สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “C” (ต่อ) # 18-06

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “C” (ต่อ)
ในกลุ่มคำ Carry + prepositions ที่มีความหมายเป็นสำนวนนั้น ยังมีคำว่า Carry out, Carry over, Carry the ball, Carry the day, Carry through, etc. ซึ่งเราจะมาทำความรู้จักกันในวันนี้ คือ
คำว่า “Carry out” นั้น แปลได้ว่า “ดำเนินการ หรือกระทำการนั้น ๆ ให้สำเร็จเสร็จสิ้นไป” (= to put into action, to do something that you have said you will do, to execute) ซึ่งมีความหมายผิดไปจาก “Carry on” ที่ได้ผ่านไปเมื่อสัปดาห์ก่อนแล้ว และเราสามารถนำสำนวนนี้ไปใช้ได้ในประโยคต่าง ๆ เช่นว่า
“Somsak listened carefully and carried out the teacher’s instructions.” คือ “เมื่อได้ฟังคำสั่งสอนของครูอย่างตั้งอกตั้งใจไปแล้ว สมศักดิ์ก็จัดการตามคำสอนมานั้นไปได้ครบถ้วนเรียบร้อย”
“The generals were determined to carry out their plans to defeat the enemy.” คือ “บรรดาแม่ทัพนายกองพากันตัดสินใจที่จะดำเนินการให้บรรลุตามแผนการซึ่งพวกเขาได้กำหนดขึ้นไว้แล้วนั้นเพื่อที่จะเอาชนะฝ่ายศัตรูให้จงได้”
“Extensive tests have been carried out on the patient.” คือ “ผู้ป่วยคนนั้นได้รับการทดสอบอย่างละเอียดลออเพื่อตรวจสภาพร่างกายของเขาไปเรียบร้อยแล้ว”
คำว่า “Carry out” เท่าที่ได้สาธยายมาแล้วข้างต้นนั้นเป็นการใช้คำในสักษษะที่เป็นคำกริยา แต่คำเดียวกันนี้เราสามารถใช้เป็นคำคุณศัพท์และถ้าจะเขียนลงเป็นตัวหนังสือ ก็เขียนว่า “Carry-out” ซึ่งจะแปลได้เป็นทำนองเดียวกันหรือเหมือนกันกับคำว่า “To Go” ดังนั้น คำว่า “A carry-out coffee” ก็มีความหมายเช่นเดียวกันกับคำว่า “A coffee to go” อย่างไรก็ดี เมื่อท่านจะซื้อกาแฟสักถ้วยหนึ่ง และบอกคนขายว่า “One coffee to go, please.” เขาจะสามารถเข้าใจท่านได้ง่าย ๆ เพราะเขาคุ้นกับการได้ยินคำพูดเช่นนั้นเป็นประจำทุกวี่ทุกวันอยู่แล้ว ส่วนถ้าจะกล่าวว่า “One carry-out coffee, please.” อาจทำให้คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจเพราะ “หูไม่ถึง” ก็เป็นได้
ข้อแตกต่างสำคัญระหว่างคำพูดสองแบบอย่างที่กล่าวมาข้างต้นนี้ก็คือ แบบที่ว่า “One carry-out coffee” นั้น เป็นคำกล่าวที่ถูกต้องแบบฉบับอันพึงต้องผ่านการเรียนรู้มาก่อนพอสมควร หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าเป็นการใช้ภาษาในลักษณะที่เรียกว่า “ตามแบบฉบับที่ถูกต้อง ซึ่งในภาษาอังกฤษเรียกว่า “Formal” ส่วนในแบบ “One coffee to go.” นั้นเป็นการใช้คำตลาด (Slang) ซึ่งเพียงแต่จดจำต่อ ๆ กันมาก็นำไปใช้ได้ง่าย ๆ ไม่ต้องผ่านการศึกษาเล่าเรียนตามระบบแบบแผนมาก่อนก็ได้ ฉะนั้นจึงเป็นที่นิยมใช้ภาษาตลาดหรือสแลงในกลุ่มผู้ที่ด้อยโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนมาก่อน
“สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล” ได้ฉันใด การใช้ภาษาทั้งในด้านการเขียนเป็นตัวอักษร และในด้านพูดจาปราศรัยกัน ก็สามารถส่อให้อีกฝ่ายหนึ่งเขาสามารถหยั่งถึงพื้นฐานการศึกษาเล่าเรียนของเราได้บ้าง ก็ฉันนั้น

ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

No comments:

Post a Comment