สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “D” (ต่อ)
DONE
ด้วยคำว่า “Done” ในมื้อนี้ ก็เป็นอันว่าเราได้มาถึงปลายทางของคำว่า “Do” แล้ว เพราะเราได้ว่ากันไปแล้วพอสมควรและเพื่อมิให้เป็นเรื่องเกินพอดี ดังนั้นจึงใช้คำว่า “Done” ซึ่งนอกจากจะเป็นช่องที่สามของ “Do” แล้ว ยังใช้ได้ในความหมายและรูปแบบต่าง ๆ อีกโขทีเดียว เช่นว่า
“I’ll give you $ 500 for the car.” คือผมขอเสนอราคา 500 เหรียญสำหรับรถคันนี้ ซึ่งหมายความว่าขอซื้อรถในราคาดังกล่าว และถ้าหากว่าเจ้าของรถเขาตอบว่า “Done” ก็แปลว่า “ตกลง” หรือโอเคนั่นเอง ฉะนั้น คำนี้ก็น่าจดจำไว้ใช้ในกรณีที่มีการต่อรองราคาซื้อขายระหว่างกัน แต่ถ้าเราเป็นฝ่ายเจ้าของรถและต้องการขอราคาเพิ่มขึ้นไปอีก ก็อาจตอบไปว่า “Give me one hundred more, and the car is yours.” คือขอเพิ่มให้ผมอีกหนึ่งร้อย แล้วรถคันนี้ก็เป็นของคุณเลย และขอให้สังเกตว่าประโยคนี้ไม่ต้องมีคำว่า “ดอลล่าร์” ก็เป็นที่เข้าใจและใช้ได้เสมอ
“The fish is not quite done yet.” เราใช้คำว่า “Done” ในเรื่องของการหุงต้มหรือประกอบอาหาร และประโยคนี้ก็หมายความว่า ปลาจานนี้หรือปลาตัวนี้ยังไม่สุกพอเลย
“Smoking is this room is not done.” คือ “เขาห้ามสูบบุหรี่ในห้องนี้” ขอให้สังเกตว่าเป็นการสร้างประโยคที่ใช้คำว่า “Is not done” ในความหมายที่ถือว่าสุภาพและนุ่มนวลมากกว่าการที่จะพูดว่า “No smoking in this room !”
ถ้อยคำซึ่งใช้ “Do” พูดกันอยู่เป็นประจำวันก็มีดังต่อไปนี้
“I’ll do what I can to help.” คือถ้ามีอะไรซึ่งผมช่วยได้ ผมก็จะทำให้
“Are you doing anything tomorrow evening?” คือถามว่าพรุ่งนี้ตอนหัวค่ำคุณว่างหรือเปล่า? (ในความหมายเข้าทำนองอยากชวนเค้าออกเที่ยว)
“Sorry, there is nothing we can do.” คือเราเสียใจที่ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรท่านได้
“How are you doing?” เป็นประโยคซึ่งชาวมะกันชอบใช้ในการปฏิสันถารหรือทักทายปราศรัยกัน ซึ่งบางคนพูดแต่เพียงว่า “How are you?” ก็ได้เช่นกัน
“Nothing doing” แปลว่า ไม่มีทาง ถ้อยคำนี้จะใช้ได้ในความหมายทำนองเช่นเมื่อมีคนถามว่า “Can you lend me ten dollars?”
“That will do.” แปลว่า พอแล้ว หรือพอกันเสียทีแล้ว หรือมากไปแล้ว ใช้ในความหมายเช่นพวกเด็ก ๆ เล่นกันเอะอะ อึกทึก รำคาญหู “That will do, children -- you’re getting far too noisy.”
“Do away with” แปลว่าเลิกล้ม หรือยกเลิก (Abolish) ใช้ในความหมายเช่นว่า “Some people think it’s time we did away with monarchy.” คือมีคนบางพวกเขาคิดว่ามันถึงเวลาที่จะต้องเลิกล้มระบบราชาธิปไตยได้แล้ว
“Do’s and don’ts” (ออกเสียงว่า “ดูสสส์” แอนด์ ด้อนสสส์) แปลว่าข้อพึงปฏิบัติและละเว้น เช่น “If you want to lose weight, here are some do’s and don’ts. คือถ้าเธออยากที่จะลดน้ำหนักตัวลงละก็ มีข้ออันพึงปฏิบัติและละเว้นดังนี้คือ……”
ก็หยั่งที่เคยกล่าวไว้แล้วว่า เรื่องการเรียนภาษานั้น เป็นเรื่องต้องจดจำเสียเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นควรจะถือว่าเป็นเรื่องบริหารสมองไปด้วยในตัวเพื่อป้องกันโรคสมองฝ่อ (Alzheimer’s disease) อันน่ากลัวซึ่งกำลังระบาดอย่างกว้างขวางมากขึ้นทุกวี่ทุกวันก็จะเป็นไรไปน๊ะ
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment