Body language # 33-05

ภาษากลางของโลก
เป็นเวลาถึง ๔ สัปดาห์เต็มที่ผู้เขียนได้พาท่านผู้อ่านออกไป “ชมนกชมไม้” ในเรื่องของภาษาอังกฤษอเมริกันซึ่งกำลังเป็นภาษากลางของโลกในปัจจุบัน และตั้งใจว่าเริ่มแต่มื้อหน้าเป็นต้นไปจะขอกลับเข้าแนวเดิมของคอลัมน์นี้ซึ่งเป็นเรื่องการใช้สำนวนอย่างที่เคยเขียนไปแล้วในอดีต
คำว่า “ภาษากลาง” ของโลกมนุษย์เรานี้ ผู้เขียนหมายถึง ภาษาที่เราใช้เป็นสื่อกลางเพื่อช่วยในการติดต่อพูดจาต๊ะอ้วยให้สามารถเข้าใจกันรู้เรื่องยิ่งไปกว่าการชี้มือชี้ไม้ “ชี้โบ๊ชี้เบ๊” หรือใช้ “ภาษาใบ้” ซึ่งต่างฝ่ายต้องออกท่าออกทางมากมายถึงขนาดที่กล่าวได้ว่า “พูดกันเสียเมื่อยมือ” และยังความเหน็ดเหนื่อยให้แต่ละฝ่ายมากไปกว่าการแสดงออกด้วยการเคลื่อนไหวแต่บางส่วนของร่างกายเพียงเล็กน้อย ซึ่งในภาษาอังกฤษเขาใช้คำว่า "Body language – บอด’ดี่ แลง’ เกว๊จ” อย่างเช่นการยักคิ้วหลิ่วตา หรือแม้แต่การที่สาวเดินทิ้งสะโพกให้ ก็อยู่ในความหมายของคำว่าบอด’ดี่ แลง’เกว๊จ นั้นแล
เพียงแต่จะละความเป็นชาตินิยมไปเสียให้สิ้นในเรื่องการติดต่อสนทนากันกับคนต่างชาติ ทิ้งความรู้สึกทุเรศทุรังและทุลักทุเลที่คนไทยในกรุงเทพฯ ต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการติดต่อพูดจากันกับคนชาวเขมรที่มาจากกรุงพนมเปญ ทั้ง ๆ ที่สองประเทศก็เป็นเพื่อนบ้านกัน อยู่ติดกัน และใช่ว่าต่างฝ่ายต่างจะคล่องในภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษากลางนั้นก็หาไม่
ในอันที่จริงนั้น นอกจากภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาอันยิ่งใหญ่ของพวกเราชาวไทยแล้ว ในโลกนี้มีภาษาซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นภาษาสำคัญ ๆ อยู่มากมายหลายภาษา เช่น ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาสเปน ภาษาเยอรมัน ภาษาอิตาลี่ ฯลฯ แต่เมื่อเอามาเปรียบเทียบกันในแง่อักขรวิธีโดยถ่องแท้แล้ว อักขรวิธีของภาษาอังกฤษและปัจจุบันนี้นิยมกันในแบบภาษาอเมริกันนั้น เห็นได้ว่ามีความกระทัดรัดมากกว่า เพราะไม่มีส่วนประกอบซึ่งเป็นสระห้อยบนโหนล่างให้รุงรัง อย่างเช่นภาษาฝรั่งเศส และภาษาไทยเรา แม้แต่การออกเสียงหรือเปล่งเสียงของภาษาอังกฤษก็ไม่ต้องทรมานด้วยการรัวลิ้นให้หนักหนาสาหัสเท่าใดนัก
และที่เป็นเรื่องจริงอันมิได้อิงนิยายก็คือ มีเพียงชนชาติเดียวเท่านั้นที่ในอดีตได้ชื่อว่ามีความยิ่งใหญ่เป็น “จักรภพ” คือจักรภพอังกฤษ ซึ่งยุคหนึ่งเขาคุยโวได้ว่าพระอาทิตย์ไม่ตกดินในเครือจักรภพของเขา เพราะเมื่อตะวันจะลับฟ้าไปจากดินแดนหนึ่งซึ่งขึ้นธงอังกฤษไว้นั้น ตะวันดวงนั้นก็ทอแสงขึ้นในดินแดนหรือเมืองขึ้นของเขาที่อยู่ถัดไปอีกแล้ว แต่ลงท้ายก็ไม่สามารถหนีสัจธรรมได้พ้น คืออะไรที่ขึ้นไปแล้วก็ต้องตกลงมา “What goes up must come down.”
ปัจจุบันนี้ ภาษาอังกฤษแท้ ๆ กำลังเสื่อมโทรมและถอยเข้าคลองจะกลายเป็นอดีต (A hasbeen – เอ แฮสบีน ซึ่งเอาสองคำ คือ คำว่า “แฮส คำหนึ่ง และ “บีน” อีกคำหนึ่ง มาต่อกันแล้วถือเป็นคำใหม่คำเดียวขึ้นมา หมายถึงอะไรก็ตาม ไม่ว่าคนหรือสิ่งของ ซึ่งตกกระป๋องไปแล้ว ก็เป็น “เอ แฮสบีน”)
และปัจจุบันนี้ภาษามะกันก็กำลังมาแรง เพราะอเมริกากำลังเป็นประเทศอภิมหาอำนาจ เป็นกระบี่ไร้เทียมทาน ส่วนจะหนีสัจธรรมของโลกพ้นไปได้หรือเปล่า ก็สุดแต่ท่านจะคิดอย่างไร
อย่างไรก็ตาม สำหรับท่านที่สวรรค์ได้ให้ลงมาเกิด และมีชีวิตอยู่ทุกวันนี้แล้ว จงก้มหน้าก้มตารับกรรม เอ๊ย ขอโทษ จะพูดว่าตั้งหน้าตั้งตาเรียนภาษามะกันต่อไปเถอะ เพราะภาษานี้จะยังมีประโยชน์สุดพรรณาได้ตราบจนกว่าชีวิตท่านจะหาไม่แน่นอน
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

No comments:

Post a Comment