สำนวนไทย สำนวนอเมริกัน

สำนวนไทย สำนวนอเมริกัน

คอลัมน์ “สนุกกับภาษาอังกฤษสำนวนอเมริกัน” นี้ ได้มีส่วนร่วมในการประดับหน้า “เสรีชัย” อย่างต่อเนื่องเรื่อยมาเป็นเวลาหลายปีดีดักแล้ว และในช่วงเวลาที่ผ่านไปนี้ ผู้เขียนได้รับการติดต่อซักถามจากท่านผู้อ่านเป็นอันมาก ซึ่งบ้างก็ขอความรู้หรือข้อแนะนำในการใช้ภาษาอังกฤษ บ้างก็ต้องการทราบว่าเมื่อใดจะพิมพ์เป็นเล่ม ฯลฯ และผู้เขียนก็ให้เวลากับบรรดาท่าน ๆ ที่ติดต่อไปนั้น อย่างเหลือเฟือและด้วยความยินดี เสมอมา
และเมื่อใกล้จะสิ้นปีเก่าซึ่งเพิ่งผ่านไปหยก ๆ นี้ ได้มีคำถามจากท่านผู้อ่านถึงสามสี่ท่านที่บังเอิญเป็นคำถามที่พร้องจองกันในแง่ที่ว่าคำว่า “สำนวน” นั้น หมายความว่าอะไร?
คำว่า “สำนวน” นี้ ตามพจนานุกรมฉบับของราชบัณฑิตยสถานได้ให้คำอธิบายไว้ว่า “สำนวน” น. โวหาร, คารม, ทำนองพูด, ถ้อยคำที่เรียบเรียง, ถ้อยคำที่มีความหมายไม่ตรงตัว แต่ก็เข้าใจกัน เช่น ขี่ม้า = (ชาย) นุ่งผ้าขาวม้า = (หญิง) มีประจำเดือน ต้องใช้ผ้ารั้ง ฯลฯ และยังให้คำอธิบายต่อไปอีกด้วยว่า สำนวน น. ถ้อยคำหรือประโยคภาษาอังกฤษ มีความหมายไม่ตรงตัว เช่น Green thumb แปลตรงตัวว่า “หัวแม่มือสีเขียว” แต่ความหมายที่แท้จริงว่า “มือเย็น ปลูกต้นไม้ได้งามดี (English Idioms)
นอกจากนั้นแล้ว บทนำในหนังสือ “สำนวนไทย” ของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักงานภาษาและวัฒนธรรม ได้อธิบายคำว่า “สำนวน” นี้ไว้อย่างน่าฟังเป็นอย่างยิ่ง จึงขออนุญาตอัญเชิญส่วนหนึ่งของบทนำนั้น มาเผยแพร่เป็นวิทยาทานต่อไปดังนี้คือ
“คำพูดของมนุษย์เราไม่ว่าชาติใดภาษาใด แยกออกได้กว้าง ๆ เป็นสองอย่าง อย่างหนึ่งพูดตรงไปตรงมาตามภาษาธรรมดา พอพูดออกมาก็เข้าใจกันได้ทันที อีกอย่างหนึ่งพูดเป็นชั้นเชิงไม่ตรงไปตรงมาแต่ให้มีความหมายในคำพูดนั้น ๆ คนฟังอาจเข้าใจความหมายทันทีถ้าคำพูดนั้นใช้กันแพร่หลายจนอยู่ตัวแล้ว แต่ถ้าไม่แพร่หลายคนฟังก็ไม่อาจเข้าใจได้ทันที ต้องคิดจึงเข้าใจ หรือบางทีคิดแล้วเข้าใจไปอย่างอื่นก็ได้ หรือไม่เข้าใจเอาเลยก็ได้ คำพูดเป็นชั้นเชิงนี้ เราเรียกกันว่า “สำนวน” คือคำพูดเป็นสำนวนอย่างชาวบ้านเขาเรียกว่า “พูดสำบัดสำนวน” คำ “สำบัด” ที่ใช้เป็นคู่กับ “สำนวน” ไม่ทราบว่าจะเขียนกันอย่างไร ในที่นี้เขียน “สำบัด” โดยเข้าใจว่าจะมาจากคำ “สะบัด” เช่นใครพูดจาห้วน ๆ เราก็ว่า “พูดสะบัด” หรือว่า “พูดจาสะบัดสะบิ้ง” “สำบัด” จึงน่าจะเพี้ยนมาจากคำ “สะบัด” คือเมื่อใช้คู่กับ “สำนวน” คำ “สะบัด” ก็กลายเป็น “สำบัด” ไป ไม่ใช้ “สมบัติ” พวกทรัพย์สมบัติอย่างที่พูดเพี้ยน ๆ ไปเป็น “สม” ก็มีนั้น คำพูดเป็นสำนวน คำเป็นชั้นเชิง หรือจะว่าพูดสะบัดสะบิ้งก็ได้นี้ เราเคยเรียกว่า “พูดเล่นสำนวน” บ้าง หรือ “พูดสำบัดสำนวน” บ้างดังกล่าวมาแล้วคนโวหารจัด ๆ สมัยนี้ เขามักจะใช้โวหารว่า “พูดคารม อมสำนวน”
สำนวนนั้นเกิดจากมูลเหตุต่าง ๆ เป็นต้นว่าเกิดจากธรรมชาติ เกิดจากการกระทำ เกิดจากเครื่องแวดล้อม เกิดจากอุบัติเหตุ เกิดจากแบบแผนประเพณี เกิดจากลัทธิศาสนา เกิดจากความประพฤติ เกิดจากการเล่น เกิดจากเรื่องแปลก ๆ ที่ปรากฏขึ้น เกิดจากนิยายทนทานตำนาน ตลอดจนพงศาวดารหรือประวัติศาสตร์ และอะไรต่ออะไรอื่น ๆ อีกมากแล้วแต่สมัยเวลา มูลเหตุต่าง ๆ ดังกล่าว ใครช่างคิด ช่างนึก ช่างสังเกตและเป็นคนมีโวหารก็นำเอาแต่ใจความมาพูดสั้น ๆ เป็นการเปรียบบ้างเทียบบ้างเปรยบ้าง กระทบบ้าง ประชดประชันบ้าง พูดเล่นสนุก ๆ ก็มี พูดเตือนสติให้คิดก็มี ต่าง ๆ กัน ที่เกิดจากธรรมชาติก็เช่น “ตื่นแต่ไก่โห่” คือธรรมชาติของไก่ย่อมขันในเวลาเช้ามืดเสมอ”
(ยังมีต่อ)

No comments:

Post a Comment