำคุณศัพท์อีกมากที่โคนจำกัดการใช้ไว้ว่า ให้อยู่ในรูปแบบหนึ่งแบบใดเท่านั้นเอง
ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคุณศัพท์คำหนึ่ง ๆ นั้นจะต้องใช้ในรูปแบบไหน คำตอบก็คือ สำหรับคนที่เขาเกิดมาในภาษามะกัน เขาย่อมรู้ได้เพราะความเคยชินกับภาษาของเขามาตั้งแต่อ้อนแต่ออก และเขาย่อมจะรู้สึกผิดหูทันที ถ้าเราใช้ถ้อยคำของเขาอย่างไม่ถูกต้อง
แต่สำหรับเรา ๆ ซึ่งถือว่าภาษามะกันเป็นภาษาที่สอง (English as a second language - ESL) หรือที่สามแล้ว ต้องขึ้นอยู่กับชั่วโมงการบินในการใช้ภาษามะกันมายาวนานมากแค่ใดเป็นเบื้องต้น ถัดไปก็ย่อมจำต้องค้นคว้าหาความรู้ประกับตนด้วยการดูพจนานุกรมชนิดอธิบายคำในภาษามะกันเป็นมะกันด้วยกันฉบับที่ค่อนข้างดีหรือเล่มใหญ่สักหน่อย เขาก็จะมีบอกไว้ให้อย่างแจ่มแจ้งเลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าสามารถหาชนิดที่เขาเขียนบอกไว้ว่าเป็น “Advanced Learner’s Dictionary” เล่มตั้งโต๊ะขนาดกระทัดรัดได้ด้วย ก็จะยิ่งดีมากเลยทีเดียว
วันนี้หมดเวลาไปด้วยการกล่าวถึงหลักไวยากรณ์เสียมากมายซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น สำหรับการศึกษาภาษาอังกฤษอเมริกัน เพราะของเขามีกฎเกณฑ์ค่อนข้างมาก และละเอียดอ่อนกว่าทางภาษาไทยของเราโขทีเดียว จึงต้องรอไว้สัปดาห์หน้าสำหรับคำว่า “Direct” นี้ต่อไป
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ) # 17-08

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
DIG
ขึ้นชื่อว่าถ้อยคำที่เป็นสำนวนนั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นภาษาพูดมากกว่าภาษาเขียน และเมื่อกล่าวถึงภาษาพูดและภาษาเขียนแล้ว เราก็น่าที่จะพิจารณาต่อไปถึงว่า ทั้งสองแบบของภาษานั้น มีข้อแตกต่างกันอย่างไรเสียเลยด้วย
เราสามารถกล่าวในเชิงสรุปสั้น ๆ ถึงหลักใหญ่ใจความของภาษาพูดได้ว่า เป็นการใช้ถ้อยคำย่นย่อ ที่สามารถเรียนรู้และเข้าใจกันได้ง่าย ๆ ประการหนึ่ง และส่วนมากมักจำเป็นที่ต้องใช้คำกริยาร่วมอยู่ในประโยคนั้น อีกประการหนึ่ง นอกไปจากนั้นแล้ว คำกริยาในภาษาพูดยังมีการ “สมาส” ศัพท์ตั้งแด่สองศัพท์หรือมากกว่า ขึ้นมาใช้เป็นสำนวนซึ่งมีความหมายผิดไปจากเดิมเมื่ออยู่โดด ๆ ตามลำพังตัวเอง
การสมาสศัพท์เมื่อใช้คำกริยาไปสมาส หรือประสม หรือต่อกับคำอื่นนั้น ตามหลักไวยากรณ์ในภาษาอังกฤษเรียกว่า “Phrasal verbs”
ส่วนทางด้านภาษาเขียนนั้น เป็นการใช้คำกริยาหรือคำนามซึ่งเป็นศัพท์ตัวเดี่ยวโดด ๆ ซึ่งมีความหมายเฉพาะตัวของศัพท์นั้น ๆ เอง และส่วนมากของศัพท์ที่ใช้กันในภาษาเขียนนั้น มักจะเป็นพวกที่เราเรียกกันว่า “คำใหญ่” (Big words) หรือ “คำยากซึ่งมีแบบแผน” (Formal)
ตัวอย่างเช่น ในภาษาเขียนนั้น คำว่า “Ameliorate” ในภาษาพูดใช้คำว่า “Make something better” ก็ได้ หรือ “Deteriorate” เราจะพูดว่า “Go downhill” ก็ได้ และอย่างเช่น “Perceive” ทางด้านภาษาพูดก็ใช้คำว่า “Become aware of” แทนก็ได้ หรือ “Invigorate” นั้น ในภาษาพูด เราก็ว่า “To make somebody feel healthy and full of energy” ฯลฯ เป็นต้น
บางครั้ง เราท่านอาจได้ยินบรรดาท่านนักวิชาการมากหน้าหลายตาที่ชอบใช้ “คำใหญ่” มาพูดให้ผู้ฟังเป็นงง อย่างที่ได้ยกตัวอย่างมาให้ดูข้างต้นนี้ ก็มีบ่อย ๆ เหมือนกัล เพราะอาจเป็นด้วยท่านเผลอ หรือท่านมีเจตนาอยากจะแสดงว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหรือแก่วิชา ก็สุดแต่
มื้อนี้เราว่ากันถึงเรื่องไวยากรณ์อันน่าเบื่อหน่าย เรียนรู้ไปแล้วก็ลืมกันหมด แต่ไม่ว่าจะทำอะไร เรายึดหลักการเอาไว้บ้าง จะดีกว่าไม่มีเสียเลย เพราะเมื่อใช้ภาษาถูกต้องหลักไวยากรณ์ ก็ย่อมแสดงได้ว่าเป็นผู้ที่มีพื้นการศึกษามาแล้วพอสมควรนั่นเอง
ต่อไปนี้ ขอให้เรากลับเข้าเรื่องของคำว่า “Dig” ต่อไป
กล่าวตามที่ได้เกริ่นไว้แล้วข้างต้นว่า ลำพังคำว่า “Dig” ซึ่งแปลว่า “ขุด” นั้น เมื่อนำไปสมาสเข้ากับคำอื่นดังต่อไปนี้ คือ “Dig around,” “Dig in,” “Dig into,” “Dig out,” “Dig over,” “Dig up,” ก็จะเป็นการเพิ่มและขยายความหมายจากคำเดิมให้กว้างขวางหรือเจาะจงเป็นเฉพาะทางออกไปได้อีกเป็นอย่างมากเลยทีเดียว นั่นคือ
“You dig around something” = you search for something. คือท่านค้นหาอะไรสักอย่างหนึ่ง
“You dig in something” หมายความว่า ท่านตั้งหน้าตั้งตาทำอะไรสักเรื่องหนึ่งอย่างจริงจัง แม้แต่ในความหมายในเรื่องการกินอยู่ก็ได้
“Jimmy digs his hands deeper into his pockets.” จิมมี่เอามือล้วงลึกลงไปในกระเป๋ากางเกงของเขา
“Dig information out of books and reports.” ค้นหาข้อมูลที่ต้องการจากหนังสือและรายงานต่าง ๆ
“Dig the garden over.” ขุดกลับหน้าดินในสวนเพื่อเตรียมการเพาะปลูกต่อไป
“Dig some dirt up” ค้นหาเรื่องที่ไม่ดีขึ้นมาเพื่อเล่นงานใครสักคนหนึ่ง
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ) # 16-08

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
DIG
ถัดจากคำว่า “Deal” และ “Deep” เราก็มาถึง “Dig” (ดิก) ซึ่งโดยมากเรามักจะใช้เป็นคำกริยา ในความหมายว่า ขุด หรือขุดหา ขุดค้น ขุดคุ้ย และคอลัมน์นี้จะแนะนำการใช้ “Dig” ในรูปแบบและความหมายของประโยคต่าง ๆ ง่าย ๆ ไปจนถึงที่จัดว่าเป็นสำนวน และรวมไปถึงการใช้ในแบบสุภาษิตเท่าที่พึงรู้และทำความรู้จักไว้อีกด้วย
ในทางไวยากรณ์อังกฤษนั้น จาก “Dig” ก็ไปเป็น “Dug” และ “Digging” อย่างที่พอรู้ ๆ กันอยู่แล้ว และประโยคตัวอย่างดังต่อไปนี้แสดงให้เห็นว่าคำว่า “Dig” นี้สามารถมีความหมายเป็นอย่างอื่นนอกเหนือไปจากการกระทำในลักษณะขุด หรือขุดหาอีก ก็ได้
“Kids enjoy digging in the sand.” เด็ก ๆ ชอบขุดดินขุดทรายเล่นกัน
“Jane dug a hole and threw some seeds in it. ยายเจนขุดหลุมได้แล้วก็เอาเมล็ดพรรณพืชใส่ลงไป (ประโยคนี้เป็นอดีตกาล)
“Jane dug her fingernails into my arm.” ยายเจนจิกเล็บลงไปที่แขนของผม (เป็นประโยคอดีตกาลเช่นเดียวกัน)
“Their company began digging for minerals many years ago.” บริษัทของเขาได้เริ่มขุดแร่ในดินเป็นเวลาหลายปีแล้ว (Dig for = ขุดหา)
“It is difficult to dig the ground when it is frozen.” มันเป็นการยากที่จะขุดลงไปในพื้นดินได้ ตอนที่พื้นนั้นกำลังจับตัวเป็นน้ำแข็งอยู่ในขณะนั้น
“I don’t dig modern jazz.” ผมไม่สนเรื่องดนตรีแจ๊ซเลย หรือผมไม่ชอบดนตรีแจ๊ซเลย (ขอให้สังเกตว่าประโยคนี้ใช้คำว่า “Dig” ในความหมายของการชอบหรือไม่ชอบก็ได้)
Jane went home to dig around in her closets for some old tapes. เจนกลับไปบ้านเพื่อค้นหาเทปเก่า ๆ ในตู้ของเธอที่ใช้เป็นที่เก็บข้าวของต่าง ๆ (ในประโยคนี้คำว่า “Dig” ใช้ในความหมายว่าค้นหา)
“Tom digs his heels in.” เจ้าทอม ยืนกรานไม่ยอมเปลี่ยนใจแม้แต่น้อย คือดื้อดึงอย่างไม่ยอมลดลาวาศอกแต่ประการใดทั้งสิ้น (ในประโยคภาษาอังกฤษ เขาใช้คำว่าใช้ส้นเท้ายันพื้นไว้อย่างไม่ยอมเดินหน้าหรือถอยหลัง)
“Peter is digging his own grave.” ปีเตอร์กำลังขุดหลุมฝังตัวเอง (ในความหมายว่ามีการกระทำในลักษณะซึ่งจะเป็นภัยแก่ตนเองในที่สุด)
“The mayor dug himself into a hole when he promised 5,000 new jobs.” อีตานายกเทศมนตรีได้ขุดหลุมฝังตัวเองเข้าแล้ว เมื่อเขาไปสัญญิงสัญญาไว้ว่าจะดลบันดาลงานใหม่ขึ้นมาให้คนได้ทำถึง 5 พันรายทีเดียว (ขอให้สังเกตด้วยว่าประโยคนี้มีความหมายทำนองเดียวกันกับประโยคที่ถัดขึ้นไปนั้น)
“The food is ready, so dig in!” เอาละ อาหารพร้อมแล้ว มาลงมือกันได้เลย
เท่าที่แนะนำไปแล้วข้างต้นนี้เป็นเพียงแต่การใช้คำว่า “Dig” ในประโยคง่าย ๆ และยังจะมีต่อไปอีกมากพอสมควรในสัปดาห์ข้างหน้า
อนึ่ง ใคร่ขอแนะนำย้ำมาไว้ ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่งด้วยว่า การศึกษาเล่าเรียนภาษาต่างชาติซึ่งเรียกได้ว่าเป็นภาษาที่สองของเรานั้น ในเบื้องต้นหรือขั้นพื้นฐานต้องอาศัยการจดจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจำทั้งประโยค ดีกว่าการที่พยายามจะผูกถ้อยคำขึ้นมาให้เป็นประโยคเสียเอง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า สำนวนมีความหมายมากกว่าสำเนียงหลายเท่านัก
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ) # 15-08

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
คำว่า “รูปธรรม” และ “นามธรรม” นั้นอาจเป็นที่เข้าใจยาก จึงไม่ค่อยจะได้ยินได้ฟังกันบ่อยนัก เพราะต่างก็เลี่ยงหลีกไปใช้คำอื่น ๆ ทั้ง ๆ ที่เป็นคำกระทัดรัด สั้น ๆ มีความหมายในตัวของถ้อยคำเอง และบางครั้งเราก็ได้ยินว่า “รูปธรรมนามธรรม” ติดต่อกันไปเลยก็มี
“รูปธรรม” แปลว่าสิ่งที่เราสามารถรู้ได้ด้วยการสัมผัสและปฏิบัติได้ และตรงกับภาษาอังกฤษคำว่า “Concrete” (Adjective) ส่วน “นามธรรม” – “Abstract” (Adjective) นั้นแปลว่าสิ่งที่ไร้รูป และรู้ได้เฉพาะทางใจเท่านั้นเอง
แต่เมื่อใดที่เราได้ยินคำว่า “รูปธรรมนามธรรม” ซึ่งมักจะใช้เป็นคำพูดเพื่อปลอบใจกัน เพราะความหมายของถ้อยคำกลายเป็นว่าใครที่มีรูปร่างน่าตาเป็นไปเช่นนั้นก็เป็นเพราะเขาไม่อาจกำหนดได้ตามใจเลือกได้ (ก่อนสมัยใช้ศัลยกรรมตกแต่ง – Cosmetic surgery) 555
ประโยคตัวอย่างของการใช้คำว่านามธรรม ก็มีดั่งเช่นว่า “Beauty is an abstract idea.” แปลว่ารูปโฉมโนมพรรณอันสวยสดงดงามนั้นเป็นเพียงแต่นามธรรมเท่านั้นเองและมิใช่รูปธรรม คืออย่าได้พยายามไปแตะต้องเคล้าคลึงโดยเจ้าตัวเขาไม่ยินยอม ถ้าไม่อยากติดคุกหัวโต
คำว่า “Deep” ซึ่งเป็นคำคุณศัพท์ (Adjective) นั้น สามารถใช้ได้ทั้งในความหมายของรูปธรรม และนามธรรม สุดแต่การสร้างประโยค ตามที่เราได้เริ่มต้นไปบ้างแล้วเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ถัดไปจากนั้น เรายังสามารถใช้คำนี้ไปประกอบคำกริยา ให้มีความหมายที่เน้นไปว่ามีการกระทำต่างรูปแบบออกไปได้อีก อาทิเช่น “Deep-freeze” คือการแช่แข็งในอุณหภูมิสูง “Deep-fry” คือการทอดอาหารด้วยการใช้น้ำมันมากจนท่วมท้น “Deep-mined” คือการทำเหมืองแร่ที่ต้องขุดลึก และ “Deep-rooted” หรือ “Deep-seated” หมายถึงอะไรที่ฝังรากลึกหรือฝังติดแน่น ยากต่อการแก้ไขหรือทำลายล้าง
ข้อน่าสังเกตสำหรับคำว่า “Deep-rooted” หรือ “Deep-seated” นี้ก็คือว่า โดยมากแล้วถ้อยคำนี้มักจะใช้กันในความหมายของการเป็นนามธรรม อย่างเช่น “Deep-rooted fears” คือความหวาดหวั่นสะพรึงกลัวที่ฝังลึกอยู่ในความรู้สึก หรืออย่างในประโยคที่ว่า “Thc country’s political divisions are deep-seated.” คือปัญหาเรื่องการขัดแย้งทางการเมืองของประเทศนั้นเป็นเรื่องที่ยืดเยิ้อเรื้อรังเป็นอย่างยิ่งเลยทีเดียว
อนึ่ง คำว่า “Deep” นี้ยังใช้ประกอบสุภาษิตโบราณเช่นว่า คือ “Still waters run deep.” น้ำนิ่งไหลลึก “Beauty is only skin deep.” อันว่าความสวยนั้นเป็นเพียงแต่เรื่องผิวเผิน และ “Between the devil and the deep blue sea.” หรือหนีเสือปะจรเข้ รวมทั้ง “Of the deepest dye.” ซึ่งเป็นถ้อยคำที่นำมาประกอบคำบรรยายอะไรที่ถือว่าเลวช้าสามาลย์ หรือชั่วอย่างสุด ๆ “He is the villain of the deepest dye.” คือมันเป็นคนชั่วช้าสามาลย์อย่างสุดแสนเลยทีเดียวฯลฯ
และท้ายสุดของคำว่า “Deep” นี้ ก็คือ “Deep-six” ซึ่งแปลตรงตัวนั้นหมายความว่าให้เอาไปฝังจมดินในทำนองฝังศพให้ลึกหกฟุตเลยทีเดียว แต่ใช้เป็นคำสะแลงที่หมายความว่าเอาไปทิ้งหรือฝังให้ไกลสุด ๆ ให้พ้นหูพ้นตา อย่าได้เปิดโอกาสให้ย้อนกลับมาได้อีกโดยเด็ดขาด
“That guy is a pain. Deep-six him so the cops will never find him.”คือเจ้าหมอนั่นมันทำเราแสบทรวงจริง ๆ ต้องเอาแม็งไปฝังให้ลึกสุด ๆ อย่าให้ตำรวจค้นเจอได้เลยทีเดียว …..เสียวไส้
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ) # 14-08

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
สำนวนในภาษาอังกฤษมะกันนั้น คำซึ่งน่าสนใจถัดจาก “Deal” แล้วก็น่าจะเป็น “Deep” ที่ใคร ๆ ก็ต้องร้องว่า เขารู้จักคำนี้กันมานมนานแล้วละลุง และอาจเป็นการ “เอามะพร้าวห้าวไปขายสวน” ซึ่งเป็นสำนวนไทยแท้ที่หมายความว่าไปทำซ้ำเรื่องกับที่เขามีกันอยู่อย่างเหลือใช้เหลือกินแล้ว หรือแนะนำเรื่องที่ใคร ๆ เขารู้มากกว่าแล้วก็ตามทีเถิด
แต่เดี๋ยวก่อน เดี๋ยวก่อน มาถึงตอนที่ต้องขอหยุดประเดี๋ยว กับสำนวนไทยที่เอ่ยถึงมาข้างต้นนี้ คืออย่าได้พยายามแปลเป็นภาษาอังกิดให้ฝรั่งฟังเป็นอันขาด เพราะไม่ว่าจะอธิบายให้เมื่อยปากเมื่อยมืออย่างไร ก็จะเป็นการยากที่ฝรั่งเขาจะเข้าใจสำนวนไทยนี้ได้เลย สู้ใช้สำนวนแท้ ๆ ของเขาเองที่ว่า “You carry coals to Newcastle.” แล้วเขาก็จะพยักหน้างึก ๆ ได้แทนที่จะสั้นหัวดิก ๆ แน่นอน
เอาละ คำว่า “Deep” นี้ เป็นคำคุณศัพท์ ซึ่งให้เราเริ่มรู้จักกันในประโยคง่าย ๆ ใช้กันเป็นประจำวันก่อน อาทิเช่น
“How deep is the wound?” บาดแผลนั้นลึกไหม?
“John stood with his hands deep in his pockets.” เจ้าจอห์นยืนมือสองข้างซุกอยู่ในประเป๋ากางเกง
“I have to take a deep breath before answering John’s questions.” อั๊วต้องอัดลมลงปอดอย่างหนักเสียก่อนที่อั๊วจะตอบคำถามของจอห์นมันได้
“At that popular cocktail bar early-bird revelers stand three deep talking and drinking as if there is no tomorrow.” ที่บาร์เหล้าอันเป็นที่ชื่นชอบของใครต่อใครนั้น พวกนักดื่มนักเที่ยวไปกันตั้งแต่หัววัน ยืนออกันถึงสามซ้อนคุยกัน ดื่มกัน ราวกับว่าจะไม่มีวันพรุ่งนี้กะนั้นแหละ
ประโยคหลังสุดนี้ค่อนข้างยาว และมีคำในภาษาอังกฤษที่น่าทำความรู้จักอยู่มากคำ อาทิเช่น คำว่า “Early bird” ซึ่งเป็นถ้อยคำที่ติดปากชาวมะกัน หมายถึงคนที่ชอบไปทำกิจวัตรต่าง ๆ ก่อนคนอื่น ๆ เข้าทำนองคำไทยที่ว่าไปกันตั้งแต่ไก่โห่ หรือไปกันแต่หัววันเลยทีเดียว และคำนี้ใช้ได้ทั้งเป็นคำนาม เช่น “An early bird” หรือใช้เป็นคุณศัพท์อย่างในประโยคตัวอย่างข้างต้นนั้นก็ย่อมได้
ภัตตาคารฝรั่งหลายแห่งมักเขียนประกาศว่า “Early-bird Specials” ซึ่งหมายถึงรายการอาหารจัดพิเศษและราคาย่อมเยาสำหรับลูกค้าที่มาอุดหนุนก่อนถึงเวลาอาหารตามปกติ ก็มีอยู่มิใช่น้อยแห่ง
ส่วนคำว่า “Revelers” (เรฟ’เวิลเลอร์ส) หรือทางภาษาอังกฤษดั่งเดิมเขาสะกดเป็น “Revellers” นั้น ก่อนอื่นขอให้สังเกตว่าในที่นี้มีอักษร “S” เป็นคำพหูพจน์ ก็หมายถึงพวกที่ชอบเที่ยวชอบดื่ม ชอบสนุก หรือถ้าจะตัดตัว “S” ออก ก็หมายถึงคนเดียวก็ได้
สำหรับคำว่า “three deep” ก็หมายถึงซ้อนกันถึงสามซ้อน หรือในประโยคข้างต้น ก็เป็นตามที่แปลไว้ให้แล้วว่า ยืนออกันถึงสามซ้อนอยู่หน้าบาร์เหล้านั่นเอง
นอกไปจากนั้นแล้ว ถ้าใช้คำว่า “Deep” นี้ในประโยคสั้น ๆ อย่างเช่นว่า “John is a deep one.” ก็แปลว่า จอห์นเป็นคนที่ซ่อนความรู้สึกเก่งจนใคร ๆ ก็ดูไม่ออก
อนึ่ง เราสามารถนำคำว่า “Deep” นี้มาเป็นคุณศัพท์นำหน้าคำนามในทำนองว่า ถ้ากล่าวถึงเรื่องสีว่า “Deep red” ก็หมายถึงสีแดงเข้ม หรือ “In deep trouble” ก็หมายถึงว่ากำลังมีความลำบากยุ่งยากอย่างสุดแสน เป็นต้น
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ) # 13-08

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
คำว่า “Deal” นี้ได้มีการแนะนำติดต่อกันใน 2 สัปดาห์ที่แล้ว และก่อนที่จะเดินหน้าต่อไปถึงศัพท์คำอื่น ๆ ก็ยังมีถ้อยคำซึ่งใช้ “Deal” นี้เหลืออยู่อีกประโยคหนึ่ง คือเป็นคำกล่าวที่ว่า “It’s a done deal!”
ประโยคดังกล่าวนี้หมายความว่า “มันเป็นเรื่องที่ต้องถือว่าเสร็จสิ้นกันไปแล้ว หรือผ่านไปแล้ว หรือเรียบร้อยโรงเรียนจีนไปแล้ว จะมาแก้ไข เปลี่ยนแปลง เพิ่มเติมอะไรอีกนั้น ไม่ได้เด็ดขาด
เฉกเช่นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของเมืองไทยทุกวันนี้แหละ เพราะฝ่ายหนึ่งบอกว่ามันเป็นเรื่อง “Done Deal” ไปแล้ว แต่อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่าไม่ได้ ต้องแก้ ต้องแก้ เรื่องนี้ออกจะน่าเสียวไส้จริง ๆ ว่ามันจะบานกลาง บานปลาย กันไปถึงไหน จะถึงกับเลือดตกยางออกกันอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติของชาติไทย หรือเปล่า?
อย่างไรก็ตาม ประโยคที่ว่า “It’s a done deal” นี้ใช้ได้เพียงในความหมายทำนองว่า “สองฝ่ายจ้องตากัน ใครกะพริบก่อนก็แพ้” เท่านั้นเอง มนุษย์ใด หรือกลุ่มชนใดมีขาดการยึดถือหลักคุณธรรม ความซื่อสัตย์ ความมั่นคงแน่วแน่อยู่ในดวงจิต ซึ่งรวมกันแล้วในภาษาอังกฤษเขาใช้คำว่า “Integrity” (อินเทก’กริทิ) สังคมใดที่เป็นเช่นนั้น ความพินาศเสียหายก็ต้องมาสู่สังคมนั้นแน่นอน
เป็นอันว่าสิ้นสุดเพียงแค่นี้สำหรับคำว่า “Deal” และคำต่อไปก็ต้องมาถึงคำว่า “Die” อีก ทั้ง ๆ ที่เชื่อว่ามากท่านไม่ต้องการให้เอ่ยถึงคำว่า “ตาย” แต่เพื่อความสมบูรณ์ของเรื่องซึ่งต้องเรียงกันไปตามตัวอักษร และที่เราได้ผ่านไปแล้วนั้น มีคำว่า “Dead” ซึ่งส่วนมากใช้เป็นคำคุณศัพท์ และคำว่า “Death” ซึ่งเป็นคำนาม หากแต่ลำดับนี้เรามาถึงคำว่า “Die” ซึ่งเป็นคำกริยา ถึงแม้ว่าต่างก็มีความหมายเหมือนกัน แต่มีวิธีใช้คำที่ถูกต้องน่าเรียนรู้ผิดกัน ดังเช่นในประโยคที่ว่า
“My car just died on me.” คือไอ้รถยนต์ของผมมันจู่ ๆ ก็มาตายตอนที่กำลังขับอยู่ทีเดียว
”I nearly died laughing when John told his new joke last night.” คือ เมื่อคืนวานนี้ ผมหัวเราะแทบจะตายไปเลยตอนที่ตาจอห์นเอาตลกใหม่มาเล่าให้ฟัง
“When the applause has died down, he began his speech.”
คือเมื่อเสียงปรบมือได้ซาลงไปแล้ว เขาก็เริ่มกล่าวคำปราสัยต่อไป
“Whom the gods love die young.” ประโยคนี้เป็นสุภาษิตโบราณของฝรั่งเขา ซึ่งมีไว้สำหรับปลอบใจบรรดาญาติพี่น้องของผู้ตายว่าเป็นเพราะผู้ตายเป็นคนดีที่พระเจ้ารัก จึงตายไปตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่ เป็นประโยคที่น่าจดจำเอาไปไว้กล่าวปลอบขวัญญาติพี่น้องของเพื่อนฝูงต่อไป
แต่ใครเล่าอยากตาย ในโลกนี้มีแต่คนที่พยายามทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อที่จะเป็นผู้มีอายุยืนยาว ส่วนที่จะ “อยู่เย็นเป็นสุขได้หรือไม่” นั้นดูเสมือนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อีกปัญหาหนึ่ง
และจำนวนผู้ที่แปลความหมายของสุภาษิตฝรั่งบทนี้ไปในทางตรงข้ามว่า อย่าเป็นคนดี และต้องทำให้พระเจ้าเกลียด จะได้ไม่ตายเร็วอย่างว่า ก็ดูเหมือนจะมีมากขึ้นจนล้นแผ่นดินอยู่แล้ว แน่นอน
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ) # 12-08

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
“Anyone who keeps the ability to see beauty is never old.” ผู้ใดที่ยังสามารถเข้าถึงและซึ้งใจกับสิ่งที่สวยสดงดงามรอบตัวของเขาได้นั้น จะไม่มีวันแก่ชราลงไปได้เลย
สัปดาห์ที่แล้ว เราได้กล่าวถึงคำว่า “Deal or no deal” ซึ่งเป็นคำพูดย่อ ๆ จากประโยคเต็มว่า “Is it a deal, or no deal?” ในภาษาไทยก็เป็นคำถามว่า “อย่างนี้จะเอาหรือจะไม่เอา” เพื่อต้องการที่จะเร่งรัดให้อีกฝ่ายหนึ่งหรือฝ่ายตรงข้ามรีบตัดสินใจว่าจะเลือกเอาสิ่งใดหรือจะเดินทางไปทางซ้ายหรือขวานั่นเอง
ขอให้สังเกตว่า คำ “Deal” ที่กล่าวมาข้างต้นนี้นั้น ในทางไวยากรณ์ถือว่าเป็นคำนาม และในภาษาพูดของมะกันนั้น มีคำกล่าวซึ่งใช้คำว่า “Deal” นี้กันอย่างคุ้นหู เช่นว่า
“Big deal” คำกล่าวเช่นนี้มีความหมายเป็นการแดกดันหรือพูดประชดว่าสิ่งนั้นหรือเรื่องนั้น ๆ มีความหมายอันเป็นบุญคุณที่ท่วมท้นยิ่งใหญ่อะไรทำนองนั้น แต่ในความรู้สึกที่แท้จริงนั้นกลับเป็นไปในทางตรงข้าม คือไม่ซาบซึ้งประทับใจอั๊วแต่อย่างใดเลย (I am not impressed.) เช่นกล่าวว่า
“Yeah, we are getting a wage increase of $ 200 a year, before tax. Big deal!” โว้ย พวกเราได้ขึ้นค่าแรงตั้งปีละ 200 เหรียญก่อนหักภาษีแน่ะ เฮงจริง ๆ เล้ย
“Make the best out of a bad deal” ถ้อยคำนี้เป็นสำนวนที่ใช้ได้ในความหมายว่า อะไรที่ได้มาอย่างเสียเปรียบเขาไปแล้ว ก็ต้องก้มหน้าสู้ต่อไปในทางที่เสียหายหรือเดือดร้อนน้อยที่สุดให้ได้
“Make the best out of a bad deal” นี้จะใช้เป็นสำนวนปลอบใจตัวเองสำหรับสาวเจ้าที่เพิ่งมารู้นิสัยอันแท้จริงของเจ้าหนุ่ม หลังจากที่ได้ “ตกล่องปล่องชิ้น” ไปเรียบร้อยโรงเรียนจีน จะถอยหลังก็มิใช่เรื่องง่าย ๆ เพราะได้ปล่อยให้เขาถลำลึกเข้าไปเสียแล้ว ต้องคิดเสียว่าเป็นกรรมและก้มหน้า “น้ำตาเข็ดหัวเข่าต่อไป” (วันนี้นำสำนวนไทยโบราณมาฟื้นฟูเล่น ๆ ไปอย่างนั้นเอง เพราะเป็นคำพูดที่เลิกใช้ และความหมายที่เลิกปฏิบัติกันนานแสนนานแล้วด้วยซ้ำไป)
อนึ่ง เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เราได้กล่าวถึงสำนวนที่ว่า “Square deal” หรือจะใช้คำว่า “Fair deal” ก็ได้ ซึ่งหมายถึงการที่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องอะไรก็ตามที่เราได้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งสำนวนที่ตรงข้ามนั้นก็เป็นว่า “Raw deal” หรือ “Rough Deal” เช่นในประโยคว่า “Somsak lost his job for being late once. He got a pretty raw deal.” คือตาสมศักดิ์โดนให้ออกจากงานเพราะไปสายเพียงแค่หนเดียว ออกจะไม่เป็นธรรมอยู่สักหน่อยเหมือนกัน
ถัดจากคำว่า “Deal” เราก็มีคำว่า “Dealer/Dealership” ซึ่งหมายถึงพ่อค้า หรือ ผู้ที่ทำการค้าเป็นอาชีพ และในภาษาอังกฤษและภาษามะกันนั้น ยังมีคำว่า “Merchant,” “Trader,” “Tradesman,” “Tradeswoman” และ “Vendor” ซึ่งล้วนแต่หมายถึงผู้ที่มีอาชีพเป็นคนค้าขายหรือพ่อค้าแม่ค้าทั้งสิ้น
ส่วนที่จะมาให้คำจำกัดความภาษาอังกฤษต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ว่าคำใดจะใช้ในโอกาสไหนนั้น เป็นเรื่องยาก เพราะขึ้นอยู่กับการใช้ภาษาในแต่ละวงการของเขาประการหนึ่ง และเนื้อที่รวมทั้งวัตถุประสงค์ของคอลัมน์นี้ไม่อำนวยให้ด้วยซ้ำไป เป็นอีกประการหนึ่ง แล
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ) # 11-08

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
เรื่อย ๆ มาเรียง ๆ แต่ไม่เรื่อยเปื่อยหรือเรื่อยไปโดยไม่มีจุดหมายที่แน่นอน เพราะได้ถือหลักการว่าจะต้องเรียงตามตัวอักษร(Alphabetical order) และเราก็มาถึง “Deal” ซึ่งเป็นคำใหญ่หรือ “Keyword” ของฝรั่งเขาอีกคำหนึ่ง
“Deal” นี้เป็นได้ทั้งคำกริยาและคำนาม และในเบื้องต้นนี้ขอให้เรามาทำความรู้จักกับคำนี้ว่า ต้องออกเสียงค่อนข้างยาว หรือลากเสียง ว่า “ดีลลลล์” อย่าได้ออกเสียงสั้นว่า “ดิล” เพราะผู้ฟังอาจเข้าใจผิดไปเป็นคำว่า “Dill” ซึ่งหมายถึงพืชเมืองหนาวพันธุ์หนึ่งที่จัดเข้าอยู่ในประเภทเครื่องเทศอันใช้ประโยชน์ได้ทั้งใบและเมล็ดเบ็ดเสร็จเลยทีเดียว
เพียงคำว่า “Deal” ง่าย ๆ สั้น ๆ นี้ เราสามารถผูกคำขึ้นให้เป็นประโยคที่มีความหมายได้อย่างกว้างขวาง เช่นว่า จัดการ แบ่งสรร ปันส่วน ติดต่อธุรกิจ ทำความตกลง ซื้อขาย ทำสัญญา แจกไพ่ ฯลฯ มากมาย สุดแต่การสร้างประโยค และยิ่งไปกว่านั้น ยังสามารถผูกขึ้นเป็นถ้อยคำมีถือว่าเป็นสำนวน (Idioms) อันน่าเรียนรู้และทำความเข้าใจให้คุ้นเคยอีกมากหลาย ซึ่งจะได้นำมาแนะนำในคอลัมน์นี้ เท่าที่พึงจะกระทำได้
ในขั้นเริ่มต้น ขอแนะนำการใช้คำว่า “Deal” นี้ในประโยคง่าย ๆ ซึ่งนิยมใช้กันในชีวิตประจำวัน อย่างเช่น –
“Our company deals in farm produce.” คือ บริษัทของเราทำมาค้าขายในด้านพืชไร่ต่าง ๆ
“Our newspaper does not deal in rumors or guesswork.” คือหนังสือพิมพ์ของเราไม่เล่นข่าวลือหรือนั่งเทียนแล้วเขียนข่าว
“The profits were dealt out among the investors.” คือกำไรที่ได้มานั้นก็จัดสรรปันส่วนให้แก่บรรดาผู้ที่ได้ลงทุนเข้าถือหุ้นส่วนของกิจการนั่นเอง
“Julie is used to dealing with all kinds of people in her job.” คือ ในงานของคุณจูลี่นั้น เธอเคยผจญกับผู้คนสารพัดแบบและประเภทไปแล้วทีเดียว
“Whose turn is it to deal (the cards)? ตานี้ใครจะเป็นคนแจกไพ่?
“Julie dealt me a tremendous blow with the poker.” เมื่อเล่นไพ่โป๊กเกอร์กันนั้น ยายจูลี่เล่นอั๊วเสียงอมพระรามไปเลย
ประโยคตัวอย่างข้างต้นคงจะช่วยให้ท่านผู้ที่สนใจศึกษาได้เค้าพอสมควรกับการใช้คำว่า “Deal” ซึ่งล้วนแต่ใช้เป็นคำกริยา และเมื่อใช้เป็นคำนามก็สามารถแสดงความหมายออกไปได้มากมาย อย่างเช่น ที่คุ้นหูกันอยู่ในถ้อยคำที่ว่า “Deal” หรือ “No deal” ซึ่งแปลว่า “เอาหรือไม่เอา”
“It’s a deal.” คือเอาละ ผมตกลงตามเงื่อนไขของคุณ ซึ่งทั้งนี้เราใช้ถ้อยคำนี้เมื่อเราตกลงรับข้อเสนอของอีกฝ่ายหนึ่งหลังจากการต่อรองกันไปพอสมควรแล้ว
“It is a good deal.” คือมันเป็นเรื่องหรือข้อตกลงที่ดีมีภาษีแก่ฝ่ายเรา หรือ “It is a bad deal.” มันเป็นเรื่องที่ออกจะเสียเปรียบเขาอยู่มากเลยทีเดียว
“It was a square deal for everyone.” คือมันเป็นเรื่องซึ่งลงท้ายแล้วทุกคนก็พอใจ ไม่ได้เปรียบเสียเปรียบกันแต่ประการใดเลย
“I am in a position to save you a great deal of time.” คือผมอยู่ในฐานะที่จะช่วยคุณให้สามารถทุ่นเวลาลงไปได้โขเลยทีเดียวครับ
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ) # 10-08

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
พจนานุกรมเล่มใหญ่ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ซึ่งมีน้ำหนักกว่า 2 กิโลกรัม ให้คำจำกัดความสำหรับคำว่า “ภาษา” คือถ้อยคำที่ใช้พูดหรือเขียนเพื่อสื่อความของชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น ภาษาไทย ภาษาจีน ภาษาฝรั่ง ฯลฯ
ถัดไปจากนั้น ก็เป็นกล่าวถึงคำว่า ภาษาพูด (Spoken language) ภาษาเขียน (Written language) และตลาดของถ้อยคำที่มนุษย์เราใช้ก็แตกลูกแตกหลานเรื่อยเปื่อยออกไปเป็นภาษาท่าทาง (Body language) ภาษามือหรือภาษาใบ้ (Sign language) ภาษาวิบัติหรือภาษาตลาด (Slang) ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์หรือหลักการของคอลัมน์นี้อยู่ที่เพียงการแนะนำสำนวนภาษาอังกฤษแบบอเมริกันในยุคปัจจุบัน และเน้นหนักไปที่การใช้ถ้อยคำให้ถูกต้อง เพื่อประโยชน์ทั้งทางตรงและอ้อมแก่บรรดาท่านผู้ที่สนใจติดตามโดยแท้นั่นเอง
ความหมายของคำว่า “Dead” หรือ “Death” ซึ่งเป็นเรื่องของการตายและรวมไปถึงความตายในถ้อยคำซึ่งเป็นสำนวนในรูปแบบและลักษณะต่าง ๆ ดังได้แนะนำไปพอสมควรแล้วนั้น การใช้ถ้อยคำที่ถูกต้องยังเป็นเรื่องที่จะต้องพิถีพิถันออกไปอีกเป็นอันมาก อาทิเช่นว่า ถ้าเราจะเอ่ยถึงคำว่า “คนตาย” แล้วใช้คำในภาษาอังกฤษว่า “A dead man” หรือ “the dead man” แต่ในบางครั้งบางสถานการณ์ เขาก็นิยมใช้คำว่า “the deceased” (ดี’ซีสท) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราจะใช้คำนี้ในใบมรณบัตรเมื่อกล่าวถึงผู้ตาย นอกไปจากนี้แล้ว ยังมีอีกคำหนึ่งคือ “Decedent” (ดี’เซดเด้นท์) ซึ่งมักจะเป็นคำที่ใช้ในทางกฎหมายแพ่งและมรดกอีกด้วย
จารีตประเพณีและวัฒนธรรมของคนชาติอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่เราเรียกว่า “คนตะวันตก” หรือ “The westerners” นั้น เป็นเรื่องที่น่าสนใจอยู่มิใช่น้อย เพราะเรากล่าวได้ว่าจารีตและวัฒนธรรมตามแบบฉบับของพวกเขามีผู้ประพฤติปฏิบัติอยู่กว่าครึ่งค่อนของจำนวนมนุษย์โลก
ศพของผู้ตายนั้น เขาใช้คำว่า “The body” หรือ “The remains”
และโดยทั่วไปแล้ว พิธีเกี่ยวกับการงานศพนั้น เขาเรียกรวม ๆ กันไปว่า “Funeral rites” (ฟิวเนอร์ราล ไร้ทส์) และทั้งนี้ถ้าเรามีความผูกพันอยู่กับผู้ตายบ้างแล้ว เราก็อาจถามว่า “When or where is his or her funeral?” ก็ได้
คำถามดังกล่าวเป็นการซักถามถึงสถานที่ตั้งศพ (“Funeral home” หรือ “Funeral parlor”) เพื่อเตรียมแต่งศพ ฯลฯ ก่อนนำไปสุสาน (“Cemetery” หรือ “Churchyard” หรือ “Graveyard”)
เขาประกอบพิธีทางศาสนาเพื่อไว้อาลัยและรำลึกถึงผู้ตาย ซึ่งเรียกว่า “A memorial service” และโดยทั่วไปแล้วในการประกอบพิธีนี้ไม่ว่าในโบสถ์หรือสุสานแห่งใดแห่งหนึ่งของพวกเขา ก็จะมีการกล่าวคำไว้อาลัยและสดุดีผู้ตาย ซึ่งเขาเรียกว่า “Eulogy” (ยู’ละยี) ส่วนผู้ที่ทำหน้าที่ได้รับการมอบหมายให้กล่าวคำไว้อาลัยนั้นก็เรียกว่า “Eulogist” (ยู’ละยีสท์) ถ้อยคำไว้อาลัยซึ่งไม่ว่าจะหมายถึงคำพูดหรือข้อเขียนก็ตาม เขาเรียกว่า“Eulogium” (ยู’ละเจี่ยม) และมีคำว่า “Eulogize” (ยู’ละไจ๊ซ) ใช้เป็นคำกริยา อย่างเช่นในประโยคที่ว่า
“Smith was eulogized as a hero.” นายสมิทธ์ได้รับคำกล่าวไว้อาลัยในงานศพของเขาเยี่ยงวีรบุรุษคนหนึ่งเลยทีเดียว
คำว่า “Dead ” และ “Death” นั้น เป็นอันว่าพอกันที ขอเลิกแค่นี้ดีกว่า เพราะข้างหน้ายังมีคำที่น่าเรียนรู้ น่าสนใจและติดตามอีกบานตะไทเลยครับ
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ) # 9-08

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
ข้อคิดประจำสัปดาห์ “การโต้เถียงต่อปากคำกันนั้น ยิ่งชนะเขาได้มากเท่าใด ก็ยิ่งเหลือเพื่อนน้อยลงเท่านั้น” (The more arguments you win, the fewer friends you will have.)
คำว่า “Dead” ได้กินเนื้อที่ไปแล้วหลายสัปดาห์อยู่ แต่ก็ยังมีคำว่า “Death” ซึ่งมีความหมายเหมือนกัน เพียงแต่ต่างกันเพระเป็นคำนาม (Noun) ทั้งยังมีถ้อยคำซึ่งใช้เป็นสำนวนเหลืออยู่อีกมาก และจะผ่านไปเสียง่าย ๆ ก็กระไรอยู่ เอาเป็นว่า ขอให้ทนกันไปอีกสักสองสามมื้อก็แล้วกัน เพราะยังเป็นเรื่องที่น่าศึกษาและเรียนรู้เพื่อประโยชน์ในวันหน้าอีกมิใช่น้อยแน่นอน
วันนี้ ขอให้เรามาเริ่มต้นด้วยสำนวนที่ว่า
“Ðeathbed” หมายถึงที่นอนหรือเตียงนอนของใครคนหนึ่งผู้ซึ่งใกล้จะตายด้วยเหตุอะไรก็แล้วแต่ และเป็นคำที่ใช้ในกรณีที่มีการกล่าวคำสารภาพหรือสั่งเสียของผู้ป่วยผู้อาจรู้ตัวว่ากำลังจะไม่รอดแล้ว ในทำนองว่า “Jimmy forgave his unfaithful wife on his deathbed.” คือนายจิมมี่ก็ได้ยกโทษให้เมียผู้ไม่ซื่อต่อเขาขณะที่อยู่บนเตียงตอนใกล้จะสิ้นใจนั้นเอง
“Death-blow” เป็นคำสำนวนซึ่งหมายถึงเหตุการณ์หรือเรื่องร้ายที่นำมาซึ่งความวินาศมาสู่ใครคนหนึ่ง หรือกิจการอะไรสักอย่างหนึ่ง เช่นว่า “Losing the contract was a deathblow to the company.” คือการที่ทางบริษัทไม่ได้ต่อสัญญารายใหญ่นั้นทำให้กิจการของบริษัทแทบอยู่ต่อไปอีกไม่ได้เลยทีเดียว
“Death certificate” คำนี้ตรงกันกับภาษาไทยที่ว่า “มรณบัตร” นั่นเอง
“Death row” หมายถึงสถานที่คุมขังนักโทษก่อนนำเข้าสู่ที่ประหาร หรือในภาษาไทยสมัยโบราณเราเรียกว่า “ตะแลงแกง”
“Bore you to death” หมายความทำให้คุณเบื่อจะตายหรือเบื่อแทบจะตายชักเลยทีเดียว เช่นว่า “That movie will bore you to death.” คือไอ้หนังเรื่องนั้นมันจะทำให้คุณต้องเบื่อแทบจะตายเลยทีเดียว และจะใช้เป็น “Bore me” หรือ “Bore us” หรือ “Bore them” etc. อย่างไรก็ได้ทั้งนั้น
“Flog a dead horse” ถ้อยคำหรือวลีนี้เป็นสำนวนซึ่งแปลตรงตัวก็หมายถึงว่ากระหน่ำเฆี่ยนตีม้าที่มันตายไปแล้ว” แต่ในความหมายของสำนวนนั้นหมายถึง การกระทำใด ๆ ที่เข้าลักษณะสำนวนไทยซึ่งว่า “หัวชนกำแพงหรือหัวชนฝา อันเป็นเรื่องไร้ประโยชน์ แต่กลับจะเสียเวลาและหาค่าตอบแทนใด ๆ มิได้เลย ในภาษาอังกฤษเองเขาก็ให้คำอธิบายในภาษาของเขาไว้ว่า “Waste one’s efforts on an activity or a belief that is already widely rejected or has long been accepted.”
ทั้งนี้ เราอาจใช้สำนวนนี้ในประโยคเช่นว่า “You are flogging a dead horse.” แปลว่า เอ็งกำลังเอาหัวชนกำแพงโว้ย เสียเวลาเสียสมองไปเปล่า ๆ ไม่ได้ประโยชน์อันใดเลย
ในเรื่องของภาษานั้น เราเรียนกันไปก็เพื่อสามารถใช้ถ้อยคำที่ถูกต้องและเหมาะสม แต่ถ้าเมื่อใดเรามีความสามารถจัดได้ถึงขนาดว่าช่ำชองทางด้านภาษานั้นพอสมควรแล้ว ความสนุกและความมันก็จะบังเกิดขึ้นได้ และในเบื้องต้นนั้นก็จะหมายถึงว่า ทำให้เราสามารถอ่านหนังสือดี ๆ ที่มีคุณค่าในภาษานั้น ๆ เป็นการขยายทรรศนะของเราให้กว้างขวางออกไป ซึ่งในภาษาอังกฤษเขาก็ใช้คำว่า “Expand your horizons” อันย่อมจะนำมาซึ่งประโยชน์เหลือหลายในวันหน้าได้อย่างแน่นอน
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ) # 8-08

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
แม้ไม่ถึงที่ตายวายชีวาตม์
ใครพิฆาตเข่นฆ่าไม่อาสัญ
แต่ถ้าถึงที่ตายวายชีวัน
ไม้จิ้มฟันทิ่มเหงือกยังเสือกตาย
คำว่า “Dead” ซึ่งโดยทั่วไปแปลว่า “ตาย” หรืออาจมีความหมายไปในทำนองว่า สูญเสีย หรือสิ้นสุด ฯลฯ นั้น นอกจากใช้เป็นเพียงคำเดียวโดดในการสร้างถ้อยคำขึ้นให้เป็นประโยคแล้ว ยังมีถ้อยคำซึ่งประกอบด้วยหลายคำในรูปแบบที่เรียกว่าเป็น “วลี” หรือ “Phrase” เข้าทำนองที่เรียกได้ว่าเป็นคำสำนวนซึ่งรู้จักและเป็นที่นิยมใช้กันในภาษามะกันอย่างแพร่หลาย สมควรที่จะแนะนำไว้ ณ ที่นี้ให้เป็นที่รู้จักและเข้าใจเพื่อสามารถใช้ประโยชน์กันได้อย่างถูกต้องและจริงจังในกาลข้างหน้า ต่อไปนี้ คือ
“Be a dead ringer for somebody” วลีนี้แปลว่าเหมือนหรือช่างเหมือนใครคนหนึ่งเปี๊ยบเลย หรือเหมือนชะมัดเลย ซึ่งในภาษามะกันเองเขาก็ให้คำอธิบายว่า “Be very like somebody in appearance” และสำนวนนี้นำไปใช้สร้างเป็นประโยคได้เช่น “Julie is a dead ringer for a girl I used to know.” ยายจูลี้นี่ช่างเหมือนสาวคนหนึ่งซึ่งอั๊วเคยรู้จักมาก่อนชะมัดเลยจริง ๆ
“Dead men’s shoes” รองเท้าของคนตาย (Job that one takes over from somebody who has left unexpectedly or died.) วลีนี้เป็นสำนวนซึ่งหมายถึงการเข้าไปสวมตำแหน่งหน้าที่การงานของคนที่ต้องจากไปอย่างกระทันหันไม่ได้คาดหมายมาก่อน หรือเสียชีวิตไปอย่างปุบปับ เช่นใช้ในประโยคว่า “Julie got early promotion by stepping into dead men’s shoes.” คือยายจูลี้ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นไปเร็วโดยได้ขึ้นไปทำหน้าที่แทนคนก่อนซึ่งตายไปแล้วนั่นเอง
“Dead men tell no tales.” ซึ่งแปลว่า “คนตายแล้วย่อมไม่ต้องการที่จะต่อความยาวสาวความยืดกับใครอีกต่อไปแล้ว” ทั้งนี้ถือว่าเป็นคำพังเพยของฝรั่งเขาที่ใช้ยกมากล่าวในทำนองเสริมคำพูดในระหว่างการโต้เถียงกัน สุดแต่ใครจะมีฝีปากดีกว่ากันสักแค่ไหน
“Dead to the world” แปลว่ากำลังหลับสนิทเสมือนคนที่ตายแล้วเลยทีเดียว Yah, Jim is resting on the sofa dead to the world around him.
“In the dead of the night” ถ้อยคำนี้หมายความว่า ในยามดึกสงัด ซึ่งน่าที่จะรู้จักเอาไว้ใช้บรรยายความตามท้ายอะไรสักเรื่องถ้าต้องการให้ผู้ฟังได้ซาบซึ้งกับเรื่องราวที่กำลังเล่านั้นอย่างสุด ๆ กันเลยทีเดียว และ ณ ที่นี้ ขอให้สังเกตด้วยว่าคำว่า “Dead” นั้น เขาไม่สะกดเป็น “Death” ซึ่งคำหลังนี้น่าจะถูกต้องไวยากรณ์มากกว่า
“Over my dead body” ถ้อยคำนี้ชะรอยฝรั่งคงจะเอาอย่างคนไทยที่ชอบพูดว่า “ข้ามศพกูไปก่อน” ซึ่งหมายความว่าถึงจะหัวเด็ดตีนขาดกูก็ยอมเอ็งไม่ได้ หรืออะไรในทำนองนั้น เอาเป็นว่าฝรั่งเขาเลียนแบบไทยเราก็แล้วกัน เป็นการสร้างความรู้สึกที่ดี ที่เขื่องกว่าเขาแล้วใครจะมาทำไม และถ้อยคำนี้ใช้กล่าวในทำนองว่า “Over my dead body you will sell this house!” คือเธอจะขายบ้านหลังนี้ได้ ก็ต้องข้ามศพฉันไปก่อน (คือฉันไม่ยอมแน่ ๆ จะเป็นจะตายก็ให้รู้ไป)
ท่านที่ได้ติดตามคอลัมน์นี้เรื่อยมา อาจรู้สึกเบื่อกับคำว่า “Dead” นี้เต็มทนแล้ว ดังนั้นสัปดาห์หน้าก็จะขอสลับไปเป็นเรื่องตามให้ทันโลกอีกสักครั้งก่อนก็แล้วกัน
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ) # 7-08

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
เพียงคำสั้น ๆ ว่า “Dead” ซึ่งใช้อักษร 4 ตัวเท่านั้นเอง และได้แนะนำการใช้คำไปแล้วโขอยู่ แต่ก็ยังเหลือทั้งคำโดดและถ้อยคำที่เป็นวลี ซึ่งน่าสนใจอยู่อีกมาก ดังนั้นจึงขอให้เรามาว่ากันต่อไป กล่าวคือ
“Deadbolt” หมายถึงแบบหนึ่งของกุญแจประตู ซึ่งเรียกว่า “Deadbolt lock” และส่วนมากมักจะใช้สำหรับประตูทางเข้าบ้านมาจากภายนอกซึ่งต้องใช้ลูกกุญแจไขจากภายนอกเพื่อเพิ่มความปลอดภัยขึ้นไปให้ได้มากจริง ๆ ความจริงคำนี้ควรจะได้รับการแนะนำตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว เพื่อให้เรียงกันตามอักษร (Alphabetical order) แต่นำมาเสนอครั้งนี้ก็ยังดีกว่าที่จะปล่อยให้ผ่านไปเฉย ๆ จริงแม็ะ
“Deadline” หมายถึงกำหนดเวลาซึ่งวางไว้และไม่สามารถเลื่อนให้ล่าช้าต่อไปอีกได้ โดยที่ภาษามะกันเองก็มีคำอธิบายขยายความไว้ว่า “A point in time by which something must be done.” และใช้ในประโยคตัวอย่างเช่น “We have a deadline for this contract. It must be finished by March.” แปลว่า เรามีเงื่อนเวลาอยู่ในสัญญาฉบับนี้ คือจะต้องทำงานให้เสร็จเรียบร้อยภายในเดือนมีนาคมนี้แหละ หรือในประโยคว่า “The deadline for the next government bidding is set for March 31.” คือ การประมูลงานหลวงครั้งหน้านั้นได้มีกำหนดวันให้ต้องยื่นไม่เกินวันที่ 31 มีนาคมนี่แล้ว
“Deadlock” คำนี้ใช้ในความหมายที่ว่าการเจรจาเพื่อทำความตกลงกันระหว่างบุคคลสองฝ่ายได้มาถึงจุดที่ติดขัด เดินหน้าต่อไปอีกไม่ได้ (= Complete failure to reach agreement or to settle a quarrel or grievance.) และคำนี้สามารถใช้ได้ทั้งการทำหน้าที่เป็นคำนาม และคำกริยา เช่นในประโยคตัวอย่างเช่น “Peace talks between the two countries ended in deadlock last month.” การเจรจาสันติภาพระหว่างสองประเทศได้ยุติลงเมื่อเดือนที่แล้วเนื่องด้วยถึงจุดติดขัดไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งในประโยคนี้คำว่า “Deadlock” ทำหน้าที่เป็นคำนาม และในประโยคต่อไปนี้จะทำหน้าที่เป็นคำกริยา เช่น “Talks have been deadlocked over the issue of human rights since August.” การเจรจาได้มาติดขัดในประเด็นเรื่องสิทธิมนุษย์ชน เดินหน้าไม่ได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่แล้ว
“Deadly” ตอนนี้เราก็มาถึงคำที่มีความหมายลึกซึ้งเป็นอย่างมากคำหนึ่ง และโดยที่คำว่า “Dead” ตามที่ได้แนะนำผ่านไปแล้วนั้นถือว่าเป็นคำคุณศัพท์ และคำว่า “Deadly” ก็เป็นคำคุณศัพท์อีกนั่นแหละ ทั้ง ๆ ที่มี “ly” มาต่อท้าย และตามความเข้าใจในภาษาอังกฤษนั้นเรามักจะถือว่าเมื่อมี “ly” เข้าต่อก็จะเป็นคำกริยาวิเศษณ์ไปเสียเป็นส่วนมาก
หากแต่คำว่า “Deadly” นี้มีความหมายเน้นหนักไปถึงเรื่องราว หรือสรรพสิ่ง ซึ่งจะนำความหายนะ หรือความตายมาสู่ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เป็นสิ่งที่มีฤทธิ์เดชหรือพิษสงร้ายกาจ อันอาจทำให้ผู้คนถึงแก่ความตายได้โดยง่าย ๆ
ตัวอย่างเช่น เมื่อประกอบเป็นคำว่า “Deadly weapon” ก็หมายถึงอาวุธสังหารซึ่งมีพิษสงรุนแรงเป็นอย่างที่สุด หรือเมื่อประกอบเป็นคำว่า “Deadly poison” ก็หมายถึงยาพิษซึ่งมีฤทธิ์เป็นพิษที่เข้มข้น ไม่มีทางให้รักษาเยียวยาแต่อย่างไรเลย
อนึ่ง นอกจากเป็นคำคุณศัพท์แล้ว ยังสามารถใช้เป็นคำกริยาวิเศษณ์ได้อีกด้วย อย่างเช่นว่า “The current weather is deadly cold.” อากาศในช่วงนี้มีความหนาวถึงตายได้ทีเดียว
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ) # 6-08

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
คารม-คม-ระคาย (Quips & Quotes)
“It is never too late to heal an injured relationship.” อันว่าความรู้สึกร้าวฉานหมางใจระหว่างคนเรานั้น ไม่มีหรอกที่จะสายเกินแก้ให้กลับคืนดีกันใหม่ได้ถ้าต้องการ
“Dead and gone” (Be dead and gone) เป็นสำนวนที่ฝรั่งมักจะใช้กล่าวเป็นวลีติดกันสามคำ ในความหมายว่า เมื่อตายไปแล้ว หรือเมื่อจากไปแล้วอย่างไม่มีวันกลับ เขาใช้กันในประโยคตัวอย่างเช่น “John is dead and gone. There is no reason to fear him any more.” คือ จอห์นเขาได้ล่วงลับดับสูญไปแล้ว จึงไม่น่าที่จะต้องหวั่นไหวกริ่งเกรงกันต่อไปให้มากเรื่องเลย หรืออย่างเช่น “Her husband is dead and gone, but she is getting along fine.” คือ แม้ว่าสามีของหล่อนได้พรากจากเธอไปอย่างไม่มีวันกลับแล้ว หล่อนก็ยังสามารถอยู่รอดปลอดภัยมาได้เช่นเดิมเรื่อยมา
“Dead duck” (A dead duck)” หรือเป็ดตาย ซึ่งเป็นสำนวนมะกันที่กล่าวได้ว่าแทบจะตรงกันกับไทยเราเมื่อเรากล่าวว่า “ตายแหง ๆ เลย” หรือ “เสร็จแหงแก๋” หรือ “ซี้บ้องเซ็ก” ซึ่งสำหรับคำหลังนี้เป็นภาษาจีนแต้จิ๋วที่นิยมกันในกลุ่มคนไทยสมัยหนึ่ง และอาจเป็นที่เลือนลางกันไปหมดแล้วในสมัยปัจจุบันก็เป็นได้ ในภาษามะกันเองนั้น เขาให้คำอธิบายว่า “Someone or something that is failed, finished, or dead.” เขาใช้สำนวนนี้ในประโยคตัวอย่างเช่น “Yes, John is a dead duck. He drove his car into a tree.” คือเจ้าจอห์นเสร็จแหง ๆ เพราะมันทะลึ่งขับรถไปชนต้นไม้ หรือ “Bill missed the exam. He’s a dead duck.” อีตาบิลเข้าห้องสอบไปทัน คงต้องซี้แหงแก๋
“Dead loss” (A dead loss) การสูญเสียที่ไม่มีวันที่จะได้ประโยชน์ใด ๆ กลับคืนมาและมีความหมายเท่ากับคำว่า “ total loss” วลีซึ่งมีเพียงสองคำนี้เป็นสำนวนที่หมายความอย่างเช่น “My investment was a dead loss.” คือการลงทุนของผมนั้นเป็นการสูญเปล่าโดยแท้ หรือ “This car is a dead loss. It was a waste of money.” คือรถยนต์คันนี้เป็นเรื่องที่ขาดทุนย่อยยับ เป็นการเสียเงินทองไปเปล่า ๆ เลยทีเดียว อนึ่ง โดยที่เรากำลังกล่าวถึงคำว่า “Total” ซึ่งอยู่ในหมวดอักษร “T” แต่เมื่อเรามาถึงคำว่า “Total” นี้ ก็น่าที่จะแนะนำคำสแลงมะกันที่หมายความว่า “แหลกละเอียด หรือแหลกย่อยยับ” ในเรื่องรถยนต์ เช่นในประโยคที่ว่า “Jim totaled his car in the accident.” อย่างนี้ ในภาษาตลาดของมะกันเขาหมายความว่า เจ้าจิมมันทำรถยนต์ของมันแหลกย่อยยับไปทั้งคันเมื่อเกิดอุบัติเหตุครั้งนั้นแหละ ฉะนั้น ขอให้สังเกตไว้เป็นพิเศษว่า ในภาษามะกันนั้น คำว่า “Total” ซึ่งโดยทั่วไปแปลว่า “ยอดรวม” หรือรวมยอด สุดแต่การสร้างประโยค แต่เมื่อมาใช้กับเรื่องรถหรือยานพาหนะบนถนนหลวงแล้ว สามารถแปลความไปเป็นเรื่องการแหลกเหลวของทรัพย์สินนั้น ๆ ไป อย่างเช่นประโยคตัวอย่างข้างต้น หรือถ้ากล่าวว่า “That car is a total.” ก็แปลว่ารถยนต์คันนั้นแหลกเหลวไม่มีชิ้นดีเสียแล้ว
“Dead set against” แปลว่า “คัดค้านหรือไม่เห็นด้วยแบบหัวชนฝาชนกำแพงเลยทีเดียว และในภาษามะกันเท่ากับ = Totally opposed to someone or something. เราใช้สำนวนนี้ในประโยคเช่น “I’m dead set against the new tax proposal.” คือ ผมจะคัดค้านญัตติว่าด้วยภาษีใหม่นี้อย่างหัวชนฝาเลยทีเดียว
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข