สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “C” (ต่อ) # 1-07

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “C” (ต่อ)
“Chicken” แปลว่า “ไก่” และต่อไปนี้เราจะว่ากันเรื่องของคำไก่ ซึ่งทุกคนไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ย่อมรู้จักกันดีในฐานะเป็นอาหาร ทุกคนรู้จักกินไก่ แกงไก่ ตีไก่ เล่นไก่ จับไก่ และบางคนอาจไปถึงเรื่องจับไก่หลง หรืออาจเคยสนุกอย่างสุด ๆ และทุกข์สนัดกับการจับ “ไก่ตาฟาง” มาแล้วด้วยซ้ำไป
หนึ่งสัปดาห์หลังวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2550 หรือ ค.ศ. 2007 ได้ผ่านไปอย่างชื่นบาน และทุกอย่างก็คงจะเข้าที่เข้าทางกันเรียบร้อยแล้วด้วย ตานี้ก็มาถึงตอนที่ว่า “เมื่อชีวิตยังไม่สิ้นก็ต้องดิ้นกันต่อไป” และขอให้เราหันมา “สนุกกับภาษาอังกฤษสำนวนอเมริกัน” ต่อไปได้แล้ว
คำในภาษาอังกฤษว่า “Chicken” นี้ มองดูเป็นคำสั้น ๆ ง่าย ๆ แต่เราสามารถนำมาใช้พูดหรือเขียนเพื่อติดต่อสื่อสารสร้างความสัมพันธ์กันอย่างที่สามารถทำให้เกิดอรรถรสได้มากมาย สุดแต่ความถนัดและช่ำชองในการใช้ถ้อยคำต่าง ๆ หรือกล่าวอย่างสั้น ๆ ว่า สุดแต่ “ศิลปะการใช้ถ้อยคำ (Rhetoric ออกเสียงว่า เรท‘เทอริค)” ของแต่ละบุคคลไป
ขอให้เราเริ่มต้นใช้คำว่า “Chicken” ในประโยคสั้น ๆ ง่าย ๆ ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งคำนามก็ดี หรือคำกริยาก็ดี เรื่อยไปจนถึงการใช้คำนี้ในวลีและสำนวนโวหาร ตลอดไปจนถึงเป็นคำพังเพยหรือสุภาษิตซึ่งนิยมใช้กันเรื่อยมาหลายยุคหลายสมัย และสมควรเรียนรู้ทำความรู้จักมักคุ้นไว้อันเป็นเรื่อง “ที่มีแต่ได้ ไม่มีเสีย” ดังต่อไปนี้ คือ
• Joe had an appointment to see the dentist but he chickened out at the last moment. คือ อีตาโจมีนัดทำฟันแต่เกิดปอดแหกเลยหลบไม่ยอมไป ประโยคนี้ใช้คำว่า “Chicken out” ซึ่งแปลว่า “รู้สึกหวาดกลัว หรือปอดแหก”
• Tommy is having a birthday party, and he is running around like a headless chicken. คือ ทอมมี่จะจัดงานวันเกิดแล้วก็วิ่งพล่านเสียจนน่าคำราญเลยทีเดียว ประโยคนี้ใช้คำว่า “A headless chicken”(ไก่ที่โดนตัดคอจนหัวขาดไปแล้วแต่ยังวิ่งได้) ซึ่งเขาใช้ในความหมายเชิงตำหนิว่าเป็นผู้ที่ทำอะไรก็ยังไม่เป็น หรือทำงานทำการอย่างลุกลี้ลุกลนให้มากเรื่องและต้องเสียเวลาไปเปล่า ๆ
• Arthur is so rich he thinks a thousand dollars is chicken feed. คือนายอาร์เธอร์รวยเสียจนคิดว่าไอ้เงินพันดอลลาร์นั้นมันจิ๊บจ๊อย ประโยคนี้ใช้คำว่า “Chicken feed” (อาหารไก่) ซึ่งแปลอย่างไทย ๆ ว่า เรื่องขี้ไก่ก็ยังไหว และขอให้สังเกตด้วยว่าเงินพันดอลลาร์นั้นใช้กริยาคำว่า “is” ซึ่งหมายความว่าตามหลักไวยากรณ์นั้นถือว่าจำนวนเงินไม่ว่าเป็นเท่าใดก็ตาม เมื่อเป็นประธานของประโยคก็เป็นเอกพจน์ (ยังมีต่อ)
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

No comments:

Post a Comment