สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “C” (ต่อ) # 41-06

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “C” (ต่อ)
เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว เราได้มาถึงคำว่า “Change” เมื่อใช้เป็นคำนาม (Noun) และในการใช้ภาษาอังกฤษโดยเฉพาะในการพูดจาหรือที่เรียกกันว่าการสนทนานั้น ถ้าหากเราพยายามใช้ประโยคที่ชาวบ้านร้านถิ่นเขาใช้กันอย่างคุ้นปากคุ้นหูกันมาก่อน จะดีกว่า และจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งนั้นเขาสามารถเข้าใจเราได้ง่ายกว่า แทนที่จะพยายามนำเอาคำต่าง ๆ มาผูกเข้าด้วยกันเป็นการสร้างประโยคใหม่ของเราขึ้นมาเอง และถ้าเราไม่แน่จริงถึงขั้น “เซียน” แล้วก็พูดจาตามแบบอย่างของเขาไปก่อนก็จะเป็นการสะดวกหูสะดวกปากกันมากกว่า
ดังนั้น คอลัมน์นี้จะขอแนะนำประโยคหรือวลีที่ใช้คำว่า “Change” ในฐานะเป็นคำนาม เท่าที่น่ารู้ น่าใช้ ตามแบบชาวบ้านเขาต่อไปอีก เช่น
• The government plans to make important changes in the tax system. ทางรัฐบาลมีแผนการที่จะดำเนินการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเรื่องระบบการเก็บภาษีอากรไปจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
• Doctors say there is no change in the patient’s condition. หมอเขาบอกว่าอาการของผู้ป่วยยังทรงเดิม คือไม่เปลี่ยนแปลงดีขึ้นหรือแย่ลง
• Please note my change of address. โปรดจดที่อยู่ของฉันซึ่งได้เปลี่ยนใหม่แล้ว
• Finishing early is a welcome change. การทำงานได้เสร็จเร็วเป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางดี (ขอให้สังเกตคำว่า ‘Welcome change’ เป็นวลีที่ใช้สองคำ)
• Let’s stay in tonight for a change. คืนนี้เราอยู่กะบ้านไม่ออกไปไหนดีกว่า
• Can you just listen for a change? นี่เอ๊งหัดเป็นฝ่ายฟังเสียบ้างจะได้ไหมว๊ะ
• A change for the better/worse. เราใช้วลีนี้ในความหมายที่ว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น หรือเลวลงไปกว่าเดิม
• A change of heart เราใช้วลีนี้ในความหมายที่ว่า เราเปลี่ยนใจ หรือเปลี่ยนท่าทีกับใครก็ได้ หรือในเรื่องอะไรก็ย่อมได้เหมือนกัน และมักจะใช้ในความหมายที่ว่าเป็นการเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นจากเดิม
• The change of life วลีนี้มักจะหมายถึงช่วงการเปลี่ยนวัยของผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวัยที่เรียกว่า “เลือดจะไปลมจะมา” หรือวัยที่กำลังจะหมดประจำเดือน
• A change of mind เป็นวลีซึ่งมีความหมายทำนองเดียวกันกับ “A change of heart” ที่ผ่านไปแล้วข้างต้น
อนึ่งก่อนที่จะเสร็จสิ้นกันทีกับคำว่า “Change” นี้ ยังมีสำนวนของฝรั่งเขาอีกสำนวนหนึ่งซึ่งน่ารู้จัก คือคำว่า “Change horses in midstream”ซึ่งเมื่อแปลตรงตัวก็หมายความว่า “เปลี่ยนม้ากลางลำธาร” แต่เขาใช้เป็นสำนวนในประโยคเช่นว่า “You don’t change horses in midstream until you feel more secure with your overall situation.” คือ เราไม่ควรมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ๆ จนกว่าเราจะรู้สึกมั่นใจกับสถานการณ์ทั่วไปของเราอยู่เสียก่อน
คารม-คม-ระคาย (Quips & quotes)
• Satisfaction is the state of mind produced when you witness the discomfort of someone you don’t like. ความรู้สึกหนำใจนั้นเป็นสภาพของจิตใจตอนที่เราได้รู้ได้เห็นเรื่องเดือดร้อนของคนที่เราเกลียดหน้าอยู่ก่อนแล้วนั่นแหละ
• Everybody wants to talk, few want to think, and nobody wants to listen. ใคร ๆ ก็อยากจะพูด น้อยคนนักที่รู้จักที่จะคิด และหาไม่ได้หรอก คนประเภทที่อยากแต่ฟังลูกเดียว
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

No comments:

Post a Comment