สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “C” (ต่อ) # 12-07

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “C” (ต่อ)
วันนี้ขอแนะนำประโยคตัวอย่างซึ่งใช้คำว่า “Clear” เป็นคำคุณศัพท์ (Adjectives) กล่าวคือ
• I’m not clear about what you want me to do. ผมยังไม่เข้าใจเลยครับว่าเจ้านายต้องการให้ผมทำอะไรกันแน่
• The law is quite clear on this issue. ตัวบทกฎหมายมีระบุไว้แล้วอย่างแจ้งชัดในประเด็นนี้
• My memory is not clear on that point. ผมจำอะไรไม่สู้จะชัดเจนนักในแง่นี้
• Have I made myself clear? คุณยังไม่เข้าใจผมอยู่อีกหรือ?
• You’ll do as you are told, is that clear? เอ็งต้องทำตามที่สั่งไว้แล้วนั่นแหละ เข้าใจ๋?
• Please make sure you park your car clear of the entrance. โปรดจอดรถของคุณให้พ้นทางเข้าบ้านตรงนั้นด้วยครับ
• Wait until the road is clear of traffic before crossing. คอยให้รถผ่านไปหมดเสียก่อนแล้วจึงข้ามถนน
• We must send out a clear message to voters. เราต้องอธิบายให้บรรดาผู้มีสิทธิออกเสียงได้รู้ได้เข้าใจนโยบายของเราให้ชัดแจ้งโดยตลอด
• I can look back on things with a clear conscience. ผมสามารถคิดหวนทวนหลังได้ด้วยความรู้สึกผุดผ่องในใจของผมเอง
• The bill was passed by a clear majority. ร่างกฎหมายฉบับนั้นได้ผ่านการพิจารณาด้วยคะแนนเสียงที่เห็นด้วยอย่างลอยลำไปเลย
• My wife just called over the phone from Australia, and I could hear her voice as clear as a bell. เมียผมเพิ่งโทรมาจากออสเตรเลียเมื่อกี้นี้เอง เสียงชัดแจ๋วแหววเลย
นอกจากที่แนะนำไปแล้วข้างต้น ยังสามารถใช้คำว่า “Clear” นี้ในรูปแบบของกริยาวิเศษณ์ และอื่น ๆ ซึ่งน่าสนใจอีก ดั่งเช่น
• I can see clear down the highway into the town. ผมสามารถมองตามแนวฟรีเวย์ทะลุเลยไปเห็นตัวเมืองข้างหน้านั้นได้อย่างชัดเจนทีเดียว
• You’d better steer clear of the center of the town at this time of the evening. ในช่วงเวลาตกเย็นแล้วเช่นนี้ คุณควรเลี่ยงออกไปให้พ้นจากใจกลางตัวเมืองเสียดีกว่า (เพราะการจราจรคับคั่งมาก)
ทุกประโยคตามที่แนะนำไปแล้วข้างต้นนี้ ล้วนแต่เป็นการผูกถ้อยคำให้เป็นคำพูดในแบบฉบับที่ฝรั่งเจ้าของภาษาเขาคุ้นปากคุ้นหูกันอยู่ก่อนแล้ว เพราะฉะนั้น จึงเป็นข้อความที่น่าจดจำและนำไปใช้ตามโอกาส และกาละ เทศะ ซึ่งจะดีกว่าการที่พยายามผูกประโยคของเราขึ้นมาเอง ถึงแม้ว่าจะมีความหมายเหมือนกันก็ตามที ทั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ว่า ในฐานะที่เราเป็นคนต่างชาติต่างภาษา และเมื่อภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง ถัดไปจากภาษาแม่หรือภาษาดั่งเดิมของเรา สำเนียงของเราซึ่งอาจแปร่งไปจากของเขาเป็นพื้นฐานอยู่แล้วนั้นอาจยิ่งจะไปทำให้ผู้ฟังเขาเข้าใจเรายากยิ่งขึ้น ถ้าเราใช้คำพูดด้วยการผูกประโยคที่เขาไม่คุ้นมาก่อน นั่นเอง
คารม-คม-ระคาย (Quips & quotes)
• Don’t be afraid to ask dumb questions. They’re easier to handle than dumb mistakes. อันว่าการที่จะตั้งคำถามขึ้นมาอย่างโง่ ๆ นั้นไม่เป็นไรหรอก ยังดีกว่าการทำอะไรไปแล้วกลายเป็นเรื่องที่งี่เง่าเต่าตุ่นเป็นไหน ๆ
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

2 comments: