สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “C” (ต่อ) # 44-06

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “C” (ต่อ)
เราได้ทำความรู้จักกับการใช้คำ “Check” ในฐานะที่เป็นคำกริยาไปมากพอสมควรแล้ว แต่ยังเหลืออีกประโยคหนึ่ง ก่อนที่เราจะเดินเรื่องกันต่อไปถึงการใช้คำเดียวกันนี้ในรูปของคำนาม และประโยคที่เหลืออยู่นี้คือการใช้คำกริยาประกอบคำบุรพบท คือ
• My two bags have been checked through with no problem at all. คำว่า“Check through” ก็เป็นคำง่าย ๆ สามารถเข้าใจได้โดยไม่มีความยอกย้อนแต่อย่างใดเลย และประโยคนี้ก็แปลว่า “กระเป๋าเดินทางสองใบของผมได้ผ่านการตรวจไปได้อย่างเรียบร้อย ไม่มีปัญหาหรือข้อขัดข้องแต่อย่างใดเลย”
ในภาษาอังกฤษอเมริกันนั้น พวกชาวมะกันมักใช้การสะกดแบบง่าย ๆ สั้น ๆ ทำให้ชาวอังกฤษพันธุ์แท้จำนวนมากซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นพวก “อนุรักษ์นิยม” หรือพวกที่ชอบถนอมรักษาสิ่งที่ดีงามต่าง ๆ ในอดีตไว้ให้คงอยู่ชั่วฟ้าดินสลายนั้น ก็เป็นไม้เบื่อไม้เมากับชาวอเมริกันรุ่นใหม่ซึ่งถือว่าอะไรง่าย อะไรสะดวกก็เอาไว้ก่อน ดังนั้นเราท่านก็อาจได้เห็นว่าคำ “Through” ที่ว่านี้ พวกมะกันเขาก็จะสะกดเอาแต่สั้น ๆ ว่า “Thru” แค่นั้นเอง คำใดที่เป็นคำซึ่งออกเสียงค่อนข้างยากและยาวนั้น พวกเขาก็ค่อย ๆ เลิกใช้กันไปในภาษาพูด และหันไปนิยมใช้คำง่าย ๆ กันมากกว่า อย่างเช่นคำว่า “Legislators” ก็เลิกพูดเลิกใช้กันแล้ว และพากันนิยมคำว่า “Lawmakers” มากกว่า
ในช่วงกาลเวลาเพียงประมาณหนึ่งร้อยปีที่ผ่านไปหยก ๆ นี้เองที่เหตุการณ์ต่าง ๆ ของโลกได้ผันแปรและผสมโรงกันไปในทางที่ทำให้ประเทศอเมริกาเจริญรุดหน้ากลายเป็นมหาอำนาจเข้าทำนอง “กระบี่ไร้เทียมทาน”เพราะมี “บริการขั้นพื้นฐาน (Infrastructure)” พร้อมสรรพมากกว่าประเทศอื่นใด จึงก่อเกิดเป็นแรงดึงดูดให้นักค้นคว้าและนักประดิษฐ์จากทุกสารทิศทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางทวีปยุโรปต้องพากันดิ้นรนนำความคิดจากการค้นคว้านั้น ๆ มาสานต่อในประเทศสหรัฐ ฯ ซึ่งแน่ละ ไอ้ที่ลงท้ายคว้าน้ำเหลว แล้วล้มหายสาปสูญไปมากมายเป็นธรรมดา แต่ ส่วนที่ประสบความสำเร็จสามารถสร้างความร่ำรวยกลายเป็นอภิมหาเศรษฐีไปก็มีจำนวนโขอยู่
ความเจริญในด้านวัตถุของมะกันนั้นจึงรุดหน้าหาประเทศอื่นใดตามได้ไม่ทัน แต่ในด้านจิตใจและโดยเฉพาะในด้านวัฒนธรรมนั้นไม่มีอะไรที่จะนำมากล่าวให้เป็นที่เชิดหน้าชูตาให้แก่ชาวมะกันได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาษาอังกฤษซึ่งทางมะกันต้องยืมจากประเทศอังกฤษหรือที่เรียกว่า “เกาะอังกฤษ” มาใช้นั้น มิแต่เพียงยืมมาใช้เปล่า ๆ เพียงอย่างเดียวเท่านั้น กลับเอามา “ปู้ยี่ปู้ยำ” เสียจนช้ำชอกแทบจะจำไม่ได้
ทุกวันนี้ ชาวมะกันพากันนิยมเขียนแต่เพียง “24/7” เป็นการหมายความว่า “เปิดทำงานตลอดวันทั้ง 24 ชั่วโมงเต็มทั้งสัปดาห์เจ็ดวัน” และท่านก็จะต้องเข้าใจเมื่อเห็นคำว่า “Food4Less” และ “Food2Go”
พวกเขานิยมที่จะเรียกฤดูใบไม้ร่วงนี้ว่า “Fall” มากกว่าที่จะเรียก “Autumn” ทั้งนี้พวกเราคนไทยซึ่งเพิ่งเข้ามาจากบ้านเมืองเราโดยเฉพาะบรรดาท่านที่คุ้นเคยกับภาษาอังกฤษแบบที่ใช้ในหนังสือพิมพ์ “The Bangkok Post” และ “The Nation” ซึ่งยังนิยมใช้ภาษา“บริททีช อิงลีช” หรืออังกฤษแท้ ก็คงต้องเป็นงงอยู่กับภาษาอังกฤษแบบมะกันอยู่พักใหญ่เลยทีเดียวกว่าที่จะปรับตัวให้เข้าที่เข้าทาง และ “เข้าเมืองตาหลิว ก็ต้องหลิ่วตาตาม” ไปกับเขาด้วยอย่างช่วยไม่ได้เลย
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

No comments:

Post a Comment