สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “C” (ต่อ)
อาจเป็นได้ว่า บรรดาท่านที่ได้ตามคอลัมน์นี้เรื่อยมา โดยเฉพาะตั้งแต่เมื่อเริ่มคำว่า “Catch” นี้ ซึ่งก็เป็นหลายสัปดาห์มาแล้วนี้ คงจะเริ่มเบื่อ และอยากจะให้ไปขึ้นคำอื่น ๆ ใหม่ ๆ อย่างที่เรียกกันว่า “ซี ๆ แป๊ะ ๆ”กันบ้างได้แล้ว ซึ่งผู้เขียนเองก็พลอยเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งเช่นกัน
ตกลงครับ เอาเป็นว่ามื้อนี้เป็นสุดท้ายของคำว่า “Catch” นี้ แต่มีข้อแม้เพียงสองข้อซึ่งจะว่ากันให้จบไปในวันนี้เหมือนกัน คือ
หนึ่ง คำว่า “Catch” นี้ นักวิชาการทางด้านภาษาเขาถือว่า คำนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งคำหนึ่งของภาษาอังกฤษ กล่าวคือมีความสำคัญในแง่ที่ว่า เป็นคำที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวาง มากมาย ฟุ่มเฟือย ในความหมายแตกต่างกันได้หลายลักษณะ ถึงขนาดที่เขา (คือบรรดานักวิชาการ) จัดให้เป็นคำ “Key Word” คือเป็นคำซึ่งเปรียบได้เสมือนเป็น “กุญแจ” อันสามารถไขให้ออกไปสู่ช่องทาง หรือวัตถุประสงค์ที่จำนงหมายได้สารพัดรูปแบบ และแน่ละ ยังมีคำในภาษาอังกฤษอีกหลายคำซึ่งเขาจัดให้มีความสำคัญในฐานะเป็น “Key Word” เช่นเดียวกันนี้อีกแยะ และคงจะได้นำคำจำพวกนี้มา “ตีแผ่” กันในโอกาสหน้า ๆ ต่อไป
คำสุดท้ายของ “Catch” และเลิกแน่นอน จบสิ้นกันทีสำหรับคำนี้ ก็คือ “Catchphrase” หรือจะเขียนแยกออกเป็นสองคำไม่ติดกันก็ได้ว่า “Catch Phrase” ออกเสียงว่า “แคทช เฟรส” ซึ่งแปลว่า หรือหมายถึงว่าเป็นการใช้คำมากกว่าหนึ่งคำมาผูกเข้าด้วยกันให้เป็นวลี (คือเพียงส่วนของประโยค”) หรือให้เป็นประโยคสั้น ๆ เต็มรูปแบบทั้งประโยคก็ได้ ด้วยการประพันธ์คำพูด หรือผูกถ้อยคำขึ้นมาให้สื่อความหมายออกไปในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เพื่อประโยชน์ในทางด้านการค้า หรือการเมืองก็สุดแต่ อย่างเช่นคำว่า “The ultimate driving machine” ซึ่งเป็นคำโฆษณารถยนต์นั่งราคาแพงยี่ห้อหนึ่ง หรือคำว่า “Don’t leave home without it!” ของเครดิตการ์ดรายหนึ่ง และแม้แต่คำว่า “It’s economy, stupid.” อันเป็น “คำแคชทเฟรส” หรือคำที่มุ่งประสงค์ให้จำกันจนติดปากของนักการเมืองมะกันผู้โด่งดังท่านหนึ่ง
กล่าวกันว่าคำพูดที่ต้องการให้ติดปากชาวบ้านร้านถิ่นอย่างว่านี้ กว่าจะสรรหาถ้อยคำมา “ผูกให้ได้อย่างเหมาะเจาะ” นั้นมิใช่เรื่องง่าย ๆ เลย กล่าวกันว่า ต้องมีค่าจ้างค่าออน ถึงขนาดที่ต้องใช้เงินกันเป็นถุงเป็นถังกันเลยทีเดียว
ในบ้านเมืองไทยของเราสมัยหนึ่งเมื่อย้อนหลังไปราวสามสิบกว่าปีเศษที่แล้ว เราก็มีคำประเภทนี้ที่เรียกกันว่า “คำขวัญ” ของผู้นำประเทศในสมัยโน้น โดยมุ่งหมายที่จะอบรมสั่งสอนให้คนวัยรุ่นสมัยนั้นทำตนเป็นพลเมืองดี มีศีลธรรม อย่างเช่นคำว่า “งานคือเงิน เงินคืองาน ฯลฯ” หรือที่ว่า “จงทำดี จงทำดี”
แต่ไหง๋กลับกลายเป็นว่า มีคนหนึ่งซึ่งเพิ่งจะผ่านวัยรุ่นในยุคนั้นและกำลังมาแก่ตัวลงในยุคนี้แล้วคนนั้น แทนที่จะ “จงทำดี” อย่างที่ได้รับการสั่งสอนไว้นั้น กลับทำตัวให้ผู้คนตั้งครึ่งค่อนประเทศพากันประนามว่า เป็นคน “สุดชั่ว” ไปได้ก็ไม่รู้ซิ
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment