สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ) # 6-08

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
คารม-คม-ระคาย (Quips & Quotes)
“It is never too late to heal an injured relationship.” อันว่าความรู้สึกร้าวฉานหมางใจระหว่างคนเรานั้น ไม่มีหรอกที่จะสายเกินแก้ให้กลับคืนดีกันใหม่ได้ถ้าต้องการ
“Dead and gone” (Be dead and gone) เป็นสำนวนที่ฝรั่งมักจะใช้กล่าวเป็นวลีติดกันสามคำ ในความหมายว่า เมื่อตายไปแล้ว หรือเมื่อจากไปแล้วอย่างไม่มีวันกลับ เขาใช้กันในประโยคตัวอย่างเช่น “John is dead and gone. There is no reason to fear him any more.” คือ จอห์นเขาได้ล่วงลับดับสูญไปแล้ว จึงไม่น่าที่จะต้องหวั่นไหวกริ่งเกรงกันต่อไปให้มากเรื่องเลย หรืออย่างเช่น “Her husband is dead and gone, but she is getting along fine.” คือ แม้ว่าสามีของหล่อนได้พรากจากเธอไปอย่างไม่มีวันกลับแล้ว หล่อนก็ยังสามารถอยู่รอดปลอดภัยมาได้เช่นเดิมเรื่อยมา
“Dead duck” (A dead duck)” หรือเป็ดตาย ซึ่งเป็นสำนวนมะกันที่กล่าวได้ว่าแทบจะตรงกันกับไทยเราเมื่อเรากล่าวว่า “ตายแหง ๆ เลย” หรือ “เสร็จแหงแก๋” หรือ “ซี้บ้องเซ็ก” ซึ่งสำหรับคำหลังนี้เป็นภาษาจีนแต้จิ๋วที่นิยมกันในกลุ่มคนไทยสมัยหนึ่ง และอาจเป็นที่เลือนลางกันไปหมดแล้วในสมัยปัจจุบันก็เป็นได้ ในภาษามะกันเองนั้น เขาให้คำอธิบายว่า “Someone or something that is failed, finished, or dead.” เขาใช้สำนวนนี้ในประโยคตัวอย่างเช่น “Yes, John is a dead duck. He drove his car into a tree.” คือเจ้าจอห์นเสร็จแหง ๆ เพราะมันทะลึ่งขับรถไปชนต้นไม้ หรือ “Bill missed the exam. He’s a dead duck.” อีตาบิลเข้าห้องสอบไปทัน คงต้องซี้แหงแก๋
“Dead loss” (A dead loss) การสูญเสียที่ไม่มีวันที่จะได้ประโยชน์ใด ๆ กลับคืนมาและมีความหมายเท่ากับคำว่า “ total loss” วลีซึ่งมีเพียงสองคำนี้เป็นสำนวนที่หมายความอย่างเช่น “My investment was a dead loss.” คือการลงทุนของผมนั้นเป็นการสูญเปล่าโดยแท้ หรือ “This car is a dead loss. It was a waste of money.” คือรถยนต์คันนี้เป็นเรื่องที่ขาดทุนย่อยยับ เป็นการเสียเงินทองไปเปล่า ๆ เลยทีเดียว อนึ่ง โดยที่เรากำลังกล่าวถึงคำว่า “Total” ซึ่งอยู่ในหมวดอักษร “T” แต่เมื่อเรามาถึงคำว่า “Total” นี้ ก็น่าที่จะแนะนำคำสแลงมะกันที่หมายความว่า “แหลกละเอียด หรือแหลกย่อยยับ” ในเรื่องรถยนต์ เช่นในประโยคที่ว่า “Jim totaled his car in the accident.” อย่างนี้ ในภาษาตลาดของมะกันเขาหมายความว่า เจ้าจิมมันทำรถยนต์ของมันแหลกย่อยยับไปทั้งคันเมื่อเกิดอุบัติเหตุครั้งนั้นแหละ ฉะนั้น ขอให้สังเกตไว้เป็นพิเศษว่า ในภาษามะกันนั้น คำว่า “Total” ซึ่งโดยทั่วไปแปลว่า “ยอดรวม” หรือรวมยอด สุดแต่การสร้างประโยค แต่เมื่อมาใช้กับเรื่องรถหรือยานพาหนะบนถนนหลวงแล้ว สามารถแปลความไปเป็นเรื่องการแหลกเหลวของทรัพย์สินนั้น ๆ ไป อย่างเช่นประโยคตัวอย่างข้างต้น หรือถ้ากล่าวว่า “That car is a total.” ก็แปลว่ารถยนต์คันนั้นแหลกเหลวไม่มีชิ้นดีเสียแล้ว
“Dead set against” แปลว่า “คัดค้านหรือไม่เห็นด้วยแบบหัวชนฝาชนกำแพงเลยทีเดียว และในภาษามะกันเท่ากับ = Totally opposed to someone or something. เราใช้สำนวนนี้ในประโยคเช่น “I’m dead set against the new tax proposal.” คือ ผมจะคัดค้านญัตติว่าด้วยภาษีใหม่นี้อย่างหัวชนฝาเลยทีเดียว
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

1 comment: