สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ) # 18-08

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
DIRECT
ตั้งแต่ต้นปีนี้เรื่อยมา เราได้เริ่มแนะนำคำต่าง ๆ ในหมวดอักษร “D” จากคำว่า “Damn,” “Dare,” “Dead & Die,” “Deal,” “Deep,” จนถึงคำว่า “Dig” และวันนี้เราก็จะเดินหน้ากันต่อไปด้วยคำว่า “Direct” ซึ่งเป็นคำที่ใช้กันมากอีกคำหนึ่งในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งที่มีความหมายเป็นธรรมดา และที่เป็นสำนวนในชีวิตประจำวันเมื่อเราเจรจาต๊ะอ้วยกันทั้งในภาษาอังกฤษดั้งเดิมและแบบมะกันซึ่งกำลังนิยมกันมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ในปัจจุบันนี้
และโดยที่เราจำเป็นต้องยึดถือหลักการไว้เสมอไม่ว่าเราจะคิดหรือจะมีการกระทำด้วยประการใดก็ตาม ดังนั้นเราต้องพูดถึงเรื่องไวยากรณ์อันน่าเบื่อหน่ายนั้นกันบ้างเล็กน้อยเหมือนกัน
คอลัมน์นี้จะว่ากันถึงการใช้คำ “Direct” ในรูปของคำคุณศัพท์ก็ดี ในคำกริยาก็ดี ฯลฯ เรื่อยไปจนถึงการเสริมคำออกไปแบบคำข้างเคียง (Derivatives) อย่างเช่น “Directly” ซึ่งในทางไวยากรณ์ถือว่าเป็นคำกริยาวิเศษณ์ และคำในรูปอื่น ๆ เช่น Directness, Direction, Directive, Director, Directorate, Directory, etc. เท่าที่เห็นว่าจะเป็นคุณประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านทั้งหลายที่สนใจติดตามเรื่อยมาอีกด้วย
เริ่มด้วยการใช้คำ “Direct” ในรูปของคำคุณศัพท์ซึ่งใช้บ่อยที่สุดใช้ชีวิตประจำวันนั้น ในทางไวยากรณ์เขายังแบ่งออกไปอีกเป็นสองลักษณะคือ “Attributive adjective” และ “Predicative adjective” (เริ่มปวดหมองแล้วซิ)
“Attributive adjective” คือการใช้คำคุณศัพท์นั้นนำหน้าคำนามโดยตรง เช่น “A beautiful girl” ณ ที่นี้คำว่า “Beautiful” เป็น “Attributive adjective” เพราะนำอยู่หน้าคำว่า “Girl” ซึ่งเป็นคำนาม
ส่วน “Predicative adjective” เป็นการใช้คำคุณศัพท์ตามหลังคำกริยา อย่างเช่น “That girl is beautiful.”
ในภาษาอังกฤษหรือมะกันนั้น คำคุณศัพท์บางคำสามารถใช้ได้ทั้งสองรูปแบบอย่างคำว่า “Beautiful” ตามที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น แต่ยังมีคำคุณศัพท์อีกมากที่โคนจำกัดการใช้ไว้ว่า ให้อยู่ในรูปแบบหนึ่งแบบใดเท่านั้นเอง
ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคุณศัพท์คำหนึ่ง ๆ นั้นจะต้องใช้ในรูปแบบไหน คำตอบก็คือ สำหรับคนที่เขาเกิดมาในภาษามะกัน เขาย่อมรู้ได้เพราะความเคยชินกับภาษาของเขามาตั้งแต่อ้อนแต่ออก และเขาย่อมจะรู้สึกผิดหูทันที ถ้าเราใช้ถ้อยคำของเขาอย่างไม่ถูกต้อง
แต่สำหรับเรา ๆ ซึ่งถือว่าภาษามะกันเป็นภาษาที่สอง (English as a second language - ESL) หรือที่สามแล้ว ต้องขึ้นอยู่กับชั่วโมงการบินในการใช้ภาษามะกันมายาวนานมากแค่ใดเป็นเบื้องต้น ถัดไปก็ย่อมจำต้องค้นคว้าหาความรู้ประกับตนด้วยการดูพจนานุกรมชนิดอธิบายคำในภาษามะกันเป็นมะกันด้วยกันฉบับที่ค่อนข้างดีหรือเล่มใหญ่สักหน่อย เขาก็จะมีบอกไว้ให้อย่างแจ่มแจ้งเลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าสามารถหาชนิดที่เขาเขียนบอกไว้ว่าเป็น “Advanced Learner’s Dictionary” เล่มตั้งโต๊ะขนาดกระทัดรัดได้ด้วย ก็จะยิ่งดีมากเลยทีเดียว
วันนี้หมดเวลาไปด้วยการกล่าวถึงหลักไวยากรณ์เสียมากมายซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น สำหรับการศึกษาภาษาอังกฤษอเมริกัน เพราะของเขามีกฎเกณฑ์ค่อนข้างมาก และละเอียดอ่อนกว่าทางภาษาไทยของเราโขทีเดียว จึงต้องรอไว้สัปดาห์หน้าสำหรับคำว่า “Direct” นี้ต่อไป
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

No comments:

Post a Comment