สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ) # 28-08

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
DO, DID, DONE
ในเรื่องภาษานั้น ไม่ว่าจะเป็นภาษาของชาติใด ๆ ก็ตาม ถ้าเรารู้จักถ้อยคำพื้น ๆ แล้วใช้ให้ถูกต้องแล้ว ย่อมทำให้ฝ่ายผู้ฟังเข้าใจเราได้ง่าย ๆ ดีกว่าที่จะพยายามไปสรรหาคำยาก ๆ มาใช้ เพราะย่อมเป็นการลำบากทั้งฝ่ายผู้ฟัง และผู้ใช้คำนั้น ๆ เองอย่างช่วยไม่ได้เลย
คำว่า “Do” และรูปอื่นคือ “Does,” “Did, & “Done” ด้วยนั้นเมื่อนำมาใช้เป็นกริยาช่วยแล้ว ยังสามารถสร้างน้ำหนักของประโยคหรือคำพูดนั้นให้เป็นการเน้นความหมายลงไปได้อีกมากด้วย
ขอให้เรามาดูประโยคทั้งสามต่อไปนี้ก่อน คือ
“I like to have fish.” ประโยคนี้เป็นประโยคบอกเล่าที่ไม่มี “Do” มาเป็น “Auxiliary verb” มีความหมายแต่เพียงว่า “ฉันชอบรับประทานปลา”
“I don’t like to have fish.” ประโยคนี้เป็นประโยคปฏิเสธซึ่งมี “Don’t” มาเป็น “Auxiliary verb” เพื่อบอกว่า “ฉันไม่ชอบรับประทานปลา”
“I do like to have fish.” แต่ประโยคนี้มี “Do” มาแทรกในหน้าที่ “Auxiliary verb” ทำให้ความหมายของประโยคเน้นหนักไปว่า “ฉันชอบรับประทานปลาเหลือเกิน หรือโปรดปรานการกินปลาเป็นอย่างที่ซู้ดเลย”

และเราใช้ “Do,” หรือ “Did” เป็นกริยาช่วยเพื่อเน้นคำพูดได้อีก เช่น
“Do shut up!” แปลว่า “อย่าได้พูดออกมาโดยเด็ดขาดทีเดียวน๊ะ (โว้ย)”
“Do say you’ll stay for supper!” แปลว่า “ต้องรับปากน๊ะว่าเธอจะอยู่ร่วมทานอาหารว่างด้วย (คือจะไปไหนไม่ได้น๊ะ)”
“She does look tired.” แปลว่า “เธอคนนั้นดูช่างอ่อนระโหยโรยแรงจริง ๆ เล้ย” อนึ่ง ขอให้สังเกตอีกด้วยว่า ตามหลักไวยากรณ์นั้นประโยคนี้มีประธานเป็นเอกพจน์ จึงต้องเติม “S” ที่กริยา หากแต่ย้าย “S” นั้นไปไว้ที่กริยาช่วยแทนที่จะอยู่ที่กริยาตัวจริง
“I did write to say thank you.” แปลว่า “ผมได้เขียนจดหมายไปแสดงความขอบคุณแล้วจริง ๆ (ให้ดิ้นตาย)”
“My dear, I do understand.” แปลว่า “เธอที่รักจ๋า ฉันเข้าใจ๊ เข้าใจจริง ๆ เข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร”
“I do love you.” ผมรักคุณจริง ๆ
“I do hate you!” อะฮั้นเกลี๊ยดเกลียดคุณ
“Preecha hasn’t been here in a while, but he does come to visit us most weekends.” แปลว่า “ปรีชาไม่ได้แวะมาเป็นเวลาโขอยู่เหมือนกัน แต่จริง ๆ แล้ว เขามาเยี่ยมเราแทบทุกสุดสัปดาห์เลย”
ทุกประโยคตัวอย่างที่ยกมาไว้ข้างต้นนี้ล้วนแต่เป็นถ้อยคำที่มีความหมายเป็นการย้ำน้ำหนักของคำพูดสั้น ๆ ทั้งสิ้น และเพื่อความเข้าใจอันดี และลึกซึ้ง ให้สามารถเข้าใจคำกล่าวของผู้อื่นได้อย่างถูกต้องและแท้จริง อีกทั้งให้สามารถนำไปใช้ได้เองด้วยความมั่นใจอีกด้วย ก็ลองย้อนไปอ่านทวนอีกสักครั้งหรือสองครั้ง จะเป็นไรมี?
มาถึงตอนนี้ ทำให้นึกถึงการใช้คำว่า “Done” หรือช่องสามของ “Do” ซึ่งก็ไม่ยาก เช่น คำกล่าวที่ว่า “It’s a done deal!” คือ “มันเป็นเรื่องที่เสร็จสิ้นเรียบร้อยโรงเรียนจีนไปแล้ว อย่ามาร่ำพิไรให้เสียเวลาต่อไปเล้ย”
งวดต่อไป จะเป็นการแนะนำการใช้คำในแบบสำนวนและสุภาษิตอันน่ารู้จักและเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง ใจเย็น ๆ ไว้ และทบทวนเรื่องที่ว่าไปแล้วข้างต้นให้ขึ้นใจไปพลาง ๆ ก่อนแล้วกัน
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

No comments:

Post a Comment