ENGLISH VOCABULARY (ต่อ) #32-05

ENGLISH VOCABULARY (ต่อ)

ในเรื่องของการเรียนภาษา ไม่ว่าจะเป็นภาษาพ่อแม่ของเราเอง หรือเป็นภาษาที่สอง อย่างที่เรากำลังถือว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง (English as the Second Language = ESL) ตามที่เราได้ว่ากันอย่างต่อเนื่องในสามสี่สัปดาห์ที่ผ่านไปแล้วนั้น
ชาวอังกฤษชื่อ Oscar Wilde (1854-1900) เคยกล่าวไว้ว่า “ชีวิตคือการเดินทาง - Life is a journey.” ท่านผู้นี้เป็นนักประพันธ์ นักเขียนนามกระเดื่องแห่งยุคโน้นและมีผลงานเป็นที่ชื่นชอบมาถึงทุกวันนี้ และท่านพูดของท่านถูกในประเด็นที่ว่าชีวิตของคนเรานั้นเปรียบได้เสมือนการเดินทางที่มีจุดเริ่มต้นเมื่อถือกำเนิดเกิดมาเป็นมนุษย์ และไปสิ้นสุดเอาเมื่อตาย ซึ่งในแง่นี้เขามีสำนวนในภาษาอังกฤษว่า “From the cradle to the grave.” คือ “จากตอนที่นอนเปล ไปจนถึงหลุมฝังศพ หรือทางไทยเราก็เรียกว่า เชิงตะกอนก็ย่อมได้” = from birth to death.
ชีวิตคนเราเป็นการเดินทาง ซึ่งจะผิดแผกแตกต่างกันไปก็อยู่ที่จะสั้นหรือยาวกว่ากันประการหนึ่ง และจะต้องระหกระเหินลุ่มดอน หรือราบรื่นสุขโขสโมสรผิดกันแค่ไหนอีกประการหนึ่ง ฯลฯ เป็นต้น
ในทำนองเดียวกันผู้เขียนอยากตั้งสมมุติฐาน (Hypothesis= ไฮพอธ’ ธิซิส)ขึ้นมาเพื่อถือเสียว่าการเรียนภาษาซึ่งไม่ว่าจะเป็นในเรื่องภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ตามนั้น เปรียบได้เสมือนว่าเราลอยละล่องลงว่ายในสายน้ำ และถ้าจะสมมุติว่า เราเริ่มเรียนรู้แต่เพียงน้อยคำเมื่ออยู่ในชั้นประถมนั้น ถือเสมือนว่าเราเริ่มต้นตั้งแต่แคว “ปิง วัง ยม น่าน” พอล่องเรื่อยจนผ่านปากน้ำโพ จนลงเข้าแม่น้ำเจ้าพระยาก็สมมุติว่า จากชั้นประถมไปขึ้นชั้นมัธยม และเมื่อออกปากอ่าวไทยได้เมื่อใด ก็ถือเสียว่าเป็นนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยแล้ว ใกล้จะเป็นบัณฑิตกันเข้าไปแล้ว แต่จะเป็นทางด้านภาษา ก็ยังเป็นปัญหาอยู่
แน่ละ ทิวทัศน์ทั้งสองฝั่งน้ำ ตั้งแต่ต้นทางเรื่อยมา จะสวยสดงดงามสักเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับสายตาของผู้ดูผู้ชมโดยแท้ ทั้งนี้ในภาษาอังกฤษเขามีสุภาษิตกล่าวไว้ว่า “Beauty is in the eye of the beholder.” ซึ่งถ้าจะแปลตรงตัวก็เป็นว่า อันว่าความสวยหรือความงามจะแค่ไหน หรือหาไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับสายตาของผู้ที่ดูชมอยู่นั้นโดยแท้ อันนี้คล้ายคำพังเพยในภาษาไทยของเราที่ว่า “สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งเห็นแต่โคลนตม อีกคนกลับเห็นเพชรแพรวพราย” อะไรทำนองนั้นแล
ตามที่ว่ามาข้างต้นนี้เป็นฉันใด เรื่องของภาษา ไม่ว่าไทยหรืออังกฤษ ก็ฉันนั้น กล่าวคือ มีทั้งผู้ที่มองเห็นความดีงาม น่าสนใจ น่าเรียนรู้มาก ๆ ในเรื่องของภาษา ในขณะที่มีจำนวนมิใช่น้อยมีความท้อถอย เดินทางมาได้เพียงแค่ลำน้ำเจ้าพระยา หรือเรียนเพียงแค่ชั้นมัธยมเท่านั้นเองก็เกิดเหม็นเบื่อ และเลิกที่จะสนใจต่อไปอีกเสียแล้ว
แต่ก็มีคนเป็นจำนวนอีกมากมายที่สนุกสนานในเรื่องของภาษา เปรียบได้เสมือนว่า เพียงออกปากอ่าวไทยได้เท่านั้นก็ยังหาเป็นที่พอใจไม่ แต่กลับโลดแล่นเลยไปในทะเลจีน และเรื่อยออกทะเลลึก ท่องมหาสมุทร “อันลึกล้ำเหลือกำหนด” เสียด้วยซ้ำ ก็มีออกถมไป ซึ่งนั่นก็หมายถึงว่า เขาพวกนั้นมีความพากเพียรพยายามที่จะเพิ่มพูนความรู้ในด้านศัพท์แสง (Vocabulary) เพื่อให้สามารถใช้ถ้อยคำต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง และเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจในถ้อยคำซึ่งเป็นสำนวน (Idioms) ต่อไปอย่างไม่ยอมหยุดยั้งเลยสักนิด

คารม-คม-ระคาย (Quips & quotes)
 Weak men wait for opportunities; strong men make them. คนพวกอ่อนหัดมักเอาแต่คอยให้ราชรถมาเกย หากแต่ผู้ที่เข้มแข็งนั้นเขาย่อมออกใฝ่แสวงหาทางเอาเอง
 Whoever gossips to you will gossip of you. ไอ้พวกที่เอาเรื่องของชาวบ้านมานินทาให้เราฟังได้นั้น มันก็เอาเรื่องของเราไปนินทาให้ชาวบ้านฟังได้เหมือนกัน

ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

No comments:

Post a Comment