สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ) # 33-08

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
DOUBLE
ระหว่างทางของคำว่า “Double” ซึ่งหมายความถึงการเพิ่มอัตราขึ้นไปเป็น “สองเท่า” อยู่นี้ ก็มีท่านผู้อ่านถามมาว่า ถ้ามากกว่าสองเท่า เช่นว่า สามเท่า สิบเท่า หรือร้อยเท่า ฯลฯ แล้ว ในภาษาอังกฤษมะกันจะว่าอย่างไร?
ความจริงประการหนึ่งซึ่งเราต้องยอมรับนั้นก็คือ ภาษาของเขาร่ำรวยถ้อยคำมากกว่าของเรา และมีคำให้สามารถเลือกใช้ได้อย่างกว้างขวาง และล้ำลึก ถ้าเรารู้จักที่จะนำคำนั้น ๆ มาใช้ให้ถูกต้อง
นอกจากนั้นแล้ว ของเขามีคำจำเพาะอันเข้าลักษณะ “จับตัววางตาย” (Specific) ไม่ดิ้นได้ในความหมาย และมิหนำซ้ำ ยังมีเครื่องหมายวรรค ตอน (Punctuation) มากมายหลายรูปแบบ มาช่วยให้ภาษาเขียนของเขาง่ายต่อการตีความ เป็นการเพิ่มความชัดเจนในถ้อยคำที่เขียนขึ้นมานั้นอีกด้วยซ้ำไป
อย่างไรก็ดี ขอย้อนกลับมาแนะนำคำที่จะใช้ในกรณีที่ต้องการหมายความถึงการเพิ่มขี้นเป็นหลาย ๆ เท่า ซึ่งกล่าวได้ว่านี่ก็อีก ที่มีคำให้เลือกใช้ได้หลายแบบ และแบบที่ง่ายที่สุดก็คือใช้คำว่า “Times” ซึ่งนอกจากแปลว่า “เวลา” แล้วยังแปลว่า “เท่าหนึ่งหรือสองเท่าของจำนวนเดิม” (One time or two times as much or as many)
“The world human population has gone up 2 times the number since 1960.” และคำว่า “2 times” ในประโยคนี้นั้น ถ้าเราจะเปลี่ยนไปใช้คำว่า “Double” หรือ “Twice” ก็ได้ใจความเหมือนกัน
เหนือขึ้นไปกว่า “2 เท่า หรือ 2 หน” เมื่อเป็นสาม ก็ใช้คำว่า “Three times” หรือ “Triple” หรือ “Thrice” และถ้าขึ้นถึง “4 เท่า หรือ 4 หน” ก็ใช้คำว่า “Four times” หรือ“Quadruple”
ถ้าจำนวนเท่าหรือหนจะขึ้นสูงต่อไปอีก ความนิยมในเรื่องการใช้ถ้อยคำก็หันไปใช้ “-fold” ซึ่งเป็นคำเสริมท้าย (Suffix) และเราสามารถใช้คำเสริมท้ายนี้ต่อเข้าไปกับจำนวนตัวเลขได้ทั้งต่ำและสูง เช่นว่า ถ้าสองเท่าหรือสองหน ก็เป็นว่า “Twofold” หรือ สิบเท่า ก็เป็นว่า “Tenfold” หรือหนึ่งร้อยเท่า ก็เป็นว่า “Hundredfold” (One hundred times as much or as many) แต่ถ้ากล่าวว่า “มากมายหลายเท่าหรือหลายรูปแบบ” ก็เป็นว่า “Manifold”
หรือจะกล่าวแต่เพียงว่า “มากมายหลายเท่า หรือหลายครั้งหลายหน” โดยไม่กำหนดจำนวนครั้งหรือหนให้ชัดเจนลงไปแล้ว ก็ยังอาจเลือกใช้คำว่า “Multiple” หรือ “Multi-” ซึ่งเป็นคำเสริมหน้า (Prefix) และเป็นคำตรงข้ามกับคำว่า “คำเสริมท้าย (Suffix)” ตามที่ได้กล่าวถึงไปก่อนแล้วอีกด้วยก็ได้
“Multipurpose” = เอนกประสงค์
“Multimillionaire” = อภิมหาเศรษฐี
โอ้ย ยุ่งตายห่า ใช่แล้ว ยิ่งเรียนก็ยิ่งยุ่ง ซึ่งเป็นธรรมดาของการศึกษาวิชาการใด ๆ ก็ตาม เปรียบได้เสมือนการล่องเรือจาก ปิง วัง โยม น่าน ลงเข้าสู่เจ้าพระยา และออกปากอ่าวไทย เลยเข้าสู่ทะเลจีน และมหาสมุทรอันลึกล้ำเหลือกำหนด ฯลฯ แต่ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่ที่ความชอบของแต่ละบุคคล เข้าลักษณะ “สองคนยลตามช่อง” และตรงข้ามกับ “ท้อถอย” ก็น่าจะเป็นว่า “ท้าทาย”
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

No comments:

Post a Comment