สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ) # 12-08

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
“Anyone who keeps the ability to see beauty is never old.” ผู้ใดที่ยังสามารถเข้าถึงและซึ้งใจกับสิ่งที่สวยสดงดงามรอบตัวของเขาได้นั้น จะไม่มีวันแก่ชราลงไปได้เลย
สัปดาห์ที่แล้ว เราได้กล่าวถึงคำว่า “Deal or no deal” ซึ่งเป็นคำพูดย่อ ๆ จากประโยคเต็มว่า “Is it a deal, or no deal?” ในภาษาไทยก็เป็นคำถามว่า “อย่างนี้จะเอาหรือจะไม่เอา” เพื่อต้องการที่จะเร่งรัดให้อีกฝ่ายหนึ่งหรือฝ่ายตรงข้ามรีบตัดสินใจว่าจะเลือกเอาสิ่งใดหรือจะเดินทางไปทางซ้ายหรือขวานั่นเอง
ขอให้สังเกตว่า คำ “Deal” ที่กล่าวมาข้างต้นนี้นั้น ในทางไวยากรณ์ถือว่าเป็นคำนาม และในภาษาพูดของมะกันนั้น มีคำกล่าวซึ่งใช้คำว่า “Deal” นี้กันอย่างคุ้นหู เช่นว่า
“Big deal” คำกล่าวเช่นนี้มีความหมายเป็นการแดกดันหรือพูดประชดว่าสิ่งนั้นหรือเรื่องนั้น ๆ มีความหมายอันเป็นบุญคุณที่ท่วมท้นยิ่งใหญ่อะไรทำนองนั้น แต่ในความรู้สึกที่แท้จริงนั้นกลับเป็นไปในทางตรงข้าม คือไม่ซาบซึ้งประทับใจอั๊วแต่อย่างใดเลย (I am not impressed.) เช่นกล่าวว่า
“Yeah, we are getting a wage increase of $ 200 a year, before tax. Big deal!” โว้ย พวกเราได้ขึ้นค่าแรงตั้งปีละ 200 เหรียญก่อนหักภาษีแน่ะ เฮงจริง ๆ เล้ย
“Make the best out of a bad deal” ถ้อยคำนี้เป็นสำนวนที่ใช้ได้ในความหมายว่า อะไรที่ได้มาอย่างเสียเปรียบเขาไปแล้ว ก็ต้องก้มหน้าสู้ต่อไปในทางที่เสียหายหรือเดือดร้อนน้อยที่สุดให้ได้
“Make the best out of a bad deal” นี้จะใช้เป็นสำนวนปลอบใจตัวเองสำหรับสาวเจ้าที่เพิ่งมารู้นิสัยอันแท้จริงของเจ้าหนุ่ม หลังจากที่ได้ “ตกล่องปล่องชิ้น” ไปเรียบร้อยโรงเรียนจีน จะถอยหลังก็มิใช่เรื่องง่าย ๆ เพราะได้ปล่อยให้เขาถลำลึกเข้าไปเสียแล้ว ต้องคิดเสียว่าเป็นกรรมและก้มหน้า “น้ำตาเข็ดหัวเข่าต่อไป” (วันนี้นำสำนวนไทยโบราณมาฟื้นฟูเล่น ๆ ไปอย่างนั้นเอง เพราะเป็นคำพูดที่เลิกใช้ และความหมายที่เลิกปฏิบัติกันนานแสนนานแล้วด้วยซ้ำไป)
อนึ่ง เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เราได้กล่าวถึงสำนวนที่ว่า “Square deal” หรือจะใช้คำว่า “Fair deal” ก็ได้ ซึ่งหมายถึงการที่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องอะไรก็ตามที่เราได้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งสำนวนที่ตรงข้ามนั้นก็เป็นว่า “Raw deal” หรือ “Rough Deal” เช่นในประโยคว่า “Somsak lost his job for being late once. He got a pretty raw deal.” คือตาสมศักดิ์โดนให้ออกจากงานเพราะไปสายเพียงแค่หนเดียว ออกจะไม่เป็นธรรมอยู่สักหน่อยเหมือนกัน
ถัดจากคำว่า “Deal” เราก็มีคำว่า “Dealer/Dealership” ซึ่งหมายถึงพ่อค้า หรือ ผู้ที่ทำการค้าเป็นอาชีพ และในภาษาอังกฤษและภาษามะกันนั้น ยังมีคำว่า “Merchant,” “Trader,” “Tradesman,” “Tradeswoman” และ “Vendor” ซึ่งล้วนแต่หมายถึงผู้ที่มีอาชีพเป็นคนค้าขายหรือพ่อค้าแม่ค้าทั้งสิ้น
ส่วนที่จะมาให้คำจำกัดความภาษาอังกฤษต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ว่าคำใดจะใช้ในโอกาสไหนนั้น เป็นเรื่องยาก เพราะขึ้นอยู่กับการใช้ภาษาในแต่ละวงการของเขาประการหนึ่ง และเนื้อที่รวมทั้งวัตถุประสงค์ของคอลัมน์นี้ไม่อำนวยให้ด้วยซ้ำไป เป็นอีกประการหนึ่ง แล
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

No comments:

Post a Comment