สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “C” (ต่อ) # 32-06

สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “C” (ต่อ)
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้ขึ้นต้นวลีในสำนวนนี้ว่า “Catch-as-catch-can” ซึ่งขอให้สังเกตว่า วลีอังกฤษนี้เมื่อเขียนลงไปเป็นตัวอักษรต้องมีเครื่องหมายขีดระหว่างคำให้เชื่อมติดต่อกัน ตามแบบอย่างของเขาผู้เป็นเจ้าของภาษา และที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าวลีนี้มักใช้เป็นวลีคุณศัพท์ประเภทนำหน้าคำนาม และอีกประการหนึ่ง เมื่อกี้นี้ได้ใช้คำว่า “สังเกต” นั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 และ พ.ศ. 2542 ได้บัญญัติไว้ว่าไม่ต้องใส่สระ “อุ” เหมือนเมื่อแต่ก่อนร่อนตะไรสมัยดึกดำบรรพ์โน้น ดังนั้น บรรดานักเขียนผู้ที่เขียนเพราะอยากเขียนทั้งหลายควรจะรับทราบไว้ด้วย
เอาละ “Catch-as-catch-can” แปลว่า “คว้าอะไรได้ก็ใช้แก้ขัดไปก่อนเพื่อให้เรื่องซึ่งกำลังทำติดพันอยู่นั้นได้สำเร็จลุล่วงด้วยดีต่อไป” วันนี้ขอเพิ่มประโยคตัวอย่างมาอีกสองประโยคเพื่อให้สามารถเข้าใจความหมายและวิธีการใช้สำนวนนี้ได้ถนัดมากยิ่งขึ้น ดังกล่าวต่อไปนี้คือ
“On moving day everything is packed and we eat meals catch-as-catch-can.” คือ ในวันที่เราย้ายบ้านนั้น ข้าวของต่าง ๆ ก็จัดเข้าหีบห่อไปหมดสิ้นแล้ว เราเลยต้องกินอยู่กันแบบว่าคว้าอะไรใส่ปากได้ก็ต้องเอาไปก่อน และสำนวนนี้มาต่อท้ายประโยคในฐานะเป็นกริยาวิเศษณ์
“Politics is rather a catch-as-catch-can business.” คือ การเมืองเป็นเรื่องค่อนข้างจะไร้หลักเกณฑ์ ปราศจากหลักการ ทางใดได้เปรียบต่างก็หันไปเล่นทางนั้นกัน (อย่างน่าไม่อาย) ขอให้สังเกตอีกนิดด้วยที่คำว่า “Politics” นั้นทั้ง ๆ ที่มี “s” แต่ฝรั่งเขาให้คำนี้เป็นคำเอกพจน์เสมอไป และสำนวนนี้มาใช้ในฐานะเป็นคำคุณศัพท์ขยายคำนาม

ลำดับต่อไปเราก็มาถึงคำว่า “Catchup” หรือที่ชาวมะกันชอบพูดและเขียนให้เพี้ยนไปว่า “Ketchup” นี้ ในพจนานุกรมฉบับมติชนพิมพ์ครั้งแรก 2547 หมวดอักษร “ค” ตรงคำว่า “แค็ตชัป” ให้คำชี้แจงไว้ว่า เป็นคำนามซึ่งหมายถึง “ซอสมะเขือเทศ” ดั่งที่ใคร ๆ เขาก็รู้จักกันอยู่แล้วทั้งนั้น และผู้อ่านคงบอกว่า “ใคร ๆ เขาก็รู้กันอยู่แล้วทั้งนั้นแหละลุง” แต่นำมาเขียนใส่ไว้ ณ ที่นี้ด้วย แล้วใครจะมาทำไม 555
“Catch 22” (ขอให้ออกเสียงว่า “แคทช ทะเวนตี้ ทู” เสมอไป) คำนี้มีประวัติมาว่าเพิ่งได้กลายเป็นที่รู้จักและได้รับคำนิยมกันเพราะเป็นชื่อหนังสือนวนิยายยอดนิยมของฝรั่งคนหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องในสงครามโลกครั้งที่สอง คือประมาณ 60 ปีที่แล้วนี่เอง โดยที่คำนี้หมายถึงการที่ต้องตกเข้าไปอยู่ในสถานการณ์อับจน ไม่มีทางออก จะหันไปทางนี้ก็ตัน หันไปทางโน้นก็ตัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหมายถึงสภาพการอันติดขัดซึ่งเกิดจากการขาดคุณสมบัติสำคัญประจำตัว ทำให้ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้
ตรงนี้ต้องขอยกประโยคตัวอย่างขึ้นมาสักประโยคหนึ่งเพื่อให้เห็นการใช้สำนวน “Catch 22” นี้ เช่นว่า
“Nobody wants to support you until you’re successful, but without the support how can you be successful. It’s a Catch 22 situation here!” คือ ไม่มีใครเขาจะมาสนับสนุนเราจนกว่าเราจะเด่นดังขึ้นมาเสียก่อน แต่เมื่อขาดการสนับสนุนเสียแล้ว เราจะเด่นดังขึ้นมาได้อย่างไร นี่แหละเขาเรียกว่า “แคทช ทะเวนตี้ ทู”

คารม-คม-ระคาย (Quips & quotes)
• A single rose for the living is better than a costly wreath at the grave. เพียงกุหลาบดอกเดียวซึ่งให้กันยามที่มีชีวิตอยู่นั้น ดีกว่าให้หรีดพวงแพง ๆ ต่อเมื่อตายไปแล้วเป็นไหน ๆ
• There are plenty of leaders, but where are they leading us? ผู้ซึ่งพยายามตะเกียกตะกายที่จะเป็นผู้นำบ้านเมืองนั้นมีอยู่ถมเถ แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่าพวกเขาจะนำเราไปไหน? (แล้วมันทำเพื่อโคตรของมันเท่านั้นหรือเปล่า?)

ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

No comments:

Post a Comment