สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
สำนวนในภาษาอังกฤษมะกันนั้น คำซึ่งน่าสนใจถัดจาก “Deal” แล้วก็น่าจะเป็น “Deep” ที่ใคร ๆ ก็ต้องร้องว่า เขารู้จักคำนี้กันมานมนานแล้วละลุง และอาจเป็นการ “เอามะพร้าวห้าวไปขายสวน” ซึ่งเป็นสำนวนไทยแท้ที่หมายความว่าไปทำซ้ำเรื่องกับที่เขามีกันอยู่อย่างเหลือใช้เหลือกินแล้ว หรือแนะนำเรื่องที่ใคร ๆ เขารู้มากกว่าแล้วก็ตามทีเถิด
แต่เดี๋ยวก่อน เดี๋ยวก่อน มาถึงตอนที่ต้องขอหยุดประเดี๋ยว กับสำนวนไทยที่เอ่ยถึงมาข้างต้นนี้ คืออย่าได้พยายามแปลเป็นภาษาอังกิดให้ฝรั่งฟังเป็นอันขาด เพราะไม่ว่าจะอธิบายให้เมื่อยปากเมื่อยมืออย่างไร ก็จะเป็นการยากที่ฝรั่งเขาจะเข้าใจสำนวนไทยนี้ได้เลย สู้ใช้สำนวนแท้ ๆ ของเขาเองที่ว่า “You carry coals to Newcastle.” แล้วเขาก็จะพยักหน้างึก ๆ ได้แทนที่จะสั้นหัวดิก ๆ แน่นอน
เอาละ คำว่า “Deep” นี้ เป็นคำคุณศัพท์ ซึ่งให้เราเริ่มรู้จักกันในประโยคง่าย ๆ ใช้กันเป็นประจำวันก่อน อาทิเช่น
“How deep is the wound?” บาดแผลนั้นลึกไหม?
“John stood with his hands deep in his pockets.” เจ้าจอห์นยืนมือสองข้างซุกอยู่ในประเป๋ากางเกง
“I have to take a deep breath before answering John’s questions.” อั๊วต้องอัดลมลงปอดอย่างหนักเสียก่อนที่อั๊วจะตอบคำถามของจอห์นมันได้
“At that popular cocktail bar early-bird revelers stand three deep talking and drinking as if there is no tomorrow.” ที่บาร์เหล้าอันเป็นที่ชื่นชอบของใครต่อใครนั้น พวกนักดื่มนักเที่ยวไปกันตั้งแต่หัววัน ยืนออกันถึงสามซ้อนคุยกัน ดื่มกัน ราวกับว่าจะไม่มีวันพรุ่งนี้กะนั้นแหละ
ประโยคหลังสุดนี้ค่อนข้างยาว และมีคำในภาษาอังกฤษที่น่าทำความรู้จักอยู่มากคำ อาทิเช่น คำว่า “Early bird” ซึ่งเป็นถ้อยคำที่ติดปากชาวมะกัน หมายถึงคนที่ชอบไปทำกิจวัตรต่าง ๆ ก่อนคนอื่น ๆ เข้าทำนองคำไทยที่ว่าไปกันตั้งแต่ไก่โห่ หรือไปกันแต่หัววันเลยทีเดียว และคำนี้ใช้ได้ทั้งเป็นคำนาม เช่น “An early bird” หรือใช้เป็นคุณศัพท์อย่างในประโยคตัวอย่างข้างต้นนั้นก็ย่อมได้
ภัตตาคารฝรั่งหลายแห่งมักเขียนประกาศว่า “Early-bird Specials” ซึ่งหมายถึงรายการอาหารจัดพิเศษและราคาย่อมเยาสำหรับลูกค้าที่มาอุดหนุนก่อนถึงเวลาอาหารตามปกติ ก็มีอยู่มิใช่น้อยแห่ง
ส่วนคำว่า “Revelers” (เรฟ’เวิลเลอร์ส) หรือทางภาษาอังกฤษดั่งเดิมเขาสะกดเป็น “Revellers” นั้น ก่อนอื่นขอให้สังเกตว่าในที่นี้มีอักษร “S” เป็นคำพหูพจน์ ก็หมายถึงพวกที่ชอบเที่ยวชอบดื่ม ชอบสนุก หรือถ้าจะตัดตัว “S” ออก ก็หมายถึงคนเดียวก็ได้
สำหรับคำว่า “three deep” ก็หมายถึงซ้อนกันถึงสามซ้อน หรือในประโยคข้างต้น ก็เป็นตามที่แปลไว้ให้แล้วว่า ยืนออกันถึงสามซ้อนอยู่หน้าบาร์เหล้านั่นเอง
นอกไปจากนั้นแล้ว ถ้าใช้คำว่า “Deep” นี้ในประโยคสั้น ๆ อย่างเช่นว่า “John is a deep one.” ก็แปลว่า จอห์นเป็นคนที่ซ่อนความรู้สึกเก่งจนใคร ๆ ก็ดูไม่ออก
อนึ่ง เราสามารถนำคำว่า “Deep” นี้มาเป็นคุณศัพท์นำหน้าคำนามในทำนองว่า ถ้ากล่าวถึงเรื่องสีว่า “Deep red” ก็หมายถึงสีแดงเข้ม หรือ “In deep trouble” ก็หมายถึงว่ากำลังมีความลำบากยุ่งยากอย่างสุดแสน เป็นต้น
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment