สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “C” (ต่อ) # 16-07

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “C” (ต่อ)
ขณะนี้ เรามาได้กว่าครึ่งทางของตัวอักษร “C” แล้ว และส่วนที่เหลือของการใช้คำว่า “Clear” ในรูปแบบต่าง ๆ ก็ยังเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และน่าติดตามต่อไป กล่าวคือ การใช้คำว่า “Clear-up” ในฐานะเป็นคำคุณศัพท์
เราสามารถใช้คำนี้ได้ในประโยคตัวอย่างเช่น “The metropolitan police said that clear-up figures were improved.” คือ ตำรวจนครบาลกล่าวว่าสถิติการกวาดล้างจับกุมผู้กระทำผิดได้ผลดีขึ้น และขอให้สังเกตด้วยว่าคำว่า “Clear-up” (กวาดล้าง)ในประโยคนี้ทำหน้าที่เป็นคำคุณศัพท์ซึ่งมาประกอบคำ “figures”(สถิติ) ซึ่งเป็นคำนาม
และเรายังค้างอยู่กับคำต่อไปนี้ Clearance (n), Clear-sighted (adj), Clarify (v), Clarification (n), Clarity (n) ซึ่งเราก็จะได้ว่ากันต่อไปเรื่อย ๆ กล่าวคือ
“Clearance” เมื่อใช้เป็นคำนามก็จะหมายถึง ความสูงของสะพานทั่วไปหรือสะพานลอยสำหรับคนเดินเท้าข้ามถนนโดยวัดจากระดับพื้นถนน ซึ่งในสหรัฐ ฯ จะเขียนบอกไว้เป็นจำนวนฟุต ขณะที่ทางเมืองไทยจะบอกไว้เป็นเมตร ทั้งนี้เพื่อให้เป็นที่ทราบว่า ยานพาหนะซึ่งบรรทุกเครื่องไม้เครื่องมือ หรือสิ่งอุปกรณ์ใด ๆ ซึ่งมีความสูงวัดจากระดับพื้นถนนเกินไปกว่าช่องทางนั้นแล้ว ก็จะไม่สามารถผ่านทางนั้น ๆ ได้ (A space for tall vehicles to pass under a certain bridge)
นอกจากนั้นแล้ว คำว่า “Clearance” นี้ เมื่อใช้เป็นคำนาม ยังสามารถหมายถึงการกวาดล้างสิ่งหรือสภาพใด ๆ ที่รกหูรกตา อาทิเช่น “Slum clearance” ซึ่งหมายถึงการรื้อถอนหมู่บ้านอย่างที่เรียกว่า “สลัมคลองเตย” (Knocking down slum houses) เป็นต้น
อนึ่ง คำว่า “Clearance” นี้ จะใช้เป็นคำคุณศัพท์ประกอบคำนาม ก็ได้ เช่นในความหมายที่ว่า บริษัทห้างร้านใด ๆ ประกาศล้างสต็อก ซึ่งจะใช้คำในภาษาอังกฤษว่า “Clearance sale” อย่างที่มักจะปรากฏเป็นที่คุ้นหูคุ้นตากันเป็นประจำอยู่แล้ว
ถัดไปเราก็มาถึงคำว่า “Clear-sighted” เมื่อใช้เป็นคุณศัพท์ซึ่งถ้าจะแปลตรงตัวว่า “หูตาสว่าง” ก็ยังไหว แต่โดยแท้แล้วหมายถึงสภาพที่สามารถคิดและเข้าใจเรื่องได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ซึ่งเราจะนำไปใช้สร้างประโยคได้ เช่นว่า “With additional information we are now able to make a clear-sighted decision to take further steps in the right direction.”
และมื้อนี้ สุภาษิตหรือสำนวนโวหารเปรียบเทียบระหว่างผรั่งกับไทยที่น่าเรียนรู้และจดจำก็มีอีกสำนวนหนึ่งซึ่งทางฝรั่งเขาว่า “Carry coals to Newcastle.” ทั้งนี้คำว่า Newcastle นั้นหมายถึงชื่อเมืองในประเทศอังกฤษซึ่งขึ้นชื่อลือชาว่าเป็นแหล่งถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดของประเทศเขา สำนวนนี้น่าจะเทียบได้กับของไทยเราที่ว่า “เอามะพร้าวห้าวไปขายสวน” ก็พอไหว
คารม-คม-ระคาย (Quips & Quotes)
• Old age is the most unexpected of all the things that happen to a man. อันว่าความเป็นผู้เฒ่าเล่าชรานั้นไม่มีชายอกสามศอกคนไหนคิดว่าจะเกิดขึ้นกับเขาหรอก
• Well-timed silence hath more eloquence than speech. อาการนิ่งเฉยนั้นถ้ากระทำที่ต้องด้วยกาลเวลาย่อมจะซึ้งตรึงใจเสียยิ่งกว่าคำพูดใด ๆ เสียด้วยซ้ำ
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

No comments:

Post a Comment