สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “C” (ต่อ)
ที่เรียกกันว่า “สำนวนอเมริกัน” ซึ่งตามความเป็นจริงย่อมหมายถึงสำนวนในภาษาอังกฤษแบบอเมริกันนั่นเอง และเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องมีการศึกษาค้นคว้าในทางภาษาอย่างกว้างขวางและลึกซึ้งกันจริง ๆ หรือเท่าที่พีงกระทำได้เป็นอย่างน้อย ๆ
เรื่องของสำนวนซึ่งเป็นคำพูดของมนุษย์ที่สืบเนื่องกันมาตั้งแต่โบราณดึกดำบรรพ์และเกิดขึ้นมาตามยุคตามสมัยที่เหตุการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา และเราก็พอจะอนุมานได้ว่าคงจะคล้ายคลึงกันแทบทุกชาติในประเด็นที่ว่า แต่ละชาติย่อมมีสำนวนพูดในเชิงเปรียบ เชิงเทียบ เชิงเปรย เชิงกระทบและประชดประชัน และมีคำพังเพย ฯลฯ จนเป็นที่นิยมกันถึงขั้นติดปาก และสามารถเข้าใจกันเองได้ในสังคมของคนเชื้อชาติผู้เป็นเจ้าของภาษานั้น ๆ โดยเฉพาะเท่านั้น ไม่เผื่อแผ่ไปถึงคนชาติอื่นภาษาอื่นผู้ที่ต้องเป็นงง เพราะไม่สามารถเข้าใจได้เมื่อเพิ่งจะได้ยินได้ฟังในครั้งแรก ๆ
ขอให้เราวิสัชนาในเรื่องของคำว่า “สำนวน” ไว้เพียงแค่นี้ก่อน และให้เรามาว่ากันต่อไปเฉพาะสำนวนที่เกี่ยวข้องอยู่กับคำว่า “ไก่” และ “ไข่ไก่” ตามที่ได้เริ่มต้นไปในสัปดาห์ที่แล้วนั้น โดยให้เรามาทำความรู้จักกับสำนวนต่าง ๆ ของฝรั่งอังกฤษเขาด้วยการเริ่มต้นด้วยประโยคเช่นว่า
“An egg today is better than a hen tomorrow.” ซึ่งเมื่อแปลกันตรง ๆ ตัวก็หมายความว่า “คว้าไข่ไว้ก่อนในวันนี้ย่อมดีกว่าหวังจะได้ตัวไก่ในวันพรุ่ง” ความหมายของเขาสำนวนนี้ก็พอจะนำมาเปรียบเทียบได้ใกล้เคียงกับสำนวนไทยของเราดังที่ว่า “สิบเบี้ยใกล้มือ” คืออะไรที่เห็นว่าได้อยู่แจ้ง ๆ ชัด ๆ ก็น่าจะฉวยเอาไว้ก่อนดีกว่าการที่จะไป “หมายน้ำบ่อหน้า” ทำนองนั้น
“Don’t count chickens before they are hatched.” แปลว่า “อย่าด่วนนับจำนวนไก่ว่าจะมีสักกี่ตัวก่อนที่มันจะฟักตัวออกมาจากไข่ได้เป็นตัวแล้วจริง ๆ ก่อน” สำนวนนี้ของฝรั่งเขาก็ดูจะใกล้เคียงกับสำนวนไทยของเราที่ว่า “ไม่เห็นน้ำตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอกโก่งหน้าไม้” ซึ่งหมายความว่า อย่าด่วนทำล่วงหน้าไปก่อนโดยที่ยังไม่มีอะไรแน่นอน เปรียบได้กับการเดินป่า ยังไม่รู้ว่าไปข้างหน้าจะพบน้ำหรือไม่ ก็ตัดไม้ไผ่ทำกระบอกเตรียมไว้ซึ่งย่อมต้องแบกหามไปให้ลำบากลำบน ถ้าเดินต่อไปแล้วไม่พบน้ำก็แยกกระบอกไปเหนื่อยเปล่า และรวมไปถึงด้วยว่าถ้าโก่งหน้าไม้ไว้ล่วงหน้านาน ๆ ก็เสียกำลังไปเปล่า ๆ
และก็ยังมีสำนวนของฝรั่งเขาที่เกี่ยวกับไก่อีกประโยคหนึ่งว่า
“Chickens come home to roost.” ซึ่งเมื่อแปลกันตรง ๆ ก็ได้ความแต่เพียงว่า “ไก่มันย้อนกลับมาเกาะอยู่บนราว” และฟังกันแบบไทย ๆ เราก็ออกจะเป็นเรื่องธรรมดาสามัญอันมิได้ผิดแปลกไปจากธรรมชาติของไก่เท่าใดนักเลย แต่ประโยคนี้ฝรั่งเขาหมายความว่า “เป็นกรรมตามสนอง” ซึ่งดูเสมือนจะใกล้เคียงกับสำนวนของฝรั่งเขาอีกสำนวนหนึ่งที่ว่า “What goes around comes around.” หรือ “กงเกวียนกำเกวียน” คือผู้ที่กระทำกรรมใดไว้ ย่อมได้รับผลของกรรมนั้นหมุนเวียนกันไปนั่นแหละ
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment