สำนวนไทย สำนวนอเมริกัน (ต่อ)
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้นำ “บทนำ” จากหนังสือเรื่อง “สำนวนไทย” ของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ผู้แต่ง โดยที่ท่านได้เขียนไว้อย่างให้ความรู้และน่าอ่านน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง จึงขอนำส่วนที่เหลืออยู่อีกหน่อยมาเสนอต่อเพื่อให้ได้ใจความสมบูรณ์……
“ตื่นแต่ไก่โห่” คือธรรมชาติของไก่ย่อมขันในเวลาเช้ามืดเสมอ ดังนั้นตื่นแต่ไก่โห่ก็คือตื่นแต่ไก่ขัน หมายถึงตื่นแต่เช้า ที่เกิดจากการกระทำก็เช่น “ไกลปืนเที่ยง” คือเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๐ ในรัชกาลที่ห้า เริ่มยิงปืนใหญ่เวลา ๑๒.๐๐ นาฬิกาในพระนครให้รู้ว่าเป็นเวลาเที่ยงวัน คนในพระนครได้ยิน คนอยู่ไกลออกไปก็ไม่ได้ยิน จึงเกิดเป็นสำนวนพูดหมายไปถึงข่าวคราวต่าง ๆ ที่เกิดในพระนคร คนอยู่ไกลไม่ได้ยินได้ฟังไม่รู้ เลยว่า “อยู่ไกลปืนเที่ยง” และหมายเลยไปถึงว่าเป็นคนบ้านนอกคอกนาด้วย ที่เกิดจากเครื่องแวดล้อมเช่น “ก้นหม้อไม่ทันดำ” คือการหุงข้าวนั้น กว่าก้นหม้อจะติดเขม่าดำก็กินเวลานาน โบราณผัวเมียอยู่ด้วยกันก็ต้องมีครัวมีเครื่องครัวใหม่ เช่นหม้อสำหรับหุงข้าวกิน บางคู่หุงข้าวกินกัน ก้นหม้อยังไม่ทันมีเขม่าจับดำก็เลิกกันเสียแล้ว จึงเกิดเป็นสำนวนพูดหมายถึงว่าเลิกกันง่าย คืออยู่กินด้วยกันไม่ทันก้นหม้อดำก็เลิกกันแล้ว ที่เกิดจากอุบัติเหตุ เช่น “ตกกระไดพลอยโจน” คือคนหนึ่งตกกระได คนที่อยู่ในที่นั้นด้วยก็มักจะโจนเข้าไปช่วย หรือเมื่อรู้ว่าจะตกกระได แต่มีสติดีอยู่ก็เลยรีบกระโจนไปให้มีท่ามีทาง จึงเรียกว่า “ตกกระไดพลอยโจน” ที่เกิดจากระเบียบแบบแผนประเพณี เช่น “ฝักรกฝังราก” มาจากพิธีทำขวัญทารกเกิดได้สามวัน เอารกกับมะพร้าวแห้งแทงหน่อไปฝังดิน ที่เกิดจากลัทธิศาสนา เช่น “ขนทรายเข้าวัด” มาจากทำบุญก่อพระทรายที่วัด ที่เกิดจากความประพฤติ เช่น “กินข้าวร้อนนอนสาย” หมายถึงมีชีวิตอยู่อย่างสบาย ที่เกิดจากการเล่น เช่น “สู้จนเย็บตา” มาจากการชนไก่ “ขึ้นซัง” มาจากการดวด “ไข่แตก” มาจากการเล่นเอาเถิด “สายป่านสั้น” มาจากว่าว ที่เกิดจากเรื่องแปลก ๆ เช่น “กุ” หมายถึงพูดไม่เป็นความจริง ที่เกิดจากนิยายนิทานเช่น “มาก่อนไก่” หรือ “เอาไก่ผูกตูดมาหรือเปล่า” มาจากนิทานเรื่องศรีธนนชัย “ทำมิชอบเข้าลอบตัวเอง” มาจากพงศาวดารเหนือ “ปล่อยม้าอุปการ” มาจากรามเกียรติ์ ฯลฯ เหล่านี้เป็นตัวอย่างมูลที่มาของสำนวนต่าง ๆ”
และ ณ ที่นี้ ขอจบบทนำ จากหนังสือ “สำนวนไทย” ของขุนวิจิตรมาตรา ไว้เพียงแค่นี้ก่อน
สำนวนไทย เป็นเรื่องที่น่าศึกษาและนำมาประดับไว้เป็นความรู้เป็นอย่างยิ่งสำหรับคนไทยทุกคน และพูดไปเป็นไรมี พวกเราคนไทยทั้งผองสามารถภาคภูมิใจได้อย่างเต็มที่ ๆ เราเป็นชาติที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งในท่ามกลางจำนวนประเทศนับร้อย ๆ โดยเฉพาะประเทศที่เพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ในกึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่แล้วนี้เอง กล่าวได้ว่า มีชนชาติจำนวนเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้น ทีมีภาษาพูด ภาษาเขียน และมีอักขระ เป็นภาษาไทยโดยแท้ของเราเอง
ในทำนองเดียวกัน สำหรับบรรดาท่านที่ใช้ภาษาอังกฤษมะกันเป็นภาษาที่สองอยู่แล้ว การเรียนรู้สำนวนมะกันซึ่งคอลัมน์นี้จะได้นำเสนอต่อไป ก็เป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์ ไร้โทษ ให้เข้าทำนอง “รู้ไว้ใช้ว่าใส่บ่าแบกหาม” นั่นแล
*****
No comments:
Post a Comment