สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D”
มีกวีท่านหนึ่ง จะเป็นใครหรือมีนามกรว่าอะไรนั้น ผู้เขียนจำไม่ได้ เพราะนมนานกาเลเหลือเกินแล้ว จำได้แต่เพียงว่า เขาได้กล่าวเปรียบเทียบไว้ว่า การขึ้นศักราชใหม่นั้น เสมือนการเปิดหน้าใหม่ หรือขึ้นหน้าใหม่ในบันทึกชีวิตของคนเรา และอะไรที่เป็นของใหม่ ย่อมให้ความรู้สึกดี ๆ แก่ผู้ที่เป็นเจ้าของสิ่งนั้น ส่วนจะสามารถรักษาความรู้สึกกันดีเช่นนั้นไว้ได้ยืนนานสักเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับความสามารถและดวงชะตาของเขาผู้นั้นโดยแท้นั่นแล
อักษร “D” เป็นอักษรตัวที่สี่ในจำนวนสระและพยันชนะภาษาอังกฤษซึ่งมีรวมกันทั้งสิ้นนับได้ถึง 26 ตัว และก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่รายการแนะนำสำนวนภาษาอังกฤษแบบมะกันในหมวดตัวอักษรตัว “D” นี้ ก็ใคร่จะอุ่นเครื่องด้วยเรื่องของการบ่งชัดว่าอักษรตัวไหนนั้นก็อะไรกันแน่ ดั่งเช่นในแบบไทย ๆ ของเรา ก็เข้าทำนองที่ว่า “ก” ไก่ “ข” ไข่ “ค” ควาย ฯลฯ
ทางด้านของฝรั่งเขาก็มีอะไรในทำนองนี้เหมือนกัน และเป็นเรื่องที่จำเป็นเมื่อเราต้องการที่จะบอกอีกฝ่ายหนึ่งให้เขียนอักษรตัวต่าง ๆ ซึ่งประกอบเป็นชื่อหรือนามเฉพาะ (Proper nouns) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพูดกันทางโทรศัพท์ แต่ผู้เขียนเองยังไม่เคยทราบว่ามีการสะกดตัวอักษรเป็นที่ยอมรับอย่างตายตัวและแพร่หลายทั่วไปเป็นที่ยอมรับกันทุกวงการเหมือนอย่างในภาษาไทยเราที่ว่า ก ก็คือ ก ไก่ ข ก็คือ ข ไข่ เว้นแต่ในวงการบริษัทสายการบินแต่ละสาย ซึ่งก็ยังเป็นเรื่องของสายใครก็สายมันอยู่ดี
หมายความว่า สายการบินของมะกัน ก็คงจะสะกดตัวอักษรกันไม่เหมือนสายการบินของอังกฤษ หรือสายการบินญี่ปุ่น ฯลฯ
แล้วอีตานี้ เราจะยึดถือหลักอะไร หรือวิธีการใด มาใช้สำหรับสะกดตัวอักษรกันเมื่อมีความจำเป็นต้องบอกกล่าวกันทางโทรศัพท์เพื่อป้องกันการสะกดตัวอักษรต่าง ๆ ในชื่อนั้น ๆ ไปอย่างผิด ๆ
คำตอบก็คงจะเป็นว่า ท่านจะเลือกใช้ถ้อยคำใด ๆ ก็ได้ ที่ฟังดูแล้วจะช่วยให้สามารถเข้าใจได้อย่างชัดเจนที่สุด และยากที่จะเข้าใจไปเป็นอย่างอื่นใด อาทิเช่น คำว่า “A” ก็บอกว่า “As in the word “Apple;” “B” as in “Banana;” “C” as in “Charlie;” “D” as in “Doctor;” “E” as in “Easy;” “F” as in “Funny;” “G” as in “George;” “H” as in “Harry;” “I” as in “Ice Cream;” “J” as in “Jimmy;” “K” as in “King;” “L” as in “Love;” “M” as in “Money;” “N” as in “Nancy;” “O” as in “October;” “P” as in “Peter;” “Q” as in “Queen;” “R” as in “Roger;” “S” as in “Sugar;” “T” as in “Tommy;” “U” as in “Uncle;” “V” as in “Victory;” “W” as in “William;” “X” as in “X-ray;” “Y” as in “Youngster;” “Z” as in “Zebra.”
จากตัวอย่างที่ได้แนะนำมาข้างต้นนี้ ท่านจะสังเกตเห็นได้ว่า ส่วนมากใช้ถ้อยคำซึ่งมีสองพยางค์ แทนที่จะใช้คำที่มีเพียงพยางค์เดียว และเนื่องจากการที่ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวบังคับอยู่ว่าจะต้องใช้คำนี้ หรือคำนั้น มายึดถืออย่างที่จะใช้ถ้อยคำอื่น ๆ ไม่ได้ ฉะนั้น ถ้าหากว่าท่านผู้ใดเห็นว่าเป็นการท้าทายที่จะนำถ้อยคำอื่น ๆ มาใช้แล้วจะดีกว่า ท่านจะย่อมทำได้โดยไม่ผิดกฏิกาแต่อย่างใดทั้งสิ้น
หมดเนื้อที่คอลัมน์ในมื้อนี้เสียแล้ว ต้องขอผลัดไปเริ่มแนะนำสำนวนมะกันในอักษร “D” ในสัปดาห์หน้าก็แล้วกัน
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข
No comments:
Post a Comment