สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “C” (ต่อ) # 15-06

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “C” (ต่อ)
ถัดไปจากคำว่า “Carrot” แล้ว เมื่อไล่เรียงกันไปตามตัวอักษร คือจาก อักษร ก. และก็ต่อไปยังอักษร ข. ซึ่งวิธีการนี้ในภาษาอังกฤษเขาเรียกว่าเรียงกันไปตามแบบ “Alphabetical Order” (แอลฟาเบท’ทิกัล ออร์เดอร์) และในสัปดาห์ก่อนเราได้ว่ากันถึงคำว่า “Carrot” ไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น คำที่น่าสนใจต่อไปก็คือ “Carry” ซึ่งเป็นคำกริยาง่าย ๆ ใช้กันเกร่อไปนานแล้ว และพจนานุกรม อังกฤษ-ไทย ของ ดร. วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม ได้ให้คำแปลไว้ว่า
Carry = ขนส่ง, แบก, ลำเลียง, หอบ, หาบ, อุ้ม, ยก, ถือติดตัว, นำติดตัว, นำไปสู่, สะพาย, บรรทุก, ส่ง, แพร่กระจาย, ออกข่าว ฯลฯ และทั้งนี้ก็เป็นที่รู้จักกันว่าเป็นกริยาประเภทที่ “Transitive verb” คือจะต้องมีคำซึ่งในทางไวยากรณ์เรียกว่า “กรรม หรือ Object” มารับโดยตรง อย่างเช่นในประโยคที่ว่า
“That Mexican woman carries a baby in her arms.” ในประโยคนี้ คำว่า “baby” เป็นคำกรรม แปลว่า “ผู้หญิงชาวเม็กซิกันคนนั้นอุ้มทารกแนบอยู่กับอก”(สำหรับประโยคนี้ ขอให้โปรดสังเกตว่า ประโยคภาษาอังกฤษกล่าวถึงแขน แต่ประโยคภาษาไทยนั้นบรรยายความต่างกันออกไป ตามความเคยชินของแต่ละภาษา)
“Jimmy broke his leg during the match and had to be carried off. ในประโยคนี้ คำ กรรมละไว้ในฐานะที่ถือว่าเป็นที่เข้าใจ แปลว่า “จิมมี่ได้ขาหักลงในระหว่างการแข่งขันและต้องมีคนช่วยกันหามออกไปจากสนาม”
“Police in many countries carry guns.” ในประโยคนี้ คำว่า “guns” เป็นคำกรรม แปลว่า “เจ้าหน้าที่ตำรวจในหลายประเทศจะถืออาวุธปืนติดตัวเป็นประจำ”
“Crimes of violence carry heavy penalties.” ในประโยคนี้ คำว่า “heavy penalties”เป็นคำกรรม แปลว่า “การก่ออาชยกรรมที่รุนแรงย่อมจะต้องได้รับโทษทัณฑ์อย่างหนัก”
“Jane carries herself well.” ในประโยคนี้ คำว่า “herself” เป็นคำกรรม แปลว่า “ยายเจนวางมาดได้สวย”
“Today’s papers carry full reports of the current Thai prime minister in political trouble.” ในประโยคนี้ คำว่า “Full reports” เป็นคำกรรม แปลว่า “หนังสือพิมพ์วันนี้ลงข่าวกันอย่างละเอียดละออเรื่องที่นายก ฯ ไทยคนปัจจุบันกำลังประสบปัญหาการเมืองอย่างหนัก”
“I never carry much money on me.” ในประโยคนี้ คำว่า “much money” เป็นคำกรรม แปลว่า “ปกติฉันไม่พกเงินจำนวนมาก ๆ ติดตัว”
“The veins carry blood to the heart.” ในประโยคนี้ คำว่า “blood” เป็นคำกรรม แปลว่า “เส้นโลหิตดำส่งโลหิตกลับไปสู่หัวใจ”
Etc. Etc. ฯลฯ ฯลฯ
ข้างต้นนี้ทั้งสิ้น เป็นตัวอย่างการใช้คำว่า “Carry” เป็นคำกริยา ในความหมายต่าง ๆ โดยที่มี “กรรม” มารับต่อท้าย นอกจากนั้นแล้ว ท่านยังสามารถใช้กริยาคำนี้ร่วมกับคำบุรพบท (Prepositions) ต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยทำให้สามารถสร้างประโยคให้มีความหมายออกไปในลักษณะเป็น “สำนวน” ออกไปได้อีกหลายรูปแบบ ดังเช่น
Carry away, carry forward, carry off, carry on, carry out, carry through, etc.
จะเห็นได้ว่า คำสั้น ๆ มีตัวอักษรเพียงน้อยตัวนี้ มีฤทธิ์ และพิษสง แบบเล็กพริกขี้หนูจริง ๆ ซึ่งเราก็จะว่ากันต่อไปในสัปดาห์หน้า
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~

No comments:

Post a Comment