To Bring or To Take
สัปดาห์ที่แล้ว เราได้พูดถึงคำในภาษาอังกฤษที่ว่า To bring = เอามา และ To take = เอาไป แต่โดยทั่วไปแล้วการใช้คำทั้งสองนี้ขึ้นอยู่ที่ว่า เรากำลังพูดกันอยู่ที่ไหน กล่าวคือ ถ้าเรากำลังอยู่ “นอกบ้าน” และกำลังจะนำสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปบ้านเรา ในกรณีเช่นนั้นเราก็พูดว่า To take home เหมือนอย่างที่เราจะพูดว่า My take-home pay คือเงินที่เราหาได้แล้วนำไปบำรุงบำเรอความสุขให้แก่ครอบครัวของเรา
ในทางตรงข้าม ถ้าเรากำลังอยู่ “ในบ้าน” และเมื่อพูดถึงเรื่องราวใด ๆ ก็ตาม ในกรณีนี้คำว่า To bring home ก็แปลว่า นำอะไรหรือสิ่งของใด ๆ เข้ามาในบ้านเรา และตามที่ได้กล่าวในสัปดาห์ที่แล้วว่า ภาษาอังกฤษคำนี้ถ้าใช้ในความหมายที่เป็นสำนวนก็จะแปลว่า “ทำให้เห็นความสำคัญ หรือทำให้ตระหนักถึงความจริงของเรื่องใด ๆ สักเรื่องหนึ่ง”
ทั้งนี้ เรากล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ในความหมายที่ตรงไปตรงมา ก็เป็นในเรื่องของ “รูปธรรม” คือสิ่งของที่จับต้องได้ แต่ถ้าใช้คำว่า To bring home ในความหมายที่เป็นสำนวนก็จะเป็นในเรื่องของ “นามธรรม” ไปอีกประเด็นหนึ่ง
เมื่อกล่าวถึงคำว่า “รูปธรรมและนามธรรม” ขึ้นมาแล้ว ไม่รู้ว่าผู้เขียนกำลังจะพาท่านผู้อ่านเตลิดกระเจิดกระเจิงไปเที่ยวในป่าในรกเสียแล้วกระมัง เพราะคำไทยคำนี้ก็เป็นสำนวนมาแต่โบร่ำโบราณที่โดยทั่วไปแล้วมักจะหมายความว่า “รูปร่างหน้าตาที่เป็นมาแต่กำเนิดสุดแต่บุญกรรมในปางก่อน จะเลือกให้สวยงามเอาเองนั้น ย่อมกระทำมิได้” เว้นไว้เสียแต่ว่าท่านจะคิดลงทุนไปทำศัลยกรรมตบแต่งเอาเองต่อไปในภายหลังนั้นก็แล้วแต่อาซ้อก็แล้วกัน
ในเรื่องของคำว่า To bring home something นั้น ก็มาถึงคำสำนวนว่า “To bring home the bacon.” (ทู บริง โฮม เธอะ เบ-คอน) = to support one’s family or to earn the family living. แปลในความหมายของนามธรรมว่า “หาเลี้ยงครอบครัว หรือประกอบอาชีพเพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว” และมิได้มีความหมายตรงไปตรงมาในรูปธรรมว่า “ให้ไปหาเนื้อหมูเค็มเบคอนมาไว้กิน” เป็นอาหารเช้าสักน้อยก็หาไม่
เราใช้สำนวนนี้ได้ในประโยคตัวอย่างเช่น “Somkid is a steady follow, who always brings home the bacon.” คือนายสมคิดเป็นคนที่ความมานะพากเพียร เป็นผู้ที่ทำมาหาเลี้ยงครอบครัวได้เรียบร้อยเสมอมา
อนึ่ง ในความหมายของคำว่า “หาเลี้ยงครอบครัว” นี้ ยังมีคำในภาษาอังกฤษอีกคำหนึ่งซึ่งเป็นคำนาม คือ “Breadwinner” (เบรด วินเนอร์) ซี่งแปลตรงตัวก็หมายถึงผู้ที่ประสบชัยชนะได้ขนมปังเอาไปกิน แต่ในภาษาอังกฤษคำนี้เป็นสำนวนที่หมายความว่า “เป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว” เช่นกัน เพียงแต่ว่าคำนี้จะต้องใช้เป็นคำนาม ส่วนคำว่า “To bring home the bacon” นั้นเราจะใช้ในรูปของคำกริยาเท่านั้น
คารม-คม-ระคาย (Quips & quotes)
Change your thoughts and you change your world. เมื่อท่านสามารถเปลี่ยนแนวความคิดของท่านได้เมื่อใด ท่านก็จะสามารถเปลี่ยนโลกทั้งโลกใบนี้ได้เมื่อนั้น
A critic is a legless man who teaches running. คนที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์ชาวบ้านนั้นคือคนขาด้วนที่ชอบสอนผู้อื่นให้วิ่งได้นั่นแหละ
No comments:
Post a Comment