สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “C” (ต่อ) # 11-07

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “C” (ต่อ)
หลักไวยากรณ์อังกฤษนั้น เป็นเรื่องที่ร่ำเรียนกันไปแล้ว แต่บางทีเราก็ลืม เข้าทำนอง “ได้หน้าแล้วลืมหลัง” ดังนั้นถ้าเราจะทบทวนกันสักนิดหน่อยในเรื่องของ “Intransitive verbs” และ “Transitive verbs” ก็น่าจะดีเหมือนกัน
กล่าวคือ “Intransitive verbs” นั้น เราหมายถึงคำกริยาที่ไม่จำต้องมีกรรม (Objects) มารองรับ อย่างเช่น “I tried to run.” ผมพยายามวิ่ง Or “That girl looks gorgeous.” สาวผู้นี้สวยเหลือหลาย ส่วน “Transitive verbs” นั้นเป็นคำกริยาที่ต้องมีกรรม (Objects) มาต่อท้าย อย่างเช่น “Let us clear the table.” คือ “มาช่วยกันเก็บกวาดทำความสะอาดโต๊ะกันหน่อย” และในที่นี่คำว่า “Table” ทำหน้าที่เป็นกรรม
ประโยคต่อไปนี้จะเป็นการใช้คำกริยาคำว่า “Clear”ในแบบที่ต้องมีกรรมมารองรับ เพื่อใช้ประโยชน์ในการศึกษาต่อไป กล่าวคือ
• As a shipping clerk, my job is to clear goods through customs. ในฐานะพนักงานออกของท่าเรือ หน้าที่ของผมคือจัดการนำสินค้าผ่านด่านภาษีศุลกากรให้เป็นที่เรียบร้อย
• Your baggage has cleared customs. กระเป๋าเดินทางของคุณผ่านด่านภาษีเรียบร้อยแล้ว
• That young horse cleared the fence easily. เจ้าม้าหนุ่มตัวนั้นสามารถกระโดดข้ามรั้วได้อย่างสบายบื๋อ
• After the bomb warning, the police hastened to clear the streets as a security measure. เมื่อทราบข่าวการวางระเบิด เจ้าหน้าที่ตำรวจก็รีบจัดการห้ามยวดยานพาหนะและผู้คนมิให้ใช้ถนน เพื่อความปลอดภัย
• We had a big birthday party last night, but today we spent the whole morning clearing garbage from the front yard. เมื่อคืนวานนี้เรามีงานฉลองวันเกิดใหญ่โต แต่แล้ววันนี้ก็ต้องเก็บกวาดขยะหน้าบ้านกันทั้งเช้าเลยกว่าจะสะอาดเรียบร้อยลงได้
• The jury cleared Johnson of the murder charge. คณะลูกขุนที่ศาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่านายจอห์นไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหาในคดีฆ่าคนตายนั้นแต่อย่างใดเลย
• Sometimes I have to clear my throat before I speak in front of the audience. บางครั้งผมต้องกระแอ้มกระไอก่อนที่จะเริ่มต้นพูดอะไรต่อหน้าผู้ดูผู้ฟังเสมอ
• A frank discussion can help to clear the air. การพูดจาหารือกันอย่างตรงไปตรงมาสามารถช่วยขจัดเรื่องที่เคลือบแคลงระแวงกันใด ๆ ที่อาจมีอยู่ให้หมดสิ้นไปได้ ในข้อนี้คำว่า “To clear the air” ถ้าแปลกันตรงตัวก็หมายความว่า “ถ่ายเทอากาศเสียออกไป” แต่สามารถใช้เป็นสำนวนที่มีความหมายในทำนองที่กล่าวมาข้างต้นนี้ก็ได้
คารม-คม-ระคาย (Quips & quotes)
• High society is that which some people are born in, others are taken in, but most folks pay to get in. ในเรื่องของสังคมคนชั้นสูงหรือที่เรียกว่า “ไฮโซ” นั้น บางคนก็จุติไปเกิดอยู่ในนั้นตั้งแต่อ้อนแต่ออกแล้ว และก็มีพวกที่เข้าไปได้เพราะมีคนเขาจูงเข้าไป แต่ส่วนใหญ่ในสังคมนั้นมักจะเป็นพวกเจ้าบุญทุ่มถมทางเข้าไปเองเสียล่ะ มากกว่า
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

No comments:

Post a Comment