สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
DIRTY
คำว่า “Dirty” ซึ่งมองดูเป็นคำสั้น ๆ ง่าย ๆ และได้แนะนำไปเมื่อสัปดาห์ก่อนในการใช้คำนี้เป็นคุณศัพท์ไปบ้างแล้วนั้น และในฐานะที่เป็นคำคุณศัพท์นั้นเอง ก็ยังสามารถนำไปผันให้เป็นว่า
“Dirty” คือสกปรก, “Dirtier” สกปรกมากกว่า, และ “Dirtiest” สกปรกเป็นอย่างที่สุดได้อีกด้วย
ต่อไปนี้จะกล่าวถึงการใช้คำเดียวกันนี้ในรูปคำกริยา, คำนาม และเรื่อย (แต่ไม่เปื่อย) ไปจนถึงการใช้เป็นถ้อยคำสำนวนที่ควรเรียนรู้และทำความเข้าใจกัน เท่าที่ผู้เขียนพอมีภูมิอันพึงนำมาเสนอกันได้ในคอลัมน์นี้ด้วย
จริงอยู่เราสามารถใช้คำ “Dirty” นี้ในรูปของคำกริยา และเมื่อใช้เป็นอดีตกาลก็เป็นว่า “Dirtied” ตัวอย่างเช่น “White gloves dirty easily.” คือถุงมือสีขาวนั้นสกปรกเปรอะเปื้อนได้ง่าย ๆ (ขอให้สังเกตว่าใช้เป็น Intransitive verb) และ “Don’t dirty your new dress.” คืออย่าเอาเสื้อผ้าใหม่ ๆ ไปทำเปื้อนเสียหมดน๊ะ (ใช้เป็น Transitive verb) อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัตินั้น เขามักไม่นิยมใช้คำว่า “Dirty” นี้เป็นคำกริยาโดยตรง แต่นิยมกันที่พูดว่า “To make something dirty.” เสียละมากกว่า
ต่อไปนี้เป็นสำนวนที่ใช้คำว่า “Dirty” ที่น่ารู้จัก คือ
“A dirtbag” (= Scumbag) เป็นคำด่ากัน ซึ่งหมายถึงคนถ่อย ๆ หรือคนเฮงซวย
“Dirt cheap” = “Something is dirt cheap.” หมายถึงอะไรก็ตามที่สนนราคาถูก ๆ เปรียบเสมือนว่าถูกเป็นขี้ (ผง) อนึ่ง สำหรับคำว่า “Cheap” ซึ่งแปลว่าของถูก ๆ หรือของซื้อขายกันในราคาไม่แพงเลยนั้น เป็นคำที่แฝงความหมายไปในทางดูหมื่นดูแคลนด้วยว่าเป็นของสตึ ๆ ไม่มีคุณค่าอันน่านิยมแต่อย่างใดเลย ฉะนั้น ในบางโอกาส เราควรที่จะหันไปใช้คำว่า “Inexpensive” เสียจะดีกว่า
“Dirt road” หรือ “Dirt track” หมายถึงถนนหรือเส้นทางจราจรซึ่งยังเป็นผิวดินเดิมที่เต็มไปด้วยขี้ฝุ่นเพราะยังมิได้ทำผิวหน้าเป็นคอนกรีตหรือลาดยางไปแล้ว
“Throw dirt enough, and some will stick.” ประโยคนี้เป็นสุภาษิตฝรั่ง ซึ่งแปลตรงตัวก็เป็นว่า “เอาฝุ่นผงสาดเข้าไปให้พอแรงเถิด มันจะต้องติดตรึงที่เป้าหมายนั้นได้แน่นอน” ซึ่งความหมายนั้นเป็นว่าผู้ที่โดนใส่ความอยู่เรื่อย ๆ นั้น บางทีก็พังไปจนได้ เข้าทำนองของไทยที่ว่า “ไม่มีมูลฝอย หมาไม่ขี้”
“Wash one’s dirty linen in public.” ถ้อยคำนี้เป็นสำนวนที่ถือได้ว่าเป็นสุภาษิตฝรั่งเขา ซึ่งแปลตรงตัวก็เป็นว่า “เอาผ้าปูที่นอนหรือผ้าปูโต็ะซึ่งเปื้อนเปรอะเลอะเทอะไปซักในที่สาธารนะให้ชาวบ้านร้านถิ่นเขาเห็น” แต่ความหมายของสุภาษิตบทนี้ของเขาเข้าทำนองสุภาษิตไทยเราที่ว่า “สาวไส้ให้กากิน”
อันว่า “สาวไส้ ฯลฯ “ ของไทยเรานี้ หมายความว่า เอาความลับมาแฉเปิดเผยให้คนทั้งหลายรู้เรื่องโดยที่ตนเองไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย
“ไอ้พิเภกพูดจาว่าพ้อตัด ไปช่วยกันจับมัดมาให้ได้
จะใคร่เฆี่ยนขับทำให้หนำใจ มันมีแต่สาวไส้ให้ไพรี”
รามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ ร. 2
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment