สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “C” (ต่อ) # 46-06

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “C” (ต่อ)
คอลัมน์นี้ได้ใช้เวลาไปกับคำว่า “Check” พอสมควรแล้ว ทั้งที่เป็นคำนาม “Noun) และคำกริยา (Verb) และจะพูดไปเป็นไรมี พวกเราคนไทยคุ้นกับความหมายของคำนี้กับอยู่มากแล้วทีเดียว แต่ที่ได้นำมาสาธยายในเชิงลึกก็เพราะเชื่อว่าบรรดาท่านที่สนใจคงจะได้รับประโยชน์ไม่มากก็น้อยบ้างทีเดียว
การที่พวกเราคนไทยนำคำในภาษาอังกฤษมาผสมกับคำไทยในแบบที่เรียกกันว่า “พูดไทยปนฝรั่ง” นั้น บางคนก็อดนึกตำหนิอยู่ในใจไม่ได้ แต่นับวันที่วิทยาการทางประเทศตะวันตกรุดหน้าเรื่อยไป มันก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ที่จะนำเอาคำในภาษาต่างประเทศเข้ามาใช้มากขึ้นอย่างจะหลีกเหลี่ยงได้ลำบากเป็นอย่างยิ่งเลยทีเดียว
ในชีวิตประจำวันของไทย ๆ เราเท่าที่กาลเวลาได้ผ่านพ้นไปแล้วนั้น เราก็คุ้นเคยเป็นอย่างมากกับการใช้ภาษาต่างประเทศหรือภาษาแขก (สันสกฤต) แต่ก็หนักไปในทางตั้งชื่อและนามสกุลของบุคคลเสียละมากกว่า อย่างไรก็ตามในระยะประมาณยี่สิบปีหลังนี้ ความเจริญรุดหน้าในเรื่องคอมพิวเตอร์ จากในช่วงเริ่มแรกนั้น ระบบคอมพิวเตอร์ต้องติดตั้งในห้องโถงขนาดใหญ่ซึ่งมีการปรับอากาศที่ควมคุมทั้งความเย็นและความชื้นในระดับที่ถูกต้องตายตัวตลอดเวลา 24 ชั่วโมง มาเป็นเครื่องขนาดที่เรียกว่า “PC” “Personal computer” ซึ่งต้องการเนื้อที่ติดตั้งเพียงนิดเดียว สามารถวางบนโต๊ะทำงานขนาดสามัญธรรมดาได้อย่างสบาย ๆ
ในยุคใหม่ที่ใช้ระบบ “PC” นี้ ปรากฎว่าความพยายามของนักวิชาการคนไทยบางท่านที่บัญญัติคำไทยขึ้นมาใช้ของเราเอง โดยเรียก “Hardware” ว่า “กระด้างภัณฑ์” และ “Software” ว่า “ละมุนภัณฑ์” เพื่อผดุงรักษาไว้ซึ่งความเป็นไทในด้านภาษา แต่คงจะเป็นเพราะไม่สะดวกปาก และเมื่อใช้คำไทยแล้วก็คงจะต้องแปลกลับไปเป็นภาษาอังกฤษกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง ลงท้ายก็เป็นว่า ความริเริ่มอย่างว่านั้นไม่เป็นที่นิยมยอมรับในหมู่คนไทยส่วนใหญ่ หรือกล่าวเป็นภาษาอังกฤษว่า “The concept just didn’t fly.” จึงได้เลิกแล้วต่อกันไปอย่างไม่น่าเสียดายเท่าใดนัก
มันเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้เลย ที่ชนชาติหนึ่งต้องนำคำบางคำจากภาษาของชนชาติอื่นมาใช้บ้าง ทั้ง ๆ ที่มีถ้อยคำในภาษาเดิมของตัวเองอยู่ถมไป ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว ทุกชาติทุกภาษาต่างถือเป็นเรื่องธรรมดา ไม่เสื่อมเสียศักดิศรีแห่งตนไปแต่ประการใดเลย ฝรั่งอังม้อเองก็เถอะ ทุกวันนี้เริ่มรู้จักและนิยมใช้คำว่า “ผัดไทย” ฯลฯ เรื่อยไปจนถึง “ต้มยำกุ้ง” ด้วยความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งเสียด้วยว่า ไอเป็นคนที่รู้จักของดี ๆ ในของชีวิตประจำวันซะด้วย แน่ไหมล๊ะ?
อังกฤษไม่เคยมี “รัฐประหาร” เลยต้องใช้คำว่า “Coup d’etat” ซึ่งเป็นภาษาฝรั่งเศส ส่วนไทยเราใช้คำในภาษาแขกสันสกฤต เพราะไม่มีคำไทยแท้ ทั้ง ๆ ที่เรามีรัฐประหารกันค่อนข้างบ่อยเสียด้วยซ้ำไป
คารม-คม-ระคาย (Quips & quotes)
• Discussion is an exchange of knowledge, argument is an exchange of ignorance. เมื่อใดที่มีเรื่องคุยกันก็เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ แต่ถ้าโต้เถียงกันก็เป็นการแลกเปลี่ยนความโง่เขลาเท่านั้นเอง
• The man who thinks he knows it all has merely stopped thinking. คนที่คิดว่ากูนี้เป็นพหูสูตแล้วนั้นก็เป็นเพราะเขาเลิกใช้หัวสมองคิดต่อไปเสียแล้ว
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~

No comments:

Post a Comment