ENGLISH AS A SECOND LANGUAGE
คอลัมน์ “สนุกกับภาษาอังกฤษสำนวนอเมริกัน” ซึ่งท่านกำลังอ่านอยู่นี้ได้รับเกียรติให้ประดับหน้าหนังสือพิมพ์ “เสรีชัย” เป็นเวลานานปีดีดักมาแล้ว และตามชื่อของคอลัมน์ที่ว่าเป็นเรื่องของสำนวนอเมริกันนั้น ก็ย่อมหมายถึงทิศทางของคอลัมน์นี้ว่ามุ่งไปในด้านภาษาพูดมากกว่าภาษาเขียน ทั้ง ๆ ที่ไม่มีข้อขีดขั้นใด ๆ เลยที่จะห้ามมิให้นำสำนวนซึ่งเหมาะสำหรับภาษาพูดนั้นไปใช้ในภาษาเขียน ถ้าหากว่าสามารถใช้สำนวนนั้นให้ถูกต้องกับกาละและเทศะ มิหนำซ้ำยังช่วยทำให้เนื้อหาหรือบทความซึ่งเขียนลงบนแผ่นกระดาษนั้น ๆ มีรสชาติและเพิ่มความสนุกให้แก่ผู้อ่านขึ้นไปได้มากกว่าการเขียนซึ่งมุ่งแต่ใช้ภาษาเขียนหรือที่เรียกว่าภาษาทางการ (Formal) ล้วน ๆ ตั้งแต่ต้นจนจบเสียด้วยซ้ำไป
วันนี้ ผู้เขียนขอพักเรื่อง “สำนวนอังกฤษอเมริกันในอักษร บี” สักมื้อหนึ่งหรือสองมื้อก่อน เนื่องด้วยได้มีท่านผู้ที่ติดตามคอลัมน์นี้หลายต่อหลายท่านกรุณาโทรศัทพ์ส่ง “ลูกยอ” มากมายหลายกะบุงโกยให้เป็นอภินันทนาการเพื่อแสดงออกซึ่งความรู้สึกที่เห็นคุณค่าของคอลัมน์นี้ และมากรายก็มักจะตั้งคำถามไปด้วยว่าทำอย่างไรจึงจะเก่งภาษาอังกฤษเหมือนอย่างชาวบ้านทั้งหลายเขาบ้าง
แน่ละ คำถามอย่างเช่นว่านี้ย่อมจะมาจากบรรดาท่านที่ถือว่า ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง (English as a Second Language = ESL) ซึ่งหมายความว่าเป็นผู้ที่เกิดในประเทศไทยหรือแห่งหนตำบลใดที่ไหนก็สุดแต่ และมีภาษาของตนเองอันนับได้ว่าเป็นภาษาแรกหรือภาษาที่หนึ่งของตนเองมาก่อน หากแต่ต่อมามีต้องการที่จะเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพิ่มเติมขึ้นอีกภาษาหนึ่งซึ่งต้องนับว่าเป็นภาษาที่สอง ด้วยความหวังว่า ภาษาที่สองนี้ย่อมจะเป็นสื่อหรือช่องทางสำคัญที่จะช่วยเพิ่มพูนคุณภาพชีวิต (To enhance the quality of life) ให้แก่ตนเองสืบต่อไป
เราจะไม่พูดให้มากเรื่องเข้าไปในประเด็นที่ว่า ทำไมภาษาอังกฤษ หรือภาษาอเมริกันในยุคนี้กำลังเป็นภาษากลางของโลก แต่ให้เรามาว่ากันในความเป็นจริงที่ว่า ภาษาอังกฤษหรือต่อไปคือภาษาอเมริกันจะเป็นกุญแจดอกสำคัญสำหรับท่านที่จะใช้เปิดช่องทางไปสู่อนาคตที่ดีกว่า และช่วยเพิ่มพูนคุณภาพชีวิตของท่านให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป
เมื่อใดก็ตาม หลังจากที่ท่านได้ขวนขวายเล่าเรียนภาษาอังกฤษอันเป็นภาษาที่สองจนถึงขั้นที่ว่าใช้การได้ดี ทั้งในภาษาพูดและภาษาเขียนแล้ว หรือกล่าวในภาษาอังกฤษว่า “You have a good command of the English language.” เมื่อนั้นท่านก็ได้นำตัวของท่านเองให้หลุดพ้นไปจาก “รอยตีนควาย” ก็แทบจะว่าได้
ต้องขอโทษที่ใช้สำนวนไทยลูกทุ่งไปสักหน่อย แต่ความหมายของเรื่องนั้นก็เป็นว่าท่านได้ยกระดับภูมิรู้ของท่านขึ้นไปอยู่ในที่สูงอันทำให้เห็นขอบฟ้าได้ไกลออกไปอย่างสุดหล้าฟ้าเขียวกันเลยทีเดียว ซึ่งในภาษาอังกฤษเขาก็ใช้คำว่า “You have broadened your horizons.” (ยู แฮฟว บรอด’เดินด ยัวร์ ฮะไร’ซันส) และเมื่อแปลเป็นไทยตรงตัวก็คือ “ท่านได้ขยายขอบฟ้าของท่านให้กว้างออกไปได้สำเร็จแล้ว” (ยังมีต่อ)
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข
No comments:
Post a Comment