สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ) # 24-08

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
DO, DID, DONE
ในที่สุด เมื่อเรียงกันไปตามตัวอักษรอังกฤษ เราก็ได้มาถึงคำสำคัญ ที่มีค่าอย่างใหญ่หลวงในเรื่องภาษาของเขา ถึงแม้ว่าคำนี้มิใช่คำเดียวที่ปรารถนาก็ตามที
ท่านทั้งหลายก็พอทราบกันอยู่บ้างแล้ว ว่า “Do” เป็นคำกริยา และจะผันไปตามกาล เป็น “Did” และ “Done” (มาเรื่องไวยากรณ์อันน่าเบื่ออีกแล้ว แต่เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทบทวนเพื่อความเข้าใจอันดี) นอกไปจากนั้นแล้ว ยังมีคำว่า “Does” และ “Doing” อีกด้วยซ้ำไป
หยั่งที่ได้เกริ่นขึ้นไว้แล้ว ว่า “Do” เป็นคำสำคัญที่มีค่าใหญ่หลวง เพราะคำนี้มิได้เป็นแต่คำกริยาธรรมดาสามัญเท่านั้น ยังต้องทำหน้าที่เป็นกริยาช่วย (Auxiliary verb) ซึ่งเหน็ดเหนื่อยสายตัวแทบขาดรอน ๆ อีกด้วย
อนึ่ง สำหรับท่านที่มีพื้นฐานภาษาอังกฤษหรือมะกันมาบ้างแล้ว ก็คงจะ นึกออกว่า “Auxiliary verb” นั้นเป็นอะไร ทำหน้าที่อย่างไร และยังมีคำไหนอีกที่ถือว่าเป็นคำ “Auxiliary verbs” เช่นเดียวกัน ถึงท่านยังนึกไม่ออก ก็จะขอแกล้งอุบไว้ก่อน
เอาล่ะ ประโยคนี้ “How do you do?” ซึ่งมีคำว่า “Do” ถึงสองตัว ขอยกมาเป็นตัวอย่างเพื่อทบทวนความจำของท่านว่า “Do” คำหน้านั้นทำหน้าที่เป็นกริยาช่วย (Auxiliary verb) ส่วนคำหลังทำหน้าที่เป็นกริยาตัวจริง (Verb)
แต่ก่อนที่จะผ่านต่อไป ขอชี้แนะตรงนี้เสียหน่อยก่อนว่า ถ้อยคำที่ยกมาเป็นตัวอย่าง ที่ว่า “How do you do?” นั้น สมัยนี้ใครนำมาใช้ หรือนำมาพูดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองมะกัน ชาวบ้านร้านถิ่นเขาถือว่า “เฉิ่ม” หรือ เชย หรือโบราณคร่ำครึเหลือหลาย เนื่องจากภาษามันเดินหน้าอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และท่านมักจะได้ยินคนมะกันเขาทักทายปฏิสันถารกันด้วยคำว่า “How are you doing?” หรือใช้เพียงคำว่า “Hi” เสียละมากกว่า
นี่ละครับ โลกของเราทุกวันนี้ อะไรต่อมิอะไรก็ดูเสื่อมโทรมลงไปหมด ศิลปะ วัฒนธรรม รวมทั้งดนตรี และวรรณคดีทั้งหลายที่เคยได้ชื่อว่าเป็นสิ่งอมตะ ซึ่งจะไม่มีวันเสื่อมสูญนั้น เยาวชนทุกวันนี้มีสักกี่คนที่บิดามารดามีเวลาแนะนำให้เขาได้รู้จักและซาบซึ้งกับสิ่งที่เคยขึ้นชื่อว่าเป็นอมตะเหล่านั้น?
คำว่า “Do” นี้ ลำพังคำเดียวเมื่อแปลเป็นไทยก็หมายถึง ทำ, กระทำ, ก่อให้เกิด, ให้, ใช้ได้, เล่นเป็นตัว, แปล, ทำเสีย, เดินทาง, ฯลฯ โอ้ย อีกบานตะเกียง เพียงแต่เอาคำนามตามความหมายที่ต้องการมาต่อเข้าหน่อยเท่านั้นเอง
เป็นต้นว่า “Do your teeth.” แทนที่จะพูดว่า “Brush your teeth” (แปลงฟัน) หรือ “Do the dishes” แทนที่จะพูดว่า “Wash the dishes (ล้างถ้วยชาม) หรือ “Do the kitchen floor” แทนที่จะพูดว่า “Clean the kitchen floor” (ทำความสะอาดพื้นครัว) และ “Do the table” แทนที่จะพูดว่า “Set the table” (เตรียมจัดโต๊ะอาหาร) ฯลฯ
“There is nothing to do.” (ตอนนี้ว่าง) ไม่รู้จะทำอะไร

“There is nothing we can do.” จะให้เราทำอะไรได้เล่า
“Both mother and baby are doing well.” ทั้งมารดาและทารกเรียบร้อยปลอดภัยทั้งคู่ (หมายถึงสภาพภายหลังการคลอด)
ตัวอย่างข้างต้นล้วนแต่เป็นการใช้คำ “Do” ในฐานะเป็นกริยาตัวจริง ซึ่งจะแสดงให้เห็นได้ว่ามีความหมายไปได้มากมายสุดแต่การใช้สร้างประโยคขึ้นมา
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

No comments:

Post a Comment