Burn up the road # 24-05

“Burn up the road,” แปลตรงตัวก็เป็นว่าเผาถนน แต่วลีนี้เป็นสำนวนซึ่งหมายความว่า ขับรถเร่งเครื่องเต็มที่ หรือในภาษาไทยเราก็มีสำนวนที่พูดว่า “ขับรถแข่งพายุ” ก็น่าที่จะนำมาใช้ได้ในความหมายทำนองเดียวกัน
“Burn up the road” = To drive a car very fast. ให้เราสร้างประโยคตัวอย่างสำหรับสำนวนนี้อาทิเช่น “In his eagerness to see his girlfriend again, John burned up the road on his way to see her. คือ ด้วยความกระตือรือร้นอย่างสุดแสนที่จะได้พบเพื่อนสาวของเขาอีกหนหนึ่ง อีตาจอห์นก็บึ่งรถเต็มสตีมเพื่อไปหาเธออย่างเร็วที่สุด

หรือใช้อีกประโยคหนึ่งก็ได้อย่างเช่น Speed demons burning up the road often cause accidents. คือไอ้พวกนักขับรถตีนผีชอบเร่งเครื่องเต็มที่นั้นมักทำให้เกิดอุบัติเหตุอยู่เสมอ ๆ

“Burst at the seams” (เบอสท แอ็ต เธอะ ซีมส์) ถ้าแปลตรงตัวก็เป็นว่า “แน่นขนัดเสียจนจะแตกที่รอยต่อหรือรอยตะเข็บ” ขอให้สังเกตด้วยว่า คำว่าซีมส์ ซึ่งแปลว่ารอยต่อหรือตะเข็บนั้นมีตัว “เอส” เกาะท้ายเป็นพหูพจน์อยู่ด้วย และในเรื่องของเอกพจน์และพหูพจน์นี้ ในภาษาไทยเราพูดกันไม่รู้เรื่อง เพราะเราไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องนี้กันเลยแม้แต่น้อย แต่ในภาษาอังกฤษนั้น การใช้คำที่เป็นเอกพจน์หรือพหูพจน์อย่างถูกต้องนั้นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นถ้าต้องการให้พวกฝรั่งมัน “ซูฮก” ท่านขึ้นอีกสักหน่อย ก็ควรพยายามใช้คำเอกพจน์หรือพหูพจน์ให้ถูกต้องอีกด้วย
“Burst at the seams” = To be too full or too crowded เป็นวลีสำนวนซึ่งตรงกับภาษาไทยของเราที่ว่า “แน่นยัดทะนาน” ซึ่งถ้าใช้ในประโยคเรื่องเกี่ยวกับอาหารการกินก็หมายความว่า “กินเสียแทบจะจุกตาย” เช่นใช้ในประโยคที่ว่า “Jim ate too much he was bursting at the seams.” คือ ตาจิมได้เอาแต่กินเสียท้องกางหรือแทบจะจุกตายเลยทีเดียว และสำนวนอังกฤษวลีนี้ถ้านำไปใช้ในเรื่องการบรรจุหรือบรรทุกสิ่งของหรือผู้คนก็ย่อมได้ อาทิเช่น “Buses in big cities in India are so crowded that they are bursting at the seams.” คือ รถเมล์ในเมืองใหญ่ทางประเทศอินเดียบรรทุกผู้โดยสารอย่างแน่นขนัดยัดทะนานกันเลยทีเดียว

สำนวนถัดไปเป็นวลีที่น่าสนใจอีกวลีหนึ่ง คือ

“Bury the hatchet” (เบ’รี่ เธอะ แฮท’ ชิท) เบรี่ คือฝัง และแฮท’ชิทแปลว่าขวานเล็กๆ อย่างพวกอินเดียนแดงในสมัยโบราณใช้เป็นอาวุธ ซึ่งตรงตัวแปลว่า “เอาขวานไปฝังไว้ในดิน” แต่สำนวนนี้หมายถึงการหันมาปรองดองเป็นมิตรกัน หรือเลิกแล้วต่อกันซึ่งความขุ่นข้องหมองใจใด ๆ อันเคยมีมาแต่ก่อน

“The two men had been enemies a long time, but after the flood they buried the hatchet.” คือ สองคนนั้นเป็นศัตรูกันมาช้านาน แต่หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่นั้นแล้ว เขาทั้งสองก็สามารถคืนดีเป็นมิตรกันได้


คารม-คม-ระคาย (Quips & quotes)

You can buy education, but wisdom is a gift from God. เงินสามารถซื้อความรู้ได้ แต่ความเฉลียวฉลาดนั้นเป็นพรจากสวรรค์

Marriage is a case of two people agreeing to change each other’s habits.
การร่วมหอลงโรงนั้น เป็นเรื่องที่สองมนุษย์ได้ตกลงกันว่าจะเปลี่ยนสันดานของกันและกันได้สำเร็จ
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

No comments:

Post a Comment