สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ) # 8-08

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
แม้ไม่ถึงที่ตายวายชีวาตม์
ใครพิฆาตเข่นฆ่าไม่อาสัญ
แต่ถ้าถึงที่ตายวายชีวัน
ไม้จิ้มฟันทิ่มเหงือกยังเสือกตาย
คำว่า “Dead” ซึ่งโดยทั่วไปแปลว่า “ตาย” หรืออาจมีความหมายไปในทำนองว่า สูญเสีย หรือสิ้นสุด ฯลฯ นั้น นอกจากใช้เป็นเพียงคำเดียวโดดในการสร้างถ้อยคำขึ้นให้เป็นประโยคแล้ว ยังมีถ้อยคำซึ่งประกอบด้วยหลายคำในรูปแบบที่เรียกว่าเป็น “วลี” หรือ “Phrase” เข้าทำนองที่เรียกได้ว่าเป็นคำสำนวนซึ่งรู้จักและเป็นที่นิยมใช้กันในภาษามะกันอย่างแพร่หลาย สมควรที่จะแนะนำไว้ ณ ที่นี้ให้เป็นที่รู้จักและเข้าใจเพื่อสามารถใช้ประโยชน์กันได้อย่างถูกต้องและจริงจังในกาลข้างหน้า ต่อไปนี้ คือ
“Be a dead ringer for somebody” วลีนี้แปลว่าเหมือนหรือช่างเหมือนใครคนหนึ่งเปี๊ยบเลย หรือเหมือนชะมัดเลย ซึ่งในภาษามะกันเองเขาก็ให้คำอธิบายว่า “Be very like somebody in appearance” และสำนวนนี้นำไปใช้สร้างเป็นประโยคได้เช่น “Julie is a dead ringer for a girl I used to know.” ยายจูลี้นี่ช่างเหมือนสาวคนหนึ่งซึ่งอั๊วเคยรู้จักมาก่อนชะมัดเลยจริง ๆ
“Dead men’s shoes” รองเท้าของคนตาย (Job that one takes over from somebody who has left unexpectedly or died.) วลีนี้เป็นสำนวนซึ่งหมายถึงการเข้าไปสวมตำแหน่งหน้าที่การงานของคนที่ต้องจากไปอย่างกระทันหันไม่ได้คาดหมายมาก่อน หรือเสียชีวิตไปอย่างปุบปับ เช่นใช้ในประโยคว่า “Julie got early promotion by stepping into dead men’s shoes.” คือยายจูลี้ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นไปเร็วโดยได้ขึ้นไปทำหน้าที่แทนคนก่อนซึ่งตายไปแล้วนั่นเอง
“Dead men tell no tales.” ซึ่งแปลว่า “คนตายแล้วย่อมไม่ต้องการที่จะต่อความยาวสาวความยืดกับใครอีกต่อไปแล้ว” ทั้งนี้ถือว่าเป็นคำพังเพยของฝรั่งเขาที่ใช้ยกมากล่าวในทำนองเสริมคำพูดในระหว่างการโต้เถียงกัน สุดแต่ใครจะมีฝีปากดีกว่ากันสักแค่ไหน
“Dead to the world” แปลว่ากำลังหลับสนิทเสมือนคนที่ตายแล้วเลยทีเดียว Yah, Jim is resting on the sofa dead to the world around him.
“In the dead of the night” ถ้อยคำนี้หมายความว่า ในยามดึกสงัด ซึ่งน่าที่จะรู้จักเอาไว้ใช้บรรยายความตามท้ายอะไรสักเรื่องถ้าต้องการให้ผู้ฟังได้ซาบซึ้งกับเรื่องราวที่กำลังเล่านั้นอย่างสุด ๆ กันเลยทีเดียว และ ณ ที่นี้ ขอให้สังเกตด้วยว่าคำว่า “Dead” นั้น เขาไม่สะกดเป็น “Death” ซึ่งคำหลังนี้น่าจะถูกต้องไวยากรณ์มากกว่า
“Over my dead body” ถ้อยคำนี้ชะรอยฝรั่งคงจะเอาอย่างคนไทยที่ชอบพูดว่า “ข้ามศพกูไปก่อน” ซึ่งหมายความว่าถึงจะหัวเด็ดตีนขาดกูก็ยอมเอ็งไม่ได้ หรืออะไรในทำนองนั้น เอาเป็นว่าฝรั่งเขาเลียนแบบไทยเราก็แล้วกัน เป็นการสร้างความรู้สึกที่ดี ที่เขื่องกว่าเขาแล้วใครจะมาทำไม และถ้อยคำนี้ใช้กล่าวในทำนองว่า “Over my dead body you will sell this house!” คือเธอจะขายบ้านหลังนี้ได้ ก็ต้องข้ามศพฉันไปก่อน (คือฉันไม่ยอมแน่ ๆ จะเป็นจะตายก็ให้รู้ไป)
ท่านที่ได้ติดตามคอลัมน์นี้เรื่อยมา อาจรู้สึกเบื่อกับคำว่า “Dead” นี้เต็มทนแล้ว ดังนั้นสัปดาห์หน้าก็จะขอสลับไปเป็นเรื่องตามให้ทันโลกอีกสักครั้งก่อนก็แล้วกัน
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

No comments:

Post a Comment